Home
About us
Economics
Do u know?
Test
Econ web
Guest book
Hong4's web

 

Econ Hong4

::::: Economics :::::

องค์การการค้าโลก

(World Trade Organization : WTO)

 

                องค์การการค้าโลก เป็นองค์การระหว่างประเทศที่พัฒนามาจากข้องตกลงทั่วไป ว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า หรือแกตต์ (GATT : General Agreement of Tariffs and Trade) เป็นองค์การความร่วมมือทางการค้าเพื่อจำกัดระบบโควตา และภาษีอากรค้า ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ยอมรับกันมากว่าข้อตกลงที่ได้กำหนดขึ้น โดยทบวงการชำนัญพิเศษทางด้านเศรษฐกิจของสหประชาชาติ และข้อตกลงนี้ ได้ขยายวงกว้างขึ้นจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และใน พ.ศ. 2538 แกตต์ได้พัฒนามาเป็น องค์กรการค้าโลก ทำให้มีบทบาทและมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางขึ้นไปอีก

 

ประวัติก่อตั้ง

            แกตต์หรือข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า เป็นสนธิสัญญาทางการค้า ระหว่างประเทศ เริ่มดำเนินงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2491 มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 23 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใน พ.ศ. 2542 มีประเทศที่เข้าร่วมเป็น สมาชิกของแกตต์ทั้งสิ้นจำนวน 128 ประเทศ

            องค์การการค้าโลกที่พัฒนามาจากแนวทางดำเนินการของแกตต์ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2538 ด้วยสมาชิกเริ่มแรก 81 ประเทศ ปัจจุบันมีสมาชิก 144 ประเทศ ใช้สำนักงานใหญ่ของแกตต์เดิมที่เจนีวาเป็นสำนักงานใหญ่ขององค์การการค้าโลก

 

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้ง

            1. เพื่อพัฒนาระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศ

            2. เพื่อกำกับการดำเนินการของประเทศสมาชิกให้เป็นไปตามข้อตกลงแกตต์ และองค์การการค้าโลก

            3. เพื่อยุติกรณีพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก

            4. เพื่อเป็นเวทีเจรจาการค้าของประเทศสมาชิก

 

หน้าที่ขององค์การการค้าโลก

            1. บริหารความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่เป็นผลจากการเจรจาในกรอบของ GATT / WTO รวม 28 ฉบับ โดยผ่านคณะมนตรีและคณะกรรมการต่างๆ รวมทั้งการดูแลให้มีการปฏิบัติตามพันธกรณี

            2. เป็นเวทีเพื่อเจรจาลดอุปสรรคทางด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิกในรูปของ มาตรการภาษีศุลกากร และมาตรการที่มิใช่ภาษีศุลกากร

            3. เป็นเวทีสำหรับแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และหากไม่ สามารถทำการตกลงกันได้ ก็จะจัดตั้งคณะผู้พิจารณาซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ข้อเสนอแนะ

            4. ติดตามสถานการณ์การค้าประหว่างประเทศ และจัดให้มีการทบทวน นโยบายการค้าของประเทศสามาชิกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการตรวจสอบให้เป็นไป ในแนวทางการค้าเสรีและตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

            5. ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาในด้านข้อมูล ข้อแนะนำเพื่อให้สามารถ ปฏิบัติตามพันธกรณีได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนทำการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นการค้าที่สำคัญๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประเทศสมาชิก

            6. ประสานงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เพื่อให้นโยบายเศรษฐกิจโลกสอดคล้องกันยิ่งขึ้น

            องค์การการค้าโลกมีขอบข่ายความรับผิดชอบกว้างขวางกว่าแกตต์ เพราะแกตต์ดูแล เฉพาะการค้าสินค้าเท่านั้น ส่วนองค์การการค้าโลกนอกจากดูแลการค้าสินค้าแล้ว ยังต้อง รับผิดชอบดูแลการค้าบริการสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการค้าด้วย

 

ผลการปฏิบัติงาน

            จากการก่อตั้งแกตต์ขึ้นมา ใน พ.ศ. 2491 ทำให้มีผลในการควบคุมต่อระบบภาษีอากร และการค้าของโลกมากกว่าร้อยละ 80 ขอสินค้าออกทั้งหมด และประเทศสมาชิกได้มีโอกาส ทำการตกลงกันในโครงการใหญ่หลายเรื่องได้สำเร็จ เช่น การลดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรภายใน ประเทศสมาชิก ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับสินค้าเข้า และข้อจำกันในการปฏิบัติทางการค้า เป็นต้น ทำให้การหมุนเวียนขอสินค้าระหว่างประเทศคล่องตัวขึ้น และสินค้าส่งออกมีการกระจายตัว สูงขึ้น แกตต์ได้มีการเจรจามาแล้ว 8 รอบ โดยรอบที่ 8 เรียกว่า การเจรจารอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ผลจากการเจรจาครั้งนี้ตกลงให้จัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้นเพื่อทำหน้าที่ บริหารข้อตกลงแกตต์ และทำให้เกิดความสำเร็จทางการค้าหลายประการ เช่น การลดภาษีศุลกากรสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งทอ การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน ทางปัญญา การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ การลงทุนเกี่ยวกับการค้า เป็นต้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับองค์การการค้าโลก

            ทุกปีจะมีคำร้องจากประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าต่างๆ แต่จากการเจรจากัน ปัญหาส่วนใหญ่สามารถตกลงกันได้ นับได้ว่าองค์การการค้าโลก เป็นองค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติงานองค์กรหนึ่งในปัจจุบัน

            ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของแกตต์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2525 นับเป็นประเทศที่ 88 และได้ผูกพันอัตรภาษีศุลกากรของสินค้าไว้ 93 รายการ เพื่อเป็นการ แลกเปลี่ยนกับสิทธิประโยชน์ที่ประเทศภาคีอื่นผูกพันไว้ด้วย หลังจากแกตต์ได้พัฒนามา เป็นองค์การการค้าโลกแล้ว ไทยได้เข้าเป็นลำดับสมาชิกที่ 59 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 โดยมีฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งด้วยประเทศหนึ่ง ไทยได้รับประโยชน์ทั้งจากการลดภาษีศุลกากร การยกเลิก และปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าให้รัดกุมและเป็นธรรมมากขึ้น

 

ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการเป็นภาคีสมาชิกขององค์การการค้าโลก คือ

            1. มีหลักประกันทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะข้อผูกพันที่มีต่อองค์การ การค้าโลกภาคีสมาชิกจะละเมิดไม่ได้ ถ้ามีการละเมิดเกิดขึ้น ประเทศนั้นจะต้องเจรจา และชดใช้ให้กับประเทศที่เสียหาย

            2. ได้รับประโยชน์ตามสิทธิและสิทธิพิเศษ ไทยได้รับสิทธิพิเศษรวมทั้งข้อปฏิบัติที่ องค์การการค้าโลกกำหนดให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

            3. ขยายการค้า การลดหย่อนภาษีศุลกากรและมาตรการทางการค้าอื่นของประเทศ คู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้ไทยส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้มากขึ้น

            4. ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ ไทยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การการค้าโลก หลายประการ เช่น การฝึกอบรมทางการค้า การได้รับข้อมูล เอกสารและข้อสนเทศต่างๆ ทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น

            5. มีเวทีสำหรับร้องเรียน ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้าระหว่าง ประเทศรวมถึงการร่วมกับประเทศภาคีอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน องค์การการค้าโลกเป็น องค์การกลางสำหรับการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มีอำนาจต่อรองสูงขึ้น และผลักดันให้ การแก้ปัญหาบรรลุเป้าหมายตามต้องการ

 

               

                                                            

 

Copyright © 2004 "Econ-Hong4!™. All rights reserved. Do you like it?