ประวัติอำเภอเพ็ญ  

       

                                                                              

 

ระวัติความเป็นมาของอำเภอเพ็ญตามตำนาน

                  ตามตำนาน ประมาณ ปี 1600 - 1700 กล่าวว่าที่ตั้งของอำเภอเพ็ญในปัจจุบันนั้น แต่เดิมมีลำน้ำสายเล็ก
        แต่มีความอุดมสมบูรณ์มีน้ำใสสะอาดตาไหลลงสู่ลำน้ำสวย เป็นพื้นที่ราบอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้นานาชนิดและ
        ในช่วงระยะนั้นชาวข่าและขอมมีอำนาจเที่ยวไล่กวดต้อนหัวเมืองเล็กใหญ่เพื่อเป็นเมืองขึ้นของตน และ
        เมืองอุบลราชธานีก็เป็นเมืองหนึ่งที่ถูกอิทธิพลของข่า, ขอม แผ่เข้ามา พระยาศรีสุทโธกับพระนางจันทราพร้อมด้วย
        ข้าราชบริพาร จึงได้ชักชวนราษฎรอพยพและเดินทางมาสมทบกับขุนวรบุตร ซึ่งอพยพจากเมืองหนองหาน ขุนราชปากดี
        ซึ่งอพยพมาจากเมืองหนองคาย และพระยาคำสิงห์ ซึ่งอพยพมาจากเมืองสกลนคร เมื่อรวมกำลังกันได้แล้วจึงได้
        ตั้งเมืองกันขึ้นในบริเวณลำน้ำสายดังกล่าว และได้สถาปนาพระยา ศรีสุทโธ เป็นเจ้าเมือง พระยาศรีสุทโธและ
        พระนางจันทรามีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง ทรงสิริโฉมงดงามยิ่งนัก ประกอบกับเกิดในวันเดือนเพ็ง (เพ็ญ = พระจันทร์
        เต็มดวง)จึงได้ตั้งชื่อให้ว่า "นางเพ็ง" (สำเนียงพื้นเมืองถ้าเป็นสำเนียงภาคกลาง คือ เพ็ญ) เมื่อเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว
        กิติศัพท์ความงามของพระนางเพ็งได้เล่าลือไปในหัวเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองบาง (หมู่บ้านหนึ่งของตำบลวัดธาตุ อำเภอเมือง
        หนองคาย) เมืองหนองบัวลำภู เมืองหนองหาน และเจ้าเมืองทั้งสามใฝ่ฝันที่จะสู่ขอพระนางเพ็งไปเป็นภรรยา
        และต่างฝ่ายต่างก็ส่งฑูตมาสู่ขอพระนางเพ็งต่อพระยาศรีสุทโธ จึงสร้างความลำบากใจให้แก่พระยาศรีสุทโธเป็นอย่างยิ่ง
        ในที่สุดเจ้าเมืองทั้งสามจึงได้ยกทัพมาเพื่อแย่งชิงพระนางเพ็ง สงครามชิงนางจึงเกิดขึ้น พระยาศรีสุทโธและพระนางจันทรา
        เมื่อทราบข่าวนี้ก็เกิดวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ข้าราชบริพารทั้งหลายจะต้องมาตายเพราะพระนางเพ็ง
        พระยาศรีสุทโธและพระนางเพ็ง จึงได้หาทางแก้ไข โดยขอประวิงเวลาในการตัดสินใจต่อเจ้าเมืองต่าง ๆ มีกำหนด 3 เดือน
        เมื่อครบกำหนดแล้วพระนางจะให้คำตอบในระหว่างที่ขอประวิงเวลาอยู่นั้น พระนางเพ็งคิดว่าหากตกลงแต่งงานกับคนใด
        คนหนึ่งแล้วฝ่ายที่ไม่ได้ตัวนางก็จะต้องเสียใจ และอาจตัดสินใจแก้ปัญหาโดยการใช้กำลังรบพุ่งเพื่อชิงตัวนางก็เป็นไปได้
        ถ้าหากไม่มีนางเสียแล้วปัญหาต่าง ๆ ก็จะคลี่คลายไปในทางที่ดี นางจึงได้ขอร้องให้พระบิดาและพระมารดา
        หาช่างมาก่อสร้างเจดีย์ขึ้น ข้างในเจดีย์ทำเป็นโพรง แล้วนางแจ้งความประสงค์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้อง
        ทั้งหลายทราบ พร้อมทั้งกราบลาเป็นครั้งสุดท้าย โดยแจ้งให้ทราบว่าการที่นางเสียสละครั้งนี้ก็เพื่อเห็นแก่ข้าราชบริพาร
        ที่จะมาล้มตายเพราะนาง พระยาศรีสุทโธ พระนางจันทรา และญาติของพระนางเพ็งได้ห้ามปรามแต่ก็ไม่อาจทัดทาน
        ความตั้งใจของพระนางเพ็งไว้ได้ครั้งแล้วพระนางเพ็ง จึงได้แต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว พนมมือถือดอกไม้ธูปเทียน
        เข้าไปบำเพ็ญภาวนาในเจดีย์แล้วให้ช่างโบกปูนเจดีย์ดังกล่าวให้มั่นคง ซึ่งต่อมานางได้เสียชีวิตในเจดีย์นั้น
        เมื่อครบกำหนด 3 เดือน เจ้าเมืองต่าง ๆ ก็กลับมาสู่ขอ ครั้งมาถึงจึงได้ทราบว่าพระนางเพ็ง ได้สิ้นชีวิตแล้ว ต่างก็พากัน
        เศร้าโศกเสียใจและยกทัพกลับเมืองของตน เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระนางเพ็งที่เสียสละชีวิตของตนเพียงผู้เดียว
        เพื่อไม่ให้เกิดศึกชิงนาง ซึ่งจะทำให้ข้าราชบริพารล้มตาย ชาวเมืองจึงได้ตั้งชื่อเมืองแห่งนี้ว่า เมืองเพ็ง หรือ เมืองเพ็ญ
        ตราบเท่าทุกวันนี้

              อำเภอเพ็ญยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. 2450 มี พระยาอนุชาติวุฒิคุณ เป็นนายอำเภอเพ็ญคนแรก
        นับถึงปัจจุบันอำเภอเพ็ญมีอายุได้ 94 ปี
 

                    สถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเพ็ญ

                   ที่ว่าการอำเภอเพ็ญ แต่เดิมตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 บ้านเพ็ญ ตำบลเพ็ญ แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวคับแคบ
         ซึ่งต่อมามีสถานที่ราชการอีกหลายแห่งที่จะต้องแยกออกไป ในปี 2496 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเพ็ญ
         จากหมู่ที่ 1 ตำบลเพ็ญ มาตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 17 บ้านสันป่าตอง ตำบลเพ็ญเนื่องจากเป็นสถานที่สูงใกล้เส้นทางคมนาคม
         และมีบริเวณกว้างขวางกว่าเดิม ไม่อยู่ในย่านชุมชนเกินไป การก่อสร้างที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ เริ่มเมื่อ
         พ.ศ.2496 ในสมัยนายดำริห์ สุขกมล ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเพ็ญ และเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2497 ในสมัย
         นายฟู รักราชการ ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเพ็ญ