พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD026

 

หลักการฟังคำพูดของผู้อื่น

 

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ครั้งนั้นแล ทรงเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้ว ได้ตรัสว่า

 

“ภิกษุทั้งหลาย! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่น จะพึงกล่าวกะพวกเธอมีอยู่ ๕ ประการ คือ

 

๑.     กล่าวโดยกาลอันสมควรหรือไม่สมควร

๒.    กล่าวด้วยเรื่องจริงหรือไม่จริง

๓.    กล่าวด้วยคำอ่อนหวานหรือหยาบคาย

๔.    กล่าวด้วยคำมีประโยชน์หรือไร้ประโยชน์

๕.    กล่าวด้วยจิตเมตตาภายในหรือประสงค์ร้าย

 

ภิกษุทั้งหลาย! เมื่อผู้อื่นจะพูดด้วยประการใด ๆ ก็ตาม พวกเธอพึงตั้งจิตอย่าให้แปรปรวน เราจะไม่พูดจาที่ลามก เราจะสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจะต้องมีเมตตาจิต ไม่มีความโกรธภายในใจ เราจะแผ่เมตตาจิตไปให้บุคคลนั้น เราจะต้องแผ่เมตตาจิตไปไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง

 

ภิกษุทั้งหลาย! หากจะมีพวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับสองข้าง มาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ในร่างกายของเธอ ด้วยการกระทำของพวกโจรนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดมีจิตคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งของเรา เพราะเหตุที่อดกลั้นไว้ไม่ได้นั้น

 

ภิกษุทั้งหลาย! แม้เพราะเหตุนั้น พวกเธอพึงปฏิบัติอย่างนี้ว่า จิตของเราจะไม่แปรปรวน เราจะไม่พูดคำที่ลามก เราจะอนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยสิ่งเป็นประโยชน์ เราจะมีเมตตาจิต ไม่มีความโกรธภายใน เราจะแผ่เมตตาจิตไปถึงบุคคลเหล่านั้น และบุคคลทั่วไปอันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาทไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้.”

 

กกจูปมสูตร ๑๒/๒๑๐

 

พระสูตรนี้ ทรงมุ่งให้สาวกรับฟังคำพูดของคนอื่นทุกประเภท ไม่ว่าจะพูดดีหรือพูดร้าย อ่อนหวานหรือหยาบคาย ให้เรามีจิตเมตตาอยู่ตลอดเวลา หักห้ามโทสะเมื่อได้ฟังคำหยาบคาย หรือไม่เป็นที่สบอารมณ์ เพื่อระงับเวรอันจะเกิดจากความอาฆาตพยาบาทนั้น

ทรงสั่งสอนถึงกับว่า ถ้ามีพวกโจรมาเลื่อยท้องไส้ของเราอยู่ แม้จะเจ็บปวดเจียนขาดใจตาย ก็ยังต้องแผ่เมตตาจิตให้พวกโจร จะป่วยกล่าวไปไยถึงคำพูดที่ไม่เจ็บปวดร่างกายเล่า หารกเรามีจิตคิดโกรธแม้แต่น้อยหนึ่ง เราก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า

คำสอนตอนนี้ ถ้าใครพยายามปฏิบัติตามได้ในชาตินี้ก็จะไม่มีภัยเวรเลย ถ้าล่วงลับดับขันธ์ ก็หวังสุคติ โลก สวรรค์ ได้แน่นอน แต่ข้อสำคัญมันทำยากนี่สิ จะทำอย่างไร? ก็ตอบได้แบบ “กำปั้นทุบดิน” ว่า ต้องทำบ่อย ๆ ทำให้มาก ๆ เมื่อเราทำบ่อยทำมาก ความยากมันก็จะหมดไป ไม่เชื่อก็ลองดู

เรื่องความดีความชั่ว ใคร ๆ ก็รู้กันอยู่เต็มอกว่า ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่ ทำชั่วแล้วมันก็ต้องได้รับผลของความชั่วแน่ แต่มันไปยากที่ใจมันไม่อยากทำดี แถมยังยินดีในการทำชั่วเสียอีก

ในทางพระท่านจึงว่า ธรรมชาติของจิตมันชอบคิดในทางต่ำ เหมือนน้ำย่อมมีปกติชอบไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ แต่เพราะเรารู้ว่า ความดีมีผลเป็นความสุข ความชั่วมีผลเป็นความทุกข์ คนเราจึงต้องฝืนใจทำความดี และฝืนใจละเว้นไม่ทำชั่ว ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพราะคนเรามีความรักตน หวังเพื่อให้ตนมีความสุข ดังนี้แล.

 

การอยู่ร่วมกับคนผู้ไม่เสมอกัน นำความทุกข์มาให้

ทุกฺโข สมานสํวาโส