> DIPTERIDACEAE > Dipteris || Back

สกุล Dipteris Reinwardt เฟินบัวแฉก
วงศ์ DIPTERIDACEAE

จากหนังสือ UNSEEN IN THAILAND มุมมองใหม่เมืองไทย โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน้า "ป่าเฟิร์นโบราณ" กล่าวถึงอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ. นครศรีธรรมราชตอนหนึ่งว่า "ลึกเร้นท้าทายให้นักผจญภัยไปค้นหา นี่คือป่าดิบเชาหลวง ที่จัดได้ว่า สมบูรณ์ที่สุดแห่งภาคใต้ เขียวขจีดุจดั่งมรกตอันหลากหลายไปด้วยพืชพันธุ์และสัตวป่า ใครจะเชื่อว่า เหนือขึ้นไปบนยอดเขาหลวง นี่คือ อาณาจักรเฟิร์นโบราณ ซึ่งดำรงสายพันธุ์มากว่า 400 ล้านปี"


Dipteris conjugata
ภาพจาหนังสือ UNSEEN IN THAILAND
มุมมองใหม่เมืองไทย
โดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย www.tat.or.th

และอีกตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ที่มีกล่าวถึงเฟินบัวแฉกด้วยว่า "เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดผืนหนึ่งบนเทือกเขานครศรีธรรมราช ยอดเขาหลวงความสูง 1,835 เมตรนั้น เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาพคใต้ ซึ่งสำรวจพบพรรณไม้หายากมากมาย เช่น เฟิร์นบัวแฉก และเฟิร์นมหาสดำ ฯลฯ ผืนป่าดิบอันอุดมสมบูรณ์ของเขาหลวง เป็นต้นกำเนิดสายน้ำและน้ำตกที่น่าท่องเที่ยวหลายแห่ง....."

เฟินในสกุลบัวแฉกนี้ มีมาตั้งแต่ยุค Mesozoic ในช่วงระหว่างสมัย Triassic ถึงสมัย Jurassic ซึ่งทราบได้จากการค้นพบซากฟอสซิลของบัวแฉก ในช่วงนั้นยังไม่มีพืชมีดอกเกิดขึ้นเลย จากซากฟอสซิลที่มีเส้นใยใบเป็นเหมือนร่างแหตาข่าย ในยุคนั้น ยังไม่มีพืชชนิดใดที่มีใบมีเส้นใยร่างแหแบบนี้เลย
และจากค้นพบซากฟอสซิลจำนวนมากในชั้นหินในเหมืองแร่หลายแห่งในญี่ปุ่น พบว่าเฟินในสกุลนี้มากกว่า 8 ชนิด จนกระทั่งปัจจุบันเหลือพบได้เพียงที่ Okinawa ทำให้ทราบว่า พื้นที่เหมืองเหล่านั้นในอดีตเคยมีอากาศอบอุ่นมาก่อน

ลักษณะทั่วไปของเฟินในสกุลนี้ เป็นเฟินดิน ขนาดกลางถึงใหญ่ ลำต้นเป็นเหง้าอ้วนฝังตัวอยู่ในดิน เลื้อยไกล แข็งเป็นเนื้อไม้ ปกคลุมแน่นด้วยขนหยาบ สีดำ ขนประกอบด้วยเซลล์หลายเซลล์ เรียงต่อกันเป็นแถว ลักษณะก้านใบ ก้านใบยาว ไม่มีปมข้อต่อระหว่างโคนก้านกับเหง้า ก้านชูตั้งขึ้น ผิวเเกลี้ยง ด้านหน้าเป็นร่อง ระบบท่อลำเลียงจัดเรียงตัวรูปตัว U โค้งคว่ำลง

ลักษณะใบ แบ่งเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน ก็มี ละแต่ละแผ่นแบ่งเป็นหลายส่วน ไม่เท่ากัน แกนใบหลัก แตกสาขาคู่หลายครั้ง เส้นใบโค้งจรดเข้าหากัน แผ่นใบบางเหมือนแผ่นกระดาษ ปลายใบแฉกลึก แผนใบหนา เกลี้ยง หรืออาจสากคายมือด้วยมีขนที่อยู่ทางด้านล่าง แต่ก็พบบ่อยที่ผิวด้านล่างเกลี้ยง อับสปอร์ เม็ดกลม เล็ก เปลือย จัดเรียงตัวไม่เป็นระเบียบใต้ผิวใบ ปกติมักจะอยู่ที่ปลายย่อยของเส้นใบ ไม่มีเยื่อหุ้มอินดูเซียปิดคลุมอับสปอร์ มีเยื่อ paraphyses คลุม


ใบอ่อนเริ่มคลี่ D. conjugata
[ Image : นายตะเกียงป่า ]


ใบอ่อนแผ่กางใบ โตขึ้นอีกหน่อย
[ Image : นายตะเกียงป่า ]


ใบโตขึ้นเรื่อยๆ อีก
[ Image : นายตะเกียงป่า ]


ตอนนี้ใบที่โตเต็มที่แล้ว
[ Image : นายตะเกียงป่า ]

บัวแฉกในธรรมชาติ พบขึ้นอยู่กับดินค่อนข้างหนียว มีอินทรีย์วัตถุทับถม ตามลาดเนินเขา หรือขอบชายป่าดงดิบ ใบบริเวณที่ได้รับแสงแดดจัดจ้าเต็มวัน ที่ระดับความสูงมากกว่า 1000 ม. ขึ้นไป กระจายพันธุ์อยู่ใน ญี่ปุ่นไต้หวัน เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ โพลีนีเฃียน ออสเตเลีย ในบ้านเรา พบที่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และยะลา

ภาพใบอ่อนของเฟินบัวแฉกเหล่านี้ นายตะเกียงป่าเอื้อเฟื้อส่งมาให้ เป็นภาพที่ถ่ายจาก ยอดเขาพรหมโลก เทือกเขาหลวง นครศรีธรรมราช ที่ความสูง 1,600 ม.

คนญี่ปุ่นเรียก บัวแฉกว่า "Yaburegasa-uraboshi" เป็นชื่อเฉพาะ ที่มีความหมายว่า ร่มแฉก เหตุที่ได้ชื่อนี้ เพราะมันดูเหมือนร่มที่ฉีกแหว่งป็นแฉก ในประเทศญี่ปุ่น มีเฟินสกุลนี้เพียงชนิดเดียว สามารถพบได้ที่ Ishigaki และ Iriomote ในหมู่เกาะ Okinawa จากการขุดค้นพบซากฟอสซิล จำนวนมากในชั้นหินในเหมืองแร่หลายแห่งในญี่ปุ่น ได้พบฟอสซิลใบไม้ที่มีเส้นใยใบเป็นเหมือนร่างแหตาข่าย ซึ่งในยุคนั้น นอกจากบัวแฉกแล้ว ไม่มีพืชชนิดใดที่ใบมีเส้นใยร่างแหแบบนี้เลย และจากค้นพบซากฟอสซิล พบว่าเฟินโบราณในสกุลนี้มากกว่า 8 ชนิด ทำให้ทราบว่า พื้นที่เหมืองเหล่านั้นในอดีตเคยมีอากาศอบอุ่นมาก่อน

หลายแห่งจัดให้เฟินโบราณนี้อยู่รวมในสกุลเดียวกับพวก Polypodioid ทั้งๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุล Matonia (เฟินบัวรัศมี) แต่ลักษณะของเหง้าและโครงสร้างใบที่แตกสาขาเป็นคู่ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของ Polypodiaceae จึงทำให้การจัดจำพวกยังไม่แยกออกมาอย่างเด่นชัด
เฟินสกุลนี้ มี 8 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ใน NE India ไปถึงหมู่เกาะโพลีนีเซีย

เฟินในสกุลนี้ มี 8 ชนิด ได้แก่

  • Dipteris chinensis Christ
  • Dipteris conjugata Reinw
    ใบเป็นแฉกมากกว่า 1 ครั้ง ปลายแฉกแหลม สัดส่วนแฉกยาวมากกว่ากว้าง เส้นใบแตกสาขาเป็นกิ่งคู่ อับสปอร์กระจายอยู่ทั่วไปใต้แผ่นใบ
  • Dipteris lobbiana (Hook.) Moore
    แผ่นใบแฉกลึก แต่ละแฉกมีเส้นแกนใบมีเพียงเส้นเดียว อับสปอร์จัดเรียงตัวเป็นแถวเดียวอยู่ข้างเส้นแกนใบ
  • Dipteris novoguineensis Posthumus
    ใบเป็นแฉกติ้น ข้าง 2-3 แฉก กว้างมากกว่ายาว ปลายแฉกมนกลม เส้นใบแตกสาขาเป็นกิ่งคู่ อับสปอร์กระจายอยู่ทั่วไปใต้แผ่นใบ
    Ultimate lobes broadly rounded, wider than long, each half of the frond unlobed or with 2-3 broad shallow lobes D. novoguineensis
  • Dipteris papilioniformis Kjellberg
  • Dipteris quinquefurcata (Bak.) Christ
  • Dipteris wallichii (R. Br.) Moore

สำหรับในไทย Peninsular Thailand พบมีชนิดเดียว คือ D. conjugata

สำหรับการนำมาปลูกเลี้ยงเป็นไม้ประดับ คงทำได้ยากสำหรับพื้นราบในเมือง เนื่องจากเป็นเฟินที่มาจากป่าดงดิบ บนภูเขาสูง ต้องการความชื้นสูงและแสงแดดจัดจ้าตลอดวัน แต่หากเพาะต้นจากสปอร์ อาจมีโอกาสได้ต้นที่ปรับตัวกับสภาพแวดล้อมได้ แต่ยังไม่ได้ยินข่าวว่า มีใครสามารถเพาะได้สำเร็จ ในอนาคตหากมี จะนำมานำเสนอให้ได้ชมกันในโอกาสต่อไป

> DIPTERIDACEAE > Dipteris || Back