พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD055

ภิกษุที่ถูกลมเวรัมภาพัดขาด

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

 

“ภิกษุทั้งหลาย! ลาภสักการะและชื่อเสียง เป็นของทารุณเผ็ดร้อนหยาบคาย เป็นอันตรายแก่การปฏิบัติและบรรลุธรรมอันเกษม ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่า

 

ภิกษุทั้งหลาย! ลมชื่อว่า เวรัมภา พัดอยู่ในอากาศเบื้องบนซัดนกที่บินอยู่ในอากาศนั้น เมื่อมันถูกลมเวรัมภาซัดเท้าขาดไปข้างหนึ่ง ซัดปีกขาดไปทางหนึ่ง ซัดศีรษะขาดไปทางหนึ่ง ตัวขาดไปอีกทางหนึ่ง

 

ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอถูกลาภสักการะและชื่อเสียงครอบงำแล้ว จิตถูกย่ำยีแล้ว เวลาเช้าเธอถือบาตร เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ไม่ระวังรักษา ไม่ควบคุมกาย วาจา และใจ ขาดสติ ไม่สำรวมอินทรีย์ มีตา หู เป็นต้น เธอเห็นหญิงที่นุ่งห่มไม่เรียบร้อยแล้วเกิดราคะในจิต เธอถูกราคะครอบงำแล้ว ต้องลาสิกขาสึกออกมา

 

ภิกษุพวกหนึ่งเอาจีวรของเธอไป พวกหนึ่งเอาบาตร พวกหนึ่งเอาผ้ารองนั่ง พวกหนึ่งเอากล่องเข็ม ฯ เปรียบดังนกลูกลมเวรัมภาซัดไปฉะนั้น

 

ภิกษุทั้งหลาย! ลาภสักการะและชื่อเสียง ย่อมทารุณและเผ็ดร้อนอย่างนี้แล”.

 

เวรัมภสูตร ๑๖/๒๕๓

 

การบวชเป็นพระ ถ้าระวังหรือปิดกั้น เหตุแห่งความเสื่อมเพียง ๒ ประการ คือ ลาภสักการะ (เงิน) และราคะ (ผู้หญิง) ได้ถูกต้อง การมีชีวิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพัตร์ ก็จะมีอินทรีย์ที่ผ่องใส ควรแก่การกราบไหว้ และสมแก่การเป็นเนื้อนาบุญของชาวพุทธ

แต่เมื่อมันเกิดหมดบุญจริง ๆ จนผ้าเหลืองร้อน ก็อย่าทนทู่ซี้อยู่ ให้เกิดความมัวหมองแก่ศาสนาเลย ควรรีบสึกออกไปเสียโดยเร็ว อย่าทันให้เกิดราคี เมื่อมีศรัทธาจึงค่อยมาบวชใหม่ภายหลัง โลกก็จะไม่ช้ำธรรมก็จะไม่เสีย.

 

การคิดค้นหาเหตุผล เป็นการพัฒนาจิต

แต่การคิดชั่ว คิดผิด ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม