วอดวายเพราะผู้นำ

       ภิกษุ ท.! เรื่องเคยมีมาแล้ว : โคบาลชาวมคธ เป็นคนปัญญาทึบโดยกำเนิด ไม่คำนึงถึง ฤดูสารทในเดือนท้ายฤดูฝน ไม่ตรวจตราดูฝั่งแม่น้ำคงคาทางฟากนี้ ได้ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปฝั่งเหนือ แห่งวิเทหรัฐฟากโน้น ตรงที่ที่มิใช่ท่าสำหรับโคข้ามเลย. ภิกษุ ท.! ครั้งนั้นแล ฝูงโคได้ว่ายวกไป เวียนมาในท่ามกลางกระแสแม่น้ำคงคา  (เพราะไม่อาจขึ้นฝั่งข้างใดได้)  ก็พากันถึงความพินาศ วอดวายเสีย ณ กลางกระแสน้ำนั่นเอง. ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? เพราะเหตุที่โคบาลชาวมคธ เป็นคนปัญญาทึบโดยกำเนิด  ไม่คำนึงถึงฤดูสารทในเดือนท้ายฤดูฝน  ไม่ตรวจตราดูฝั่งแม่น้ำคงคา ทางฟากนี้ ได้ต้อนฝูงโคให้ข้ามไปฝั่งเหนือ แห่งวิเทหรัฐฟากโน้น ตรงที่ที่มิใช่ท่าสำหรับโคข้ามเลย นั่นเอง.

       ภิกษุ  ท.!  ฉันใดก็ฉันนั้น : สมณะหรอืพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง เป็นผู้ไม่ฉลาดเรื่องโลกนี้ ไม่ฉลากเรื่องโลกอื่น, เป็นผู้ไม่ฉลาดเรื่องวัฏฏะอันเป็นที่อยู่ของมาร ไม่ฉลาดเรื่องวิวัฏฏะ อันไม่เป็นที่อยู่ของมาร, เป็นผู้ไม่ฉลาดเรื่องวัฏฏะ อัน เป็นที่อยู่ของมฤตยู  ไม่ฉลาดเรื่องวิวัฏฏะ  อันไม่เป็นที่อยู่ของมฤตยู; ชนเหล่าใดเกิดไปสำคัญว่า ถ้อยคำของสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ควรฟังควรเชื่อ, ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็น ประโยชน์เกื้อกูล แก่ชนเหล่านั้นสิ้นกาลนาน.

๑. บาลี พระพุทธภาษิต จูฬโคปาลสูตร มู. ม. ๑๒/๑๔๑๘/๓๘๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่ฝั่ง แม่น้ำคงคา ใกล้เมืองอุกกเวลา, แคว้นวัชชี.