รื่นเริงธรรม ตอน ๑-๑๐


รูปข้างบน fun... สามารถกดเชื่อมต่อรื่นเริงธรรม
ภาคต่าง ๆ ได้ขอรับ

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๑ สรณะอันประเสริฐ...
รายละเอียด : มนุษย์เป็นอันมาก เมื่อถูกภัยคุกคามแล้ว
ย่อมถือเอาภูเขา ป่าไม้ อาราม และรุกขเจดีย์เป็นสรณะ
นั่นไม่ใช่สรณะอันเกษม นั่นไม่ใช่สรณะอันสูงสุด
บุคคลอาศัยสรณะนั้นแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
ส่วนผู้ใดถือเอาพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว
ย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ
เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความก้าวล่วงทุกข์ และ
มรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ อันเป็นเครื่องระงับทุกข์
นั่นแหละเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะอันสูงสุด
บุคคลอาศํยสรณะนั้นแล้ว ย่อมพ้นทางทุกข์ทั้งปวงได้
ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พุทธวรรค ที่ ๑๔

อันมนุษย์ สุดประเสริฐ เลิศปัญญา
ย่อมศรัทธา หาเหตุผล ให้พ้นทุกข์
สรณะ ชนะเหตุ แลเห็นสุข
มิใช่รุก- ขเจดีย์ หรือที่ใด
อริย- สัจสี่ มีแบบอย่าง
เป็นหนทาง สว่าง อย่างสดใส
เมื่อเห็นเหตุ แล้วก้าวล่วง พ้นบ่วงไป
ประเสริฐไซร้ ดับเภทภัย ในใจตน
เกษมแล้ว ข้ามพ้นแนว ดั่งแก้วสุก
ระงับทุกข์ เป็นบุคคล พ้นสับสน
น้ำพระธรรม นำมาย้ำ ฉ่ำกมล
ข้ามฝั่งพ้น ได้เป็นคน พ้นทุกข์เอย...
กราบขอบพระคุณ คุณป้าสุรีย์ มีผลกิจ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล
กราบขอบพระคุณ คุณพี่ดอกสารภี สำหรับ ชื่อ รื่นเริงธรรม
ขอให้เพื่อน ๆ ทัวร์ไทยทุกท่านมีความสุขมาก ๆ ขอรับ รื่นเริงธรรม ตอน ๑ เริ่มขึ้นแล้ว เป็นกำลังใจให้ด้วยนะขอรับ...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [จ. 10 เม.ย. 2543 - 21:42:25 น.]

ความคิดเห็น : เข้ามาดูแล้ว รู้สึก ซาบซึ้งในรสพระธรรม
จริงๆค่ะ
โดยคุณ : ดาว [จ. 10 เม.ย. 2543 - 22:44:29 น.]

ความคิดเห็น : จะต้องเป็นผลงานชิ้นใหม่ ที่มีผ้ติดตามเพิ่มขึ้น
จันทร์เจ้าขา จากลาไปแล้ว รื่นเริงธรรม เร่มปฐมบทใหม่
ขอแสดงความยินดีอะ
โดยคุณ : ช่อม่วง [จ. 10 เม.ย. 2543 - 23:39:17 น.]

ความคิดเห็น : พระพุทธองค์ท่านทรงสอน
จะนั่ง-เดิน-ยืน-นอนให้ผ่อนผัน
ให้น้อมนึกระลึกไว้ทุกวัน
ศีลห้านั้นควรรู้อยู้กับใจ
การฆ่าสัตว์ตัดวีวิดคิดดูก่อน
อย่าใจร้อนมองซ้ำจำเป็นไหม
ริษยา-นินทา-ได้อะไร
เหมือนจุดไฟเผาตน....ร้อนรนเอง


โดยคุณ : รจนา [อ. 11 เม.ย. 2543 - 00:36:28 น.]

ความคิดเห็น : เอาธรรมนำทางดีชี้ประเสริฐ
หนทางเลิศไม่ทุกข์ขมุกขมัว
กระทำบาปหยาบช้าช่างน่ากลัว
หนทางชั่วหลีกลี้จงหนีไกล
ยึดธรรมนำพึ่งพิงอิงของจืต
เมื่อชีวืตล้มครืนลื่นไถล
สิ่งประเสริฐคือธรรมะอยู่ในใจ
ย่อมพ้นภัยสู่สุขทุกเวลา

อย่าให้เผลอ
อย่าไปเผลอ


โดยคุณ : กุหลาบเวียงพิงค์ [อ. 11 เม.ย. 2543 - 05:53:29 น.]

ความคิดเห็น : ขอโทษเผลอเกินไปแล้ว คงไม่ว่ากันนะ
ไม่ได้ตั้งใจ
โดยคุณ : กุหลาบฯ [อ. 11 เม.ย. 2543 - 05:56:31 น.]

ความคิดเห็น : ด้วยยินดีรื่นเริงธรรมนำเสนอ
สิ่งเลิศเลอเจอแล้วจิตแผ้วผ่อง
พุทธะรรมนำใจใสเรืองรอง
ไร้ขุ่นข้องสรณะขอสักการ
พระพุทธคุณบริสุทธิ์ดุจน้ำใส
นำสู่ใจให้ร่มเย็นเป็นอาหาร
พระกรุณาธิคุณดุนพ้นมาร
ที่พ้องพานเป็นภัยในหมู่ชน
พระปัญญาธิคุณหนุนนำโลก
รู้เหตุโศกเหตุรื่นชื่นทุกหน
รู้แจ่มแจ้งแทงตลอดยอดผองชน
น้อมกมลศรัทธาบูชาองค์.
โดยคุณ : ดอกสารภี [อ. 11 เม.ย. 2543 - 09:26:17 น.]

ความคิดเห็น : ...ชึ้งค่ะ...
โดยคุณ : เฉาก๊วย [อ. 11 เม.ย. 2543 - 19:51:33 น.]

ความคิดเห็น : ขอโทษค่ะพิมพ์ผิด
ตั้งใจจะพิมพ์ว่า ...ซึ้งค่ะ...
โดยคุณ : เฉาก๊วย [อ. 11 เม.ย. 2543 - 19:54:22 น.]

ความคิดเห็น : เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๑
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๒
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๓
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๔
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๕
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๖
โดยคุณ : โก๋ 2000 ปี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:33:45 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๒ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
รายละเอียด : หลักการทำความดีตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่าบุญ การกระทำความดีนั้นชื่อว่า
บุญกิริยา มี ๑๐ ประการ ได้แก่
๑ ทานมัย ให้ปันสิ่งของ
๒ สีลมัย รักษาศีล
๓ ภาวนามัย ฝึกอบรมจิตใจ
๔ อปจายนมัย ประพฤติตนอ่อนน้อม
๕ เวยยวัจจมัย ขวนขวายรับใช้
๖ ปัตติทานมัย แบ่งความดีให้แก่ผู้อื่น
๗ ปัตตานุโมทนามัย ยินดีในความดีของผู้อื่น
๘ ธัมมัสสวนมัย การฟังธรรม
๙ ธัมมเทสนามัย การสั่งสอนธรรม
๑๐ ทิฏฐุชุกัมม การทำความเห็นให้ตรง
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ข้อ ๑๒๖ และอรรถกถา)
ท่านทั้งหลาย พึงไม่ควรประมาทในบุญเล็กน้อย
ว่ายังไม่ควรทำ เพราะแม้บุญเล็กน้อยนั้น ถ้าได้สั่งสมบ่อย ๆ ก็ยังมีผลให้เกิดความสุข บุญเล็กน้อยที่บุคคลทำบ่อย ๆ ย่อมจะพอกพูนให้เต็มเปี่ยมได้...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [จ. 10 เม.ย. 2543 - 22:21:28 น.]

ความคิดเห็น : บุญอันใด ได้ทำแล้ว ดั่งแก้วใส
ขอส่งไป ให้ถึง ซึ่งความหมาย
บุญนั้นนา ข้าทำไว้ ให้ก่อนตาย
ด้วยแรงกาย สองมือ หนึ่งวิญญา...
ขอขับขาน ตำนาน วันนี้ว่า
อันบุญญา พาชีวี มีหรรษา
อันสุขใด เกินสงบ ได้พบมา
สุขนั้นนา ข้าประสบ พบกับตน...
โดยคุณ : โก๋ 2000 ปี [จ. 10 เม.ย. 2543 - 22:34:55 น.]

ความคิดเห็น : บุญกิริยาพาสุขไปทุกที่
ด้วยยินดีอิ่มเอิบกำเริบผล
ทำบุญใช่จะได้ในบัดดล
จะมายลสุดท้ายที่ปลายทาง
ชุ่มฉ่ำน้ำใจไหลเผื่อแผ่
เป็นบุญแท้ส่งให้ไม่หมองหมาง
ทำความดีนี้ไว้ไม่จืดจาง
บุญนำทางสร้างเผื่อเมื่อเราตาย
โดยคุณ : กุหลาบฯ [จ. 10 เม.ย. 2543 - 23:14:53 น.]

ความคิดเห็น : บุญกุศลอยู่ที่ใจใสสอาด
มิอาฆาตเข่นฆ่าหาเหตุผล
ไม่เบียดเบียนให้ร้ายป้ายสีปน
ไม่ต้องรวยเงินล้นก็พ้นทุกข์
บุญไม่ทำกรรมไม่ก่อก็แล้ว
เดินในแนวสายกลางอย่างเป็นสุข
ไม่มีเรื่องเดือดร้อนนอนรอคุก
ไม่ต้องซุกซ่อนตนจนวันตาย
อยู่อย่างคนที่พอใจในชืวิต
รู้ถูกผิดคิดค้นผลเสียหาย
อยู่อย่างคน....ดีจริง...ทั้งหญิงชาย
ชีพวางวายกายสูญพูนความดี




โดยคุณ : รจนา [อ. 11 เม.ย. 2543 - 00:13:54 น.]

ความคิดเห็น : ศีลสมาธิปัญญามาอยู่พร้อม
ขอนอบน้อมนำปฏิบัติหัดเสมอ
ทุกขณะละไม่ได้ใจไหลเจอ
แม้นว่าเผลอบาปแทนแล่นเร็วจริง
ทำใดตรองบุญไหมตามมาตรวัด
แสดงชัดสิบข้อต่อทุกสิ่ง
พิจารณามิผ่านสานสู่จริง
ที่พึ่งพิงคือบุญหนุนนำนาน.
โดยคุณ : ดอกสารภี [อ. 11 เม.ย. 2543 - 09:37:45 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๓ มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง...
รายละเอียด : แนวทางในการปฏิบัติตนตามหลักพระพุทธศาสนา
"มรรค" แปลว่าทาง การปฏิบัติที่จะให้บรรลุถึงเป้าหมายอันสูงสุดใน
พระพุทธศาสนา ท่านเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา อันหมายถึงการดำเนิน
ชีวิต หรือวิถีชีวิตที่พอดี เว้นจากความสุดโต่ง ๒ แบบ คือ
แบบบำรุงบำเรอ ปรนเปรอร่างกาย มัวเมาในการเสพบริโภค
กับแบบปลีกตัวขาดจากสังคม ทรมานร่างกาย
มุ่งทรมานจิตอย่างเดียวสุดโต่งไป
มรรคมีองค์ ๘ ประกอบด้วย
๑ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ หรือความเห็นที่ถูกต้อง ความเห็นที่ตรงต่อ
สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
เพราะความเกิดมี ความแก่และความตายจึงมี
เพราะความอยากมี ความยึดมั่นคืออุปาทานจึงมี เป็นต้น
๒ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง
๓ สัมมาวาจา การเจรจาชอบ มีวาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์
๔ สัมมากัมมันตะ การประกอบการงานชอบ
๕ สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพชอบ
๖ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗ สัมมาสติ ความระลึกได้ นึกได้ สำนึกอยู่ไม่เผลอ
๘ สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นของจิต หรือภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด
มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่านส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ
มรรคทั้ง ๘ องค์นี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติดำรงตนอยู่ในความสุจริต
ประพฤติแต่ในสิ่งที่เกื้อกูล ให้เกิดประโชชน์แก่ตนเอง และผู้อื่น
ทำให้กล้าเผชิญต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยความเข้มแข็ง หนักแน่น
มีจิตใจ สงบ สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วยความมีสติ
และปัญญา
สรุปความจากหนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)
บทที่ ๑๙-๒๑ หน้า ๕๖๙-๘๙๑

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 11 เม.ย. 2543 - 22:42:34 น.]

ความคิดเห็น : ไม่ซ้าย ไม่ขวา หาทางชอบ
กิจประกอบสายกลางไม่ห่างหาย
แปดสัมมาพาชีวิตติดสบาย
ไม่งมงายหนทางดีมีไว้คอย
ชีวิตงามตามสายพิณได้ยินบ่อย
ตึงไปหน่อย ก็ขาดมิอาจฝืน
หย่อนเกินไปฟังไม่ลงคงกล้ำกลืน
มีจุดยืนให้พอดีชี้ฟังเพลิน


โดยคุณ : กุหลาบเวียงพิงค์ [อ. 11 เม.ย. 2543 - 23:34:31 น.]

ความคิดเห็น : ดีมากครับ
โดยคุณ : กุ้ย ศิลปากร [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:14:38 น.]

ความคิดเห็น : ป็นชาวโลกโชกชุ่มหุ้มกิเลส
สามสาเหตุโหมฟัดซัดส่ายไหว
ทั้งโลภะโทสะโมหะไฟ
เผาท่วมใจร้อนรนสุดทนทาน
หาหนทางอย่างไรให้แจ้งจิต
จึงจักปลิดปวงเหตุกิเลสฐาน
พ้นจากใจใสงามทุกยามนาน
จึงจะผ่านสู่กระแสที่แน่นอน
พบอริยะสัจจะพระองค์ตรัส
แจ้งแจ่มชัดชอบดีที่กล่าวสอน
มีทุกข์สมุทัยในขั้นตอน
หมดรุ่มร้อนนิโรธเย็นเห็นนิพพาน
มีแปดทางที่เดินเชิญตามขั้น
ที่สำคัญเห็นตรงจงใจขาน
คือสัมมาทิฏฐิสิเริ่มการ
คือสายธารส่งใจไปพบเย็น
พร้อมอีกเจ็ดองค์มรรคถักทอด้วย
จึงจักช่วยนำสู่ให้รู้เห็น
คิดพูดทำเพียรพาอาชีพเป็น
สติเข็นสมาธิมั่นนั้นจึงควร.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:31:25 น.]

ความคิดเห็น : เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๑
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๒
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๓
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๔
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๕
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๖
โดยคุณ : โก๋ 2000 ปี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:34:36 น.]

ความคิดเห็น : ขอแก้ไขวรรคแรกค่ะ
เป็นชาวโลกโชกชุ่มหุ้มกิเลส
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 11:24:50 น.]

ความคิดเห็น : คนในโลก ที่เห็น เป็นส่วนมาก
ยังยุ่งยาก ยึดติด คิดใฝ่ใน
อยากจะเป็น อย่างนี้ มีอย่างนั้น
มิรู้วัน วอดวาย กายฝังดิน
ไม่ปล่อยนก ปล่อยปลา ไม่ว่าดอก
ควรปล่อยออก สิ่งใด ให้ถวิล
ปล่อยโลภะ โมหะ ละมลทิน
ปล่อยให้สื้น ตัญหา พญามาร
โดยคุณ : รจนา [พ. 12 เม.ย. 2543 - 23:01:20 น.]

ความคิดเห็น : ดีจังค่ะ
โดยคุณ : jitty12 [พ. 19 เม.ย. 2543 - 16:26:47 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๔ อริยสัจ ๔ ...
รายละเอียด : แนวทางและหลักเกณฑ์แห่งการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา
อริยสัจ คือ ความจริงอันประเสริฐ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทรงตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์ ทรงหลุดพ้นจากกิเลส
ทรงตัดความเวียนว่ายตายเกิด ทรงล่วงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้
อย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง แล้วทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม สัจจะ ๔ ประการนี้
ได้แก่
๑ ทุกขอริยสัจ ได้แก่สภาพที่ทนได้ยาก หมายถึงสภาวะของสรรพสิ่ง
ทั้งหลายที่ตกอยู่ในกฎธรรมดา คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
๒ ทุกขสมุทยอริยสัจ คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือสาเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด
ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ความปรารถนาในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น
รส และสัมผัส
ภวตัณหา ความปรารถนาในภพ คือ ความยากที่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
อยากให้คงอยู่ตลอดไป
วิภวตัณหา ความปรารถนาในวิภพ คือความอยากที่จะพ้นไปแห่งตัวตน
จากความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งอันไม่ปรารถนา อยากทำลาย อยากให้ดับสูญ
เป็นความอยากที่ประกอบด้วยความเห็นผิดว่าขาดสูญ
๓ ทุกขนิโรธอริยสัจ คือความดับทุกข์ ได้แก่ตัณหาที่สิ้นไป ความไม่ติดข้องอยู่
ในตัณหา อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้น
๔ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ ได้แก่
มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง หรือที่เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘
ได้กล่าวไว้ใน รื่นเริงธรรม ๓ แล้ว
หลักเกณฑ์ของการรู้แจ้งอริยสัจ ๔
รู้จักทุกข์ รู้ว่าทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ รู้ว่าทุกข์นี้ได้กำหนดรู้แล้ว
รู้จักสมุทัย รู้ว่าสมุทัยนี้ควรละเสีย รู้ว่าสมุทัยนี้ละได้แล้ว
รู้จักนิโรธ รู้ว่านิโรธควรทำให้แจ้ง รู้ว่านิโรธได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
รู้จักมรรค รู้ว่ามรรคนี้ควรปฏิบัติ รู้ว่ามรรคนี้ได้ปฏิบัติแล้ว
บุคคลใด เมื่อได้หยั่งรู้ในความจริง หยั่งรู้ในหน้าที่ และหยั่งรู้ในกิจ
ที่ได้ทำแล้ว ของแต่ละสัจจะ สัจจะละ ๓ รอบ ๑๒ อาการดังนี้แล้ว
...............จึงชื่อว่า......."ตรัสรู้อริยสัจ ๔"..........................

หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขทุกข์ที่ถูกต้องคือ รู้จักดำเนินวิธีการแก้ไขปัญหาตามหลัก
อริยสัจ ๔ ประการ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ให้ คือ กำหนดรู้ทุกข์....
สืบสาวหาสาเหตุแห่งทุกข์.....รู้ว่าความดับทุกข์นั้นมีอยู่....จึงปฏิบัติตามทางที่จะให้
บรรลุถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นทางสายนี้สายเดียว
เป็นทางที่จักพาให้พวกเราพ้นจากทุกข์ได้อย่างแน่นอน...

สรุปความจากหนังสือ พุทธธรรม ของพระธรรมปิฎก(ป.อ.ปยุตฺโต)
บทที่ ๒๒ หน้า ๘๙๓-๙๒๔
กราบขอบพระคุณ คุณพี่ดอกสารภี ที่เอื้อรูปภาพประกอบขอรับ...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 11 เม.ย. 2543 - 23:07:39 น.]

ความคิดเห็น : รู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
หนทางจักกำนหดรู้สู่แก้ไข
เป็นแนวทางดับทุกข์แห่งจิตใจ
ประทานไว้จำจดปลดทุกข์เอย
โดยคุณ : กุหลาบฯ [พ. 12 เม.ย. 2543 - 09:09:40 น.]

ความคิดเห็น : เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๑
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๒
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๓
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๔
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๕
เต็มอิ่มกับจันทร์เจ้าขา วาระ ๖
โดยคุณ : โก๋ 2000 ปี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:34:39 น.]

ความคิดเห็น : ...ทุกข์พึงกำหนดรู้............เป็นไป
เบนห่างสมุทัย..................เหตุทิ้ง
นิโรธเยี่ยมสงบใจ.............หยุดนิ่ง..กิเลสนา
มรรคแปดทางเพริศพริ้ง..ยิ่งแท้เจริญตาม.

โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 12 เม.ย. 2543 - 10:40:35 น.]

ความคิดเห็น : สวรรค์อยู่ ในอก นรกนั้น
ก็เช่นกัน อยู่ที่ใจ ใครเจ้าของ
หากรู้คืด รู้ทำ ตามครรลอง
ความหม่นหมอง ต่างต่าง จะห่างไกล
เกิดเป็นคน ค้นให้ทั่ว ตัวเรานี่
ข้อใดที่ บกพร่อง ต้องแก้ไข
แก้ที่ตัว เองก่อน ขอดค่อนใคร
ที่เคยเย้า หยอกไป ใช่เกลียดชัง
โดยคุณ : รจนา [พ. 12 เม.ย. 2543 - 23:21:26 น.]

ความคิดเห็น : ชอบจังค่ะ คุณโก๋นี่มีความคิดสร้างสรรค์ดีมากนะคะ
โดยคุณ : jitty12 [พ. 19 เม.ย. 2543 - 16:27:50 น.]

 

รื่นเริงธรรมะ ตอน ๕ ฆราวาสธรรม ๔
รายละเอียด : ฆราวาสธรรม ๔ หลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์
หลักธรรมสำหรับการครองชีวิตของผู้ครองเรือนที่จะประสบ
ความสุขสมบูรณ์ จะต้องประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ คือ
๑ สัจจะ คือ ความจริง ตั้งมั่นในสัจจะ มีความซ์อตรง ซื่อสัตย์
จริงใจ พูดจริง ทำจริงให้เป็นที่เชื่อถือไว้วางใจได้
๒ ทมะ คือ การฝึกตน การฝึกฝน การข่มใจ ฝึกนิสัย ควบคุม
จิตใจ รู้จักปรับตัว แก้ไขข้อบกพร่อง และปรับปรุงตนให้เจริญ
ก้าวหน้าดีงามอยู่เสมอ
๓ ขันติ คือ ความอดทน มุ่งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยัน
หมั่นเพียร เข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย มั่นคงในจุดหมาย
๔ จาคุ คือ ความเสียสละ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูล บำเพ็ญ
ประโยชน์ต่อส่วนรวม สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตน
ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็น และความต้องการ
ของผู้อื่น พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ไม่คับแคบเห็นแก่ประโยชน์ตน
หรือเอาแต่ใจตัวเอง
ธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ จะสร้างความสัมพันธ์อันดีงาม อบอุ่นเป็นสุข
ภายในครอบครัวและผู้ใกล้ชิด และเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลาย
เจริญงอกงามด้วยศรัทธา ศีล สุต จาคะ และปัญญา
(อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ๒๒/๔๐/๔๗)
จากหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:21:06 น.]

ความคิดเห็น : สัจจะ....นะซื่อแท้................ทางตรง
ทมะ.....ข่มใจลง................ .ปรับแก้
ขันติ.....อดทนคง.................เพียรหมั่น
จาคะ.....สละแปล้................จิตเอื้อเจือจาน.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 10:27:27 น.]

ความคิดเห็น : สัจจะ ความจริง ดั่งนิ่งเงียบ
ใจเย็นเฉียบตงฉิน ไม่ผินผัน
พูดจริง ทำจริงสิ่งผูกพัน
ฝึกฝนกันตรองจิตคิดทำดี
ขันติ มาดมั่นบั่นทนฝืน
สุดกล้ำกลืนยักย้ายให้หายหนี
มุ่งสละมีน้ำใจให้อารี
ครองชีวีบนทางว่าฆาราวาสธรรม
โดยคุณ : กุหลาบฯ [พ. 19 เม.ย. 2543 - 13:37:34 น.]

ความคิดเห็น : สัจธรรมใช่เพียงเสียงเอ่ยขาน
รู้หลีกการรู้สติวินิฉัย
ควรจดจำถ้อยคำที่กล่าวไว้
รวมทั้งใจเมตตาเอื้ออารี
คนพูดจริงตามปากหายากยิ่ง
คนดีจริงถูกฆ่าตายกลายเป็นผี
ขอเลือ้กเดินสายกลางทางที่ดี
สิ้นชีวีวันใดไม่อาวรณ์

โดยคุณ : รจนา [พ. 19 เม.ย. 2543 - 18:17:45 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๖ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม ๔
รายละเอียด : คนรู้จักหาทรัพย์ รู้จักใช้ทรัพย์ ตั้งตัวสร้างหลักฐานได้เพราะปฏิบัติ
ตามหลักธรรม ๔ ประการนี้ คือ
๑ ถึงพร้อมด้วยความหมั่น คือขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่การงาน
ฝึกฝนให้มีความชำนาญและรู้จริง รู้จักใช้ปัญญาสอดส่อง ตรวจตรา
หาวิธีการที่จะจัดการและดำเนินการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
๒ ถึงพร้อมด้วยการรักษา คือรู้จักคุ้มครอง เก็บรักษาโภคทรัพย์ และ
ผลงาน ที่ตนได้ทำไว้ด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยชอบธรรม ไม่ให้เป็น
อันตรายหรือเสื่อมเสีย
๓ คบหาคนดีเป็นมิตร คือรู้จักคบหาสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้ทรงคุณธรรม
ผู้มีความสามารถ ผู้น่าเคารพนับถือ และมีคุณสมบัติเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน
๔ เลี้ยงชีวิตแต่พอดี คือรู้จักคำณวนรายได้และรายจ่ายให้พอดี มิให้ฝืดเคือง
หรือฟุ่มเฟือย ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ดังในสิงคาลกสูตร
พระพุทธองค์ตรัสสอนสิงคลกบุตรว่า "ครั้นสะสมโภคทรัพย์แล้ว พึงแบ่ง
โภคสมบัติออกเป็น ๔ ส่วน
พึงใช้สอยส่วน ๑
พึงประกอบการงานส่วน ๑
พึงเก็บไว้บำเพ็ญกุศลบริจาคทานแก่ ภิกษุ คนกำพร้า หรือคนเดินทางเป็นต้นส่วน ๑
อีกส่วนหนึ่งพึงเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นหรือมีอันตราย"
(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ๒๓/๑๔๔/๒๘๙)
จากหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:25:04 น.]

ความคิดเห็น : ภาพตรงที่มีแสง เป็นอะไรครับ ดูไม่ออก
โดยคุณ : คนอยากรู้ [พ. 19 เม.ย. 2543 - 01:00:19 น.]

ความคิดเห็น : ไม่มีอะไรขอรับ เป็นการสื่อทางภาษาภาพ
ให้เห็นว่าแม้เพียงขอนไม้ ถ้ามองให้ลึก
ก็จะได้เห็นความจริง อันเป็นสัจธรรมของ
สรรพสิ่ง กล่าวคือ ในรูปนามนั้น หากมอง
ให้ถ้วนถี่ พิจารณาก็จะได้ธรรมะโน้มนำ
เข้ามาสู่จิตใจ กลายเป็นปัญญา ที่ให้เห็น
ทางไปสู่ การพ้นทุกข์ จากกองสังขารต่าง ๆ ได้...
มีเพียงแค่นั้นจริง ๆ ขอรับ
กราบขออภัยที่ใช้เทคนิคเลนส์แฟร็ชตรงนั้น...
ขอบพระคุณที่ติดตามและถามไถ่กันมา
มีความสุขมาก ๆ ขอรับ
โดยคุณ : โก๋ 2000 ปี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 09:05:28 น.]

ความคิดเห็น : ขยันมีหมั่นพร้อม...........เพียงพอ
รักษ์ทรัพย์สรรหาหนอ.....เก็บไว้
มิตรดีคบเคียงคลอ.........คงมั่น ธรรมนา
เลี้ยงชีพพอดีใช้..............ช่วยเอื้อเอมใจ.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 10:41:01 น.]

ความคิดเห็น : ทำมาหากินนะลูก
ผิดถูกทบทวนถ้วนถี่
ใช่จ่ายแต่น้อยเงินมี
ช่วยเหลือคนที่ขาดแคลน
คำที่พ่อ-แม่สอนสั่ง
เป็นพลังค่าล้นหลายแสน
ขึ้นเหนือลงใต้ไกลแดน
แบบแผนชีวิตคิดตรอง
โดยคุณ : รจนา [พ. 19 เม.ย. 2543 - 18:28:59 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๗ จักร ๔
รายละเอียด : ชีวิตก้าวหน้า-ประสบความสำเร็จ
หลักธรรมที่จะนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ท่าเรียกว่า "จักร"
คือธรรมประดุจล้อทั้งสี่ ที่นำรถไปสู่จุดหมาย มี ๔ ประการ คือ
๑ เลือกอยู่ในถิ่นที่เหมาะ เลือกหาถิ่นที่อยู่ หรือ แหล่งเล่าเรียน
ซึ่งมีบุคคลและสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งอำนวยแก่การศึกษาพัฒนาชีวิตที่จะ
สร้างสรรค์ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้าทั้งในทางโลกและทางธรรม
๒ เลือกคบคนดี รู้จักคบหาสมาคมกับบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้
ความสามารถ และกัลยาณมิตรผู้ที่จะเกื้อกูลแก่การแสวงหาความรู้
ความงอกงามและความเจริญโดยธรรม
๓ ตั้งตนไว้ถูกวิถีทาง ดำรงตนมั่นอยู่ในธรรมและทางดำเนินชีวิต
ที่ถูกต้อง ตั้งเป้าหมายชีวิตและการงานให้ดีงาม แน่ชัด และนำตน
ไปสู่จุดหมายให้ถูกทางแน่วแน่มั่นคง ไม่ไถลเชือนแช
๔ เคยสั่งสมบุญมาก่อน อันเป็นทุนดีส่วนหนึ่ง คือความมีสติ ปัญญา
ความถนัด และสุขภาพร่างกายที่ดี เป็นต้น ที่เป็นพื้นมาแต่เดิมจากอดีต
และอีกส่วนหนึ่งคือ ในปัจจุบันรู้จักแก้ไขปรับปรุงตน ขวนขวายศึกษา
หาความรู้ สร้างเสริมคุณสมบัติความดีงาม สร้างสรรค์ ประโยชน์สุข
พร้อมที่จะก้าวไปสู่ความเจริญความสำเร็จได้ในที่สุด
(อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาติ ๒๑/๓๑/๔๑)
หนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก

...ผู้ใดก็ตามที่มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นสรณะ
มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะ
คือรู้จักพึ่งตนเอง ไม่มัวแต่หวังพึ่งสิ่งอื่น
ผู้นั้นจักเป็นผู้ประเสริฐสุด...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:29:16 น.]

ความคิดเห็น : ถิ่นดีมีเหมาะแท้............โลกธรรม
คบเพื่อนเตือนทางนำ......ถูกต้อง
คงตนมั่นมีกรรม............กอปรก่อ...กุศลนา
บุญสั่งสมก่อนพ้อง..........จักรนี้นำเจริญ.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 10:46:39 น.]

ความคิดเห็น : เกิดเป็นคนพึ่งตนตัวเองได้
จะสุขใจยิ่งนักสมศักดิ์ศรี
ช่วยผู้อื่นได้บ้างค่อนข้างดี
ก่อไม่ไตรีสืบสานงานส่วนรวม
โดยคุณ : รจนา [พ. 19 เม.ย. 2543 - 18:34:48 น.]

 

รื่นเริงธรรม ๘ ความสุขของคฤหัสถ์ ๔
รายละเอียด : ความสุขของชีวิตครองเรือนที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
๑ สุขเกิดจากความมีทรัพย์ มีความภูมิใจในโภคทรัพย์ที่หามาได้ด้วย
น้ำพักน้ำแรง และจากความขยันหมั่นเพียรของตน ด้วยความบริสุทธิ์
ชอบธรรม
๒ สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ มีความภูมิใจต่อการใช้จ่ายทรัพย์ที่ได้มา
โดยชอบนั้น เลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงผู้ที่ควรดูแลเลี้ยงดู และ
บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อส่วนรวม
๓ สุขเกิดจากความไม่เป็นหนี้ มีความภูมิใจว่าตนเป็นไท เป็นอิสระ ไม่มี
หนี้สินผูกพันติดค้างต่อผู้ใด
๔ สุขเกิดจากความประพฤติที่ไม่มีโทษ มีความภูมิใจว่าตนมีความประพฤติ
สุจริตทั้งกาย วาจา และใจ ไม่มีข้อบกพร่องเสียหาย ใครติเตียนไม่ได้
ทั้งทางโลก และทางธรรม
อนึ่ง บุคคลที่ประสบความสุขสำเร็จในการครองเรือน จะเป็นคฤหัสถ์
หรือชาวบ้านก็ดี น่าเคารพนับถือเป็นแบบฉบับ ที่ควรถือเป็นตัวอย่างนั้น
จะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้มาแล้วเลี้ยงตนและ
ครอบครัวให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์ที่หามาได้นั้น อย่างมี
สติสัมปชัญญะ โดยรู้เท่าทันเห็นคุณเห็นโทษ ทางดีทางเสีย มีปัญญาทำตน
ให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์
(อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ๒/๖๒/๙๑)
จากหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก

...ความเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ...
เมื่อบุคคลรู้จักธรรมอันเลิศ
เลื่อมใสแล้วโดยความเป็นของเลิศ
เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลอันเยี่ยมยอด
เลื่อมใสแล้วในพระธรรมอันเลิศ ซึ่งเป็นธรรมปราศจากราคะ สุขสงบ
เลื่อมใสแล้วในพระสงฆ์อันเลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอด
ถวายทานให้ท่านผู้เลิศนั้น บุญที่เลิศย่อมเจริญ
อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขะ พละที่เลิศย่อมเจริญ
ผู้มีปัญญาตั้งมั่นในธรรมอันเลิศแล้ว
ให้ทานแก่ท่านผู้เป็นบุญเขตอันเลิศ
จะไปเกิดเป็นเทพยดา หรือเกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม
ย่อมถึงความเป็นผู้เลิศบันเทิงอยู่ ดังนี้แล...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:33:04 น.]

ความคิดเห็น : มีทรัพย์บริสุทธิ์แท้..............ชอบธรรม
จ่ายทรัพย์นับน้อมนำ..........แผ่เอื้อ
หนี้ใครหมดงดทำ..............ไทมั่น
ประพฤติธรรมนำเกื้อ.........แผ่กว้างวางใจ.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 10:58:22 น.]

ความคิดเห็น : ***ความสุขของคฤหัสถ์***
สี่ประการประสานยิ่งมีสิ่งทรัพย์
สุขจ่ายนับนำไปอย่าให้หมด
ควรพอดีอไม่มีเรื่องรันทด
สร้างเกณฑ์กฏอย่าก่อหนี้ชี้โศกตรม
ประพฤติดีชี้ทางสว่างสุข
คลาดแคล้วทุกข์พบดีมีสุขสม
พบสีขาวพราวแพรวแล้วอารมณ์
หวังชื่นชมผลเลิศประเสริฐพร
โดยคุณ : กุหลาบเวียงพิงค์ [พ. 19 เม.ย. 2543 - 11:38:08 น.]

ความคิดเห็น : มีบ้าน เรือนเป็นที่อยู่อาศัย
มีเสื้อผ้าสวมใส่ไม่อายเขา
มียาแก้-ยากันพอบรรเทา
มีตัวเราเร่งรัดตัดอัตตา
โดยคุณ : รจนา [พ. 19 เม.ย. 2543 - 19:02:17 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๙ พรหมวิหาร ๔
รายละเอียด : หลักธรรมประจำใจอันประเสริฐ
พรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของผุ้มีจิตใจประเสริฐ ดุจพระพรหม
เป็นธรรมที่สร้างสรรค์ให้สังคมมีสันติสุข ได้แก่
๑ เมตตา ความรักความปรารถนาดี คิดทำประโยชยน์สุข ให้แก่
มนุษย์และสัตว์ทั่วหน้า อย่างสม่ำเสมอ
๒ กรุณา ความสงสาร คิดช่วยให้ทุกชีวิตพ้นจากทุกข์ ใฝ่ใจ ในอันที่จะ
ปลดเปลื้องความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์
๓ มุทิตา ความยินดีในเมื่อเห็นผู้อื่นมีความสุข หรือประสบความสำเร็จ
ได้รับชื่อเสียง เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง พลอยยินดีด้วย กับ
ความสุขความเจริญก้าวหน้าของชนทั้งหลาย ด้วยความชื่นชม
๔ อุเบกขา วางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยความรักหรือความชัง
พิจารณาเหตุและผลในกรรฒทั้งหลายที่สัตว์กระทำ หร้อมที่จะช่วยเหลือ
เมื่อเกิดการเพลี่ยงพล้ำ รวมทั้งรู้จักการวางเฉย เมื่อสุดความสามารถที่
จะช่วยเหลือได้
พรหมวิหารมีในผุ้ใด ย่อมทำให้ผู้นั้นมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ
มีวาจาสุภาพประกอบด้วยประโยชน์ ทำให้เกิดไมตรี ความสมาน สามัคคี
และความรักใครนับถือกันในสังคม ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย
ปฏิบัติตนสม่ำเสมอกันในชนทั้งหลาย วางตนเหมาะสมแก่ฐานะ ภาวะ
บุคคล เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้องตามธรรม
(ทีฆนิกาย มหาวรรค ๑๐/๑๘๔/๒๒๕)
จากหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก


...ศรัทธา ในพระตถาคตของผู้ใดตั้งมั่นอย่างดี ไม่หวั่นไหว
ศีลของผู้ใดงดงามเป็นที่สรรเสริฐที่พอใจของพระอริยเจ้า
ความเลื่อมใสของผู้ใดมีในพระสงฆ์ และความเห็นของผู้ใดตรง
บัณฑิตกล่าวเรียกเขาผู้นั้นว่า คนไม่จน ชีวิตของเขาไม่เป็นหมัน
เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่
ผู้มีปัญญาควรเสริมสร้างศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส
และพิจารณาเห็นธรรมให้เนือง ๆ...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:37:33 น.]

ความคิดเห็น : เมตตาคือไมตรี
เพื่อนรักนี้ไร้เขตแดน
เมตตาดีสุดแสน
เจริญเถิดเกิดค่าคุณ
กรุณาพาพ้นทุกข์
สู่ความสุขรุกเกื้อหนุน
กรุณาพาเจือจุน
จากหัวใจไร้แสร้งทำ
มุทิตาพายินดี
ความเปรมปรีดิ์มีกระทำ
สำเร็จเสร็จน้อมนำ
มุทิตาพาชื่นใจ
อุเบกขาหาเหตุผล
กลางกมลไม่เอนไหว
กรรมสัตว์ชัดมีไป
น้อมนึกเห็นเช่นนั้นเอง.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 15:35:20 น.]

ความคิดเห็น : ช่วยคนพ้นทุกข์ยากหากช่วยได้
ช่วยเขาให้พบทางย่างเดินหน
ช่วยด้วยความเมตตาในกมล
ช่วยโดยไม่หวังผลสิ่งตอบแทน
ความกรุณาปราณีมีคู่โลก
ความทุกข์โศกอิงแอบตามแบบแผน
ความไม่รู้ไม่เห็นเป็นเขตแดน
ความโกรธแค้นดับด้วยกรุณา
มุทิตาครารื่นรมย์สมในจิต
มุมความคิดสร้างสรรสิ่งหรรษา
มุ่งมั่นหมายสิ่งใดแล้วได้มา
มุทิตาหลั่งรินความยินดี
อุเบกขาพาใจไม่ขุ่นข้อง
อะไรจะเกิดเกินป้องตรองวิถี
อุบัติแล้ว-อันตธานนับล้านปี
อนุสติชวนชี้ให้ปล่อยวาง


โดยคุณ : รจนา [พ. 19 เม.ย. 2543 - 19:38:01 น.]

 

รื่นเริงธรรม ตอน ๑๐ สัปปุริสธรรม ๗
รายละเอียด : คุณสมบัติของความเป็นคนที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย
๑ รุ้จักเหตุ คือรู้จักหลักความจริง รู้เท่าทันกฎธรรมดา หรือหลัก
ของธรรมชาติ และรู้กฏเกณฑ์แห่งเหตุ
๒ รู้จักผล คือรู้จักผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำ การพูดนั้น ๆ
๓ รู้จักตน คือรู้จักว่าตนอยู่ในฐานะใด ภาวะใด มีความรู้ ความสามารถ
และมีคุณธรรมเพียงไร เป็นต้น
๔ รู้จักประมาณ คือรู้ประมาณในการบริโภค ในการใช้จ่ายทรัพย์
รู้จักความพอเหมาะพอดี ในการพูด การทำกิจการงานต่าง ๆ
ตลอดจนรู้จักประมาณในการพักผ่อน และการสนุกสนานรื่นเริง
๕ รู้จักกาล คือรู้กาลเวลาอันเหมาะสมที่ควรจะทำ ที่ควรจะพูด และ
รู้จักาลที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้อื่นเช่น เวลาไหนควรทำอะไร ทำให้ทัน
เวลา ตรงเวลา ถูกเวลา ตลอดจนกะเวลาวางแผนการ
๖ รุ้จักชุมชน คือรู้การอันควรประพฤติปฏิบัติต่อชุมชนนั้นว่า ชุมชนนี้
มีระเบียบวินัยอย่างนี้ มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างนี้ ควรเกี่ยวข้อง
ควรสงเคราะห์ช่วยเหลือสิ่งเหล่านี้ เป็นตน
๗ รู้จักบุคคล คือรู้ความแตกต่างกันของบุคคล โดยอัธยาศัย
ความสามารถและคุณธรรม ว่าใครยิ่งหย่อนอย่างไร รู้ที่จะปฏิบัติต่อ
บุคคลนั้น ๆ ว่า ควรคบ ควรตำหนิ ควรยกย่อง หรือควรแนะนำสั่งสอน
อย่างไรจึงจะได้ผลดี เป็นต้น
(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ๒๓/๖๕/๑๑๔)
จากหนังสือธรรมนูญชีวิต ของพระธรรมปิฎก


...พระธรรม คือ หลักของความจริงและความดีงาม ที่พระพุทธเจ้า
ทรงค้นพบ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์ แล้วทรงแนะนำสั่งสอน
ชาวโลก ให้เข้าใจในเหตุและผลอย่างถูกต้องตามความจริงนั้น
เพื่อนำไปปฏิบัติ ให้เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ในที่สุด...

จากคุณ : โก๋ 2000 ปี [อ. 18 เม.ย. 2543 - 19:42:35 น.]

ความคิดเห็น : รู้เหตุสังเกตได้
หลักกฎไว้ให้เท่าทัน
ธรรมชาติย่อมแปรผัน
พึงหรือยึดอึดให้คง
รู้ผลจากเหตุก่อ
ดีร้ายพอต่อประสงค์
กรรมนั้นสำคัญคง
ควรสร้างใดใฝ่พิจารณา
รู้ตนหนแห่งใด
เหมาะสมไว้ใคร่ครวญหา
สามารถอย่างไรนา
ควรสำนึกฝึกตามเป็น
ประมาณการรู้จัก
ใช้จ่ายนักพักผ่อนเย็น
การงานสานบำเพ็ญ
พูดใดดีมีรู้ควร
กาลดีมีรู้จัก
สมค่านักจักดีล้วน
ถูกตรงคงกระบวน
กาลเวลาค่าสำคัญ
ชุมชนคนรู้จัก
แม้ทายทักนักจำมั่น
สงเคราะเหมาะมีกัน
ประเพณีมีต่างไป
บุคคลรู้เกี่ยวข้อง
ตามทำนองต้องโยงใย
ควรรู้อัธยาศัย
ธรรมมีต่างวางตนควร.
โดยคุณ : ดอกสารภี [พ. 19 เม.ย. 2543 - 15:52:54 น.]

ความคิดเห็น : ค้นหาซึ่งสาเหตุ
ตัดกิเลสลดอัตตา
ปล่อยวางสิ่งค้างคา
ด้วยศรัทธาปัญญานำ
..เหตุผลยลพินิจ
ตรองถูก-ผิดคิดค้นคำ
พิจารณาซ้ำ
เกิดแต่กรรมนำสนอง
..รู้ตัวตนแน่ชัด
รู้จักปัดฝุ่นละออง
รู้จิตคิดไตร่ตรอง
รู้จักกรองกลั่นอารมณ์
..รู้จักพูดในสิ่ง
รู้จักนิ่งเหมาะสม
รู้จักใช้คำคม
รู้ปุ่มปมของตนดี
..ประมาณการต่างต่าง
ประมาณทางหว่างวิถี
ดินดานระหารมี
ทั้งโขดเขาลำเนาไพร
..ชุมชนคนแออัด
สารพัดความเป็นไป
ต่างคิด-ต่างจิตใจ
ต่างกันในกฏแห่งกรรม

โดยคุณ : รจนา [พฤ. 20 เม.ย. 2543 - 06:41:06 น.]

ความคิดเห็น : สาธุ!! มีความสุขที่สุด
เข้ามาในนี้ มีความสุขจริงๆ
ไม่ทราบจะบรรยายได้อย่างไร

เห็นแสงธรรมฉ่ำชุ่มไม่ลุ่มหลง
ส่องมาตรงหัวใจไม่ว้าวุ่น
เย็นยะเยือกเลือกเฟ้นว่าเป็นบุญ
แสนอบอุ่นด้วยพระธรรมมาย้ำเตือน
โดยคุณ : กุหลาบเวียงพิงค์ [พฤ. 20 เม.ย. 2543 - 13:37:11 น.]