พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD024

 

เปรียบไม้สีไฟกับการปฏิบัติธรรม

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ครั้งนั้นเวลาเช้า พระพุทธองค์ทรงเตรียมจะเสด็จออกบิณฑบาต ได้พบกับสัจจกนิครนถ์ นักบวชนอกพุทธศาสนา ได้ทรงสนทนากันหลายเรื่อง ตอนหนึ่งทรงเล่าให้ฟังถึงการปฏิบัติธรรมส่วนพระองค์ ก่อนการตรัสรู้ มีอุปมาเกิดขึ้น ๓ ข้อ คือ

 

๑.        ไม้สดชุ่มด้วยยาง แช่ไว้ในน้ำ ไม่สามารถจะสีให้เกิดไฟได้ ฉันใด?

เปรียบเหมือนนักบวชที่มีกายไม่พรากออกจากกาม มีการเกี่ยวข้องและพอใจในกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้า ได้รับทุกขเวทนาแรงกล้าเผ็ดร้อนปานใด ก็ไม่อาจจะบรรลุธรรมได้ ฉันนั้น

 

๒.        ไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบก ไม่สามารถจะสีให้เกิดไฟได้ ฉันใด?

เปรียบเหมือนนักบวชที่มีกายพรากออกจากกาม ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม แต่ยังพอใจและยินดีในกาม แม้จะบำเพ็ญเพียรอย่างแรงกล้าเผ็ดร้อน ได้รับทุกขเวทนาปานใด ก็ไม่อาจจะบรรลุธรรมได้ ฉันนั้น

 

๓.        ไม้แห้งและวางอยู่บนบก สามารถจะสีให้เกิดไฟได้ ฉันใด?

เปรียบเหมือนนักบวชที่มีกายพรากออกจากกาม ทั้งไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยินดีในกาม แม้จะไม่บำเพ็ญเพียรจนถึงขนาดได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า ก็สามารถบรรลุธรรมได้

 

มหาสัจจกสูตร ๑๒/๓๖๘

 

            พระสูตรนี้ แสดงให้เห็นพระปัญญาธิคุณว่า การปฏิบัติธรรมนั้น มิใช่ว่ามีเพียงศรัทธา กับมีครูบาอาจารย์สั่งสอนก็พอ ก็หามิได้ จะต้องพิจารณาถึงส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย มิฉะนั้นก็จะเหนื่อยเปล่าหรือตายเปล่า มรรคผลแก่นสารใด ๆ ก็ไม่เกิด

            ผู้ปฏิบัติธรรมบางท่าน ได้ตึงบางอย่าง แต่ก็ไปหย่อนในสิ่งที่ไม่ควรหย่อนบางอย่าง ผลของการปฏิบัติจึงไม่เกิด ก็ได้แต่ย่ำเท้าอยู่กับที่ และรอวันที่ถอยหลังลงทะเลไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็ขาดปัญญาตัวเดียวเท่านั้น จึงไม่มีอุบาย (นิสสรณปัญญา) ที่จะสลัดตัวให้พ้นออกมาได้