พระอภิธรรม - ธรรมะทั้งปวงในเชิงวิชาการแท้ๆ

เกริ่น

พระอภิธรรม เป็นปิฎกที่ ๓ ในพระไตรปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ประกอบไปด้วย คัมภีร์ ๗ คัมภีร์ ที่กล่าวถึงปรมัตถธรรมทั้ง ๔ คือ จิต - เจตสิก - รูป - นิพพาน โดยความเป็นธรรมแท้ๆ คือ ไม่ได้กล่าวโดยความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเราเขา เพราะตามธรรมชาติแท้ๆ แล้ว ไม่ได้มีสัตว์ บุคคล ตัวตน โลก ภูเขา ต้นไม้ ปลา นก สวรรค์ นรก แต่อย่างใด มีแต่ธรรมแท้ๆ คือ จิต-เจตสิก-รูป ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ตามแต่เหตุและปัจจัย เมื่อมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อมีเหตุให้ดับก็ดับไป

การจะลงมือศึกษาพระอภิธรรมปิฎกทั้ง ๗ คัมภีร์ทันที โดยตรงนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะพระอภิธรรม ทั้งกว้างขวางและลุ่มลึก ทั้งยังไม่ได้กล่าวด้วยสำนวน หรือโวหารหรือศัพท์ตามความเข้าใจแบบโลกๆ ที่นึกๆ หรือเรียกขานหรือเชื่อถือกันมา

พระอภิธรรม กล่าวถึงสภาพธรรมชาติทั้งปวง ตามความเป็นจริงที่สรรพสิ่งเป็นจริงๆ นั่นคือ เป็นเพียงขันธ์ ธาตุ อายตนะ สัจจะ อินทรีย์ ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ พระอนุรุทธาจารย์ ผู้แตกฉานในพระอภิธรรม จึงได้เขียน พระอภิธัมมัตถสังคหะ ขึ้นมา เรียกขานกันว่า เป็นพระอภิธรรมนิ้วก้อย คือ เป็นพระอภิธรรมเบื้องต้น เป็นเหมือนการสรุปย่อ จัดหมวดหมู่ให้เข้าใจง่าย เพื่อเป็นพื้นฐานปูไปสู่ การศึกษาและการทำความเข้าใจพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์ ได้โดยสะดวกขึ้น ต่อไป

พระอภิธัมมัตถสังคหะนี้ แบ่งออกเป็น ๙ ปริจเฉทหรือ ๙ บท ได้แก่
(๑) จิตตสังคหะวิภาค
ว่าด้วยการจำแนกจิตโดยประเภทต่างๆ เป็นต้น
(๒) เจตสิกสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการจำแนกเจตสิกที่ประกอบกับจิต เป็นต้น
(๓) ปกิณณกสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงจิตและเจตสิกโดยประเภทแห่งเวทนา เหตุ กิจ ทวาร อารมณ์ วัตถุ
(๔) วิถีสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงความเป็นไปของจิตแต่ละประเภทๆ เป็นต้น
(๕) วิถีมุตตสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงเรื่องของจิตที่พ้นวิถีและเรื่องของกรรมต่างๆ เป็นต้น
(๖) รูปสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงการจำแนกเรื่องของรูปต่างๆ มี มหาภูตรูป เป็นต้น
(๗) สมุจจยสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงเรื่องของวัตถุธรรม ๗๒ มีจิต เป็นต้น
(๘) ปัจจยสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยการแสดงเรื่องปฏิจจสมุปบาทและปัจจัย ๒๔ มีเหตุปัจจัย เป็นต้น
(๙) กัมมัฏฐานสังคหะวิภาค
      ว่าด้วยเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ ได้จัดทำประวัติพระอภิธัมมัตถสังคหะ รวมทั้งได้จัดทำพระอภิธัมมัตถสังคหะทั้ง ๙ ปริจเฉทออนไลน์ ไว้เรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น เพื่อความสะดวกและ ไม่เป็นการทำงานซ้ำซ้อน และไม่ให้เป็นการเปลืองพื้นที่บนเน็ต จึงขออนุญาตทำเป็น link ให้สามารถไปอ่านและศึกษา ได้จากตรงนั้นเลย
ขอกราบขอบพระคุณ อาจารย์บุษกร เมธางกูร และคณะผู้จัดทำของมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ กราบเคารพครูบาอาจารย์ทุกๆ ท่าน ไว้ ณ ตรงนี้ด้วย

พระอภิธรรม เป็นสิ่งสูงค่า ควรค่าแก่การศึกษาเป็นที่สุด
แม้หากว่าถ้าอ่านยังไม่เข้าใจ ผู้รู้ท่านก็แนะว่าผู้ที่มุ่งชำระกิเลส มุ่งออกจากทุกข์แล้ว สมควรจะอ่านผ่านๆ ตาไว้ พอให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยก็ยังดี เพราะว่าใครก็ตามจะพ้นทุกข์ หรือออกจากทุกข์ได้ ก็ต้องอาศัยความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง ด้วยการปฏิบัติตน เจริญสติปัฏฐานสี่ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสามารถรู้แจ้ง เข้าใจความเป็นจริงของกายและใจตน ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เราเขา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมหรือสภาวธรรมหรือสภาพธรรมชาติ ที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เคลื่อนไป เปลี่ยนแปลงไป ตามแต่เหตุและปัจจัยจะให้เกิด-ให้เปลี่ยนแปลงเสื่อมสลาย หรือให้ดับไป จะได้รู้ประจักษ์ว่า ไม่มีอะไรหรือแม้แต่สิ่งหนึ่ง สิ่งใดแม้แต่สิ่งเดียวในวัฏฏสงสารหรือในสังสารวัฏนี้ ที่ไม่เป็นทุกข์ ที่จะสามารถคงทนถาวรเที่ยงแท้ตลอดไปได้ และจะประจักษ์ว่า ไม่มีใคร ผู้หนึ่งผู้ใดเป็น ‘ผู้สร้าง’ เป็น ‘ผู้บังคับบัญชา’ สรรพสิ่งทั้งหลาย ชีวิตทั้งปวง ได้เลย

พระอภิธรรมนั้น หากผู้ใดได้มาศึกษาและได้ลงมือปฏิบัติธรรม ปรารภความเพียรด้วยตนเองตามทางที่ถูกต้องตรงตามที่ พระพุทธองค์ทรงเปิดแผ่แนะไว้แล้ว ก็จะประจักษ์ตระหนัก และซาบซึ้งกับใจว่า ไม่มีทางที่ใครอื่นผู้หนึ่งผู้ใดจะสามารถคิด หรือนั่งเทียนเขียนพระอภิธรรมขึ้นมาได้เลย ต้องเป็น พระสัพพัญญุตญาณแท้ๆ เท่านั้น
จึงจะสามารถนำความเป็นจริงอันแทงตลอดสิ้นสงสัยเหล่านี้มาเปิดแผ่ ให้ได้เห็นได้รอบ ได้กว้างและได้ลึกซึ้งได้เช่นนี้

ผู้ปฏิบัติฝึกฝนตนและมาศึกษาพระปริยัติธรรม (คือ พระไตรปิฎก) จะประจักษ์ชัดเป็นที่แน่นอนด้วยตนเองว่า ความรู้แท้ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพระอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นั้น เป็นความรู้แทงตลอด ลึกซึ้งที่สุด สุดที่ปัญญาระดับ พระสาวกทั้งหลายอย่างเราทั้งปวงที่ไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า จะสามารถหยั่งถึงได้ด้วยตนเองได้เลยแม้แต่น้อย

พระอภิธัมมัตถสังคหะนี้ ขณะนี้แพร่หลายศึกษากันอยู่พอสมควร ในประเทศไทย อาทิ
ที่อภิธัมมัตถโชติกะ วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์
มูลนิธิแนบมหานีรานนท์ วัดบวรนิเวศน์วิหาร บางลำภู
มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ พุทธมณฑล
มูลนิธิปริญญาธรรม วัดสังเวชยาราม บางลำภู
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และสำนักวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นต้น

อ่าน
ประวัติพระอภิธรรม
ศึกษา
พระอภิธัมมัตถสังคหะออนไลน์ทั้ง ๙ ปริจเฉท
จัดทำโดยมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ
(ขอกราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในธรรมทาน
ของมูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิไว้ ณ ตรงนี้ด้วยค่ะ)

       เจริญในธรรม       

| ใหม่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕- วันมาฆบูชา |

| deedi_deedi@email.com |