ขี้ตามช้าง

       ภิกษุ ท.! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : มีสระใหญ่ในที่ใกล้ป่าแห่งหนึ่ง. ช้างทั้งหลายได้อาศัยหากินใน สระใหญ่แห่งนั้น.  มันลงสู่สระแล้ว ใช้งวงถอนหัวบัวและรากบัวขึ้นมา แล้วแกว่งไปแกว่งมาในน้ำ ทำให้หมดเปือกตม แล้วใส่ปากเคี้ยวให้ดีเสียก่อน จึงกลืนลงไป การกินอย่างนี้ของช้างเหล่านั้นย่อมทำให้เนื้อตัวเปล่งปลั่ง มีพละกำลัง และไม่มีถึงซึ่งความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย, เพราะข้อที่ ช้างนั้นรู้จักกินนั้นเองเป็นเหตุ.  ภิกษุ  ท.! ส่วนพวกลูกช้างเล็ก ๆ อยากจะเอาอย่างช้างใหญ่ ๆ บ้าง, มันจึงลงสู่สระบัวนั้น  ใช้งวงถอนหัวบัวและรากบัวขึ้นมาได้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้แกว่งมาในน้ำ มีเปือกตมติด อยู่ ก็เอาเข้าใส่ปาก ไม่ได้เครี้ยวให้ดีเสียก่อน กลืนลงไปแล้ว. การกินอย่างนี้ของพวกลูกช้างเล็ก ๆ นั้น ย่อมไม่ทำให้เนื้อตัวเปล่งปลั่งมีพละกำลังแล้วยังจะถึงซึ่งความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย, เพราะข้อที่ ลูกช้างเหล่านั้นไม่รู้จักกินนั้นเองเป็นเหตุ.

       ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น : ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย ในกรณีนี้ เวลาเช้าครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่ ย่านหมู่บ้านหรือนิม เพื่อบิณฑบาต, พวกภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมกล่าวธรรมอยู่ในที่นั้น ๆ , พวกคฤหัสถ์ผู้ เลื่อมใสต่อภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมทำอาการแห่งผู้เลื่อมใส. อนึ่ง พวกภิกษุผู้เถระนั้นเล่าก็ไม่ติดอกติดใจ ไม่สยบ ไม่เมาหมก ในลาภนั้น ๆ , เป็นผู้มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นผู้รู้แจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไป จากทุกข์  แล้วจึงทำการบริโภคลาภนั้น. การบริโภคอย่างนี้ของภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมทำให้มีร่างกาย สุกใสมีพละกำลัง และไม่ถึงซึ่ความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย, เพราะข้อที่ท่านเหล่านั้นรู้จักการทำการ ฉัน นั้นเองเป็นเหตุ.

       ภิกษุ ท.! ส่วนพวกภิกษุผู้หย่อนวัย อยากจะเอาอย่างพวกภิกษุผู้เถระเหล่านั้นบ้าง, เวลาเช้า ก็ ครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่ย่านหมู่บ้านหรือนิคมเพื่อบิณฑบาต. พวกเธอก็กล่าวธรรมอยู่ในที่นั้น ๆ ,พวก คฤหัสถ์ผู้เลื่อมใสต่อภิกษุผู้หย่อนวัยเหล่านั้น ย่อมทำอาการแห่งผู้เลื่อมใส. อนึ่ง พวกภิกษุผู้หย่อนวัยนั้นเหล่า ก็ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ในลาภนั้น ๆ , เป็นผู้ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษ ไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งใน อุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์  ทำการบริโภคลาภนั้น.  การบริโภคอย่างนี้ของภิกษุผู้เด็ก  ๆ เหล่านั้น ย่อมไม่ทำให้ มีร่างกายสุกใสมีพละกำลัง  (ชนิดเดียวกับผู้ที่บริโภค  เพียงเพื่อเป็นการอนุเคราะห์แก่การประพฤติ พรหมจรรย์)  แต่ได้กลับถึงซึ่งความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย; เพราะข้อที่ภิกษุเด็ก ๆ เหล่านั้น ไม่รู้จักการทำการฉันนั้นเองเป็นเหตุ.

       ภิกษุ ท.! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า "เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ ไม่ติดอกติดใจ  ไม่สยบ  ไม่เมาหมก  ในปัจจัยลาภ  มีปรกติมองเห็นส่วนที่เป็นโทษ  เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งใน อุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ ทำการบริโภคปัจจัยลาภนั้น ๆ " ดังนี้. ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

บาลี พระพุทธภาษิต นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๓/๖๗๘