พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD022

 

สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี พวกเจ้าลิจฉวีเป็นอันมาก ขึ้นยานอย่างดีมีเสียงอื้ออึง เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระเถระหลายรูป รู้ว่าเสียงเป็นปฏิปักษ์ต่อฌาน และพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ ความมีเสียงเบา จึงพากันหลบไปอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลทายวัน

 

พระพุทธองค์ทรงเห็นภิกษุบางตา จึงตรัสถาม เมื่อทรงทราบแล้ว ตรัสอนุโมทนา และทรงแสดงสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ๑๐ ประการ คือ

 

๑.       ผู้ยินดีในการคลุกคลีกับหมู่คณะ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ กับผู้ยินดีในที่สงัด

๒.      การประกอบไว้ซึ่งสุภนิมิต ย่อมเป็นปฏิปักษ์ กับผู้ประกอบไว้ซึ่งอสุภนิมิต

๓.      การดูมหรสพเป็นข้าศึก ย่อมเป็นปฏิปักษ์ กับผู้สำรวมอินทรีย์

๔.      การติดต่อกับมาตุคาม ย่อมเป็นปฏิปักษ์ กับผู้พระพฤติพรหมจรรย์

๕.      เสียง ย่อมเป็นปฏิปักษ์ ต่อปฐมฌาน

๖.       วิตกและวิจาร ย่อมเป็นปฏิปักษ์ ต่อทุติยฌาน

๗.      ปีติ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อ ตติยฌาน

๘.      ลมอัสสาสะและปัสสาสะ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ ต่อจตุตถฌาน

๙.      สัญญาและเวทนา ย่อมเป็นปฏิปักษ์ ต่อสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ

๑๐.                       ราคะ ย่อมเป็นปฏิปักษ์ ต่อโทสะ

 

เธอทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์เถิด พระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์ เพราะเป็นผู้หมดปฏิปักษ์แล้ว

 

กัณฏกสูตร ๒๔/๑๓๗

 

            การปฏิบัติธรรม ที่จะให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ควรที่จะต้องคำนึงถึง “สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์” ต่อองค์ธรรมข้อนั้น ๆ ด้วย มิฉะนั้นการปฏิบัติก็จะล่าช้า ทำให้เสียเวลา และจะนำพาให้เกิดความเบื่อหน่าย เป็นผลตามมาอีกด้วย

            ทั้งนี้ก็เพราะว่า งานทางจิตเป็นงานละเอียดอ่อน ต้องใช้ปัญญาที่สุขุมคัมภีรภาพ จึงจะเอาชนะข้าศึก (กิเลส) ได้ ถ้ามัวแต่ต่อสู้ข้าศึกหลายด้าน โอกาสที่จะชนะมัน ก็เป็นไปได้ยาก หรืออาจแพ้มันก็ได้ ผู้ปฏิบัติธรรมที่ฉลาด จึงไม่ควรที่จะมองข้ามปัญหานี้ไป