ผู้ละความทุศีลเสียได้

       ภิกษุ  ท.! ความสงัด (คือห่างไกลจากบาปธรรม) อันยิ่งสำหรับภิกษุ ในธรรมวินัยนี้มีสามอย่าง เหล่านี้เท่านั้น. สามอย่างอะไรบ้างเล่า? สามอย่างคือ :-

       (๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล ละความทุศีลเสียได้ และสงัดจากความทุศีลด้วย.
       (๒) เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิดเสียได้ และสงัดจากความเห็นผิดนั้นด้วย
       (๓) เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้ว ละอาสวะทั้งหลายเสียได้ และเป็นผู้สงัดจากอาสวะทั้งหลายนั้นด้วย,

       ภิกษุ ท.! เมื่อใดแล ภิกษุมีคุณธรรมสามอย่างดังกล่าวนี้แล้ว เมื่อนั้นภิกษุนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ถึง ยอด ถึงแก่น บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระแล้ว.

       ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนนาข้าวสาลีของคฤหบดีชาวนา มีผลได้ที่แล้ว, คฤหบดีชาวนาก็รีบ ๆ ให้ เกี่ยวข้าวนั้น,  ครั้นแล้วก็รีบ  ๆ ให้เก็บขน, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้นำขึ้นไปไว้ในลาน, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้ทำเป็นกอง, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้นวด, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้สงฟาง, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้สาด, ครั้น แล้วก็รีบ ๆ ให้สี, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้ซ้อม, ครั้นแล้วก็รีบ ๆ ให้ฝัดแกลบ, เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าวเปลือก ของคฤหบดีชาวนานั้นก็เป็นอันถึงที่สุด  ถึงแก่น  สะอาด ตั้งอยู่ในความเป็นข้าวสารได้ ฉันใดก็ดี; ภิกษุ ท.!  ภิกษุเป็นผู้มีศีล  ละความทุศีลเสียได้  และสงัดจากความทุศีลนั้นด้วย, เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละ ความเห็นผิดเสียได้ และสงัดจากความเห็นผิดนั้นด้วย, เป็นผู้มีอาสวะสิ้นแล้วละอาสวะทั้งหลายเสียได้ และเป็นผู้สงัดจากอาสวะทั้งหลายนั้นด้วย; ภิกษุ ท.! ภิกษุนี้เราเรียกว่า เป็น ผู้ถึงยอด ถึงแก่น บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในสาระแล้ว ฉันนั้น เหมือนกันแล.

๑. บาลี พระพุทธภาษิต ติก. อํ. ๒๐/๓๑๑/๕๓๓.