บทคัดย่อวิทยานิพนธ์
ภาควิชาโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี พ.ศ. 2539

 


อนันต์ ชูยิ่งสกุลทิพย์ : ผลของภาพชุดแสดงพฤติกรรมตัวแบบประกอบคำบรรยายที่มีต่อความเข้าใจในการเรียน
กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่
4 (EFFECTS OF PICTURE SETS PRESENTING MODEL BEHAVIOR WITH NARRATION UPON COMPREHENSION IN LEARNING CHARACTER DEVELOPMENT AREA OF PRATHOM SUKSA FOUR STUDENTS)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

ศึกษาผลของภาพชุดแสดงพฤติกรรมตัวแบบประกอบคำบรรยายที่มีต่อความเข้าใจในการเรียนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา จำนวน 60 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน ซึ่งประกอบด้วยนักเรียนชาย 10 คน นักเรียนหญิง 10 คน จัดกลุ่มในการทดลองดังนี้ กลุ่มควบคุม เรียนโดยใช้ภาพชุดประกอบคำบรรยายไม่มีภาพแสดงพฤติกรรมตัวแบบ กลุ่มทดลอง 1 เรียนโดยใช้ภาพชุดแสดงพฤติกรรมตัวแบบประกอบคำบรรยายมีการแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบและเสริมแรงเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูล ได้แก่แบบทดสอบวัดความเข้าใจการเรียนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย ซึ่งผู้วิจัยได้สร้างขั้นมีความตรงตามเนื้อหาและได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเที่ยงของแบบทดสอบ .78 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและวิเคราะห์ความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของเชฟเฟ่

ผลการวิจัยพบว่า

ความเข้าใจการเรียนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัยของนักเรียนทั้ง 3 กลุ่มที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียน 3 แบบ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 เมื่อเปรียบเทียบรายคู่ปรากฎว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้ภาพชุดแสดงพฤติกรรมตัวแบบประกอบคำบรรยายที่มีการแสดงพฤติกรรม
ตามตัวแบบและเสริมแรง มีความเข้าใจการเรียน กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย สูงกว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้ภาพชุดแสดงพฤติกรรมตัวแบบไม่มีการแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบและนักเรียนที่เรียนโดยใช้ภาพชุดประกอบ
คำบรรยายไม่มีภาพแสดงพฤติกรรมตัวแบบ และไม่มีหลักฐานเพียงพอ ที่จะสรุปว่านักเรียนที่เรียนโดยใช้ภาพชุดแสดงพฤติกรรมตามตัวแบบ มีความเข้าใจการเรียนกลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย สูงกว่า นักเรียนที่เรียนโดยใช้ภาพชุดประกอบคำบรรยายไม่มีภาพแสดงพฤติกรรมตัวแบบ


 

บังอร จงสมจิตต์ : การศึกษาสภาพ ความต้องการและปัญหาการใช้สื่อเพื่อการเผยแพร่คาวมรู้ด้านอาชีพ ของพัฒนากรสำหรับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี (A STUDY OF STATE, NEEDS AND PROBLEMS CONCERNING MEDIA UTILIZATION FOR VOCATIONAL KNOWLEDGE DISSEMINATION OF COMMUNITY DEVELOPMENT WORKERS FOR A WOMEN OCCUPATIONAL GROUPS IN CHANGWAT SUPHAN BURI)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

ศึกษาสภาพ ความต้องการ ละปัญหาการใช้สื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพ ของพัฒนากรสำหรับกลุ่มแม่บ้านในจังหวัดสุพรรณบุรี ประชากร คือ พัฒนากร 77 คน และกลุ่มตัวอย่าง คือ แม่บ้าน 60 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพการใช้สื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพนั้น พัฒนากรส่วนใหญ่มีการใช้สื่อในระดับปานกลาง โดยสื่อที่นำมาใช้มากได้แก่ สื่อบุคคล และสื่อหอกระจายข่าว สื่อที่นำมาใช้น้อยได้แก่ แผ่นโปร่งใส และสื่อพื้นบ้าน แหล่งที่มาของสื่อส่วนใหญ่ประสานงานกับหน่วยงานอื่น สภาพเกี่ยวกับกิจกรรมการใช้สื่อข้อที่พัฒนากรปฏิบัติในระดับสูง คือ การแจ้งให้กลุ่มเป้าหมายทราบเกี่ยวกับกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้

2. ความต้องการการใช้สื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพนั้น พัฒนากรมีความต้องการใช้สื่อทุกประเภท โดยสื่อที่ต้องการใช้มากที่สุด คือ เอกสารใบงาน และสื่อที่แม่บ้านต้องการให้นำมาใช้เผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพ ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ และวีดิทัศน์ ส่วนความต้องการเกี่ยวกับกิจกรรมการใช้สื่อนั้นข้อที่พัฒนากรต้องการให้ดำเนินงานในระดับสูง คือ การเพิ่มงบประมาณที่ใช้ในการผลิตและการจัดหาสื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพ

3. ปัญหาการใช้สื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้ด้านอาชีพนั้น พัฒนากรส่วนใหญ่ประสบปัญหาในระดับปานกลาง โดยข้อที่เป็นปัญหามาก คือ การขนย้ายเครื่องฉายภาพข้ามศีรษะไม่สะดวก รองลงมาคือ งบประมาณที่ใช้ในการผลิตและจัดหาสื่อไม่เพียงพอ


 

บุญเสริม เนตรเก่ง : ปฏิสัมพันธ์ของแบบการคิดและชนิดของมุมกล้องในการสาธิตการตัดต่อวีดิทัศน์ด้วยบทเรียน
วีดิทัศน์ที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาตรี
(AN INTERACTION OF COGNITIVE STYLES AND TYPES OF CAMERA ANGLE IN VIDEOTAPE EDITING DEMONSTRATION WITH VIDEOTAPE LESSONS UPON LEARNING ACHIEVEMENT OF UNDERGRADUATE STUDENTS)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

ศึกษาปฏิสัมพันธ์ของแบบการคิดและชนิดของมุมกล้องในการสาธิตการ
ตัดต่อวีดิทัศน์ด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตปริญญาตรี

กลุ่มตัวอย่างที่นำมาทดลองในครั้งนี้ เป็นนิสิตปริญญาตรีของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 ปีการศึกษา 2539 ทั้งหมดจำนวน 150 คน นำมาผ่านการทดสอบ เดอะ กรุป เอมเบดเดด ฟิกเกอร์ เทสต์ เพื่อแยกกลุ่มตามแบบการคิดฟิลด์ ดิเพนเดนซ์ศึกษาด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องออปเจคทีฟ จำนวน 10 คน และมุมกล้องซับเจคทีฟ จำนวน 10 คน ในกลุ่มฟิลด์ อินดิเพนเดนซ์ก็นำมาผ่านการสุ่มอย่างง่ายเช่นกัน เพื่อเข้าทดลองศึกษาบทเรียนวีดิทัศน์ ที่ใช้มุมกล้องออบเจคทีฟ จำนวน 10 คน และมุมกล้องซับเจคทีฟ จำนวน 10 คน รวมเป็น กลุ่มทดลอง 4 กลุ่ม ผู้เข้าร่วมการทดลองในครั้งนี้ทั้งสิ้น 40 คน

ผู้วิจัยได้เก็บและรวบรวมข้อมูลจากคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาวิเคราะห์ทางสถิติโดยวิธีการวิเคราะห์
ความแปรปรวนสองทาง (TWO-WAY-ANOVA)

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1. นิสิตที่มีแบบการคิดต่างกัน คือ ฟิลด์ ดิเพนเดนซ์ และฟิลด์ อินดิเพนเอนซ์เมื่อเรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องในการสาธิตการตัดต่อวีดิทัศน์ต่างกันมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

2. นิสิตที่เรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องในการสาธิตการตัดต่อวีดิทัศน์ต่างกัน คือ มุมออบเจคทีฟ และมุมซับเจคทีฟ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มที่เรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องซับเจคทีฟ มีค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่ากลุ่มที่เรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องออบเจคทีฟ

3. นิสิตที่มีแบบการคิดต่างกัน คือ ฟิลด์ ดิเพนเดนซ์ และฟิลด์ อินดิเพนเดนซ์ เมื่อเรียนด้วยบทเรียนวีดิทัศน์ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ


 

ชัยวัฒน์ การรื่นศรี : ผลของการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบฝึกทักษะ ที่มีต่อความคงทนในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีเพศและความถนัดทางภาษาต่างกัน (EFFECTS OF USING DRILL AND PRACTICE COMPUTER – ASSISTED INSTRUCTION LESSONS ON ENGLISH VOCABULARY RETENTION OF PRATHOM SUKSA SIX STUDENTS WITH DIFFERENT GENDER AND LANGUAGE APTITUDE)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

ศึกษาผลของการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบฝึกทักษะที่มีผลต่อความคงทนในการเรียน
คำศัพท์ภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีเพศและความถนัดทางภาษาที่ต่างกัน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเซนต์จอห์น ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2539 จำนวน 72 คน โดยคัดเลือกและแบ่งนักเรียนเข้ากลุ่มทดลองทั้งหมด 4 กลุ่ม กลุ่มละ 18 คน ดังนี้คือ 1) กลุ่มที่มีความถนัดทางภาษาสูงเพศชาย 2) กลุ่มที่มีความถนัดทางภาษาต่ำเพศชาย 3) กลุ่มที่มีความถนัดทางภาษาสูงเพศหญิง 4) กลุ่มที่มีความถนัดทางภาษาต่ำเพศหญิง โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ค่า T-Test วิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม 2 ทาง (Two – Way ANOVA) เปรียบเทียบความแตกต่างรายคู่โดยใช้วิธีการ Tukey (Tukey’s Honestly Significant Difference) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation Coefficient) ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .001

ผลการวิจัยพบว่า

1. นักเรียนที่มีเพศต่างกัน เมื่อเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบฝึกทักษะมีความคงทน
ในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ไม่แตกต่างกัน

2. นักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาต่างกันเมื่อเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
แบบฝึกทักษะมีความคงทนในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษแตกต่างกันอย่างนี้นัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยนักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาสูงมีความคงทนในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบฝึกทักษะสูงกว่านักเรียนที่มีความถนัดทางภาษาต่ำ

3. นักเรียนที่มีเพศและความถนัดทางภาษาต่างกัน เมื่อเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบฝึกทักษะมีความคงทน
ในการจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษแตกต่างกันกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


 

จรูญ จิตรักษ์ : การสังเคราะห์วิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในประเทศไทยระหว่างปี
 พ.ศ. 2529 – 2538
(A SYNTHESIS THESIS IN COMPUTER-ASSISTED INSTRUCTION IN THAILAND DURING B.E. 2529-2538)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

สังเคราะห์งานวิจัยเชิงทดลองเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มุ่งศึกษาประสิทธิภาพการเรียนการสอน
ด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านความคงทนในการเรียนรู้ และด้านเจตคติต่อการเรียนการสอน ประชากร คือวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนของสถาบันอุดมศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมในประเทศไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2538 จำนวน 138 เรื่อง และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเพื่อคำนวณค่าขนาดอิทธิพล จำนวน 37 เรื่อง

ผลการวิจัยพบว่า

1. จากงานวิจัยทั้งหมด 138 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร พบมากปี พ.ศ. 2535 ในเนื้อหาวิชาคณิตศาสตร์ เป็นกลุ่มตัวอย่างระกับมัธยมศึกษา ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนแบบศึกษาเนื้อหาใหม่ ระยะเวลาทดลอง 1-4 สัปดาห์ คัดเลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย

2. ประสิทธิภาพการเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในทุกระดับการศึกษา เมื่อเทียบกับวิธีการสอนอื่นด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ด้านความคงทนในการเรียนรู้ และด้านเจตคติต่อการเรียนการสอน ค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ย 0.91, 0.89 และ 0.58 ตามลำดับ

3. ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ยมีความสัมพันธ์มากกับการจำแนกเนื้อหาวิชาและระยะเวลาการทดลอง ด้านความคงทนในการเรียนรู้ ค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ยมีความสัมพันธ์มากกับการจำแนกระดับการศึกษาและแหล่งประชากร/กลุ่มตัวอย่าง ส่วนด้านเจตคติที่ดีต่อการเรียนการสอนค่าขนาดอิทธิพลเฉลี่ยมีความสัมพันธ์มากกับการจำแนกแหล่งประชากร/กลุ่มตัวอย่าง


 

กิจจา บานชื่น : การพัฒนาเกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา
(THE DEVELOPMENT OF A FOLLOW-UP CRITERIA FOR WORKSHOP ON EDUCATIONAL VEDIOTAPE PRODUCTION)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

(1)พัฒนาเกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตวีดีทัศน์เพื่อการศึกษา ในด้านการติดตามผลการเรียนรู้ การติดตามผลพฤติกรรมและการติดตามผลลัพธ์ที่มีต่อองค์การ และ (2) เพื่อประเมินความเหมาะสมของเกณฑ์ และความเป็นไปได้ในการนำเกณฑ์ไปใช้ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จำนวน 22 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ (1) ผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่ในการบริหารงานฝึกอบรมด้านการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน 6 คน (2) คณะกรรมการผู้จัดการฝึกอบรมด้านการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน 10 คน และ (3) อาจารย์ผู้สอนวิชาการผลิตรายการวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา จำนวน 6 คน

การวิจัยครั้งนี้ใช้เทคนิควิธีวิจัยแบบเดลฟาย ให้ผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็น จำนวน 2 รอบ โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 89 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่ามัธยฐานและค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ โดยกำหนดว่า ข้อความที่เป็นเกณฑ์ ต้องมีค่ามัธยฐานเท่ากับ หรือมากกว่า 3.50 และมีค่าพิสัยระหว่างควอไทล์เท่ากับหรือน้อยกว่า 1.50

ผลการวิเคราะห์ความสอดคล้องของความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในรอบสุดท้าย ทำให้ได้รับความที่เป็นเกณฑ์ จำนวน 65 ข้อ แยกเป็นเกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา แต่ละด้านดังนี้

(1) เกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรม ด้านการเรียนรู้ จำนวน 40 ข้อ

(2) เกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรม ด้านพฤติกรรม จำนวน 19 ข้อ

(3) เกณฑ์การติดตามผลการฝึกอบรม ด้านผลลัพธ์ที่มีต่อองค์การ จำนวน 6 ข้อ

ผู้บริหารสถาบันการศึกษา จำนวน 5 คน ที่เคยจัดส่งบุคคลากรเข้ารับการฝึกอบรมด้านการผลิตวีดีทัศน์เพื่อการศึกษา ทำการประเมินเกณฑ์ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ข้อความที่ผ่านการยอมรับ ต้องมีค่าเฉลี่ยเท่ากับหรือมากกว่า 3.50 ผลการประเมิน พบว่า ข้อความทั้ง 65 ข้อ ผ่านการยอมรับจากผู้บริหารสถาบันการศึกษาว่า มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้


 

กัลยาณี จิตร์วิริยะ : การศึกษาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน(A STUDY OF PHYSICAL ENVIRONMENT OF COMPUTER CLASSROOMS IN ELEMENTARY SCHOOLS UNDER THE JURISDICTION OF THE OFFICE OF PRIVATE EDUCATION)

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

สำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพของห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนและศึกษาความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้
คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน ประชากรและกลุ่มตัวอย่างได้แก่ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 60 ห้องเรียน และผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียนการสอน จำนวน 19 คน วิธีการดำเนินการวิจัยใช้วิธีการสำรวจและเทคนิควิธีวิจัยแบบเดลฟาย ข้อมูลรวบรวมโดยแบบสำรวจและแบบสอบถามเดลฟาย 3 รอบ เกี่ยวกับองค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ 14 ด้าน

ผลการวิจัยพบว่า

1. ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนึกงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ส่วนใหญ่เป็นห้องพื้นเรียบ ปูพรม ผนังเรียบทำด้วยคอนกรีต เพดานเรียบทำด้วยคอนกรีต เป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดเท่ากับห้องเรียนปกติ ส่วนใหญ่มี 1 ห้องเรียน มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 21 – 25 เครื่องต่อห้องเรียนใช้ระบบคอมพิวเตอร์เดี่ยว มีฮาร์ดดิสก์ เป็นคอมพิวเตอร์ประเภทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จอภาพวีจีเอ มีเมาส์ ซีดีรอมไดร์ฟ ฮาร์ดดิสก์ เครื่องพิมพ์เป็นแบบหัวเข็ม 24 หัวเข็ม อัตราส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนเท่ากับ 2:1 โต๊ะที่ใช้เป็นโต๊ะสำหรับคอมพิวเตอร์ เก้าอี้ชนิดตายตัว สื่อการสอนที่มีมากที่สุดคือ กระดานไวท์บอร์ด มีระบบไฟฟ้าแยกจากห้องอื่น เดินสายไฟใต้พื้นห้อง ระบบควบคุมการเปิด-ปิด กระแสไฟฟ้าแยกเฉพาะพื้นที่ควบคุมจากหน้าห้องเรียน ไม่มีการใช้กระแสไฟฟ้าสำรอง มีเครื่องขยายเสียง เครื่องปรับอากาศ กุญแจล็อกห้องเรียน ใช้โปรแกรมจัดการไวรัสคอมพิวเตอร์

2. ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นสอดคล้องกับข้อความ 40 ข้อ จากจำนวน 105 ข้อ สรุปได้ว่า ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ควรเป็นพื้นเรียบทำด้วยกระเบื้องยาง ห้องขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 10 เมตร มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 25 เครื่อง ติดตั้งเป็นแถวเรียงเดี่ยวหันไปทางหน้าห้องเรียน ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ประกอบด้วย เมาส์ ซีดีรอมไดร์ฟ ดิสก์ไดร์ฟขนาด 3.5 นิ้ว ทำงานด้วยระบบเครือข่าย อัตราส่วนนักเรียนต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ เท่ากับ 2:1 หรือ 1:1 โต๊ะที่ใช้เป็นโต๊ะคอมพิวเตอร์เดี่ยว มีที่วางแป้นพิมพ์และที่วางสุมดจดงาน เก้าอี้รูปทรงตายตัวมีพนักพิง สื่อการสอนประกอบด้วย แผนภูมิ เอกสารเนื้อหาบทเรียนกระดานไวท์บอร์ด โทรทัศน์ เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ เครื่องถ่ายทอดสัญญาณและแผ่นป้ายนิเทศ แยกจุดควบคุมกระแสไฟฟ้า เดินสายไฟใต้พื้นห้องหรือผนังห้อง ติดตั้งจุดควบคุมกระแสไฟฟ้าที่มุมห้อง ใช้ไมโครโฟนไร้สายหรือมีสายและลำโพง ใช้เครื่องปรับอากาศชนิดแขวน ติดตั้งกุญแจล็อกห้องเรียน เครื่องดับเพลิง อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรและสัญญาณเตือนภัย ใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์และให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์


 

มหัฐพล อรุณสวัสดิ์ : สภาพ ปัญหา และความต้องการ การใช้บริการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โดเมนเน็ตเสร์ฟ (STATE,PROBLEMS AND NEDS CONCERNING THE INTERNET SERVICES VIA CHULALONGLORN UNIVERSITY NETWORK UNDER NETSERVE DOMAIN AS PERCEIVED BY USER)
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

ศึกษา สภาพการใช้บริการ ปัญหาการใช้บริการ และความต้องการ ในการใช้บริการของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้โดเมนเน็ตเสิร์ฟ กลุ่มตัวอย่างคือสมาชิกของศูนย์บริการเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในส่วนกลาง จำนวน 584 คน โดยเป็นอาจารย์ 266 คน และเป็นนิสิต 318 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถามอย่างมีโครงสร้างวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยครั้งนี้พบว่า

1. ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของคณะซึ่งต่อตรงกับศูนย์บริการ โดยติดต่อผ่านระบบ Windows 95 ช่วงเวลาที่ใช้บริการ คือ 21.01 – 23.00 น. มากที่สุด โดยติดต่อเข้าศูนย์บริการ 1 - 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และส่วนใหญ่ใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมงในการใช้บริการต่อ 1 ครั้ง ผู้ใช้บริการใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาได้แก่การค้นหาข้อมูลและแฟ้มข้อมูล

2. ปัญหาในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผู้ใช้บริการพบมากที่สุดคือ การสื่อสารมีความเร็วต่ำ ไม่สามารถจัดส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้ ศูนย์บริการให้บริการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลด้วยความเร็วต่ำ ศูนย์บริการ TELNET ขัดข้องทำให้ไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ ใช้เวลานานในการค้นหาข้อมูลแบบ WWW และไม่พบกลุ่มข่าวที่ต้องการ

3. ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ต้องการเพิ่มคู่สายโทรศัพท์เพื่อติดต่อกับศูนย์บริการและเพิ่มความเร็วในการเชื่อมต่อในระดับมากที่สุด ต้องการใช้บริการจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และการค้นหาข้อมูลและแฟ้มขอ้มูลในระดับมากที่สุด เพิ่มเนื้อที่ในการเก็บจดหมายในพื้นที่ส่วนตัวของผู้ใช้บริการมากที่สุด เพิ่มจำนวนแฟ้มข้อมูล ขยายเวลาในการเก็บข้อมูล เพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล และเพิ่มความเร็วในการถ่ายโอนแฟ้มข้อมูลในระดับมากที่สุด เพิ่มช่องทางในการเชื่อมโยงและเพิ่มความเร็วในการติดต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ปลายทางระยะไกลในระดับมากที่สุด เพิ่มความเร็วในการค้นหาข้อมูลและแฟ้มข้อมูลและเพิ่มจำนวนข้อมูลและแฟ้มข้อมูลให้กับศูนย์บริการ ที่เป็นสมาชิกในระดับมากที่สุด


 

ภาสกร เรืองรอง : การพัฒนาโครงสร้างระบบสารสนเทศสำหรับงานบริหารการผลิตของศูนบ์บริการการสอนทางวิทยุและโทรทัศน์ สำนักเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (THE DEVELOPMENT OF INFORMATION SYSTEMS STRUCTURE FOR PRODUCTION ADMINISTRATION UNIT OF RADIO AND TELEVISION PRODUCTION CENTER, OFFICE OF EDUCATIONAL TECHNOLOGY, SUKHOTHAITHUMMATHIRAJ OPEN UNIVERSITY)

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย

เพื่อออกแบบโครงสร้างระบบสารสนเทศ การบริการสำรองการผลิต หน่วยบริการผลิต ศูนย์บริการการสอนทางวิทยุและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

จากผลการวิจัยพบว่า

ผู้บริการและผู้ปฏิบัติการผลิตรายการวิทยุและโทรทัศน์ ต่างให้ความคิดเห็นสอดคล้องกันว่าต้องการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์มาแก้ไขปัญหาของระบบสารสนเทศสำหรับงานบริหารการผลิต
โครงสร้างระบบสารสนเทศการบริการการสำรองผลิต ถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนการคือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและปัจจัยนำออก
การออกแบบโครงสร้างระบบสารสนเทศโดยรวมยึดระบบงานเดิมเป็นหลัก หากแต่มีการนำคอมพิวเตอร์มาแทนที่กระบวนการทำงาน
ด้วยมือส่วนหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ คอมพิวเตอร์ควรมีการติดตั้งอย่างเพียงพอเพื่อความสะดวกในการใช้บริการ


 

พีระพล แพถนอม : การศึกษาฐานข้อมูลสำหรับระบบเครือข่ายข้อมูลทางการศึกษา ของวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ กองการศึกษาอาชีพ กรมอาชีวศึกษา (A STUDY OF DATABASE FOR EDUCATIONAL DATA BASE NETWORK SYSTEM OF SAMUTPRAKAN POLYTEDHNIC COLLEGE, INDUSTRIAL COMMUNITY EDUCATION DIVISION, DEPARTMENT OF VOCATIONAL EDUCATION )


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์

เพื่อศึกษาความต้องการข้อมูลสำหรับระบบเครือข่ายข้อมูลทางการศึกษาของวิทยาลัยสารพัดช่างสมุทรปราการ กองการศึกษาอาชีพ กรมอาชีวศึกษา ประชากรที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งหัวหน้างาน หัวหน้าแผนก และหัวหน้าฝ่าย ของหน่วยงานในระบบเครือข่ายข้อมูล

ผลการวิจัยพบว่า

1. ข้อมูลสามารถแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ได้แก่ ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียน, หลักสูตรการศึกษา, บุคลากร, งบประมาณ, อาคารสถานที่, ครุภัณฑ์, ตลาดแรงงานในท้องถิ่น และข้อมูลเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น

2. ข้อมูลที่มีระดับความต้องการมากที่สุด ได้แก่ การลงทะเบียนของนักเรียนนักศึกษา, บุคลากร, สถานที่ ตลาดแรงงานในท้องถิ่น ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษา คือ จำนวนนักเรียนนักศึกษาที่ลงทะเบียน, ข้อมูลหลักสูตรและโปรแกรมการศึกษา คือ โปรแกรมการศึกษา ข้อมูลงบประมาณ คือ เงินงบประมาณทั้งหมดที่ได้รับ


 

พิชยา พรมาลี : การพัฒนาแบบจอภาพข้อมูลนำเข้าสำหรับระบบฐานข้อมูลสื่อการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน (THE DEVELOPMENT OF INPUT SCREEN FORMAT FOR EDUCATIONAL MEDIA DATABASE SYSTEMS OF CENTRE FOR EDUCATIONAL TECHONLOGY, DEPARTMENT OF NON – FORMAL EDUCATION)


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

วิเคราะห์การใช้ข้อมูลสื่อการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และเพื่อออกแบบจอภาพข้อมูลนำเข้าสำหรับระบบฐานข้อมูลสื่อการศึกษา ของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานผลิตและเผยแพร่สื่อการศึกษา และผู้มาติดต่อขอใช้บริการสื่อการศึกษา ของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา จำนวน 100 คน

ผลการวิจัยพบว่า

1. การใช้ข้อมูลสื่อการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มีความต้องการใช้ข้อมูลของประเภทสื่อการศึกษาในระดับใช้มากอันดับแรกคือ เทปต้นฉบับรายการโทรทัศน์ รองลงมาคือ คอมแพคดิสก์ และอันดับสุดท้ายคือ ภาพยนตร์ ส่วนความต้องการใช้ข้อมูลของสื่อการศึกษาในแต่ละประเภทในระดับใช้มากอันดับแรกที่สอดคล้องกันเป็นส่วนใหญ่ คือ ข้อมูลชื่อเรื่อง ชื่อตอน ชื่อเพลง ชื่อบทประพันธ์ ชื่อชุดของภาพหรือกิจกรรม

2. แบบจอภาพข้อมูลนำเข้าสำหรับระบบฐานข้อมูลสื่อการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา มีรูปแบบกรป้อนข้อมูลเป็นแบบให้เติมข้อความในช่องเติมข้อมูล และรูปแบบการป้อนข้อมูลในลักษณะเลือกตอบเป็นแบบเลือกรายการแบบ Check box, Option button และ List box


mail to : kenkap@chaiyomail.com