ฉบับสัมมาทิฏฐิ : การฝึกใจ

พระองค์ทรงสอนให้พิจารณาธรรมทั้งหลาย ที่กายที่ใจของเรา ธรรมะไม่ได้อยู่ไกลที่ไหน อยู่ที่ตรงนี้ อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่แหล่ะ ดังนั้น นักปฏิบัติ ต้องปฏิบัติอย่างเข้มแข็ง เอาจริง เอาจัง ให้ใจมันผ่องใสขึ้น สว่างขึ้น ให้มันเป็นใจอิสระ ทำความดีอะไรแล้ว ก็ปล่อยมันไป อย่าไปยึดมั่น หรืองดเว้นการทำชั่วได้แล้วก็ปล่อยมันไป พระพุทธเจ้าทรงสอนให้อยู่กับปัจจุบันนี้ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่อยู่กับอดีตหรืออนาคต

คำสอนที่เข้าใจผิดกันมาก แล้วก็ถกเถียงกันมากที่สุด ตามความคิดเห็นของตนก็คือ เรื่อง “การปล่อยวาง” หรือ “การทำงานด้วยจิตว่าง” นี่แหล่ะ การพูดอย่างนี้เรียกว่า “ภาษาธรรม” เมื่อเอามาคิดเป็นภาษาโลก มันก็เลยยุ่ง แล้วก็ตีความหมายว่าอย่างนั้น ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบล่ะซิ

ความจริงมันหมายความอย่างนี้ อุปมาเหมือนว่าเราแบกก้อนหินหนักอยู่ก้อนหนึ่ง แบกไปก็รู้สึกหนักแต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมัน ก็ได้แต่แบกอยู่อย่างนั้น พอมีใครบอกว่า ให้โยนมันทิ้งเสียซิ ก็มาคิดอีกแหล่ะว่า “เอ…. ถ้าเราโยนมันทิ้งไปแล้ว เราก็ไม่มีอะไรเหลือน่ะซิ” ก็เลยแบกอยู่นั่นแหล่ะ ไม่ยอมทิ้ง

ถ้าจะมีใครบอกว่า โยนทิ้งไปเถอะ แล้วจะดีอย่างนั้น เป็นประโยชน์อย่างนี้ เราก็ยังไม่ยอมโยนทิ้งอยู่นั่นแหล่ะ เพราะกลัวแต่ว่าจะไม่มีอะไรเหลือ ก็เลยแบกก้อนหินหนักไว้ จนเหนื่อยอ่อนเพลีย เต็มทีจนแบกไม่ไหวแล้ว ก็เลยปล่อยมันตกลง ตอนที่ปล่อยมันตกลงนี้แหล่ะ ก็จะเกิดความรู้เรื่องการปล่อยวาง ขึ้นมา เราจะรู้สึกเบาสบาย แล้วก็รู้ได้ด้วยตัวเองว่า การแบกก้อนหินนั้นมันหนักเพียงใด แต่ตอนที่เราแบกอยู่นั้น เราไม่รู้หรอกว่า การปล่อยวางมันจะมีประโยชน์เพียงใด

ความยึดมั่นถือมั่น ในตัวของเรา ก็เหมือนก้อนหินหนัก ก้อนนั้นพอคิดว่าจะปล่อย “ตัวเรา” ก็เกิดความกลัวว่า ปล่อยไปแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือ เหมือนกับที่ไม่ยอมปล่อยก้อนหินก้อนนั้น แต่ในที่สุด เมื่อปล่อยมันไปได้ เราก็จะรู้สึกเองถึงความเบาสบาย ในการที่ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น

ใจของเราก็เหมือนกัน ใช้ปัญญาเรียนรู้จักใจ ใช้ความฉลาดรักษาใจไว้ แล้วเราก็จะเป็นคนฉลาดที่รู้จักฝึกใจ เมื่อฝึกบ่อยๆ มันก็สามารถกำจัดทุกข์ได้ ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจนี่เอง มันทำให้ใจสับสน มืดมัว มันเกิดขึ้นที่นี่มันก็ตายที่นี่