พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD030

 

คนตาบอดคลำช้าง

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสปรารภเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่มีความคิดความเห็นต่างกัน ต่างทุ่มเถียงกันตามความเห็นของตน ๆ ครั้นแล้วทรงนำเอาเรื่องคนตาบอดคลำช้าง มาเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พอสรุปได้ว่า

 

มีพระราชาองค์หนึ่ง ในเมืองสาวัตถีนี้ในอดีต ได้สั่งให้เรียกคนตาบอดทั้งหมดให้มาประชุมกัน แล้วสั่งให้นำช้างไปให้คนตาบอดเหล่านั้นคลำ ครั้นคนตาบอดคลำทั่วทุกคนแล้วพระราชาได้ตรัสถามว่า ช้างมีลักษณะอย่างไร?

 

คนตาบอดเหล่านั้น ต่างมีความเห็นแตกต่างกันไป ตามแต่ที่ตนคลำพบ พอสรุปได้ ดังนี้

 

คนตาบอดพวกที่คลำถูกศีรษะช้างตอบว่า

ช้างเหมือนหม้อ

คนตาบอดพวกที่คลำถูกหูช้างตอบว่า

ช้างเหมือนกะด้ง

คนตาบอดพวกที่คลำถูกงาช้างตอบว่า

ช้างเหมือนผาล

คนตาบอดพวกที่คลำถูกงวงช้างตอบว่า

ช้างเหมือนงอนไถ

คนตาบอดพวกที่คลำถูกตัวช้างตอบว่า

ช้างเหมือนฉางข้าว

คนตาบอดพวกที่คลำถูกเท้าช้างตอบว่า

ช้างเหมือนเสา

คนตาบอดพวกที่คลำถูกหลังช้างตอบว่า

ช้างเหมือนครกตำข้าว

คนตาบอดพวกที่คลำถูกโคนหางช้างตอบว่า

ช้างเหมือนสาก

คนตาบอดพวกที่คลำถูกหางช้างตอบว่า

ช้างเหมือนไม้กวาด

 

            คนตาบอดเหล่านั้น ต่างทุ่มเถียงกันและกันว่า ช้างเป็นเช่นนี้ ช้างไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วก็หาข้อยุติไม่ได้ เพราะต่างก็ไม่รู้จักช้างที่แท้จริง พวกลัทธิต่าง ๆ ที่ไม่รู้จริง ก็มีลักษณะเหมือนคนตาบอดคลำช้าง ฉะนั้น.

 

กิรสูตร ๒๔/๑๕๔

 

            พระสูตรนี้ ทรงแสดงถึงความเห็นต่าง ๆ ของเจ้าลัทธิทั้งหลาย ที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เหตุเพราะ “รู้ไม่จริง” แต่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งโลก จึงไม่มีปัญหาที่ชาวพุทธจะต้องถกเถียงกันอีกต่อไป

            แต่ในวงการภายในของชาวพุทธ ก็ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน อยู่ในที่ทั่ว ๆ ไป ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาหรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนช้าง ผู้ที่ไม่รู้จริงที่มาศึกษาธรรมะ ก็เปรียบเหมือนคนตาบอดที่มีคลำถูกช้างแต่ละจุด แล้วก็ถือเอาสิ่งที่ได้พบเห็นว่า เป็นตัวศาสนาที่แท้ แล้วต่างก็ถกเถียงกันว่า ของฉันถูกของฉันแท้ ของแกผิดของแกเก๊

            เหตุที่พุทธศาสนาแตกเป็นนิกายต่าง ๆ เป็นแบบและแนวการศึกษา และปฏิบัติต่างกัน ไม่สามารถจะลงกันได้ในความเห็น ทั้ง ๆ ที่พระธรรมและพระวินัย ก็เหมือนกัน ก็ด้วยเหตุผลที่สติปัญญาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนมีปัญญาน้อยก็มองได้ในวงแคบ คนที่มีปัญญามากก็มองได้กว้างไกล

            พระพุทธศาสนาเป็นขุมความรู้ เพื่อความดับทุกข์ที่กว้างใหญ่ ยากที่ปุถุชนคนหน้าด้วยกิเลสจะศึกษาให้แตกฉาน และรู้ให้ทั่วถึงได้โดยง่าย

            ฉะนั้น ผู้ที่มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ ผู้เกิด แก่ เจ็บ และตายร่วมกัน จึงไม่ควรจะผูกขาดความคิดว่า ของฉันถูกแต่ผู้เดียว เพราะนอกจากจะเป็นเหตุปกปิดปัญญาของตนเองแล้ว ยังก่อให้เกิดความแตกแยก ในหมู่พุทธบริษัทด้วยกันอีกด้วย

            เราควรยอมรับความจริงว่า ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตราบนั้น เชื้ออวิชชาหรือความโง่ ก็ย่อมจะมีเป็นทุนเดิมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย.

 

การทำบุญเป็นการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น

บริสุทธิ์สะอาดและผ่องใสขึ้น

แต่ถ้ายึดและติดในบุญ

ก็ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้