พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD041

 

พระพุทธเจ้าทรงตำหนิลาภสักการะ

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

 

“ภิกษุทั้งหลาย! ลาภ ยศ สักการะ และชื่อเสียง เป็นของทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย เป็นอันตรายแก่การปฏิบัติธรรม และบรรลุธรรมอันเกษม ซึ่งไม่มีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่า เปรียบเหมือนปลาบางตัว เห็นแก่เหยื่อกลืนเบ็ดที่พรานเบ็ดเกี่ยวเหยื่อหย่อนลงไปในน้ำลึก มันกลืนเบ็ดของพรานอย่างนี้แล้ว ได้รับทุกข์ถึงความพินาศ พรานเบ็ดพึงทำได้ตามความพอใจ ฉะนั้น

 

ภิกษุทั้งหลาย! พรานเบ็ดเป็นชื่อของมารใจบาป เบ็ดและเหยื่อเป็นชื่อของลาภสักการะ และ ชื่อเสียง ภิกษุบางรูปยินดีพอใจในลาภสักการะ และ ชื่อเสียง ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนี้เรากล่าวว่า กลืนเบ็ดของมาร ได้รับทุกข์ถึงความพินาศ

 

เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจงละลาภสักการะและชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแล้วเสีย และลาภสักการะและชื่อเสียงที่เกิดขึ้นแล้วจะครอบงำจิตของเราไม่ได้ เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติอย่างนี้แล”.

 

พฬิสสูตร ๑๖/๒๔๘

 

การที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิลาภ ยศ สักการะ และชื่อเสียง ไว้อย่างรุนแรง ก็เพื่อให้สาวกเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ที่ได้ทำลายคนดีมามากมายแล้วนั้นเอง

ทั้งนี้ก็เพราะว่า จิตใจของปุถุชนนั้นกลับกลอกง่าย หวั่นไหวง่าย ถ้าได้ใกล้ชิดสิ่งใดนาน ๆ แล้ว จิตใจก็ย่อมจะเปลี่ยนแปรไปได้ กลายเป็นคนละคนกันเลยทีเดียว มีตัวอย่างให้เราได้ศึกษา ทั้งในอดีตและปัจจุบันทุกยุคทุกสมัย

พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโทษไว้ก่อน เพื่อให้เกิดการสังวรระวัง ไม่เกิดความประมาท เมื่อมีลาภ สักการะเกิดขึ้น ก็จะได้บริโภคใช้สอย ด้วยความไม่หลงลืมตน มีสติและปัญญา คอยหมั่นกำกับและพิจารณาอยู่เสมอ ทุกข์ โทษ และภัย อันแสบเผ็ดรุนแรง ก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้

เพราะการทำความดีนั้น ต้องใช้เวลานาน ใช้ความอดทนมาก ต้องเสียสละทั้งทรัพย์สิน กำลังกาย และกำลังใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว แม้กระนั้นเมื่อเผลอใจเพียงนิดเดียว ความดีที่ทำมาเป็นเวลานาน ก็อาจพังทลายลงได้ในพริบตา ความไม่ประมาทจึงเป็นวิถีทางที่ปลอดภัย ด้วยประการทั้งปวง