พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD013

 

หลักความเชื่อที่ถูกต้อง

 

พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกาลามะ ชื่อว่า เกสปุตตะ แคว้นโกศล ในสมัยนั้น ได้มีผู้อวดอ้างตัวในคุณวิเศษกันมาก จนชาวเกสปุตตะเอือมระอานักบวชมาก แต่ละพวกนอกจากจะอวดตัวแล้ว ยังพูดกดและดูหมิ่นลัทธิอื่นอีกด้วย เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึง มีชาวบ้านเกสปุตตะมาเฝ้า ทรงแสดงหลักความเชื่อ ๑๐ ประการ เป็นหลักตัดสิน คือ

 

๑.     อย่างปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตาม ๆ กันมา

๒.    อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา

๓.    อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ

๔.    อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

๕.    อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก

๖.     อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน

๗.    อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล

๘.    อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว

๙.    อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้

๑๐.           อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้ เป็นครูของเรา

 

ต่อเมื่อใด รู้และเข้าใจด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษหรือไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือควรปฏิบัติ ตามที่รู้และเข้าใจนั้น

 

เกสปุตตสูตร ๒๐/๒๑๒

 

พระสูตรนี้ มักจะถูกนำมาอ้างกันมาก แต่มักจะอ้างไม่ตลอดสาย คืออ้างแต่ว่า ไม่ให้เชื่อตำรา แต่ไม่ได้ดูบทสรุปที่ว่า “ต่อเมื่อเข้าใจด้วยตนเองว่า....”

พระสูตรนี้ท่านมิได้ห้ามมิให้เชื่อ แต่ท่านให้เชื่อด้วยมีปัญญาประกอบด้วย มิฉะนั้นความเชื่อต่าง ๆ มักจะไม่พ้น “ความงมงาย” ถ้าพระสูตรนี้ไม่ให้เชื่ออะไรแล้ว เราก็ต้องไม่เชื่อพระสูตรด้วย เพราะพระสูตรนี้ก็เป็นตำราเหมือนกันมิใช่หรือ?

ดังนั้น เมื่อฟังหรืออ่านอะไรมา จึงไม่ควรทำตนเป็นคน “กระต่ายตื่นตูม” เอะอะโวยวาย พลอยให้คนที่เขารู้น้อยพลอยเสียประโยชน์ไปด้วย การใคร่ครวญพิจารณา จึงเป็นคุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี พึงมีไว้ประจำตนตลอดไป