กุฏิวิหารที่ลุกเป็นไฟ

       ภิกษุ  ท.! พวกเธอทั้งหลาย จัดตัดสินเนื้อความสองข้อนี้ ว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน คือการที่ถูก บุรุษมีกำลังแข็งแรง จังเอาเท้าขึ้นข้างบน ให้ห้อยหัวลงล่าง หย่อนลงในหม้อโลหะ ซึ่งกำลังร้อนลุกโพลง เป็นเปลวไฟมีแสงโชติช่วง   :  เขาถูกต้มเดือดเป็นฟอง  บางคราวลอยขึ้นบน  บางคราวลอยลงต่ำ บางคราวขวางอยู่ กับ การบริโภค (อาศัย) ในวิหาร ที่พวกกษัตริย์มหาศาล หรือพราหมณ์มหาศาล หรือ คฤหบดีมหาศาล ถวายด้วยศรัทธา?

       "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! การบริโภค (อาศัย) ในวิหาร ที่พวกกษัตริย์มหาศาล หรือพราหมณ์ มหาศาล  หรือคฤหบดีมหาศาล  ถวายด้วยศรัทธา นั่นแหละดีกว่า; เพราะว่า การที่ถูกบุรุษมีกำลัง แข็งแรง จังเอาเท้าขึ้นข้างบน  ให้ห้อยหัวลงล่าง หย่อนลงในหม้อโลหะ ซึ่งกำลังร้อนลุกโพลงเป็น เปลวไฟมีแสงโชติช่วง  : เขาถูกต้มเดือดเป็นฟอง บางคราวลอยขึ้นบน บางคราวลอยลงต่ำ บางคราว ขวางอยู่ นั่นเป็นความทุกข์ ทนได้ยากพระเจ้าข้า".

       ภิกษุ  ท.! เราจักบอก เราจักอธิบายแก่พวกเธอทั้งหลายให้เข้าใจ : การที่ถูกบุรุษมีกำลังแข็ง แรง  จังเอาเท้าขึ้นข้างบน ให้ห้อยหัวลงล่าง หย่อนลงในหม้อโลหะ ซึ่งกำลังร้อนลุกโพลงเป็นเปลวไฟ มีแสงโชติช่วง : เขาถูกต้มเดือดเป็นฟอง บางคราวลอยขึ้นบน บางคราวลอยลงต่ำ บางคราวขวางอยู่ นั่นต่างหาก เป็นการดี สำหรับคน ซึ่งเป็นคนทุศิล มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด  มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง  มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่า ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่า ใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

       ภิกษุ  ท.!  เพราะว่า  การที่เขาจะต้องตายหรือได้รับทุกข์เจียนตาย เนื่องจากเหตุที่เขาถูก บุรุษมีกำลังแข็งแรง  จังเอาเท้าขึ้นข้างบน  ให้ห้อยหัวลงล่าง  หย่อนลงในหม้อโลหะ  ซึ่งกำลังร้อนลุก โพลงเป็นเปลวไฟมีแสงโชติช่วง  หาได้เป็นเหตุให้เขาต้องเกิดในอบาย  ทุคติ วินิบาต นรก ภายหลัง แต่ความตาย เพราะการทำลายแห่งกาย ไม่; ส่วนการที่เขาเป็นคนทุศิล มีความเป็นอยู่ลามก ไม่ สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะ ก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ   ไม่ใช่คนประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่า  ประพฤติพรหมจรรย์  เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ มีสัญชาติหมักหมม เหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย, แล้วยัง (มีความคิดที่จะ) บริโภค (อาศัย) ใน วิหารที่พวกกษัตริย์มหาศาล  หรือพราหมณ์มหาศาล หรือคฤหบดีมหาศาล ถวายด้วยศรัทธา นั่น ย่อมเป็น ไปเพื่อความทุกข์  ไม่เกื้อกูลแก่เขา  ตลอดกาลนาน ภายหลังแต่ความตาย เพราะการทำลายแห่งกาย เขาย่อมเข้าถึง อบาย ทุคติ วินิบาต นรก.

... ... ...

        ภิกษุ  ท.! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเนียกใจไว้ว่า "เราทั้งหลาย จะ บริโภคจีวร  บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขารของทายกทั้งหลาย โดยประการที่จักทำให้ ทายกเหล่านั้นได้รับผลมากมีอานิสงส์มาก ให้จงได้; และการบรรพชาของเราทั้งหลายเหล่านี้เล่า ก็จัก ไม่เป็นหมันเสียเปล่า แต่กลับได้รับผล มีกำไร" ดังนี้. ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ อย่างนี้.

       ภิกษุ ท.! ผู้เห็นแก่ประโยชน์ตนก็ตาม ควรแท้ที่จะทำตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท.

       ภิกษุ ท.! ผู้เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นก็ตาม ก็ควรแท้ที่จะทำตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท.

       ภิกษุ ท.! หรือว่า ผู้เห็นแก่ประโยชน์ทั้งสอง (คือทั้งของตนทั้งของผู้อื่น) ก็ตาม ก็ควรแท้ที่จะทำ ตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท; ดังนี้.

       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า  กำลังแสดงเนื้อความดังที่กล่าวมานี้  ตั้งแต่เรื่องการกอดกองไฟ เป็น ต้นมา อยู่, ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีโลหิตอุ่นพลุ่งพ้นออกจากปากแล้ว, ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้บอก เลิกสิกขาหมุนกลับคืนไปสู่เพศต่ำแห่งคฤหัสถ์ โดยได้สำนักว่า "พรหมจรรย์นี้ประพฤติกระทำได้ยาก กระทำได้ยากอย่างยิ่ง",  แต่ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป อีกจำนวนหนึ่งนั้น ได้เป็นพระอรหันต์ มีจิตไม่ถือมั่น ด้วยอุปาทาน เพราะหลุดพ้นจากอวสานกิเลสทั้งหลายแล้วแล.

บาลี  พระพุทธภาษิต สตฺตก. อํ. ๒๓/๑๓๔/๖๙, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่โคนไม้แห่งหนึ่งใน เขตประเทศโกศล