พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD053

ศีลกับปัญญาต่างอาศัยกัน

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สระโบกขรณีคัคครา เมืองจัมปา  ในโอกาสที่เสด็จจาริก พร้อมด้วยหมู่ภิกษุราว ๕๐๐ รูป พราหมณ์โสณทัณฑะผู้ครองนครจัมปา ได้เข้าไปเฝ้า พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงค่าของคน มิได้อยู่ที่ชาติตระกูล หากแต่อยู่ที่การกระทำความดี ทั้งเพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น

 

ในตอนท้ายของสูตร ทรงอธิบายเรื่องศีลกับปัญญา ว่าต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน การปฏิบัติจึงจะบรรลุเป้าหมาย โสณทัณฑะได้แสดงความเห็นคล้อยตาม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

 

“พราหมณ์! ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ปัญญาอันศีลชำระให้บริสุทธิ์ ศีลอันปัญญาชำระให้บริสุทธิ์ ศีลมีในบุคคลใด ปัญญาก็มีในบุคคลนั้น ปัญญามีในบุคคลใด ศีลก็มีในบุคคลนั้น

 

ปัญญาเป็นของบุคคลผู้มีศีล ศีลเป็นของบุคคลผู้มีปัญญา และนักปราชญ์ย่อมกล่าวศีลกับปัญญา ว่าเป็นยอดในโลก เหมือนบุคคลล้างมือด้วยมือ หรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉะนั้น.

 

โสณฑัณฑสูตร ๙/๑๔๘

 

ศีล จัดว่าเป็นพื้นฐานของความดีทั้งปวง ผู้ที่มีความล้มเหลวในการรักษาศีล จะหาความก้าวหน้าในทางสมาธิ และปัญญาไม่ได้เลย เพราะศีลเป็นของหยาบ ควบคุมแต่ทางกายและวาจาเท่านั้น ส่วนสมาธิและปัญญานั้น เป็นเรื่องจิตใจโดยตรง ถ้าของหยาบ ๆ ยังทำไม่ได้ จะทำของละเอียดได้อย่างไร?

จริงอยู่ การมีเจตนางดเว้น เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีลแบบ “ศีลสังคม” ที่นิยมกันอยู่ทั่วไปนั้น ไม่ใช่ของยากเย็นอะไร มีผู้รักษากันอยู่แล้ว และเป็นมานานแล้ว แต่การรักษาศีลที่ต้องมีปัญญาเข้าร่วมด้วยนั้น ไม่ใช่ศีลที่จะรักษากันง่ายนัก

ยิ่งเป็นศีลที่แยกออกจากปัญญาไม่ได้เลย ชนิดที่พระพุทธองค์ทรงเปรียบเหมือน “คนล้างมือด้วยมือ หรือ ล้างเท้าด้วยเท้า” ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งยากขึ้นไปกว่านั้นอีก นั่นคือ

ผู้ที่จะรักษาศีลจะต้องมีปัญญากำกับ ในการรักษาศีลอยู่ตลอดเวลาว่า เรารักษาศีลเพื่ออะไร? จุดมุ่งหมายอันสูงสุดของการรักษาศีลคืออะไร? และจะรักษาศีลอย่างไร จึงจะบรรลุเป้าหมายนั้น?

นี่ก็เป็นหลักยืนยันได้ชัดเจนว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา จะถึงตัวศาสนาได้ก็ด้วยปัญญา และการที่จะพ้นทุกข์ทั้งปวงได้ก็ด้วยปัญญา ปัญญาจึงจำเป็นในการปฏิบัติศาสนกิจทุกระดับขั้น

แต่ถึงแม้ว่าปัญญาจะเป็นยอดธรรมก็จริง แต่ปัญญาก็ย่อมจะต้องมีธรรมะอื่น ๆ เช่น ทาน ศีล และ สมาธิเข้าร่วมด้วย จึงจะจัดว่าเป็นปัญญาที่เป็นสัมมาทิฐิ และใช้ดับทุกข์ได้.