การรวมเข้ากับสยาม

 

ในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ พม่าได้เสียดินแดนหัวเมืองมอญให้แก่อังกฤษ ซึ่งบริเวณนั้นมีอาณาเขตติดต่อกับล้านนา จึงมีชาวอังกฤษเข้ามาค้าขายเรื่องป่าไม้เป็นจำนวนหนึ่ง แต่เมื่ออังกฤษได้ดินแดนพม่าทางตอนล่าง อิทธิพลของอังกฤษก็ขยายมาใกล้ชิดกับล้านนามากขึ้น มีชาวพม่าซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษเข้ามาทำป่าไม้ในล้านนามากขึ้น ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน อังกฤษจึงเรียกร้องให้รัฐบาลกลางเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ทางกรุงเทพฯจึงได้ส่งพระนรินทรราชเสนี (พุ่ม ศรีไชยยันต์) ไปเป็นข้าหลวงดูแลสามหัวเมืองใหญ่ประจำที่นครเชียงใหม่ เพื่อควบคุมดูแลปัญหาในนครเชียงใหม่ นครลำปาง และ นครลำพูน แต่ก็ยังมิสามารถแก้ไขปัญหาได้ ขณะนั้นหัวเมืองขึ้นของพม่าเป็นจำนวนมากต่างประกาศเป็นอิสระ และได้ยกกำลังเข้าโจมตีหัวเมืองชายแดนล้านนา ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้เกินกำลังที่เชียงใหม่ และ เมืองรอบๆ จะจัดการได้ และในขณะนั้นสถานการณ์ภายในเมืองเชียงใหม่ก็มีปัญหา เนื่องจากพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ไม่มีความเข้มแข็งในการปกครอง เจ้านายชั้นสูงจึงแข่งแย่งชิงอำนาจกัน ทำให้เป็นโอกาสของกลางกรุงเทพฯ ที่จะเข้ามาปฏิรูปการปกครอง โดยระยะแรกในปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล โดยมีมณฑลพายัพ หรือ มณฑลลาวเฉียง และมณฑลมหาราษฎร์ เป้นมณฑลในอาณาจักรล้านนา โดยทางกรุงเทพ ส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้ง ตำแหน่งเสนากรมขึ้นมาใหม่ ๖ ตำแหน่ง และให้คงตำแหน่งเจ้าครองนครอยู่ แต่ลดอำนาจลง และในที่สุดในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ล้านนาได้ปฏิรูปการปกครองเป็นแบบ มณฑลเทศาภิบาล เป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราช ผนวกดินแดนล้านนาที่อยู่ใต้การปกครองของเชียงใหม่มาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม โดยมีเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายคือ เจ้าแก้วนวรัฐ