พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD014

 

ศึกษาธรรมผิดเหมือนจับงูพิษที่หาง

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า

 

“ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษเปล่าบางพวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ (พระสูตร) เคยยะ (คำร้อยกรอง) เวยยากรณะ (คำร้อยแก้ว) คาถา (คำฉันท์) อุทาน (การเปล่งคำพูดด้วยความเบิกบานใจ) อิติวุตตกะ (การยกหัวข้อธรรมขึ้นอธิบายแล้วสรุป) ชาดก (อดีตชาติของพระพุทธเจ้า) อัพภูธรรม (ธรรมที่น่าอัศจรรย์) เวทัลละ (การถาม-ตอบ)

 

บุรุษเปล่าเหล่านั้น เล่าเรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมไม่ไตร่ตรองเนื้อความแห่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้น ย่อมไม่สมควรแก่บุรุษเปล่าเหล่านั้น เขาเหล่านั้นย่อมเป็นผู้ข่มผู้อื่น โอ้อวด ยกตัวเหตุเพราะเรียนธรรมเหล่านั้นไม่ดี จึงไม่เป็นประโยชน์ แต่เป็นไปเพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะเหตุไร?

 

ภิกษุทั้งหลาย! เหมือนบุคคลต้องการหางูพิษ เที่ยวเสาะหางูพิษอยู่ เขาพบงูพิษตัวใหญ่ แล้วเข้าจับที่หางของมัน งูพิษได้แว้งกัดบุคคลนั้นถึงตาย หรือทุกข์ปางตาย ข้อนั้นเพราะเหตุใด?

 

ภิกษุทั้งหลาย! การเล่าเรียนธรรมเหล่านั้น ด้วยการไม่ไตร่ตรองด้วยปัญญา ธรรมเหล่านั้นย่อมก่อให้เกิดทุกข์ เหมือนจับงูพิษที่หาง ฉะนั้น”

 

อลคัททูปมสูตร ๑๒/๒๑๗

 

พระพุทธศาสนา มีหลักคำสอนที่กว้างขวางมาก จนทำให้บางคนท้อใจ ในการศึกษาและปฏิบัติ แต่ถ้าเรารู้วิธีแล้ว มันก็จะเห็นว่าไม่มากหรือลำบาก ไม่ว่าในการศึกษาหรือปฏิบัติ

แม้แต่ของใช้บางอย่างที่เป็นวัตถุ ทั้ง ๆ ที่เห็นเขาใช้กันอยู่ บางคนก็ยังใช้ไม่เป็น เกิดอันตรายก็มีอยู่เสมอ แต่ถ้าเราศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง ก็จะมีแต่คุณไม่มีโทษ

หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้หลักว่าธรรมะข้อไหนควรใช้ก่อน ข้อไหนควรใช้หลัง มันก็จะมีแต่คุณไม่มีโทษ

แต่ถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกวิธี มันก็อาจเกิดโทษได้ และที่เกิดโทษนั้นก็มิใช่ว่า ธรรมะให้โทษ แต่เป็นโทษที่เราใช้ไม่ถูกเอง เช่น รู้ธรรมะแล้ว ก็เที่ยวคุยทับถม ดูหมิ่นคนอื่น รังเกียจคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น เป็นต้น