Ex-Pys TODAY

Ex-Pys Special Live-interviewing

Last updated  : 18/12/46 19:20:56 +0700

 

สัมภาษณ์นายกมลธรรม วาสบุญมา อุปนายกสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย
ในรายการวิทยุ “จับมาเมาท์ เอามากรี๊ด – ซุบซิบเว็บไซต์”
ทางสถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) คลื่น 100.5 MHz.
วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เวลา 22.45 น.
ดำเนินรายการโดย คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์

   
ผู้ดำเนินรายการ สวัสดีค่ะท่านผู้ฟัง สำหรับวันนี้ขอแนะนำเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเราคงจะแนะนำได้ไม่ดีเท่า คุณกมลธรรม วาสบุญมา สวัสดีค่ะ
กมลธรรม สวัสดีครับ
ผู้ดำเนินรายการ คงต้องขอถามก่อนว่า โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ เป็นโครงการที่จัดขึ้นมานานเท่าใดแล้วคะ  เพราะบางคนอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน
กมลธรรม โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1974 ครับ คือ ประมาณ 30 ปีมาแล้ว โดยในช่วงแรกกลุ่มประเทศอาเซียนมีเพียง 5 ประเทศ ดังนั้นประเทศที่เข้าร่วมโครงการจึงมีเพียง 6 ประเทศ คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และญี่ปุ่น ต่อมาในช่วงหลังจึงมีประเทศบรูไน ดารุสซาลาม เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชาเข้าร่วมในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้ง 5 ประเทศดังกล่าวก็ได้เข้าร่วมในโครงการเรือเยาวชนเอเชีย อาคเนย์ในภายหลังตามลำดับ ในปัจจุบันจึงมีทั้งหมด 11 ประเทศร่วมโครงการ จนถึงปัจจุบันโครงการดำเนินมาทั้งหมด 30 ปี จึงมีทั้งหมด 30 รุ่นแล้วครับ
ผู้ดำเนินรายการ ผู้ที่ได้เข้าร่วมในโครงการ เห็นว่าต้องเป็นเยาวชน อายุประมาณเท่าไหร่คะ
กมลธรรม สำหรับเยาวชนตามกฎหมายไทย คือบุคคลอายุระหว่าง 18-30 ปี อย่างไรก็ดี แต่ละประเทศก็นิยามเยาวชนตามกฎหมายแตกต่างกันไป บางประเทศอาจเป็น 18-35 ปี ก็ได้ครับ
ผู้ดำเนินรายการ

ดิฉันเคยเป็น Host family จึงทราบว่าโครงการนี้จะมีเยาวชนจากแต่ละ ประเทศเดินทางไปด้วยกัน พอมาถึงเมืองไทย ก็มีกิจกรรมพักอาศัยกับครอบครัวคนไทยเป็นระยะเวลา 2-3 วัน

กมลธรรม

ส่วนใหญ่กิจกรรมจะมี 2 ประเภท คือ กิจกรรมบนเรือ และกิจกรรมบนบกในแต่ละประเทศที่ไปเยือนนานประมาณประเทศละ 3-5 วัน โดยจะมีกิจกรรม Homestay นานประมาณ 1-2 วันครับ

ผู้ดำเนินรายการ ในแต่ละปีจะเดินทางไปกี่ประเทศคะ
กมลธรรม

โดยเฉลี่ยจะเดินทางไปแทบทุกประเทศที่ร่วมโครงการ ยกเว้นบางประเทศที่ไม่มีท่าเรือน้ำลึก เช่น ลาว หรือในบางประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมบนบก แต่สำหรับประเทศใดที่เรือไม่ได้เข้าจอด ทางโครงการก็จะส่งผู้แทนไปร่วมทำกิจกรรมในประเทศนั้นๆครับ

ผู้ดำเนินรายการ เป็นโครงการระดับรัฐบาลหรือเปล่าคะ
กมลธรรม ถูกต้องครับ
ผู้ดำเนินรายการ ผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องสอบแข่งขันหรือไม่คะ
กมลธรรม

ต้องมีการสอบแข่งขันเพื่อคัดเลือกครับ โดยแบ่งการสมัครสอบเป็น 2 ประเภท คือ เยาวชนทั่วไปสมัครสอบที่ส่วนกลาง คือ กทม. และเยาวชนที่สมัครในส่วนของภูมิภาค ดังนั้นน้องๆที่อยู่ในส่วนภูมิภาคสามารถติดตามขอทราบรายละเอียดได้ที่ศาลากลางจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน ในการสมัครสอบสำหรับเยาวชนทั่วไปที่กทม.จะต้องสอบข้อเขียนเป็นภาษา อังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะการเข้าร่วมโครงการต้องพูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก หลังจากสอบข้อเขียนผ่านก็จะต้องสอบสัมภาษณ์อีกครั้ง โดยจะแบ่งเป็นคะแนนความสามารถด้านภาษาอังกฤษ 25% ในระดับที่สื่อสารได้นะครับ ไม่ต้องถึงขนาดจบเมืองนอกมา นอกจากนั้นเป็นคะแนนด้านอื่นๆ เช่น ความรูทั่วไป บุคลิกภาพ ทัศนคติ ฯลฯ สำหรับในส่วนของเยาวชนที่สมัครในส่วนภูมิภาค ขณะนี้ยังไม่มีการสอบข้อเขียน แต่คัดเลือกโดยการมาสอบสัมภาษณ์ที่ส่วนกลางครับ

ผู้ดำเนินรายการ

สมัยดิฉันเรียนอยู่ ม.6 ก็เคยไปสอบคัดเลือก แต่ไม่ผ่าน แต่ตอนนี้อายุก็ยังไม่เกินนะคะ (หัวเราะ) ไม่ทราบว่าโครงการนี้จะเป็นรับสมัครในช่วงใดคะ

กมลธรรม

ช่วงประมาณต้นปีครับ ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม โดยมีหน่วยงานที่รับสมัครคือ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ หรือเรียกสั้นๆว่า “ส.ท. ซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “สยช.” อยู่ที่ถนนนิคมมักกะสัน ราชเทวีครับ

ผู้ดำเนินรายการ

ถ้าจะให้แนะนำผู้ฟังที่อาจเพิ่งรู้จักโครงการ หากต้องการเข้าร่วมโครงการ ขณะนี้ควรเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ

กมลธรรม

ประการแรกคือ ต้องติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการรับสมัคร แล้วสมัครให้ทัน โดยดูจากประกาศของ ส.ท.หรือติดตามได้จากเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผมจะแจ้ง URL ให้ทราบในตอนท้ายรายการนะครับ เว็บไซต์ดังกล่าวจะลงข้อมูลประกาศรับสมัครซึ่งปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา ขอให้น้องๆที่ต้องการสมัครเตรียมเอกสารให้พร้อมตามที่ระบุในประกาศ เดินทางไปยื่นใบสมัครให้ทัน ดูกำหนดวันสอบให้ดี เตรียมตัวไปสอบข้อเขียนให้ผ่านและจึงเข้าสู่ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์ต่อไป

ผู้ดำเนินรายการ เห็นว่าต้องเตรียมการแสดงไปโชว์ให้กรรมการดูด้วยหรือคะ
กมลธรรม

มีน้องๆหลายคนที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเล็กน้อยว่ากรรมการจะคัดเลือกเฉพาะที่การแสดง ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ ในการสอบสัมภาษณ์ เราจะพิจารณาหลายอย่างเช่น ภาษาอังกฤษ บุคลิกภาพ ทัศนคติ ในส่วนของคะแนนด้านการแสดงออกนั้นมีเพียง15 % เท่านั้น และกรรมการก็ไม่ได้ซีเรียสในเรื่องการแสดงถูกหรือผิด สวยหรือไม่สวยแต่อย่างใด แต่จะดูที่การกล้าแสดงออกในสิ่งที่ควรและความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่เกิดปัญหามากกว่า เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องรำได้ขนาดกรมศิลป์หรอกนะครับ มีน้องๆหลายคนกังวลกับเรื่องการแสดงมากจนเกินไป ถึงขนาดแบกพิณ แบกขิม พกขลุ่ยกันมาสอบด้วย (หัวเราะ) ความจริงไม่ซีเรียสขนาดนั้น

ผู้ดำเนินรายการ คุณกมลธรรมเองเคยเป็นหนึ่งในเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการใช่ไหมคะ
กมลธรรม ครับ ผมร่วมโครงการเมื่อปี ค.ศ.1991
ผู้ดำเนินรายการ (หัวเราะ) โอ้โฮ…รุ่นแรกเลยกระมังคะ
กมลธรรม (หัวเราะ) ไม่ใช่ครับ รุ่นแรกนั้นไปเมื่อปี ค.ศ.1974 ผมไปรุ่นที่ 18 ครับ
ผู้ดำเนินรายการ 1974 ก็ปีเกิดดิฉันเองล่ะค่ะ
กมลธรรม

เมื่อกลับมาจากโครงการ ผมก็ได้ช่วยงานสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยในฐานะอาสาสมัครมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบันได้รับเลือกเป็นอุปนายกสมาคม ฝ่ายบริหาร และเป็นกรรมการสอบสัมภาษณ์คัดเลือกเยาวชนเข้าร่วมโครงการมา 3 ปีแล้วครับ

ผู้ดำเนินรายการ

ช่วยเล่าให้ฟังดีกว่าค่ะว่า หลังจากผ่านการสอบคัดเลือกแล้ว ต้องทำอะไรกันบ้าง ขั้นตอนแรกต้องขึ้นเครื่องบินไปประเทศญี่ปุ่นก่อนใช่ไหมคะ

กมลธรรม

ไม่แน่เสมอไปครับ ขณะนี้มีการ Rotate ประเทศเริ่มต้นโครงการ อย่างเช่นปีนี้ก็เริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ ในอนาคตมีแนวโน้มว่าอาจเดินทางไปไม่ครบทุกประเทศในแต่ละปี เช่น ปีนี้เรือเข้ามาประเทศไทย ปีหน้าก็อาจไม่เข้าเนื่องจากมีประเทศร่วมโครงการมากขึ้น แต่เวลามีจำกัด

ผู้ดำเนินรายการ ในปี 2004 ที่จะถึงนี้ โครงการจะเริ่มต้นที่ไหนคะ
กมลธรรม

จุดเริ่มต้นอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นครับ ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงใจที่แน่นอน แต่ที่ผ่านมาในปี 2003 เริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ เรือจะแวะทำกิจกรรมในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ก่อนไปจบโครงการที่ประเทศญี่ปุ่น ในปีนี้ผมโชคดีมีโอกาสได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย ร่วมกิจกรรม OBSC หรือ On Board Ship Conference 2003 โดยบินตามไปขึ้นเรือที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อโดยสารไปกับเรือพร้อมเยาวชนผู้ร่วมโครงการจนถึงประเทศญี่ปุ่น และทำกิจกรรมที่นั่นต่อ รวมระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์

ผู้ดำเนินรายการ เรือเป็น Nippon Maru ลำเดิมหรือเปล่าคะ
กมลธรรม

เรือ Nippon Maru นั้นมีมาทั้งหมด 3 ลำแล้วนะครับ ลำปัจจุบันนี้ใช้มาตั้งแต่ปี 1990 เป็นลำที่ใหญ่มาก มีระบบที่ทันสมัย และปลอดภัยทุกอย่าง รับรองว่าสำหรับน้องๆเยาวชนไทยทุกคนที่ไปร่วมโครงการนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วงเลยครับ ปลอดภัยดีแน่นอน

ผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมบนเรือเป็นอย่างไรบ้างคะ เคยได้ยินข่าวในด้านไม่ดีมาเหมือนกัน เช่น แอบไปรักกันบนเรือ

กมลธรรม

สำหรับกิจกรรมบนเรือ ผมว่าโอเคนะครับ จุดใหญ่ของกิจกรรมเพื่อเสริมความสามัคคี และให้ทุกคนมีส่วนร่วม ลดความยึดมั่นถือมั่น เราได้มีโอกาสไปอยู่ร่วมกับคนที่มาจากวัฒนธรรมอื่น สังคมอื่น เราก็ต้องเรียนรู้เขา เขาก็ต้องเรียนรู้เรา ส่วนที่ว่ามีข่าวไม่ดีนั้น ผมคิดว่าคงจะเป็นส่วนน้อย ซึ่งก็คงเหมือนกับทุกโครงการหรือกิจกรรมที่มีทั้งคนให้ความร่วมมือและไม่ให้ความร่วมมือ แต่สำหรับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นั้น ผมคิดว่าคนที่ร่วมโครงการมากกว่า 90 % ให้ความร่วมมือในระดับดีมากเลยทีเดียวครับ

ผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมบนเรือมีอะไรบ้างคะ แล้วกิจกรรมบนบก ได้ข่าวว่าเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีสิทธิพิเศษ ได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในแต่ละประเทศมากมายเลยทีเดียวใช่ไหมคะ

กมลธรรม

 กิจกรรมบนเรือโดยทั่วไปนอกจากการแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมกีฬาและสันทนาการ ก็มี Club activity ซึ่งเป็นการนำสิ่งดีๆที่น่าสนใจของบ้านเราไปสอนให้ชาวต่างชาติ ในปีนี้ผมเห็นน้องๆคนไทยไปสอนนวดแผนโบราณ ได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมมากเลยครับ นอกจากนี้ก็มีกิจกรรม Discussion ซึ่งทางประเทศญี่ปุ่นจะกำหนดหัวข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ให้เยาวชนที่ร่วมโครงการได้สัมมนา ถกแถลง หาข้อสรุปและนำเสนอในระดับเยาวชน ส่วนกิจกรรมบนบกนั้น ก็จะมีการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ เยี่ยมคารวะบุคคลสำคัญของแต่ละชาติ พวกเราได้มีโอกาสสัมผัสมือกับประธานาธิบดี ีหรือนายกรัฐมนตรีของแต่ละชาติกันมาแล้วทั้งนั้น ถือเป็นโอกาสอันดีมากครับ

ผู้ดำเนินรายการ น่าอิจฉามากนะคะ เป็นความใฝ่ฝันของดิฉันเลยค่ะ
กมลธรรม

(หัวเราะ)ครับ สมัครได้ถึงอายุ 30 ปี ก็ยังสมัครได้อยู่ไม่ใช่หรือครับ ลองสอบดูสักอีกทีสิคุณ

ผู้ดำเนินรายการ สำหรับเยาวชนที่ผ่านโครงการมาแล้ว จะมีการสำรวจหรือติดตามผลอย่างไรบ้างไหมคะ
กมลธรรม

เยาวชนที่กลับจากการเข้าร่วมโครงการ เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยจะจัดงานเลี้ยงต้อนรับและมอบสมาชิกภาพให้ เยาวชนทุกคนที่ผ่านโครงการครบถ้วนจะเป็นสมาชิกสามัญของสมาคม มีสิทธิและหน้าที่ตามข้อบังคับของสมาคมโดยสมบูรณ์ทุกประการ สมาคมจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมและประสานงาน ในแต่ละปีจะมีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอีกมากมายผ่านเข้ามาทางสมาคม ซึ่งสมาคมก็จะพิจารณาส่งอดีตเยาวชนผู้เข้าร่วมโครงการ หรือเรียกย่อๆว่า Ex-Py ที่มีความ Active ไปร่วมกิจกรรมดังกล่าวที่ต่างประเทศอีก โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น อย่างเช่นผมเองก็ได้ไปร่วมกิจกรรมประเภทนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นมา 3-4 ครั้งแล้ว โดยส่วนใหญ่เราจะพิจารณาจากบุคคลที่อุทิศตนเองช่วยเหลืองานสมาคมก่อน เพราะมีหลายคนเหมือนกันที่เมื่อกลับจากโครงการแล้วก็หายไปเลย แต่ก็โชคดีมีอีกหลายส่วนที่กลับมาแล้วเป็นกำลังสำคัญที่ขันแข็งของสมาคม เนื่องจากงานสมาคมเป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีค่าตอบแทนให้ แต่พวกเขาก็เต็มใจมาช่วยเหลือจนเต็มความสามารถ ดังนั้นเมื่อมีทุนหรือกิจกรรมระหว่างประเทศ เขาก็จะได้รับการพิจารณาก่อน

ผู้ดำเนินรายการ ในปีหนึ่งๆ ประเทศไทยส่งผู้แทนเข้าร่วมโครงการได้กี่คนคะ
กมลธรรม เมื่อคำนวณตามอัตราส่วนของประชากรในแต่ละชาติแล้ว ในปี ค.ศ.1991 ประเทศไทยส่งเยาวชนเข้าร่วมโครงการได้ 44 คน เพราะมีประเทศเข้าร่วมโครงการเพียง 7 ประเทศ แต่สำหรับในปัจจุบัน เนื่องจากมีประเทศเข้าร่วมโครงการถึง 11 ประเทศ อัตราส่วนจึงเปลี่ยนไป ประเทศไทยจึงมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการได้เพียง 28 คนครับ ซึ่งเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว ส.ท.ก็จะจัดการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัตินาน 2 สัปดาห์เพื่อจำลองเหตุการณ์และกิจกรรมบนเรือ
ผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมอีกส่วนหนึ่ง คือ Host family เวลาเยาวชนไปอยู่กับ Foster family แล้ว จากประสบการณ์ของดิฉันเอง ที่เยาวชนมาอยู่ด้วยเพียงคืนสองคืน แต่ผูกพันกันมาก วันสุดท้ายไปส่งกลับเรือถึงกับต้องเสียน้ำตา เลยกลับมาคิด ย้อนกลับว่าทำไมจึงผูกพันกันขนาดนั้น

กมลธรรม

นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งเลยทีเดียวครับ ผมเองไม่เข้าใจจนมาเจอกับตัวเอง เพราะทุกประเทศที่ไปก็จะมีการ Homestay 1-2 วัน  เวลามาส่งที่เรือร้องไห้กันเป็นแถว ผูกพันกันมาก

ผู้ดำเนินรายการ

ชอบวิธีที่เขาลากันน่ะค่ะ มีการโยนริบบิ้นสายรุ้ง เรือจะแล่นออกไปเรื่อยๆ บางคนจะเอาสายรุ้งอีกเส้นมาผูกต่อเพื่อให้ส่งกันได้ไกลที่สุด พูดแล้วขนลุก……(หัวเราะ)

กมลธรรม

ผมเคยเห็นน้องบางคน เวลาเรือจะออกได้โยนสายรุ้งลงไป ครอบครัวก็จะมารับและดึงอีกปลายหนึ่งเอาไว้ พอเรือออกห่างสายรุ้งขาดก็ร้องไห้กันโฮกันทั้งคู่ และก็เป็นสิ่งที่ดี คือหลายคนกลับมาแล้วทุกวันนี้ก็ยังติดต่อกับ Host family ที่ต่างประเทศอยู่  ในส่วนของผมเอง Host family ก็เพิ่งมาเยี่ยมที่เมืองไทยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ผ่านมาแล้วตั้งหลายปีเขาก็ยังอุตส่าห์มาเยี่ยม เราก็ดีใจ หรือเมื่อตอนที่ผมบินไปขึ้นเรือที่ฟิลิปปินส์เมื่อเดือนก่อน พรรคพวกร่วมรุ่นที่ไม่เจอกันมา 12 ปีทราบข่าวก็ดีใจมาก อุตส่าห์เดินทางมาพบกันอีก ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากที่เราได้พบเพื่อนเก่าที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เจอกันอีก

ผู้ดำเนินรายการ (หัวเราะ) ผ่านมา 12 ปี น่าจะจูงลูกจูงหลานกันมาบ้างแล้ว
กมลธรรม ครับ ก็มีหิ้วลูกกันมา Reunion ด้วยบ้าง สนุกสนานกันไปทั้งครอบครัวล่ะครับ
ผู้ดำเนินรายการ คุณกมลธรรม เวลาไปอยู่กับ Host family เขาทำอะไรให้เราบ้างคะ พาไปไหนบ้าง
กมลธรรม

จุดใหญ่คือ เขาจะพาเราไปดูวิถีการดำเนินชีวิตของคนในประเทศของเขา เยี่ยมชมสถานที่สำคัญ ชมศิลปวัฒนธรรม ที่สำคัญคือ การที่เราจะเก็บเกี่ยวอะไรได้บ้างหรือไม่นั้น อยู่ทีการสังเกตของตัวเราเอง เราอยู่บ้านเขาก็ต้องดูว่าวันๆเขาทำอะไรบ้าง เราต้องหัดช่วยเขาทำเพื่อเรียนรู้ อย่างผมเองในตอนเช้าผมมีหน้าที่ไปเดินเล่นกับคุณย่าอายุ 80 กว่า พูดกันก็ไม่เข้าใจ เพราะคนหนึ่งพูดแต่ญี่ปุ่น ส่วนผมก็พูดไทย แต่เราก็เข้าใจกันได้ด้วยภาษาใจ วันที่ผมจะกลับคุณย่านั่งร้องไห้อยู่หน้าบ้าน คุณพ่อที่ญี่ปุ่นเขียนจดหมายมาบอกที่เมืองไทย..…คือขออธิบายนิดหนึ่ง ผมชื่อเล่น ว่าหม่องน่ะครับ …คุณพ่อเขียนจดหมายมาว่า ตั้งแต่ผมกลับมา คุณย่าบ่นถึง “หม่องซัง” ทุกวันเลย มันเป็นความผูกพันที่บอกไม่ถูก ได้เรียนรู้อะไรมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ

ผู้ดำเนินรายการ

ภาพทั้งหมดที่เราพูดถึง มีอยู่ในเว็บไซต์ของสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทยแล้ว ทั้งภาพเรือ หรือสายรุ้ง

กมลธรรม

ภาพที่หน้า Homepage เป็นภาพเรือนิปปอนมารูลำปัจจุบัน ซึ่งผมเชื่อว่าคนในโครงการกว่า 90% ไม่เคยเห็นภาพนี้ เพราะเป็นภาพการปล่อยเรือในวันแรก ผมไปเยี่ยมเพื่อนที่IYEO หรือ International Youth Exchange Center ที่ประเทศญี่ปุ่น บังเอิญเห็นภาพนี้ติดฝาผนังอยู่ เลยถ่าย Copy เอามาเป็นที่ระลึก

ผู้ดำเนินรายการ  เว็บไซต์ของสมาคมเรือฯ อยู่ที่  URL อะไรคะ ท่านผู้ฟังเตรียมจดนะคะ
กมลธรรม

เว็บไซต์ของสมาคมเรือฯ ตั้งอยู่ที่ http://www.oocities.org/asseay_thai ครับ ชื่อยังค่อนข้างยาวอยู่ แต่สมาคมมีโครงการจะเปลี่ยนเป็น asseay.com หรือ asseay.org ในอนาคต มีวิธีง่ายๆอีกวิธีคือการ search โดย browser ของคุณที่คำว่า asseay รับรองครับว่าเว็บของสมาคมขึ้นมาเป็นชื่อแรกๆเลย

ผู้ดำเนินรายการ

หรือมีอีกวิธีคือคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของ อสมท. ที่ http://www.mcot.or.th/it นะคะ เรา link ไว้ให้แล้ว

กมลธรรม

เว็บไซต์ของเราได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัล Computer award ของ SSEAYP International หรือโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์นานาชาตินะครับ ในฐานะที่เป็นเว็บเกี่ยวกับโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ที่ปรับปรุงข้อมูลทันสมัยและครบถ้วนที่สุด

ผู้ดำเนินรายการ

เมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน ดิฉันทำสกู๊ปโทรทัศน์ เคย search เจอแต่เว็บเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ของต่างประเทศ ซึ่งรายละเอียดไม่มากขนาดนี้ ตอนนั้นคงยังไม่มีเว็บไซต์ของไทย

กมลธรรม

ในช่วงที่ผมเป็นกรรมการบริหารสมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่ง ประเทศไทย ผมเห็นว่าเรายังไม่มีเว็บไซต์ที่เป็นทางการ จึงเสนอต่อที่ประชุมให้มีการริเริ่มทำขึ้น ที่ประชุมมอบหมายให้ผมไปเร่งดำเนินการ ซึ่งผมเอง ชอบด้านนี้อยู่แล้ว ก็เลยร่วมกับเพื่อนสนิท 2-3 คน ช่วยกันสร้างและบริหารมากว่า 3 ปี จนเป็นที่รู้จักในวันนี้ ก็ต้องขอบคุณพวกเขาเหล่านั้นด้วยล่ะครับ

ผู้ดำเนินรายการ

ในเว็บไซต์นี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆอีกหลายอย่าง ขอให้คุณกมลธรรมช่วยแนะนำในช่วงท้ายนี้ด้วยค่ะ

กมลธรรม

หลังจากที่เยาวชนกลับมาจากร่วมโครงการแล้ว สมาคมมองว่าเยาวชนไทยทุกคนมีสิทธิจะเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มครีมของประเทศ…เราคงต้องยอมรับนะครับว่าผู้ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการเรือเยาวชนฯนั้น ถือได้ว่าเป็นครีมของประเทศส่วนหนึ่ง เพราะผ่านการคัดเลือกที่ละเอียดมาก …แต่คนที่ไม่ได้เป็นครีม เขาก็มีสิทธิร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองเช่นกัน เราจึงร่วมกับกองทุนเพื่อเพื่อน หรือ Fund for Friends จัดโครงการ “แด่น้องผู้มีความหวัง” โดยเราจะนำเอาเด็กพิการ เด็กกำพร้า หรือเด็กด้อยโอกาสจากทั่วประเทศ มาเข้าค่ายร่วมกันที่ จ.ระยอง เพื่อให้ได้รับความสนุกสนานและทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองเป็นประจำทุกปี ติดต่อกันนานกว่า 14 ปีแล้ว สำหรับปี พ.ศ.2547 นี้จะจัดอีกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม หากน้องๆ สนใจก็ขอเชิญไปทำกิจกรรมเพื่อเด็กๆด้วยกันครับ

ผู้ดำเนินรายการ มีข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์แล้วใช่ไหมคะ
กมลธรรม

ครับ น้องๆสามารถติดตามข่าวสารได้จากเว็บไซต์ครับ การเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดทั้งสิ้น นอกจากนี้ก็มีอีกโครงการที่อยากแนะนำคือโครงการเรือเยาวชนสร้างสรรค์ไทย พวกเราอดีตเยาวชนทุกคนได้ผ่านโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “เรือใหญ่” มาแล้วก็เลยริเริ่มโครงการเรือเยาวชนสร้างสรรคไทย หรือ “เรือเล็ก” ขึ้นมา

ผู้ดำเนินรายการ เรือหางยาวหรือคะ (หัวเราะ)
กมลธรรม

(หัวเราะ) ไม่ใช่เรือหางยาวนะครับ เรืออันดามัน ปริ๊นเซสต่างหาก สมาคมฯจะเช่าเหมาลำ และร่วมกับ ส.ท. จัดโครงการเรือเยาวชนสร้างสรรค์ไทยขึ้น โดยคัดเลือกเยาวชนไทยอายุระหว่าง 15-18 ปี ที่สมัครมาจากทั่วประเทศ มาทำกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองร่วมกัน ทุกปีก็จะสามารถคัดเด็กได้เต็มลำเรือ จัดมา 4-5 ปีแล้วครับ ถือเป็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กไทยในการก้าวไปสู่โครงการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติ

ผู้ดำเนินรายการ

น้องๆ ที่เคยมีส่วนร่วมในโครงการเรือเยาวชนสร้างสรรค์ไทย ก็อาจจะก้าวไปสู่โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ได้ใช่ไหมคะ

กมลธรรม

มีเยาวชนหลายคนที่ร่วมโครงการ “เรือใหญ่” เคยมาจาก “เรือเล็ก” เพราะพวกเขาได้พัฒนาความพร้อมของเขามาก่อน

ผู้ดำเนินรายการ

ค่ะ สรุปว่าใครที่อยากเป็น 1 ในเยาวชนผู้ร่วมโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ ต้องคอยติดตามข่าวสารนะคะ ดิฉันทราบมาว่า สมาคมฯเคยออกไปจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ตามสถานศึกษาต่างๆด้วยใช่ไหมคะ

กมลธรรม

ใช่ครับ เราออกไปจัดกิจกรรมแนะนำโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ในหลายสถาบันการศึกษาแล้ว แต่ก็ยังอาจจะไม่ทั่วถึงเพราะกำลังคนอาสาสมัคร ทำงานของสมาคมฯยังมีไม่มากนัก ค่อยต้องค่อยเป็นค่อยไปก่อน

ผู้ดำเนินรายการ

ค่ะ ได้ฟังรายการวันนี้แล้ว ก็ขอได้โปรดจำชื่อเว็บไซต์สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย และคอยเข้ามาดูเสมอนะคะ จะได้ติดตามข่าวสารที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาด้วย

กมลธรรม

อย่างไรก็ดี หากน้องๆมีข้อสงสัยอะไรก็สามารถอีเมล์มาสอบถามได้จากเว็บไซต์ได้เลย ผมเองทำหน้าที่เว็บมาสเตอร์ จะตอบตรงให้ทุกรายครับ

ผู้ดำเนินรายการ

ค่ะ คงต้องขอขอบคุณ คุณกมลธรรมมากนะคะที่นำกิจกรรมดีๆและเป็นประโยชน์ต่อเยาวชนมาแนะนำให้เราในคืนนี้ ขอบคุณมากค่ะ

กมลธรรม ยินดีครับ สวัสดีครับ

ขอขอบคุณ

สถานีวิทยุองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) คลื่น 100.5 MHz. www.mcot.or.th/it
รายการ “จับมาเมาท์ เอามากรี๊ด - ซุบซิบเว็บไซต์”
คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้ดำเนินรายการ และทีมงาน
คุณคาวี กิ่งเกตุ ทีมงานเว็บไซต์ ASSEAY Thailand
คุณปฏิมา ไชยบุญทัน ทีมงานเว็บไซต์ ASSEAY Thailand /ผู้ประสานงานการสัมภาษณ์
สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์แห่งประเทศไทย www.oocities.org/asseay_thai

บันทึกเทป / ถอดความ / เรียบเรียง
โดย กมลธรรม วาสบุญมา
EX-PYS TODAY : E-magazine for Ex-Pys today and tomorrow
www.oocities.org/expystoday