พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD018

 

ปฏิจจสมุปบาทเป็นธรรมลึกซึ้ง

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ นิคมกัมมาสะทัมมะ เมืองกุรุ แคว้นกุรุรัฐ พระอานนท์ได้กราบทูลว่า

 

            “น่าอัศจรรย์นัก พระเจ้าข้า” ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ปรากฏเหมือนเป็นธรรมง่าย ๆ แต่ข้าพระองค์”

 

            พระพุทธองค์ตรัสห้ามในทันทีว่า

 

            “อานนท์! เธออย่าพูดอย่างนี้ อานนท์! เธออย่าพูดอย่างนี้ ปฏิจจสมุปบาทนี้เป็นธรรมลึกซึ้ง ทั้งมีกระแสความลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ไม่ตรัสรู้ ไม่แทงตลอดธรรมนี้ หมู่สัตว์นี้จึงเป็นเหมือนเส้นด้ายที่ยุ่ง เป็นเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม เป็นเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ย่อมไม่ผ่านพ้นอบาย และการเวียนว่าย

 

            อานนท์! เมื่อภิกษุเกิดความพอใจบ่อย ๆ ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความยึดมั่นถือมั่นอยู่ ตัณหาย่อมเกิดขึ้น เพราะตัณหาเป็นเหตุ จึงเกิดอุปาทานเป็นผล เพราะอุปาทานเป็นเหตุ จึงเกิดภพเป็นผลฯ อย่างนี้

 

            อานนท์! เมื่อภิกษุเห็นโทษบ่อย ๆ ในสิ่งทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งความยึดมั่นถือมั่น ตัณหาย่อมดับเพราะตัณหาดับอุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับฯ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้”

 

นิทานสูตร ๑๖/๑๐๑

 

            พระสูตรนี้มีเรื่องที่น่าคิด คือ พระพุทธองค์ทรงหมดกิเลสแล้ว ส่วนพระอานนท์ท่านยังไม่หมดกิเลส ท่านได้แค่พระโสดาบันเท่านั้น การมองปฏิจจสมุปบาท จึงเป็นการมองคนละแง่ คือพระพุทธองค์ทรงมองตลอดสาย แต่พระอานนท์ท่านอาจมองจุดใดจุดหนึ่ง ตามเยี่ยงของคนที่ยังไม่หมดกิเลส

            จากความคิดอันนี้ ทำให้เราได้ตัวอย่างต่าง ๆ หลักฐานต่าง ๆ แม้ในพระไตรปิฎก มักจะมีผู้แสดงความเห็น หรือตีความธรรมะต่าง ๆ กันไป เพราะขึ้นอยู่กับคุณธรรมในใจ ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ

            ดังนั้น การตีความธรรมะ จึงควรที่จะยึดหลักฐานในพระไตรปิฎกเป็นแนว มิฉะนั้นก็จะเกิดการแตกแยก และไม่อาจจะหาข้อยุติได้ ความปรารถนาดีก็เลยกลายเป็นผลร้ายให้มือที่สามได้ประโยชน์ แบบตีงูให้กากิน ฉะนั้น