เหตุการณ์ในสมัยพระเจ้าอินทรวิชยานนท์

ในช่วงสมัยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ วันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๑๑ นี้ มีมิชชันนารีศาสนาจารย์แมคกิลวารี และ ครอบครัวอพยพขึ้นมาศัยอยู่ที่นครเชียงใหม่ ตั้งจุดประกาศศาสนาโดยเริ่มจัดการศึกษาแแบบตะวันตก โดยมี นางโซเฟีย รอยซ์ แมคกิลวารี ได้เริ่มให้มีการศึกษาสำหรับสตรีครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๘

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ นางสาวแมรี แคมป์เบลล์ และ เอ็ดนา โคล ได้มาจัดระเบียบโรงเรียนสตรี บริเวณเชิงสะพานนวรัฐ จนกลายมาเป็นโรงเรียนดาราวิทยาลัยในปัจจุบัน ส่วนการศึกษาสำหรับเด็กชายนั้น ได้มีการจัดตั้ง "โรงเรียนเด็กชายวังสิงห์คำ" ขึ้นที่บริเวณที่เรียกว่า วังสิงห์คำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ โดยมีศาสนาจารย์ เดวิด จี.คอลลินส์ เป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาเป็นโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนดังกล่าวระยะแรกนั้น ใช้ภาษาอังกฤษและ ภาษาล้านนา(ตัวเมือง) ในการเรียนการสอน มีการพิมพ์ตำราด้วยอักษรล้านนา ในขณะที่ตัวหนังสือแป้นนั้นมีมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๙ แล้ว

ในช่วงเดียวกันนี้ บริษัททำป่าไม้ ซึ่งทะยอยเข้ามาที่เมืองเชียงใหม่ เช่น

-บริษัทบริติชบอร์เนียว (British Borneo) เข้ามาในราว พ.ศ. ๒๔๐๗
-บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา (Bombay Burma) เข้ามาในราว พ.ศ. ๒๔๓๒
-บริษัทสยามฟอเรสต์ (Siam Forest)เป็นต้น

ได้นำเอาลูกจ้างชาวพม่า กะเหรี่ยง และ ชาวพื้นเมืองอื่นๆ เข้ามาทำงาน ดังนั้นจึงมีชาวอังกฤษ และ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาในล้านนามากขึ้น ทำให้เกิดการฟ้องศาลที่กรุงเทพฯหลายคดี จากหลักฐานพบว่า ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๑ - ๒๔๑๖ มีคดีความจำนวน ๔๒ เรื่อง ตัดสินยกฟ้อง ๓๑ คดีง ส่วนอีก ๑๑ คดีนั้นพบว่าเจ้านายทำผิดจริง จึงตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายรวม ๔๖๖,๐๑๕ รูปี หรือ ๓๗๒,๘๑๒ บาท เจ้าเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นคือพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้ขอชำระเพียงครึ่งเดียวก่อน ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน ๖ เดือน แต่กงสุลอังกฤษไม่ยินยอม บังคับให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ชำระทั้งหมด หรือมิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ย ซึ่งราชสำนักกรุงเทพฯก็ไม่ยินยอมด้วยเช่นกัน ดังนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงต้องจ่ายค่าเสียหาย ๑๕๐,๐๐๐ รูปี (๑๒๐,๐๐๐ บาท) และ ราชสำนักกรุงเทพฯ ให้ยืมเงิน ๓๑๐,๐๐๐ รูปี (๒๔๘,๐๐๐ บาท) โดยต้องชำระคืนภายใน ๗ ปี พร้อมทั้งดอกเบี้ยในรูปไม้สัก ๓๐๐ ท่อนต่อปี