วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

1. การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้ายไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่กลางกระหม่อม กำหนดยืน หนอ ช้าๆ 5 ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ 5 ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคำว่า ยืน จิตวาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดขึ้นคำว่ายืน, จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า หนอ จากสะดือขึ้นไปกลางกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ 5 ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ตามองที่ปลายเท้าข้างที่กำหนด สติจับอยู่ที่เท้า การเดินกำหนดว่า ขวา ย่าง หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวา ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว เท้ากับใจ นึกต้องให้พร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย ย่าง หนอ คงปฏิบัติเช่นเดียวกันกับ ขวา ย่าง หนอ ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ 1 คืบเป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้า หลับตา กำหนด ยืน หนอ ช้าๆ อีก 5 ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า
ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับ หนอ 4 ครั้ง คำว่า กลับ หนอ ครั้งที่ 1 ยกปลายเท้าขวาใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา 90 องศา ครั้งที่ 2 ลากเท้าซ้ายมาติดเท้าขวา ครั้งที่ 3 ทำเหมือนครั้งที่ 1 ครั้งที่ 4 ทำเหมือนครั้งที่ 2 ขณะนี้จะอยู่ในท่ากลับหลัง แล้วต่อไปกำหนด ยืน หนอ ช้าๆ อีก 5 ครั้ง ลืมตาก้มหน้าแล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ

2. การนั่ง จะกระทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ยืนหนออีก 5 ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า ปล่อยมือหนอๆๆๆๆ ช้าๆ จนกว่าจะลงสุด เวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริงๆ เช่น ย่อตัวหนอๆๆๆ เท้าพื้นหนอๆๆๆ คุกเข่าหนอๆๆๆ นั่งหนอๆๆๆ เป็นต้น

วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตาเอาสติมาจับอยู่ที่สะดือ ที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า พอง หนอ ใจนึกกับท้องที่พอง ต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า ยุบ หนอ ใจนึกกับท้องที่ยุบ ต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาข้างหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอน จะต้องมีความอดทน เพื่อเป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว

ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนา ความเจ็บปวด เมื่อย คันๆ เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาที่เกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอๆๆๆ เจ็บหนอๆๆๆ เมื่อยๆๆๆ คันหนอๆๆๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อยๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป

จิตเวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน หรือคิดฟุ้งซ่าน ต่างๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นเดียวกันว่า ดีใจหนอๆๆๆ เสียใจหนอๆๆๆ โกรธหนอๆๆๆ เป็นต้น

เวลานอน เวลานอนค่อยๆ เอนตัวนอน พร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอๆๆๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับอยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้ว ให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า พอง หนอ ยุด หนอ ต่อไปเรื่อยๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับไปตอน พอง หรือตอน ยุบ

อิริยาบถต่างๆ การเดินไปในที่ต่างๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติ กำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือมีสติสัมปชัญญะเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา



อานิสงส์ของการเดินจงกรม

1. ย่อมอดทนต่อการเดินทางไกล จะไม่เหนื่อย

2. ย่อมอดทนต่อการบำเพ็ญเพียร

3. ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคจะหายไปอย่างน่าอัศจรรย์

4. อาหารจะย่อยง่าย ไปเลี้ยงร่างกายสะดวกสบาย

5. สมาธิที่เกิดจากการเดินจงกรม จะตั้งได้นานกว่า ขณะนั่งจิตจะมีสมาธิเร็วขึ้น

การเดิน+การนั่ง ควรแบ่งเวลาให้เท่าๆ กัน เช่น เดิน 15 นาที ก็นั่ง 15 นาที, เดิน 1 ชั่วโมง ก็นั่ง 1 ชั่วโมง
การเจริญกรรมฐาน เราจะรู้กฎแห่งกรรมได้ตอนมีเวทนา ถ้ามีทุกข์ มีเวทนาเกิด แล้วเลิกปฎิบัติ ก็จะไม่รู้อริยสัจ 4

หมายเหตุการเดินจงกรมนั้น กระทำการเดินได้ถึง 6 ระยะ แต่ในที่นี้อธิบาย ไว้เพียงระยะเดียว การเดินระยะต่อไปนั้น จะต้องเดินระยะที่ 1 ให้ถูกต้อง ได้ปัจจุบันธรรมจริง จึงจะเพิ่มระยะต่อไป ตามผลการปฎิบัติของแต่ละบุคคล





ช่วยเผยแพร่ธรรมะของหลวงพ่อจรัญ
โดยเมธา
27/09/2550










วันพรุ่งนี้

อยู่ไกล

ยังไม่เกิด

ช่างมันเถิด

อย่าร้อน

ไปก่อนไข้

วันวานนี้

ตายแล้ว

ให้ตายไป

อย่าเอาใจ

ไปข้อง

ทั้งสองวัน

ถ้าวันนี้

สดชื่น

ระรื่นจิต

อย่าไปคิด

หน้าหลัง

มาคลั่งฝัน

สิ่งที่แล้ว

แล้วไป

ให้แล้วกัน

สิ่งที่ฝัน

ยังไม่มา

อย่าอาวรณ์

 

 

อดีต คือ ความฝัน

ปัจจุบันคือความจริง

อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน

อดีตอย่าไปรื้อฟื้น สิ่งที่มีในปัจจุบันให้รีบทำ อย่าจับให้มั่นอย่าคั้นให้ตาย

ถ้าผิดหวังจะเสียใจจนตลอดชีวิต