ติดบ่วงนายพราน

       ภิกษุ  ท.!  กามคุณเหล่านี้มีห้าอย่าง.  ห้าอย่างอะไรกันเล่า?  ห้าอย่างคือ รูปที่เห็นด้วยตา, เสียงที่ฟังด้วยหู,  กลิ่นที่ดมด้วยจมูก,  รสที่ลิ้มด้วยลิ้น, และโผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยกาย, อันเป็นสิ่งที่น่า ปรารถนา   น่ารักใคร่   น่าพอใจ  ยวนตายวนใจให้รัก  เป็นที่เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความใคร่  เป็นที่ตั้ง แห่งความกำหนัดย้อมใจ. ภิกษุ ท.! กามคุณมีห้าอย่างเหล่านี้แล.

       ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ในกามคุณห้าอย่าง เหล่านี้แล้ว ก็ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่; สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า  เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้ใจบาปต้องการจะทำตาม อำเภอใจอย่างใด ดังนี้.

       ภิกษุ ท.! เปรียบได้ดั่งเนื้อป่าที่ติดบ่วง นอนจมอยู่ในกองบ่วง, ในลักษณะที่ใคร ๆ พึงเข้าใจได้ ว่า มันจุถึงซึ่งความพินาศย่อยยับ ต้องทำตามประสงค์ของพรานทุกประการ, เมื่อนายพรานมาถึงเข้า มัน จะหนีไปไหนไม่พ้นเลย  ดังนี้ ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท.! สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : พวกเขาพากันติดอกติดใจ  สยบอยู่  เมาหมกอยู่ในกามคุณห้าอย่างเหล่านี้แล้ว ก็ไม่มองเห็นส่วนที่เป็น โทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบาย เป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคกามคุณทั้งห้านั้นอยู่, เป็นผู้ที่ มีคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า จะถึงความพินาศย่อยยับ แล้วแต่มารผู้ใจบาปต้องการจะทำตามอำเภอใจ อย่างใด ดังนี้

๑. บาลี พระพุทธภาษิต ปาสราสิสูตร มู.ม. ๑๒/๓๓๓/๓๒๗-๘, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่อาศรม ของรัมมกพราหมณ์ ใกล้นครสาวัตถี.
๒. อรรถกถาให้ข้อเปรียบไว้ว่า  สมณพราหมณ์  เปรียบดังเนื้อป่า,  ปัจจัยสี่ เปรียบดั่งบ่วงที่ นายพรานดักไว้ในป่า,  ขณะที่สมณพราหมณ์เหล่านั้นทำการบริโภคไม่พิจารณาปัจจัยสี่ เปรียบดั่งขณะที่ เนื้อนอนจมอยู่ในกองบ่วง, ขณะที่สมณพราหมณ์ต้องทำตามประสงค์ของมาร เปรียบดั่งขณะเมื่อนายพราน มาถึงเข้า เนื้อก็ไมรู้ว่าจะหนีเอาตัวรอดทางไหน,