พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD036

 

ทรงเตือนภิกษุอย่าเป็นฟืนเผาศพ

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ทรงขับไล่ภิกษุแล้วจึงเสด็จไปพักยังป่ามหาวัน โคนต้นมะตูม แล้วทรงเกิดพระเมตตา เกรงภิกษุผู้บวชใหม่จะมีจิตแปรปรวนเหมือนลูกวัวอ่อนขาดแม่ จึงทรงกลับมาประทานพระโอวาทไว้ดังนี้

 

“ภิกษุทั้งหลาย! ข้อเลวทรามในการเลี้ยงชีพ คือ การแสวงหาบิณฑบาต ภิกษุย่อมได้รับการแช่งด่า ว่าเป็นผู้ขอ แต่ผู้มาบวชนี้มิใช่เป็นผู้มีโทษ แต่พวกเธอบวชเพราะเห็นทุกข์ มีทุกข์ครอบงำแล้ว ทำไฉนการทำที่สุดแห่งทุกข์ จึงจะปรากฏได้

 

แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้โลภมาก มีราคะแรงกล้า มีจิตพยาบาท มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์

 

ภิกษุทั้งหลาย! เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้ว จากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์ คือ ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วย ว่ามีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งมีไฟติดทั้งสองข้าง แถมตรงกลางก็เปื้อนคูถ จะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ จะใช้เป็นฟืนในป่าก็ไม่ได้ ฉะนั้น”

 

ปิณโฑลยสูตร ๑๗/๙๙

 

พระสูตรนี้ ทรงเตือนภิกษุที่นับว่ารุนแรงมาก เพื่อมิให้หลงลืมในเพศและภาวะของตน ที่ต้องอาศัยฝากปากท้องไว้กับชาวบ้าน นั่นคือการขอเขากิน

พระเราต่างจากขอทานก็ตรงที่ ขอทานรับของจากผู้ให้แล้วต้องไหว้ หรือแสดงความเคารพผู้ให้ แต่พระนั้นตรงกันข้าม คือผู้ให้จะต้องไหว้หรือแสดงความเคารพผู้รับ ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้รับมีศีลและธรรมเหนือกว่า จึงอยู่ในฐานะที่เป็น “เนื้อนาบุญ” ของผู้ให้

ด้วยเหตุนี้ การไปบิณฑบาตของพระ จึงมิใช่ไปขอทานหรือขอข้าวเขากิน แต่ถือว่า “ไปโปรดสัตว์” คือทำให้ผู้ที่ยังข้องอยู่ในโลกได้รับส่วนบุญ หรือเป็นการสร้างบารมี แต่ทั้งนี้ผู้ที่ไปโปรดสัตว์ จะต้องดำรงตนให้เหมาะสมกับความเป็น “พระแท้” ด้วย มิฉะนั้นผู้รับทานก็จะกลายสภาพเป็น “ลูกหนี้” ไป

ทรงเปรียบกับคนที่ไร้สาระทั้งสองเพศ คือ อยู่ในเพศของคฤหัสถ์ ก็ไม่ทำหน้าที่ของฆราวาสที่ดี อยู่ในเพศของนักบวช ก็ไม่ทำหน้าที่ของสมณะที่ดี ก็เลยกลายเป็นคนประเภทฟืนเผาผีในป่าช้า มีไฟติดอยู่ที่หัวและท้าย แถมตรงกลางยังเปื้อนอุจจาระเสียอีก เลยใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย.