ศีลเป็นฐานรองรับสติปัฏฐานสี่

       ภิกษุ  ท.! ถ้าอย่างนั้น ในเรื่องนี้ เธอจงชำระสิ่งอันเป็นเบื้องต้นในกุศลทั้งหลายให้บริสุทธิ์ก่อนเถิด. อะไรก็เป็นสิ่งเบื้องต้นของสิ่งอันเป็นกุศล ทั้งหลายเล่า? สิ่งเบื้องต้นนั้น ก็ได้แก่ ศีล อันบริสุทธิ์หมดจดด้วยดี และทิฏฐิ (ความเห็น) ที่ถูกตรง.

       ภิกษุ   ท.!  โดยกาลใดแล  ศีลของเธอที่บริสุทธิ์หมดจดด้วยศีล  และทิฏฐิก็จักเป็นความเห็นที่ ถูกตรงด้วย;  โดยกาลนั้น  เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงอบรมสติปัฏฐานสี่โดยวิธีทั้งสามเถิด. สติ ปัฏฐานสี่อะไรบ้างเล่า? สติปัฏฐานสี่ คือ :-

       ภิกษุ  ท.!เธอจงพิจารณาเห็นกายในกาย  ณ ภายใน อยู่เนือง ๆ ก็ดี, จงพิจารณาเห็นกายใน กาย ณ ภายนอก อยู่เนือง ๆ ก็ดี, จงพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในและภายนอก อยู่เนือง ๆ ก็ดี; เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.

(ในเวทนา จิต และธรรม ก็ตรัสทำนองเดียวกับในกาย)

       ภิกษุ  ท.!แต่กาลใดแล  เธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จักอบรมสติปัฏฐานสี่เหล่านี้ โดยวิธีสาม ด้วยอาการอย่างนี้;  แต่กาลนั้น คืนหรือวันของเธอจักผ่านไป โดยหวังได้แต่ความเจริญในกุศลธรรมทั้ง หลายอย่างเดียว หาความเสื่อมมิได้.

(กาลต่อมา ภิกษุรูปนั้นออกไปทำความเพียร จนได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง)

๑.  บาลี  พระพุทธภาษิต มหาวาร. สํ. ๑๙/๑๙๒/๖๘๗, ตรัสแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ที่เชตวัน ซึ่งท่าน รูปนี้ ต้องการจะปลีกตัวออกจากหมู่ อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท ทำความเพียร เผากิเลส ส่งตัวไป ในแนวธรรมนั้น ทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรมย่อ ๆ.
๒. โดยวิธีทั้งสาม คือ พิจารณาภายใน, พิจารณาภายนอก, พิจารณาทั้งภายในและภายนอก.