> DAVALLIACEAE > Davallia || Back
สกุล Davallia (dah-val' lee-ah) สกุลเฟินนาคราช
วงศ์ DAVALLIACEAE

เฟินวงศ์นี้มีชื่อสามัญเรียกว่า Foot Ferns, Rabbitsfoot, Hairsfoot, Lacy hairsfoot, Giant hairsfoot and Australian hairsfoot. ซึ่งเรียกตามลักษณะของเกล็ด หรือขนที่เหง้านั่นเอง ส่วนในบ้านเรา เรียกเฟินในสกุลนี้ว่า เฟินนาคราช ตามลักษณะของเหง้าที่เป็นเถาเลื้อย


เฟินนาคราช [ Image : Blue Jay ]

เฟินนาคราช เป็นเฟินที่มีเหง้าเลื้อยไปได้ไกล ทั้งบนพื้นดิน โขดหิน และบนต้นไม้ มักอยู่รวมกับพวกมอส หรือบนเศษซากใบไม้กิ่งไม้ หรือบนพื้นทรายที่มีอินทรีย์วัตถุมาก มักพบอยู่ใกล้บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง ได้รับแสงแดดบ้างบางชั่วโมงในแต่ละวัน เป็นเฟินที่ใบสวยงาม เพิ่มลวดลายประดับป่าธรรมชาติให้ดูสวยงาม

เหง้าของนาคราช บางครั้งพบยึดเกาะติดกับต้นไม้ หรือหินที่มันเกาะอยู่อย่างแน่นหนา ด้วยระบบรากที่ออกจากเหง้าของมัน และบางครั้งจะเห็นยอดเหง้าชูขึ้นไปในอากาศ เหง้าของนาคราชปกคลุมด้วยเกล็ด หรือขนจำนวนมาก ทำให้มองดูคล้ายเท้าของสัตว์ ส่วนก้านใบ เป็นก้านผอมยาวสีเขียว โคนก้านสีดำ ไม่มีขน ใบมีทั้งชนิดหยาบ และละเอียด รูปทรงใบเป็นสามเหลี่ยม หนาคล้ายหนัง ส่วนใหญ่ใบมีสีเขียว เป็นมัน แถวของอับสปอร์ เกิดบนเส้นใบใกล้ขอบใบย่อย อับสปอร์มีรูปร่างเป็นถ้วยกลม ทีเยื่ออินดูเซียติดที่ส่วนโคนและด้านข้าง

เฟินสกุลนี้มีจำนวนราว 40 ชนิด พบทั้งในป่าเขตร้อน ไปจนถึงป่าเขตหนาว กระจายพันธุ์อยู่ใน เอเซีย อาฟริกา ออสเตเรีย โพลีนีเซีย และ ยุโรปฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ โดยมากมักพบอยู่ตามชายป่าเขตฝน ที่ใกล้ลำธาร บางชนิดเจริญเติบดตตลอดทั้งปี และมีบางชนิดพักตัวในช่วงหน้าแล้ง บางชนิดพักตัวทิ้งใบหลุดร่วงจนหมด แต่บางชนิดเติบโตอย่างช้า ๆ

เฟินนาคราช นอกจากจะมีคุณค่าในแง่ของไม้ปลูกประดับแล้ว ยังสามารถทำเป็นไม้ตัดใบ นำมาประดับทั้งใบสด และใบแห้ง หากไปที่ตลาดดอกไม้แถวปากคลองตลาด เราจะเห็นมีใบของเฟินนาคราชมาวางจำหน่ายด้วย

 

ตัวอย่างชนิดเฟินในสกุลนี้ ได้แก่
Davallia corniculata Moor
ชื่ออื่น : นาคราชเขาหลวง

มีเหง้ายาว มีเกล็ดหรือขน ผิวมันเรียบ สีน้ำตาล ถึง น้ำตาลปนแดง  ก้านใบสีน้ำตาล ยาวได้ถึง 20 ซ.ม. ตัวใบรูปสามเหลี่ยมแคบ ยาว 30 ซ.ม. กว้าง 15 ซ.ม. สีเขียวอ่อน ค่อนข้างเรียบเป็นมัน แถวของอับสปอร์เกิดที่ขอบใบ มีขนาดเล็ก
พบเฉพาะบนเขาสูงระดับ 1,000 เมตรขึ้นไป เช่นที่ เขาหลวง นครศรีธรรมราช กระจายพันธุ์ตั้งแต่ มาเลเซีย สุมาตรา ชวา


Davallia denticulata
[ Image : Kitti ]

Davallia  denticulata  (Burm. f.) Mett. ex Kuhn
ชื่ออื่น : นาคราชใบละเอียด

มีเหง้ายาว มีเกล็ดคลุม สีน้ำตาล ถึงน้ำตาลเข้ม ก้านใบสีน้ำตาล ยาวได้ถึง 40 ซ.ม. ตัวใบรูปสามเหลี่ยม ขนาด 60 x 50 ซ.ม. ใบสีเขียวสดเป็นมันเห็นเส้นใยด้านล่าง แถวของอับสปอร์เกิดที่สุดปลายขอบของพูใบ
พบทั่วไปบนผาหิน หรือตามคาคบไม้ในระดับต่ำกว่า 200 ม. ทั่วแทบทุกภาคของไทย  ยกเว้นภาคเหนือ และยังกระจายพันธุ์ในเขตร้อน เช่น ชวา มาดากัสการ์ โพลีนีเซีย ออสเตเรีย จีนตอนใต้

Davallia divaracata Blume
อาศัยอยู่บนต้นไม้ ้หรือหน้าผาหิน ที่มีอินทรีย์วัตถุสูง มีร่มเงาเล็กน้อย มีเหง้ายาว มีเกล็ดปกคลุม สีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อน  ก้านใบยาวถึง 50 ซ.ม. ตัวใบขนาด 80x65 ซ.ม.  ไม่มีเส้นใบย่อยปลอมที่ใต้ใบ  แถวของอับสปอร์มีขนาดเล็ก เกิดที่ขอบพูใบ
พบทั่วทุกภาคของไทย และในพม่า ไต้หวันและจีนตอนใต้

Davallia petelotii Tardieu & C. Chr.
ชื่ออื่น : นาคราชทุ่งแสลงหลวง
หาได้ยาก พบเฉพาะที่ ทุ่งแสลงหลวง พิษณุโลก พบที่ริมตลิ่ง ที่ระดับความสูง 450 ม. MSL เหง้ายาวเลื้อยไปตามดิน ใบขนาด 25x20 ซ.ม. ใบสปอร์จะใหญ่กว่าใบปกติ  ใบเป็นมัน


Davallia solida
fertile fronds & sterlie fronds


fertiel frond - ใบสปอร์ของ D. solida ผอมเรียวกว่า sterile frond ใบปกติ

Davallia  solida
(so-li-dah')
ชื่อสามัญ : Giant Hare's-Foot, Polynesian Foot Fern
ชื่ออื่น :  พญานาคราช  ว่านนาคราช  เนระพูสี นาคราชใบหยาบ

ลักษณะทั่วไปของเฟินพญานาคราช มีเหง้าเป็นไหลเลื้อย เป็นเส้นขนาด 1-1.5 ซ.ม.  มีเกล็ดสีน้ำตาลถึงดำ  ปกคลุมเต็มไปหมด มองดูเป็นมันเลื่อม ปลายเหง้า มีขนสีเทาเงิน ถึงน้ำตาลปกคลุม  ก้านใบยาวได้ถึง 15-50 ซ.ม. ตัวใบขนาด 30x40 ซ.ม.  รูปสามเหลี่ยม  ใบสปอร์จะมีลักษณะเป็นใบละเอียดกว่าใบปกติ ดูในภาพประกอบ อับสปอร์เกิดที่ปลายเส้นใบย่อยที่ขอบใบย่อย

เฟินพญานาคราช เจริญเติบโตตลอดปี ไม่พักตัว สามารถเจริญเติบโตบนพื้นทราย หรือพันอยู่ตามคาคบไม้ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่โพลีนีเซีย มาเลเซียและไทย พบมากทางภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยมากมักพบตามพื้นทราย ปนใบไม้ผุ บริเวณป่าเสม็ด และยังพบได้บนคาบไม้และบนโขดหินในป่าดิบระดับ 300-500 ม. MSL.
เฟินนาคราชชนิดนี้ นิยมใช้ใบสำหรับประดับแจกันและทำใบไม้แห้ง เป็นชนิดที่นิยมมากที่สุด นอกจากนี้ ใบและเหง้าของเฟินนาคราชชนิดนี้ เป็นส่วนผสมของยาในตำรับพื้นบ้านของหลายๆ ประเทศอีกด้วย

D.  trichomanoides Blume
(trii-co-ma-noy' dees)
ชื่อสามัญ : Squirrel Foot Fern

ชนิดนี้ พักตัวในหน้าแล้ง พบมากตามคาคบไม้ ในป่าดิบเขา ที่ระดับความสูง 800-2000 ม. MSL. มีถิ่นกำเนิดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะเป็น เหง้ามีขนาดเล็ก มีขนยาวสีน้ำตาลแดง ปกคลุม  ใบรูปสามเหลี่ยม ยาวและกว้าง 18x35 ซ.ม. ใบละเอียด สีเขียวสด เป็นมัน ด้านล่างของใบสีจางกว่า ไม่ค่อยเห็นสเ้นใบ มี 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ trichomanoides กับอีกพันธุ์ lorainii


เฟินนาคราช Davallia trichomanoides var trichomanoides [ Image : Moo]
Davallia trichomanoides var trichomanoides
ชื้อพ้อง : Davallia bullata, Davallia canariensis
ชื่อสามัญ :  Ball Fern

ขนของเหง้าค่อยๆ เรียวจากโคนถึงปลาย สีของขนบนเหง้าไม่สม่ำเสมอ แตกต่างกันมาก  ใบใหม่เป็นสีส้มแดง
ในไทย พบทางภาคเหนือ ที่เชียงราย เชียงใหม่ ภาคตะวันออก ที่นครนายก ปราจีนบุรี และภาคใต้ นครศรีธรรมราช ตามภูเขาสูงระดับ 1000 ม. MSL. ขึ้นไป  นอกจากนี้ยังพบที่ ศรีลังกา อินเดีย เนปาล (เทือกเขาหิมาลัย) มาเลเซีย อินโดนีเซีย เหมาะปลูก และยังพบที่ เขาเขียว อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ด้านปราจีนบุรี

Davallia trichomanoides var lorainii

สีและความดกขนของเหง้าสม่ำเสมอ ปลายขนมีลักษณะเป็นหางยาว สีดำคล้ำในเหง้าแก่  การเกิดพูใบเป็นแบบตื้นๆ กระจายพันธุ์กว้างขวาง พบตามดอยสูง ๆ เช่น ดอยตุง เชียงราย ดอยสุเทพ เชียงใหม่ ภูเมี่ยง พิษณุโลก  เขาใหญ่ นครนายก เขาขะเมา ระยอง เขาหลวง นครศรีธรรมราช  พบตามลำต้นไม้ที่มีมอสขึ้นอยู่ร่วมด้วย ในระดับ 800-1000 ม. MSL

Davallia fejeensis Hook.
(fee-gee-en' siss)
ชื่อสามัญ : Rabbit's Foot Fern
ชื่ออื่น : นาคราชฟิจิ

ถิ่นกำเนิดมาจาก ฟิจิ เป็นเฟินที่เจริญเติบโตทั้งปี ไม่พักตัว เหง้าปกคลุมด้วยขนยาวอ่อนนุ่ม ขนาดของเหง้าใหญ่ประมาณ 1.6 ซม. ขึ้นอยู่กับอายุต้นและความสมบูรณ์ ใบของนาคราชฟิจิ ใบย่อยมีขนาดเล็ก เป็นฝอย ดูอ่อนนุ่มสวยงาม  เป็นนาคราชที่คนนิยมปลูกมากที่สุดก็ว่าได้ และนิยมใช้ใบการนำมาประดับแจกันด้วยเช่นกัน


Davallia fejeensis [ Image : Bank ]


เฟินนาคราชฟิจิ Davallia fejeensis [ Image : Mr. Zup]


ใบของนาคราชฟิจิ เป็นฝอยละเอียดสวยงาม
คลิกที่ภาพ ไปดูภาพใหญ่เต็มตา


Davallia fejeensis var.  plumosa
ชื่อสามัญ : Rabbit's Foot
ชื่ออื่น : ตีนกระต่าย นาคราชฟิจิใบละเอียด  

เป็นนาคราชฟิจิจากหมู่เกาะทะเลใต้ โพลีนีเซีย  ลักษณะเด่น คือ มีใบละเอียด สวยงาม เหง้าสีเทา มีขนสีเงินเหลือบเทา หุ้มคล้ายไหม  เป็นเฟินที่โตช้า หากเลี้ยงที่ภาคกลาง ไม่สร้างสปอร์  ปัจจุบันขยายพันธุ์โดยการตัดเหง้าเป็นท่อนๆ ให้มีตา  2-3 ตาและชำในวัสดุ

เหง้ามีขนฟู ดูเหมือนขากระต่าย

ใบอ่อนออกมาใหม่ เป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม



Davallia fejeensis var.  plumosa

การปลูกเลี้ยง

ปลูกเลี้ยงในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ได้แสงแดด 50% หรือแสงที่ได้พรางไว้บางส่วน หากต้องการนำมาปลูกเลี้ยงในอาคาร ควรหมั่นพ่นฝอยละอองน้ำให้บ่อย เพื่อให้มีความชื้นมากๆ

ภาชนะปลูก : เหมาะที่จะปลูกเป็นกระถางแขวนได้ดี เพื่อให้สามารถได้รับแสง และอากาศถ่ายเทสะดวก โดยได้ความชื้นที่ระเหยขึ้นมาจากด้านล่าง หรือจะใช้กะบะไม้แขวน ก็ได้ หรือหากจะปลูกเป็นกระถางตั้งก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน โดยเลือกกระถางระบายน้ำได้ดี อย่างกระถางปลูกกล้วยไม้ ที่มีเจาะรูด้านข้าง
นอกจากนี้ ยังเคยเห็นบางคนเอาปลูกลงในไห ปากกว้าง มีเหง้าเลื้อย ยาวห้อยออกมาจากไห ดูสวยงามดี เพราะเสน่ห์ของเฟินนาคราชอยู่ที่เหง้ายาวๆ และมีขนปกคลุม
[feje-3]
เฟินนาคราช ปลูกเลี้ยงในตอไม้เก่า ที่มีโพรงและมีรู ระบายน้ำได้  ดังในภาพบน เมื่อโตจนเหง้าเลื้อยออกมา ที่ปากโพรง ดูสวยงาม  สังเกตุในภาพ เหง้าของนาคราช โตจนเลื้อยออกมาจากปากโพรงไม้
(ภาพไม่ค่อยชัดเท่าใด ขออภัยครับ)
เฟินนาคราชของฟิลิปปินส์


ใบของนาคราชต้นนี้

เฟินนาคราชต้นนี้ ยังไม่ทราบชื่อจริง เจ้าของเขาบอกว่า เอาสปอร์มาจากฟิลิปปินส์
ผมว่า ดูๆ เหมือนของไทยเรา แต่หลายคนบอกไม่เหมือน
ลองพิจารณาดูเอานะครับ เหมือนหรือแตกต่าง

คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพใหญ่กว่า


เครื่องปลูก
เลือกวัสดุที่โปร่งและระบายน้ำได้ดี สามารถเก็บความชื้นได้ดี เช่น รากชายผ้าสีดา มอส หรือพีทมอส แต่หากใช้กาบมะพร้าวสับ ต้องคอยสังเกต เพราะหากปลูกไปนานๆ กาบมะพร้าวเสื่อม จะทำให้อุ้มน้ำได้มากเกินไป ทำให้เหง้าของเฟินเน่าได้

การให้น้ำ
ให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากอากาศแห้งมาก อาจจะต้องเพิ่มเป็น 3-4 ครั้ง โดยรดให้ชุ่มทั่วบริเวณที่ปลูกเลี้ยง จะทำให้มีความชื้นในอากาศ ทำให้เฟินนาคราชสามารถโตได้เร็ว แต่หากในช่วงที่อากาศเย็น ไม่ควรรดน้ำบ่อย เพราะเฟินนาคราชจะพักตัวในหน้าหนาว ควรรดเพียงเพื่อรักษาความชื้นตลอดฤดูเท่านั้น

การขยายพันธุ์
ทำได้ทั้งเพาะสปอร์และชำเหง้า สามารถทำได้ โดยตัดเหง้าเป็นท่อนด้วยมีดคม ให้มีตาใบอย่างน้อย 2-3 ตา และหากมีรากติดไปด้วยยิ่งดี นำไปชำไว้กับดินทราย หรือทรายผสมใบไม้ผุ โดนฝังเหง้าลงประมาณครึ่งหนึ่งของความหนา อย่ากลบเหง้าจนมิด กรณีที่มีใบติดมาด้วย อาจใช้ลวดกดทับพยุงไม่ให้ก้านใบล้ม

ข้อควรระวัง
: ควรระวังอย่าให้น้ำขังแฉะ โดยเฉพาะที่ยอดเหง้า อีกทั้งสภาพอากาศที่แห้ง หรือความชื้นไม่พอจะทำให้ปลายยอดเหง้าเหี่ยวแห้งได้ อีกทั้งแมลงชอบกัดกินใบและยอดเหง้าของนาคราชด้วย
> DAVALLIACEAE > Davallia || Back