พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD019

 

ปฏิจจสมุปบาท

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายถึงเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท คือ สภาพที่ต้องอาศัยกันเกิดขึ้น ไว้ดังนี้

 

“ภิกษุทั้งหลาย!        เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย           จึงมีสังขาร

เพราะสังขารเป็นปัจจัย           จึงมีวิญญาณ

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย    จึงมีนามรูป

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย        จึงมีสฬายตนะ

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย          จึงมีเวทนา

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย         จึงมีตัณหา

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย         จึงมีอุปาทาน

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย     จึงมีภพ

เพราะภพเป็นปัจจัย                จึงมีชาติ

เพราะชาติเป็นปัจจัย               จึงมีชรา มรณะ โสกปริเทวะ ทุกขโทมนัสและอุปายาส ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมีด้วยอาการอย่างนี้ นี้เราจึงเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท

 

ก็เพราะอวิชชานั่นแหละดับโดยไม่เหลือ สังขารจึงดับ ฯลฯ อุปายาสจังดับ”

 

เทศนาสูตร ๑๖/๑

 

ในบรรดาความทุกข์ทั้งหลายแหล่ของมนุษย์เรา เมื่อรวมลงแล้วก็มีต้นเหตุมาแต่ อวิชชา คือ ความไม่รู้ หรือความโง่ สิ่งใดที่เราไม่รู้เราก็ย่อมจะทำผิดพลาดเหมือนคนตาบอด ตั้งแต่ระดับต่ำ คือ เรื่องปากท้องจนถึงระดับสูงคือความหลุดพ้นจากกิเลสตัณหาทั้งปวงเป็นที่สุด เพราะเหตุแห่งความไม่รู้ คนเราจึงทำอะไรด้วยความผิดพลาด แล้วก็รับผลแห่งความผิดพลาดนั้น ที่ออกมาในรูปของความทุกข์นานาประการ

            การดับเหตุแห่งความทุกข์โดยสิ้นเชิงนั้น เราจะต้องค้นหาให้พบปมหรือเงื่อนต้นก่อน เมื่อแก้ที่ต้นเหตุแล้วปลายเหตุก็จะหายไปเอง ไม่มีความทุกข์สิ่งใดที่เกิดโดยไม่มีเหตุ ไม่มีเหตุใกล้ก็ต้องมีเหตุไกล วิธีดับทุกข์สายปฏิจจสมุปบาท เราจะดับที่อวิชชาก็ได้ ดับที่ผัสสะก็ได้ ดับที่เวทนาก็ได้ ดับที่ตัณหาก็ได้ เมื่อตอนใดตอนหนึ่งขาด สายแห่งทุกข์ก็ขาด เมื่อเหตุแห่งความทุกข์ขาด ความทุกข์ก็ดับ

            ข้อสำคัญในการดับทุกข์ เราจะต้องทำให้จริง และต้องทำให้ต่อเนื่อง เหมือนการรักษาโรค ก็ต้องรักษาให้มันจริง และรักษาให้ต่อเนื่อง รักษาบ้างไม่รักษาบ้าง ทำ ๆ หยุด ๆ โรคมันก็จะ “ดื้อยา” การรักษามันก็ย่อมไม่ได้ผล

            เหนือสิ่งอื่นใด ปัญญาหรืออวิชชา เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าคนขาดปัญญาเพียงอย่างเดียว ยิ่งแก้มันก็ยิ่งทุกข์ เหมือนการกินเหล้าดับทุกข์นั่นแหละ ยิ่งกินมากขึ้นเท่าไร ทุกข์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น