พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD039

 

ความหมายของขันธ์ ๕

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายถึงความหมายของ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไว้ดังนี้

 

“ภิกษุทั้งหลาย! เพราะอะไรจึงเรียกว่า รูป เพราะสลายไปด้วยความหนาว ร้อน หิว กระหาย เพราะลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง

 

เพราะอะไรจึงเรียกว่า เวทนา เพราะเสวยหรือรับอารมณ์ที่เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

 

เพราะอะไรจึงเรียกว่า สัญญา เพราะจำสีเขียว แดง เหลือง ขาวได้

 

เพราะอะไรจึงเรียกว่า สังขาร เพราะปรุงแต่งสังขตธรรม คือ รูป เป็นต้น

 

เพราะอะไรจึงเรียกว่า วิญญาณ เพราะรู้แจ้งในอารมณ์ที่มากระทบทางตา ฯ เป็นต้น.

 

ขัชชนิสูตร ๑๗/๙๕

 

ขันธ์ ๕ เป็นเรื่องที่ชาวพุทธทุกคน ควรจะทำความเข้าใจให้กระจ่าง เพราะเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมาก เมื่อเข้าใจเรื่องนี้ดีแล้ว การปฏิบัติธรรมก็ง่ายเข้า เพราะเหตุว่า รูปที่เราหลงรักใคร่ หลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา และของเรานั้น แท้จริงมันมิได้อยู่ในอำนาจของใครทั้งสิ้น มันย่อมเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์

ขันธ์ ๕ นี้เมื่อเรายึดถือว่า มันเป็นของเรา เมื่อมันเปลี่ยนแปรไป เราก็เป็นทุกข์ เสียใจ ถ้าเราไม่มีความยึดมั่นว่าเรา ว่าของเรา ความทุกข์ก็ไม่มี พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลกยอมรับสภาพตามเป็นจริง อย่าไปฝืนหรือทวนกระแสธรรมดาเข้า

ชีวิตของแต่ละคน ย่อมประกอบขึ้นด้วยขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ และเพราะอาศัยขันธ์ ๕ นี้แหละ ถ้าเราขาดการพิจารณา โมหะความหลงก็จะเข้ามาครอบงำ ยึดถือว่าเป็นเราและของเรา แล้วก็ทำบุญบ้างทำบาปบ้าง แล้วก็เสวยผลของกรรมนั้น ๆ เวียนว่ายตาย-เกิด ไม่รู้จักจบสิ้น

ถ้าเราไม่พบคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ เราก็จะไม่มีการสิ้นสุดภพชาติได้ เมื่อเราได้พบพระธรรมอันประเสริฐเช่นนี้แล้ว ก็อย่าได้รีรอต่อไปอีกเลย ชีวิตเป็นของน้อย และไม่มีหลักอะไรประกัน ควรจะรีบทำที่พึ่งให้ตนเองเสียแต่บัดนี้เถิด.