พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD061

ทรงขอให้พระฉันวันละมื้อเดียว

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสถึงเหตุผลของการฉันอาหารวันละหนเดียว และทรงขอร้องภิกษุว่า

 

“ภิกษุทั้งหลาย! มีอยู่คราวหนึ่ง พวกภิกษุได้ทำให้จิตของเรา มีความยินดีเป็นอันมาก เราขอเตือนภิกษุทั้งหลาย ไว้ในที่นี้ว่า

 

ภิกษุทั้งหลาย! เราฉันอาหารวันละหนเดียว เมื่อเราฉันอาหารวันละหนเดียวอยู่แล รู้สึกว่ามีโรคน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลังและเป็นอยู่อย่างผาสุก

 

ภิกษุทั้งหลาย! ถึงพวกเธอ ก็จงฉันอาหาร วันละหนเดียวเถิด ถ้าพวกเธอฉันอาหารวันละหนเดียว เธอจะรู้สึกว่ามีโรคน้อย มีความลำบากกายน้อย มีความเบากาย มีกำลังและเป็นอยู่อย่างผาสุก”.

 

กกจูปมสูตร ๑๒/๒๐๓

 

เรื่องของการบริโภคอาหาร มีส่วนเกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาเป็นอย่างมาก จะขอยกมาพิจารณากันสัก ๒ ประเด็น คือ ทางวัตถุ แบทางจิตใจ

ทางวัตถุ  หมายถึงสุขภาพกาย จะต้องเป็นผู้ฉลาดบริโภค โรคจึงจะมีน้อย ต้องเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า และต้องเหมาะสมกับวัย คือ วัยเด็ก และ วัยชรา อาหารก็ย่อมจะต้องต่างกัน นอกจากนี้จะต้องนึกถึงการควบคุมปริมาณ ไม่ให้มาก หรือน้อยจนเกินไป

พระพุทธองค์ทรงเป็นสัพพัญญูแท้ ทรงให้นักบวชเว้นอาหารมื้อค่ำ เพราะกินแล้วนอนไม่จำเป็น ช่างตรงกับหลักของแพทย์ในปัจจุบันพอดี อย่างน่าอัศจรรย์ นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระต่าง ๆ ได้อีกมากมาย

ทางจิตใจ  หมายถึงสติปัญญา จะต้องรู้จักเลือกกิน ว่าอาหารอย่างใดทำลายสุขภาพจิต อาหารอย่างใดส่งเสริมปัญญา ถ้ากินอาหารย่อยยาก และกินมากเกินประมาณย่อมจะทำลายทั้งสุขภาพกายและสติปัญญา เช่น ง่วง ซึม อ่อนเพลีย เป็นต้น

กล่าวเฉพาะการปฏิบัติธรรม มีส่วนสำคัญมาก ท่านจึงจัดว่าเป็นหนึ่งในการปฏิบัติ คือ อาหารสัปปายะ มีอาหารพอสบาย ไม่มากไม่น้อยและมีคุณภาพด้วย

สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว อาหารจะเป็นมาตรวัดอย่างดีว่าปฏิบัติก้าวหน้าหรือล้มเหลว คือ ถ้าผู้ปฏิบัติยังกินอาหารได้มาก ก็แสดงว่า การปฏิบัติธรรมล้มเหลว ถูกความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ถ้ากินได้น้อยจนเกินไป หรือไม่กินเลย แสดงว่าเอาจริงเอาจังมากเกินไป ระวังจะเครียด!