ตำนานวัดป่าแดงเชียงตุง

 

ตำนานวัดป่าแดง หรือตำนานวัดป่าแดงเชียงตุงนี้ ต้นฉบับเดิมเป็นของท่านเจ้า สายเมืองเม็งราย ที่ได้ตรวจชำระและพิมพ์ในชุด
Michigan Papers on Southeast Asia ( 1981) สรุปสาระสังเขปดังนี้


ตำนานเริ่มต้นด้วยการประณามพระพุทธคุณ และกล่าวถึงประวัติของพระโคตมพุทธเจ้าตามลีลาการเขียนตำนานในยุคนั้น
คือเริ่มต้นด้วยการบำเพ็ญเพียรทางใจ ทางกายและทั้งวาจา และกาย ในสำนักพระพุทธเจ้าจำนวนหลายแสนพระองค
์จนได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ๒๓ พระองค์ มีพระทีปังกรเป็นต้น ตราบจนพระกัสสปะเป็นที่สุด
นอกจากนี้แล้ว ยังกล่าวถึงประวัติการสืบศาสนา เน้นการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ที่มีการส่งพระธรรมทูตไปประกาศศาสนายังประเทศต่าง ๆ ถึง ๙ แห่ง และยังกล่าวถึงการสืบสายพระไตรปิฎก โดยเฉพาะการสืบสายพระวินัยในลังกา มีการกล่าวถึงพระมหาเถระเริ่มตั้งแต่พระอุบาลี
ตราบจนพระมหาเถระองค์อื่น ๆ ในลังกาทวีป
การนำพระศาสนามาประดิษฐานที่เชียงใหม่นั้น ตำนานกล่าวว่า เริ่มเมื่อ จ.ศ.๒๓๕ (พ.ศ.๑๔๑๖) คือเมื่อพระอนุมติเถระ เมืองจากพัน เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาในสำนักของพระมหากัสสปะ ในประเทศลังกา เมื่อกลับมาประกาศพุทธศาสนาที่เมืองพันนั้น พญาสุตโสมทรงเกิดประสาทศรัทธาสถาปนาให้ดำรงตำแหน่ง อุทุมพรมหาสวามี
พระสงฆ์จากสุโขทัยรุ่นแรก ที่เดินทางไปลังกา คือ พระมหาสุมนเถร และพระอโนมทัสสีพร้อมพระสงฆ์อีก ๓ องค์ และอุบาสก
เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนครบ ๕ ปีแล้วท่านและคณะจึงเดินทางกลับ ระหว่างทางขณะที่กำลังอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรนั้นเอง
พระองค์หนึ่งได้มรณภาพลง พระมหาสุมนะจึงตัดสินใจบวชอุบาสกเปนพระภิกษุโดยนำเอาพระพุทธรูปมาเป็นคณปูรกะ
นับเข้าในพระภิกษุสงฆ์ให้ครบจำนวน ๕ องค์ตามวิธีอุปสัมปทากรรมในปัจจันตชนบทที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ในวินัยปิฎก
เมื่อพระมหาสุมนเถรและคณะเดินทางถึงสุโขทัยและประกาศศาสนาอยู่นั้น ได้ทราบข่าวว่าพระอุทุมพรสวามี แห่งเมืองพันปฏิบัติดียิ่งนัก ท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่นั้นพร้อมพระภิกษุอีก ๘ รูปคือ
พระอานันทะ พระพุทธสาคระ พระสุชาตะ พระปิยาสี พระสุวัณณคิรี พระเวสสภู พระญาณ-สาคระและพระมหินทะ ท่านและคณะอยู่ศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองพันจนครบ ๕ พรรษาจึงอำลาพระอุทุมพรสวามี พร้อมกับได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์
กลับไปยังเมืองสุโขทัย
ขณะนั้นเอง พระเจ้ากือนา ก็ส่งทูตไปอาราธนาพระมหาสุมนเถร ให้มาประกาศที่เชียงใหม่ ครั้นได้รับอาราธนาแล้ว
ท่านจึงส่งพระอานันเถรพร้อมกับคณะอีก ๑๒ รูปไปแทน พระเจ้ากือนาถวายการต้อนรับ โดยที่พระองค์ทรงมีศรัทธาอย่างแรงกล้าและมีพระประสงค์จะจัดการอุปสมบทแปลงพระภิกษุในเชียงใหม่
จึงอาราธนาให้ท่านอานันทเถรเป็นอุปัชฌาย์ แต่ท่านก็ไม่อำนวยตามได้เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์ พระเจ้ากือนาจึงโปรดให้ราชบุรุษไปอาราธนาพระมหาสุมนเถรมาทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ ครั้งนี้ พระมหาสุมนเถรพิจารณาเห็นว่าถึงเวลาอันสมควรที่จะต้องเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ จึงตัดสินสินใจเดินทางไป
ฝ่ายพระเจ้ากือนาโปรดให้มีการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ โปรดให้มีการอุปสมบทแปลงพระเชียงใหม่และหริภุญชัยเสียใหม่
ที่หัวเวียงลำพูนท่ามกลางวัดจันทปภา หลังจากนั้นก็ทรงสถาปนาให้ พระมหาสุมนเถร เป็นสมเด็จพระมหาสุมนวันรัตสามี ส่วนพระอานันทเถรนั้นครั้นช่วยงานพระศาสนา พระมหาสุมนเถรสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็อำลากลับเมืองพัน
แต่ขณะเดินทางนั้นก็มรณภาพเสียที่เมืองแจม อุบาสกอุบาสิกาชาวเมืองแจม (อ่าน"เมืองแจ๋ม"คืออำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่)
จึงช่วยกันจัดการฌาปนกิจของท่าน แล้วส่งอัฐบริขารกลับไปถวายท่านอุทุมพรสวามีที่เมืองพัน
พระเจ้ากือนาโปรดให้จัดหาสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญแก่สมณะ ทรงเห็นว่าสวนดอกไม้ของพระองค์เป็นที่ที่เหมาะสม
จึงโปรดให้สร้างอารามที่นั้น เรียกว่า ปุบผารามเรียกกันทั่วไปว่าวัดสวนดอกคำ
หลังจากที่ พระเจ้ากือนาสวรรคตแล้ว พระเจ้าแสนเมืองราชโอรสได้เสวยราชย์แทน ในสมัยนี้เอง พระสุชาโตแห่งเมืองชะเลียงได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองพรหมคิรี และเดินทางต่อไปจนถึงเมืองตะนาวศร
ีแล้วเลยต่อไปจนถึงประเทศพม่า และได้ศึกษาพุทธศาสนาอยู่ในสำนักพระนิธกมพหุเถร อยู่ที่นั้นนานถึง ๕ ปี จากนั้นจึงเดินทางกลับเมืองชะเลียงประกาศศาสนาอยู่นานพอสมควรแล้ว จึงได้ชวนอินทปัญญาสามเณรเดินทางขึ้นไปเชียงใหม่ช่วยพระมหาสุมนเถรเผยแพร่พุทธศาสนา
อินทปัญญาสามเณร ครั้นอายุครบอุปสมบทแล้ว พระอุปัชฌาย์จึงจัดขนานเรือเพื่อทำการอุปสมบท
ขณะที่กำลังคราดขนานนั้นเองเกิดเหตุอัศจรรรย์ คือเรือขนานลอยน้ำทวนกระแสขึ้นไปทางทิศเหนือ เหตุอันนี้เป็นลางบอกว่า ต่อไป อินทปัญญา จักนำเอาพุทธศาสนาไปประกาศที่เขมรัฐ หรือเชียงตุง ครั้นกาลต่อมา พระสุชาโตและอินทปัญญาภิกขุ จึงเดินทางไปประกาศศาสนาที่เชียงตุง เมื่อศาสนาตั้งมั่นแล้วพระสุชาโตก็เดินทางกลับเชียงใหม่ มอบภาระในการประกาศศาสนาที่เชียงตุงให้เป็นธุระของ พระอินทปัญญาต่อไป
ฝ่ายพระมหาสุมนเถรนั้น มรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี ในปี จ.ศ. ๔๗๙ ( พ.ศ.๑๖๕๐ ) พระเถระที่สืบลำดับสายในวัดสวนดอกมี ๑๔ รูป ดังนี้คือ พระสุนทระ พระมหากุมารกัสสปะ พระอานันทญาณะ พระพุทธญาณะ พระพุทธคัมภีระ พระมหาญาณรังสี พระปิฏกสังฆราช พระมหาพุทธาทิจจะ พระญาณสาคระ พระสังฆราชนาคเสน พระมหาวชิรโพธิ พระมหาสาครติสสะ พระมหาปุสสเทวะ และพระมหาธัมมโพธิ
หลังจากที่พระเจ้าแสนเมืองมาสวรรคตแล้ว พระแก้วพันตาเสวยราชพระองค์ได้สถาปนาพระมหาโพธิธัมมกิตติเป็นราชครู วงการสงฆ์เชียงใหม่ก็มีเหตุวิวาทะและตำหนิซึ่งกันและกัน มีการแตกร้าวกันหลายครั้งหลายคราว ครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา โดยความว่าพระพุทธญาณสาคระให้ที่พักแก่โจร และโจรนั้นไปขโมยของของคนอื่น จากนั้นมา มีพระสงฆ์จากอยุธยาเดินทางมาเชียงใหม่และติเตียนข้อวัตรปฏิบัติของคณะสงฆ์เชียงใหม่
นับเป็นการแตกร้าวครั้งที่ ๒ อีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าปวรจักกวัตติราช พระองค์ตรัสถามเรื่องการเรียนพระปาฏิโมกข์ของสามเณรต่อพระพุทธาทิจจะ และพระญาณสาคระ พระองค์ทรงได้รับคำตอบที่ต่างกันคือพระพุทธาทิจจะว่าสามารถเรียนได้ ส่วนพระญาณสาคระตอบว่าไม่ได้ พระองค์เองทรงเชื่อพระพุทธาทิจจะ ฝ่ายพระญาณสาคระเองเมื่อรับผ้ากฐิน ก็ประกอบพิธีในนทีสีมาแทนที่จะประกอบในอาราม นอกจากนี้แล้ว การปลูกสีมาวัดสวนดอกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คณะสงฆ์วิวาทกัน จนต้องมีการบวชพระภิกษุเสียใหม่อีกหลายครั้ง คราวหนึ่งมีการบวชโดยจัดคาดขนานด้านเหนือให้พระมหาญาณสุนทรเป็นสังฆนายกบวช ด้านใต้ให้พระญาณสุนทระเป็นสังฆนายกบวชมีพระที่ไม่ยอมร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก จึงต่างก็เกิดวิวาทะระหว่างกันและกัน
พระไม่ยอมทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกัน เป็นเวลานานถึง ๑๖ ปี สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้พระทะเลาะกัน คือเมื่อ ลูกจ่าสวนชื่อธัมมคัมภีร์มาบวชในสำนักพระมหาธัมมกิตติ เมื่อ จ.ศ.๗๔๔ ( พ.ศ.๑๙๒๕ ) เมื่อบวชแล้ว ประพฤติผิดในพระอุปัชฌาย์ จึงหนีไปบวชในสำนักจันทวาณีชีโจร ประเทศลังกา กลับจากลังกามาตำหนิพระสงฆ์ในเชียงใหม่ ประกาศคำสอนใหม่เป็นต้นว่า
ไม่ให้กราบไหว้พระพุทธรูป คำสอนใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเชียงแสน ต่อมาภายหลังก็สึกไปแต่งงานกับธิดาหมื่นสามล้านที่นครลำปาง การแตกร้าวครั้งนี้ นับว่ารุนแรงมาก
ขณะที่คณะสงฆ์ มีการร้าวรานกันอย่างหนักนั้นเอง คราวนั้น พระมหาโพธิธัมมกิตติเป็นราชครู ๖ ปี พระธัมมคัมภีร์เข้ามาบวช
ต่อจากนั้น ๑๘ ปี บุตรพันตาแสงชื่อสามจิต เกิด จ.ศ. ๗๕๖ ( พ.ศ.๑๙๓๗ ) เมื่ออายุครบ ๑๓ ปีจึงไปบวชเป็นสามเณร
ในสำนักพระมหาโพธิธัมมกิตติเมื่อ จ.ศ.๗๖๙ (๑๙๕๐ ) อายุครบ ๒๐ ปี จึงได้รับการอุปสมบท ครั้นอุปสมบทแล้ว
ก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนชำนาญ ปรากฏชื่อว่า ญาณคัมภีร์ ปี จ.ศ. ๗๗๖ ( พ.ศ. ๑๙๕๗ ) ญาณคัมภีร์ได้พบข้อบกพร่องในวงการสงฆ์ ข้อบกพร่องที่สำคัญข้อแรกคือการอุปสมบทที่พระมหาสุมนเถร กระทำในกลางมหาสมุทร โดยเอาพระพุทธรูปเป็นคณปูรกะ ทำให้การบวชในเวลาต่อมาไม่ถูกตามพระวินัยบัญญัติ นอกจากนี้ ยังพบข้อบกพร่องในการสวดอีก ๑๐ ข้อ มีการสวดญัตติจตุถกรรมวาจา และการสวดไตรสรณคมน์เป็นต้น
เมื่อท่านพบข้อบกพร่องเหล่านี้แล้ว จึงตัดสินใจอำลาพระอุปัชฌาย์และพระเจ้าแผ่นดินไปศึกษาศาสนาที่ลังกา เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว
ท่านและพระอีก ๕ รูป คือพระวุฑฒญาณะ พระสิทธิญาณะ พระญาณสารทะ พระรัตนนาคะ และพระจิตหนุ
พร้อมกับอุบาสกเดินทางไปอยุธยา เข้าไปกราบไหว้ราชครูอยุธยาและถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาให้ทรงทราบ พระเจ้าแผ่นอยุธยาทรงยินดีและโปรดให้อามาตย์สุภรัต เดินทางไปด้วย ท่านราชครูอยุธยาก็มอบหมายพระ ๕ รูป
คือพระสังวระ พระสังกิจจะ พระโสภิตะ พระโจทยะ และพระญาณพละ เดินทางร่วมไปด้วย ออกเดินทางจากอยุธยาเมื่อ จ.ศ.๗๘๑(พ.ศ.๑๙๖๒)
พระญาณคัมภีร์และคณะเดินทางถึงลังกาได้เข้าไหว้ท่านมหาสุรินทเถร ถามข่าวพระศาสนา ได้รับคำตอบว่า การพระศาสนาในลังกาก็วิปลาสคลาดเคลื่อนมากมีการแตกแยกเป็นสำนักต่าง ๆ ถึง ๖๐ สำนักด้วยกัน
มีทั้งลัทธิมอญและพม่าปะปนอยู่มาก ศาสนายังบริสุทธิ์อยู่เฉพาะที่โรหนชนบทมหารัฐเท่านั้น
ครั้นทราบประพฤติเหตุแล้ว พระญาณคัมภีร์และคณะจึงตัดสินใจเดินทางไป โรหนชนบทมหารัฐ เมื่อเดินทางไปถึงแล้ว
ก็ได้เข้าเฝ้าพระมหาสุทัสนสมเด็จราชครู เล่าเรื่องพระศาสนาในเชียงใหม่ถวายท่าน สมเด็จราชครูทราบแล้วจึงตำหนิพระสุมนเถรที่กระทำศาสนาให้วิปริตไปจากเดิม แม้แต่การสวดที่เคยรับไปอย่างถูกต้อง
ก็กลับทำให้วิบัติเช่นเดียวกัน พระมหาญาณคัมภีร์แจ้งเหตุ จึงพร้อมใจกันทั้งคณะ ขออุปสมบทใหม่ให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ
และศึกษาพุทธศาสนา เมื่อครบ ๕ พรรษา พ้นนิสัยแล้ว ท่านจึงอำลาพระมหาเถรชาวลังกากลับเชียงใหม่ พร้อมกับขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ
พระพุทธรูป และพระไตรปิฎกกลับมาด้วย
พระญาณคัมภีร์เดินทางกลับถึงอยุธยา เข้าถวายพระพรพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินเองก็ทรงมีพระราชศรัทธาอย่างมาก หลังจากนั้นก็เข้านมัสการพระมหาธัมมสารทเถร ราชครูอยุธยา แจ้งข่าวพระศาสนาที่พระมหาสุทัสนเถร ลังกาส่งมาให้ทราบพระญาณคัมภีร์ขออนุญาตให้พระอยุธยาบวชแปลงเสียใหม่ จ.ศ.๗๘๖ (พ.ศ.๑๙๖๗)มีวัดต่าง ๆ เลื่อมใส
ขอเข้าสังกัดฝ่ายพระญาณคัมภีร์ ถึง ๓๐๐ วัด
หลังจากประกาศพระศาสนาที่อยุธยาแล้ว พระญาณคัมภีร์ก็เข้าถวายพระพรลาพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเดินทางกลับเชียงใหม่
พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาโปรดให้ อามาตย์โสภิตะ ร่วมเดินทางไปถวายความสะดวก ทุกที่ที่พระญาณคัมภีร์ผ่านไป มีฝูงประชาเลื่อมใสและขอบวชในฝ่ายของท่านเป็นอันมาก
ปี จ.ศ. ๗๘๙ ( พ.ศ. ๑๙๖๘ ) ชาวเชียงใหม่ พร้อมใจกันทูลเชิญท้าวลกขี้นเสวยราชย์ แทนพระแก้วพันตา ทรงพระนามว่า
พญาอาทิตยราช พระองค์ทรงทราบข่าวว่าพระญาณคัมภีร์มาถึงโปรดให้ราชบุรุษรื้อราชมนเทียรหลังเก่าไปสร้างวัดตั้งชื่อว่า
วัดราชมณเทียรถวายให้เป็นที่จำวัดของพระญาณคัมภีร์ ซึ่งเมื่อถึงเชียงใหม่แล้ว ท่านก็เข้าเฝ้านมัสการ และถวายรายงานต่าง ๆ เท่าที่ตัวท่านเองได้ประสบมาแด่อุปัชฌาย์ พร้อมขออนุญาตพระอุปัชฌาย์จัดการบวชแปลงภิกษุในเชียงใหม่เสียใหม่ สมเด็จอุปัชฌาย์บอกว่า ตัวท่านเองสืบเชื้อสายมาจากพระมหาสุมนเถรและพระสุชาโต ยังยึดมั่นและศรัทธาในลัทธิดั้งเดิมอยู่ หากจะบวชแปลงพระ
ที่พอใจจะบวชใหม่ ท่านก็ไม่ขัดข้อง แต่ตัวท่านเองขออยู่ในสังกัดเดิม ประชาชาวเชียงใหม่ต่างพากันเลื่อมใสใน
คำสั่งสอนของพระนิกายญาณคัมภีร์ โดยเปรียบเทียบกับคติคำสอนที่พระธัมมคัมภีร์เคยประกาศมาก่อน
เมื่อพระสงฆ์ที่เชียงใหม่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น พระญาณคัมภีร์จึงถวายพระพรให้พระเจ้าอาทิตตราชสร้างอารามแห่งใหม
่สำหรับพระสงฆ์ เมื่อพระองค์ทรงทราบเหตุ จึงโปรดให้สร้างวัดอีกแห่งหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองเชียงใหม่
ตั้งชื่อว่า สีหฬรัตตารามาธิปติ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดป่าแดง ถวายพระสงฆ์นิกายใหม่นี้ นอกจากนี้แล้วยังมีพระในวัดอื่น ๆ อีก ๕๐๐ วัด ต่างก็เข้ามาอยู่ในสังกัดมหาญาณคัมภีร์ทั้งสิ้น
ต่อมาภายหลัง พระเจ้าสุววัณณนิธิ เชียงแสน สดับข่าวว่า พระญาณคัมภีร์ปฏิบัติดีนัก จึงส่งทูตมาอาราธนาให้ไปประกาศศาสนาที่เชียงแสน พระญาณคัมภีร์จึงอำลาพระเจ้าแผ่นดิน และอุบาสกอุบาสิกาเดินทางไปเชียงแสน เมื่อ จ.ศ.๗๖๙ (พ.ศ. ๑๙๘๐)
พระเจ้าสุวัณณนิธิโปรดให้สร้างวัดป่าแดง และวัดอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ถวายฝ่ายคณะสงฆ์ป่าแดง ประชาชนต่างพากันสรรเสริญยกยอโดยนำเอาเรื่องพระธรรมคัมภีร์มาเปรียบเทียบ ดังนัยที่กล่าวมาแล้วหนหลัง
การคณะสงฆ์ที่เชียงใหม่ หลังจากพระญาณคัมภีร์เดินทางไปเชียงแสนแล้ว มีดังนี้ คือ พระสงฆ์ที่กระจัดกระจาย
ไปประกาศศาสนายังที่ต่างๆ ได้กลับมาเชียงใหม่ ก็เกิดวิวาทะระหว่างพระนิกายเก่าและนิกายใหม่
แต่ส่วนมากยังคงยึดตามพระมหาธัมกิตติราชครูนั้นเอง เมื่อ จ.ศ.๘๐๓ (พ.ศ.๑๙๘๔)
ขณะที่พระญาณคัมภีร์จำพรรษาอยู่ที่เชียงแสนนั้นเอง ในเชียงตุง พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีครองเมือง
แทนพระเจ้ารัตตเภรี พวกเปรตแลปีศาจมารบกวนปราสาท พระองค์โปรดให้นิมนต์พระวัดสวนดอกเชียงลมมาสวดมนต์ แต่เปรตไม่เกรงกลัว ยังมารบกวนอยู่เช่นเดิม เหตุการณ์ดำเนินไปอยู่เช่นนี้นานถึง ๑๐ ปี อยู่มาวันหนึ่ง พระมหาญาณคัมภีร์ได้สุบินนิมิตที่เทวดามาดลใจว่า เกิดเหตุเภทภัยใหญ่หลวงที่เชียงตุง รุ่งเช้า ท่านแจ้งให้พระภิกษุ อุบาสก และอุบาสิกาฟัง ทุกคนในที่นั้นต่างเห็นว่า พระญาณคัมภีร์ควรจะไปประกาศศาสนาที่เชียงตุง ท่านจึงตัดสินใจส่งพระโสมจิตกับศิษย์อีก ๔ องค์ไปแทน พระเหล่านั้นเดินทางไปจนถึงเชียงตุง พักอยู่ที่ห้วยเย็น และได้ยินเสียงเด็กเลี้ยงวัวร้องบทขออุปสมบทและบรรพชา จึงบอกเด็กเหล่านั้นว่าร้องไม่ถูกต้อง เด็กเหล่านั้นทราบแล้วจึงนำความไปแจ้งให้พ่อแม่ทราบ เมื่อพ่อแม่ทราบแล้ว จึงนำความนั้นไปแจ้งให้อามาตย์เพื่อให้นำความไปกราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ ครั้นพระองค์ทราบ แล้ว จึงโปรดให้ราชบุรุษไปนิมนต์พระเหล่านั้นมาฉันภัตตาหารและโปรดให้พักอยู่ที่ วัดนัคคติฏฐาราม วันหลังโปรดนิมนต์ให้ไปสวดมนต์ เพื่อกำจัดพวกเปรต พร้อมกับโปรดให้ตั้งหอท้าวจตุโลกบาล หอเทวดา และหอท้าวมหาพรหม หลังจากเสร็จพิธีแล้ว เหตุวุ่นวายทั้งหลายก็หายเป็นปรกติ พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณี ทรงเลื่อมใสในพระเหล่านั้น จึงโปรดให้สร้างมหาวันอารามให้เป็นที่อยู่จำพรรษา จากนั้น ราว ๕ เดือน ไฟไหม้ห้วยปูน
พระองค์โปรดให้จัดพิธีชำระเรื่องร้ายต่าง ๆ เหล่านั้นจนหายเป็นปรกติดังเดิม เมื่อจ.ศ.๘๐๔ เกิดอุทกภัยท่วมสะพานดอนขวาง พระองค์โปรดให้นิมนต์พระเหล่านั้นมาสวดรัตนสูตร เภทภัยทั้งหลายก็หายไปอีกเช่นกัน
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วพระโสมจิตและคณะ จึงเข้าถวายพระพรลาพระเจ้าลาพระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีอ แต่พระองค์ไม่โปรดอนุญาต หากทรงโปรดให้เสนาศิริวังศะเป็นราชทูตเดินทางนำอัฐบริขารไปถวายพระญาณคัมภีร์ และทูลขอพระเจ้าสุวัณณนิธิ เพื่อให้พระญาณคัมภึร์เดินทางไปประกาศศาสนาและสงเคราะห์ประชาชนชาวเชียงตุง
พระญาณคัมภีร์ทราบการนิมนต์และได้พระราชานุญาตแล้ว จึงออกเดินทางไปเชียงตุงพร้อมกับพระสงฆ์และพระไตรปิฎก เมื่อถึงแล้ว พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณี ถวายการต้อนรับและโปรดให้จำพรรษาที่วัดป่ามหาวันอาราม เมื่อ จ.ศ. ๘๐๕ ( พ.ศ. ๑๙๘๖ ) จึงโปรดให้สร้าง สิงหาฬรัตตารามาธิปติ หรือ วัดป่าแดงถวาย พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีทรงมีพระราชศรัทธาถึงกับทรงถวายราชสมบัติแด่พระรัตนตรัยและเสด็จออกผนวช พร้อมกับปรารถนาพระโพธิญาณและโปรดให้นำกิ่งมหาโพธจากเชียงใหม่ ไปปลูกไว้ที่วัดป่าแดงเชียงตุง ต่อมาต้นโพธิแตกออกเป็น ๒ สาขา ตามสุปินนิมิตของพระโสมจิต ที่เทวดามาบอกนั้น คือการที่ต้นโพธิ แตกกิ่งสาขาออกมาอย่างนั้นกิ่งหนึ่งเป็นนิมิตว่า อนาคตนั้นหากภิกษุสนใจศึกษาธรรมวินัยไม่ต้องโทษ ๘ ประการ คือไม่ทำตัวเป็นดั่งชาวบ้าน ๑ ไม่เปนคนพิการ ๑ ไม่เกิดในที่ห่างไกลพระรัตนตรัย๑ ไม่เกิดในท้องนางทาสี ๑ ไม่ต้องโทษปาราชิก ๑ และอุปสมบทถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ๑ ศาสนา ก็จักเจริญรุ่งเรืองตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา ส่วนอีกกิ่งหนึ่งนั้นเป็นนิมิตว่า การปรารถนาสัพพัญญูตญาณของพระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีนั้นจะสมเร็จดังพระมโนปณิธาน รุ่งเช้าท่านจึงแจ้งให้พระญาณคัมภีร์ได้ทราบ ฝ่ายพระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีนั้น ต้องการจะทดลองว่าการปรารถนาพระสัพพัญญูของพระองค์จะสำเร็จหรือไม่ ก่อนบรรทม พระองค์ได้อธิษฐานว่าหากจะสำเร็จแล้ว ขอให้ได้ก้อนศิลามาฉลักพระพุทธรูป พระพุทธบาตรและพระพุทธบาท จากนั้นก็เสด็จเข้าสู่ที่บรรทม ขณะนั้นเทวดาก็มาสำแดงให้พระองค์ทรงทราบว่า ให้สร้างทั้ง ๓ สิ่งไปประดิษฐานที่ดอยเปรต ดอยเพงสา และหนองตุง เรื่องที่เทวดาสำแดงนั้นเป็นความจริง เมื่อช่างทอเสื่อพ่อลูกเดินทางมาพักที่ฝั่งน้ำขึนพบหินลอยน้ำ จึงนำความไปแจ้งให้พระองค์ทรงทราบ เมื่อทรงทราบแล้วจึงโปรดให้ไปนำหินก้อนนั้น มาแกะฉลักเป็นพุทธรูป พุทธบาตร และพุทธบาท ไปประดิษฐานไว้ในที่ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว
พระมหาญาณคัมภีร์ประกาศศาสนาที่เชียงตุง เป็นที่แพร่หลายไปจนถึงสิบสองพันนา และลาว ท่านจำพรรษาอยู่ที่เชียงตุงนานถึง ๑๓ ปี จากนั้นองค์คำอันเตวาสิก และประชาชนเชียงแสนประมาณ ๑๐๐ คน จึงพร้อมกันไปอาราธนาท่านกลับมาจำพรรษาที่เชียงแสนดังเดิม
ฝ่ายพระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณี โปรดให้การอุปภัมภ์ศาสนาฝ่ายป่าแดงและโปรดสถาปนาพระภิกษุสงฆ์ในเชียงตุง เป็นต้นว่าสถาปนาพระโสมจิตเป็นราชครู อยู่ที่วัฒนาคารโรงหลวง พระภิกษุฝ่ายป่าแดงมี ๒๐๘ องค์ พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีโปรดให้เรือน ๓๕๐ หลังเป็นกัลปนา โปรดให้สร้างโรงคัลสำหรับประชุม การให้ศีลสามเณร การถวายกฐินและการสดับเทศน์มหาชาติ
ฝ่ายสงฆ์สังกัดเดิม คือวัดสวนดอก ซึ่งเสื่อมลาภและสักการะ จึงพากันกระจัดกระจายหนีไปยังที่ต่าง ๆ เหลือเพียงพระวัดอินท์ เพราะชราภาพมากไม่อาจจะไปที่ไหนได้ พระเจ้าศิริสุธรรมจุฬามณีโปรดให้อาราธนาพระฝ่ายป่าแดงไปประจำอยู่ตามอารามต่าง ๆ แทนพระฝ่ายสวนดอกและโปรดให้มีการสถาปนาพระในเมืองอีกคำรบหนึ่ง คณะสงฆ์ฝ่ายสวนดอกกลับฟื้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระองค์หนึ่งซึ่งเดิมทีเป็นลูกแม่ป้าสามมาด ได้ชักชวนประชาชนสร้างวัดยางควงที่ดอยป่าช้ายางควง ขุนสามวันสร้างพระพุทธรูปแม้จะไม่เสร็จในวันเดียว แต่พอรุ่งเช้าองค์พระกลับสำเร็จอย่างงดงาม ก็เพราะอานุภาพของพระอินทร์ ประชาชนจึงพร้อมกันประดิษฐานไว้ที่นั้น ต่อมาพากันไปนิมนต์พระจันทรปัญญาจากวัดยางควงให้มาจำพรรษาที่วัดอินทร์ พระยางควงเองมีจำนวนน้อยลง จึงร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมกับฝ่ายป่าแดง อีกครั้งหนึ่ง
ฝ่ายราชสำนักก็ให้การอุปภัมภ์พระฝ่ายป่าแดง จัดระเบียบการปรกครองคณะสงฆ์ มีการตั้งสังฆการี สร้างวัดวาอารามจำนวนมาก กำหนดวิธีการอุปัฏฐากพระภิกษุสงฆ์ มีการจัดระเบียบในการอภิเษกพระเถระ การทำบุญสุนทาน การกำหนดวันที่ควรและไม่ควรบำเพ็ญบุญ การถวายและการอ่านคัมภีร์ ตลอดจนการสร้างหอไตร และระเบียบวิธีในการบรรพชาอุปสมบทเป็นต้น
จวบจน จ.ศ. ๙๓๔ ( ๒๑๑๕ ) จึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันระหว่างคณะสงฆ์ทั้งสองฝ่ายอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการเข้าพรรษาในปีที่มีอธิกมาส ซึ่งเป็นปีที่พญาแก้วปราบภูมินทร์ เสด็จไปช่วยกองทัพพม่ารบกับข้าศึก พระฝ่ายสวนดอกเข้าพรรษาวันเพ็ญเดือน ๙ หรือเดือน ๘ แรก ส่วนพระฝ่ายป่าแดงเข้าพรรษาเดือน ๑๐ หรือเดือน ๙ หลัง เพราะถือตามคตินิยมอนุวัติตามพระราชา ถึงคราวรับกฐินฝ่ายสวนดอกไม่ได้รับ คงได้รับเฉพาะฝ่ายป่าแดงเท่านั้น พระเจ้าแผ่นดินให้พิจารณาดูโปราณราชประเพณี เห็นเป็นเรื่องพระสงฆ์
จึงไม่โปรดให้พิจารณา เมื่อคราวเกิดเพลิงไหม้ห้วยเย็น พระฝ่ายสวนดอกไปสวดไฟไหม้ลุกลามมากขึ้น ครั้นพระป่าแดงไปสวดมนต์ ไฟกลับหายไป ทำให้พระฝ่ายสวนดอกโจมตีพระญาณคัมภีร์ว่า ไม่เป็นพระที่แท้จริง ใช้เวทมนตร์ ทำให้ราชสำนักหลงใหลจนอุปภัมภ์ฝ่ายของตนเอง เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ อามาตย์ชื่อ ธัมมลังกา จึงโปรดให้มีการชำระ โดยอ้างเอาเหตุการณ์ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีครองเมือง พระองค์ทรงหลงผิดนับถือเดียรถีย์ โปรดให้นำพระพุทธรูปไปทิ้งน้ำ นางลูกสาวเศรษฐีฝันเห็นจึงให้คนไปกู้ขึ้นมาบูชา พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบแล้วกริ้วมากโปรดให้ประหารชีวิตนาง แต่พวกเพชฌฆาตไม่อาจทำอันตรายนางได้ พระเจ้าหงสาวดีทราบเหตุนั้นจึงตรัสถามและทรงทราบว่า นางกราบไหว้พระพุทธรูป จึงได้รับการคุ้มครอง นางจึงท้าให้มีการพิสูจน์ว่า ระหว่างพระพุทธเจ้าที่เป็นบรมครูของนางกับนิครนถ์ที่เป็นบรมครูของพระเจ้าแผ่นดิน ใครจะทรงความดีและศักดิ์สิทธิมากกว่ากัน การพิสูจน์ทำโดยเขียนชื่อครูทั้งสองในใบลานแล้วเผาไฟ พระเจ้าแผ่นดินตกลง จึงมีการพิสูจน์ ผลปรากฏว่า ชื่อนิครนถ์ถูกไฟไหม้ แต่ชื่อพระพุทธเจ้าไฟไม่ไหม้
เมื่อธัมมลังกาชักเหตุหนหลังนี้มาแล้ว ที่ประชุมจึงตกลงกันให้มีพิสูจน์ โดยยึดสัจจะเปนที่พึ่ง ฝ่ายสวนดอกเขียนชื่อพระอินทมุนี ฝ่ายป่าแดงเขียนชื่อพระญาณคัมภีร์ลงในใบลาน ครั้นเขียนแล้วตั้งสัจอธิษฐานแล้วจึงใส่ใบลานที่เขียนชื่อครูทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าในกองไฟ ผลปรากฏว่าใบลานที่เขียนชื่อพระอินทมุนีไฟไหม้ ส่วนลานที่เขียนชื่อพระญาณคัมภีร์ไฟไม่ไหม้แต่กลับเขียวงามดังเดิมประชาชนที่ประชุมอยู่ในสถานที่แห่งนั้นเห็นประจักษ์ จึงโห่ร้องด้วยความพอใจ ซึ่งถือว่าฝ่ายป่าแดงมีชัยชนะเหนือฝ่ายสวนดอก
ต่อมาพระเจ้าปราบภูมินทร์ จึงโปรดให้มีการชำระเรื่องการเข้าพรรษา และการรับผ้ากฐินอีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าฝ่ายสวนดอกพ่ายแพ้ ดังนั้นภิกษุฝ่ายสวนดอกจึงพากันแตกกระจัดกระจายหนีไปอยู่ยังที่ต่าง ๆ บางพวกก็ลาสิกขา แม้วิวาทะเรื่องการเข้าพรรษา เมื่อ จ.ศ.๙๔๕ (๒๑๒๖ ) ฝ่ายสวนดอกก็พ่ายแพ้อีกตามเคย ต่อมามีการทะเลาะวิวาทกันอีกหลายครั้ง ความปราชัยมักจะเกิดมีแก่พระฝ่ายสวนดอกเสมอ จึงเห็นว่าพุทธศาสนาที่ท่านญาณคัมภีร์นำเข้าไปประกาศที่เชียงตุงได้ฝังรากลึกตราบเท่าปัจจุบัน