พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD054

ความเป็นผู้สำรวมอินทรีย์

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ นิคมกัชชังคา ได้ตรัสกะพระอานนท์ ถึงการฝึกหัดสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อกระทบอารมณ์ภายนอกแล้ว ควรจะปฏิบัติอย่างไร พอสรุปเป็นใจความได้ว่า

 

เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส กายได้ถูกต้องสัมผัส และใจได้กระทบอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว

 

เกิดความชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ปรุงขึ้นในจิตแล้ว ยังหยาบอยู่ ส่งที่ละเอียดคืออุเบกขา ความวางเฉยในอารมณ์เหล่านั้น มีอุเบกขาตั้งมั่นไม่ให้ความชอบหรือความชังเกิดขึ้นได้ เมื่อฝึกหัดได้เร็วฉับพลัน ก็จะตัดอารมณ์นั้น ๆ ได้ เหมือนคนตาดีกระพริบตา ฉะนั้น

 

นี่เป็นการเจริญอินทรีย์ ๖ ชนิดที่ไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่า ในวินัยของพระอริยะ

 

ในท้ายสูตร ทรงสอนให้ภิกษุปฏิบัติ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง.. แล้ว ให้รู้สึกอึดอัด เบื่อหน่ายในความชอบและความชัง ในอารมณ์นั้น ๆ ให้เห็นเป็นความสวยงาม และความเป็นปฏิกูล แล้ววางเฉยเสียอย่างมีสติสัมปชัญญะ ท้ายสุดได้ตรัสว่า

 

“อานนท์! นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังเลย นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ”.

 

อินทรียภาวนาสูตร ๑๔/๔๖๕

 

การสำรวมอินทรีย์ ๖ ถือว่าจำเป็น และเป็นข้อปฏิบัติหลัก ที่นักบวชจะต้องปฏิบัติเป็นประจำ มิฉะนั้นการอยู่ในเพศของนักบวช ก็จะไม่มีอะไรต่างจากชาวบ้าน และสิ่งที่จะพอกพูนตามมาก็คืออกุศลอันลามกต่าง ๆ

การเป็นพระที่สมบูรณ์ จึงมิได้หมายเพียงแต่ว่า ได้ผ่านพิธีกรรมจากคณะสงฆ์แล้วเท่านั้น เพราะนั่นเป็นแต่เพียงรูปแบบที่สมมติกันขึ้น เพื่อความอยู่ผาสุกในหมู่คณะเท่านั้น แก่นหรือสาระแห่งการบวชที่แท้จริง จึงอยู่ที่การอบรมและฝึกหัดกาย วาจา และใจ ไม่ให้เกิดความยินดีและยินร้าย เมื่อกระทบกับอายตนะทั้ง ๖ พร้อมทั้งพิจารณาจนเกิดความเบื่อหน่าย และปล่อยวางเสียได้ ด้วยการมีสติและสัมปชัญญะกำกับ.

 

หนังสือคือประตูของดวงตา

อ่านไป พิจารณาไป ย่อมได้ปัญญา