พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD017

 

ธรรมของคนดีและของคนชั่ว

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะพระภิกษุทั้งหลายถึงเรื่อง ธรรมของคนดี (สัปปุริสธรรม) และ ธรรมของคนชั่ว (อสัปปุริสธรรม) พอสรุปได้ว่า

 

ธรรมะของคนชั่ว คือ

๑.      ผู้ออกบวชจากสกุลสูง

๒.      ผู้ออกบวชจากสกุลใหญ่

๓.      ผู้มีคนรู้จัก มียศ

๔.      ผู้มีลาภ

๕.      ผู้มีการศึกษามาก

๖.      ผู้ทรงจำวินัย

๗.      ผู้เป็นนักพูดธรรมะ

๘.      ผู้อยู่ป่า

๙.      ผู้นุ่งห่มผ้าบังสุกุล

๑๐. ผู้ถือบิณฑบาต

๑๑. ผู้อยู่โคนไม้

๑๒.ผู้อยู่ป่าช้า

๑๓.ผู้ได้รูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔

๑๔.และผู้ที่ได้อรูปฌานที่ ๑ ถึงที่ ๔ รวม ๒๐ พวก

 

ใน ๒๐ พวกนี้ที่เป็นคนชั่ว คือ มักจะยกตนข่มขี่ผู้อื่น เพราะเหตุที่ตนอยู่ใน ๒๐ พวกนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลายอย่างก็ได้ จัดว่าเป็นอสัปบุรุษ คือ คนชั่วทั้งสิ้น

 

ส่วนคนดี ย่อมพิจารณาเห็นว่า ความโลภ ความโกรธ และความหลง ย่อมไม่อาจหมดไปได้เพราะการอยู่หรือได้ฐานะ ๒๐ ประการนั้น ถึงแม้ไม่อยู่ในฐานะทั้ง ๒๐ นั้น แต่เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตนสมควร คนทั้งหลายก็ต้องบูชาสรรเสริญในที่นั้น คนดีนั้นเขาปฏิบัติแต่ภายใน (คือไม่โอ้อวด ยกตัว) ไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น เพราะความเป็นผู้มีฐานะ ๒๐ นั้น นี่คือธรรมของคนดี

 

สัปปุริสสูตร ๑๔/๑๑๓

 

คำว่า “ธรรม” ในหัวเรื่องนี้ เป็นของหรือสิ่งกลาง ๆ ยังไม่จัดว่าดีหรือชั่ว จึงใช้คำว่า “ธรรมของคนดีและของคนชั่ว” ต่อมาเราได้ดูที่การกระทำ หรือฟังคำที่เขาพูดแล้วจึงจะตัดสินใจได้ว่า สิ่งนั้นดีหรือชั่ว

ในพระสูตรนี้ ท่านยกเอาผู้ที่อยู่ หรือได้คุณธรรมนั้น ๆ ใน ๒๐ ประเภทมาเป็นตัวอย่างว่า แม้ผู้ที่ถึงฐานะ ๒๐ พวกนั้นแล้ว ก็มิได้เป็นประกันว่า จะเป็นคนดีหรือคนชั่วเสมอไป จะต้องมีการละความโลภ ความโกรธ และความหลงประกอบด้วย

พระสูตรนี้ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ให้ชาวพุทธที่มีสัทธาจริต เห็นพระอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ป่าช้า นุ่งห่มผ้าสีกรัก ทำสมาธิได้ถึงขั้นฌานต่าง ๆ ว่าเป็นผู้ที่หมดกิเลสตัณหาแล้ว บางทีท่านอาจมีกิเลสตัณหามากกว่า พระที่อยู่ในกรุงบางรูปเสียด้วยซ้ำไป