พระไตรปิฏกฉบับ ดับทุกข์

ธรรมรักษา

                TPD003

 

เรื่องของคนเกียจคร้าน

 

          ในบรรดาอุปสรรคของความเจริญที่มีในโลกนี้ทั้งหมดนั้น ความเกียจคร้านนับว่าเป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าในทุกรูปแบบ ไม่ว่าคนโง่หรือคนฉลาด ถ้าปล่อยให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำ ย่อมจะหาความเจริญก้าวหน้าในชีวิตไม่ได้เลย

           

พระพุทธองค์ทรงแสดงความเกียจคร้านไว้ ๘ ประเภท คือ

 

๑.     ภิกษุจะต้องทำงาน  เธอมีความคิดว่า เมื่อเราทำการงาน กายจะลำบาก จึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม

๒.    ภิกษุทำการงานแล้ว  เธอมีความคิดว่า เราทำการงานแล้ว กายลำบากแล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

๓.    ภิกษุจะต้องเดินทาง  เธอมีความคิดว่า เมื่อเราเดินทาง กายจะลำบาก จึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม

๔.    ภิกษุที่เดินทางแล้ว  เธอมีความคิดว่า เราได้เดินทางแล้ว การลำบากแล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

๕.    ภิกษุจะไปบิณฑบาต  เธอมีความคิดว่า เมื่อเราบิณฑบาต กายจะลำบาก จึงนอนเสียก่อน แล้วไม่ปฏิบัติธรรม

๖.     ภิกษุบิณฑบาตกลับมาแล้ว  เธอมีความคิดว่า เราได้บิณฑบาต กายลำบากแล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

๗.    ภิกษุเจ็บป่วยเล็กน้อย  เธอมีความคิดว่า เราเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้ว มีข้ออ้างเพื่อจะนอนได้แล้ว จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

๘.    ภิกษุหายจากเจ็บป่วยแล้ว  เธอมีความคิดว่า เราหายอาพาธยังไม่นาน กายยังอ่อนเพลีย จึงนอนเสีย ไม่ปฏิบัติธรรม

 

กุสีตวัตถสูตร ๒๓/๓๐๕

 

            เรื่องของคนขี้เกียจ ก็มักจะมีข้ออ้างต่าง ๆ นานาร้อยแปด เรื่องนี้จึงมิใช่ว่าจะมีในปัจจุบัน แม้ในครั้งพุทธกาลก็มีมาแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงแสดงว่า เป็นความเสื่อมของคนหนึ่งในหกข้อ ที่เรียกว่า “อบายมุข” คือ ช่องทางของความเสื่อม หรือ เหตุเครื่องฉิบหาย

            ดังนั้น ผู้หวังความเจริญ ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม จะต้องรีบกำจัด “ตัวขี้เกียจ” ออกไปให้เร็วที่สุด เพราะเจ้าตัวขี้เกียจมีขึ้นแล้ว มักจะพาเอาเจ้า “ตัวเสนียด” พ่วงเข้ามาด้วย ผู้หวังความสุขและความเจริญแก่ตนและส่วนรวม จึงไม่ควรที่จะเลี้ยงตัวขี้เกียจ ให้เป็นมิตรกันอีกต่อไป.