พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD009

 

หลักใหญ่สำหรับเทียบเคียง ๔

(ฝ่ายพระวินัย)

                พระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เวลานั้นของขบฉันได้แก่ผลไม้ มีผู้นำมาถวายมาก พวกภิกษุพากันสงสัยว่า ผลไม้ประเภทใดควรฉัน หรือไม่ควร พระพุทธองค์ทรงประทาน หลักใหญ่สำหรับเทียบเคียง ๔ ฝ่ายพระวินัยที่เรียกว่า มหาประเทศ คือ

 

๑.     สิ่งใดไม่ได้ทรงห้าม ไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งนั้นไม่ควร

๒.   สิ่งใดไม่ได้ทรงห้าม ไว้ว่าไม่ควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

๓.   สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต ไว้ว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) สิ่งในไม่ควร

๔.   สิ่งใดไม่ได้ทรงอนุญาต ไว้ว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ควร (กัปปิยะ) ขัดกับสิ่งที่ไม่ควร (อกัปปิยะ) สิ่งนั้นควร

 

วินัย ๕/๑๒๓

 

พระวินัยจัดว่าเป็น “คำสั่ง” ซึ่งมาคู่กับธรรมะ ซึ่งจัดว่าเป็น “คำสอน” ซึ่งสาวกจะต้องให้ความเอื้อเฟื้อ และปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่พระวินัย เป็นกฎหรือข้อบังคับ บางอย่างก็ขึ้นกับกาลเวลา และความเชื่อถือของสังคมนั้น ๆ บางข้อแม้เป็นความผิดปานกลาง แต่คนบางกลุ่มเขาก็ไม่ถือ เช่น เรื่องพระใช้เงิน ขุดดิน ตัดต้นไม้ เป็นต้น

บางอย่างโทษทางวินัยไม่รุนแรง แต่เมื่อนักบวชล่วงเข้าก็อาจถูกจับสึก หรือ ถึงติดคุกได้ เช่น สุราและการพนัน เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในยุคใดสมัยใด ศีลก็ถือว่าเป็นรากแก้วของศาสนา ที่ทั้งชาวบ้านและชาววัด จะต้องให้ความสนใจปฏิบัติงดเว้นให้ได้ตลอดไป

ส่วนว่า จะปฏิบัติให้หย่อนและตึงเพียงใดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ถ้าเราอยู่ในหมู่คณะใด ก็ควรที่จะคล้อยตามปฏิปทาของหมู่คณะนั้น มิบังควรที่จะทำตนเป็น “แกะดำ” ในหมู่ “แกะขาว” เลย

ในสังคมพุทธปัจจุบันนี้ ก็มีให้เราได้เลือกอยู่หลายแบบแล้ว เราพอใจที่ปฏิบัติในแบบหรือวิธีใด ก็ขอเชิญตามสมัครใจเถิด ขอแต่ว่า เมื่อสังกัดคณะนี้แล้ว ก็อย่าได้โจมตีคณะโน้น หรือคณะอื่น ๆ อยู่เลย เพราะถึงอย่างไร เราก็เป็นลูก “พ่อเดียวกัน” ทั้งนั้น ไม่ใช่หรือ?