พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD062

อันตรายของภิกษุผู้อยู่ป่า

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารนิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ได้ตรัสกะพระอานนท์ ถึงภุกษุมากรูปคลุกคลีกันเป็นการไม่สมควร เพราะจะไม่พบความสุขอันเกิดจากความสงัด ภิกษุควารใส่ใจความว่างภายใน คือ การทำจิตให้ว่างอยู่เสมอ ตอนหนึ่งได้ตรัสถึงอันตรายของอาจารย์และศิษย์ ที่ปลีกตนออกไปอยู่ในที่สงบสงัด เช่น ป่า โคนไม้ ถ้ำ ภูเขา ป่าช้า ฯ แล้ว

 

ต่อมามีชาวบ้านพากันไปหา ผู้อยู่ป่าจะหมกมุ่นวุ่นวาย เวียนมาเป็นผู้มักมาก ย่อมเป็นอันตราย ความลามกเศร้าหมองย่อมครอบงำ มีความกระวนกรวาย มีทุกข์เป็นผล ต้องเกิดในภพใหม่ไม่พ้นการเกิด แก่ และตาย

 

ถ้าภิกษุที่เป็นอาจารย์หรือเป็นศิษย์ก็ดี เมื่ออยู่ป่าแล้วไม่หลงลืมตัวให้อกุศลธรรมครอบงำได้ ก็จะพ้นจากอันตรายชนะทุกข์ ก้าวหน้าในพรหมจรรย์ต่อไป

 

ในตอนท้ายของสูตรนี้ ได้ทรงกล่าวเตือนภิกษุทั้งหลายผ่านพระอานนท์ว่า

 

“อานนท์! เราจะไม่ประคับประคองพวกเธอ เหมือนช่างหม้อประคับประคองหม้อดินที่ยังเปียกยังดิบอยู่ แต่เราจะข่มแล้วข่มอีก จะยกย่องแล้วยกย่องอีก ผู้ใดมีแก่นสาร ผู้นั้นจะทนอยู่ได้”

 

สุญญตสูตร ๑๔/๒๐๖

 

ดูเอาเถิด ท่านผู้อ่านทั้งหลาย พิษสงของกิเลสตัณหานี้ช่างน่ากลัวเสียนี่กระไร ไม่มียกเว้นใคร ๆ เลย

การที่ภิกษุท่านหลบไปอยู่ตามป่า เขา หรือที่สงบสงัด ก็เพื่อจะได้มีโอกาสกำจัดกิเลสตัณหาได้สะดวกขึ้น แต่ที่ไหนได้ ถ้าไม่รู้บทบาทและลวดลายของมัน อย่างถูกต้องและแท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ๆ ก็ไม่อาจพ้นอำนาจของมันไปได้

รู้อย่างนี้แล้ว ท่านที่ได้มีโอกาส ได้อยู่ในสถานที่ อันจัดว่าเหมาะแก่การพิชิตกิเลสตัณหาแล้ว ก็อย่าได้หลงลืมตัวมัวเมาในลาภยศชื่อเสียงอยู่เลย กิเลสหรือมารทั้งหลายมันมิได้ยกเว้น ว่าใครจะอยู่ที่ไหนหรอก มันยกเว้นให้อยู่พวกเดียว คือ ผู้ที่มีสติ มีปัญญา เพ่งพิจารณา และไม่ประมาทเท่านั้น.