ปฏิจจสมุปบาท  เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดการดำเนินไปและการดับไปของชีวิต  รวมถึงการเกิด  การดับแห่งทุกข์ด้วย  ในกระบวนการนี้สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้น  เป็นอยู่ และดับลงไปในลักษณะแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่  เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันในรูปของ วงจร กล่าวคือ  เป็นกระบวนแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่  ในกระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีส่วนไหนเป็นปฐมกรหรือปฐมเหตุ  เพราะกระบวนการของชีวิตเป็นวัฏฏะแห่งกิเลส  กรรม  วิบาก  ซึ่งกลายเป็นวัฏสงสาร         แต่อย่างไรก็ตามในการพยายามอธิบายกระบวนการแห่งชีวิตตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้จำเป็นจะต้องหาจุดเริ่มต้นอธิบายให้เห็นว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างไรก่อน  ดังนั้นท่านจึงสมมติเริ่มจากอวิชชา   โดยอธิบายอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสิ่งอื่น ๆ  ตามมาเป็นวัฏจักรนำไปสู่ทุกข์  ในทำนองเดียวกัน ถ้าอวิชชาดับไปไม่เหลือ  ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่การดับทุกข์ได้ในที่สุด  เพราะความเป็นไปของชีวิตมีสภาวะเป็นวงจรที่เรียกว่าสงสารวัฏ   ดังนั้นเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของสังสารวัฏ จึงไม่ปรากฏหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ทำให้มองเห็นว่า ชีวิตที่ไม่รู้ความเป็นจริง (อวิชชา)  ในสภาวะที่เป็นไปตามกฎของธรรมชาตินั้น  ก็สร้างความเป็นตัวตนของตนขึ้นมาจากนั้น ก็สร้างอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นมาปรุงแต่งโลกของตนเพื่อที่จะให้สนองตัณหาอุปาทาน เช่นนี้นับได้ว่าเป็นชีวิตที่อยู่ในกองทุกข์ และชีวิตจึงกลายเป็นตัวทุกข์ไปด้วย
               ลักษณะอีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นหลักเกี่ยวกับความรู้ในพุทธปรัชญา  ก็คือ  พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงแสวงหาความจริงทั้งหลาย   ที่ไม่สามารถนำมาอธิบายได้ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท    อันได้แก่ อัพยากตปัญหา  คือปัญหาที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ของมนุษย์   เช่น   ปัญหาเกี่ยวกับโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง  สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่  ฯลฯ เป็นต้น  เพราะความรู้เรื่องอภิปรัชญาเช่นนี้ไม่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์และไม่มีผลในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตจริง  เป็นปัญหาที่อธิบายแล้วคนไม่อาจจะมองเห็นและเข้าใจได้.
               ปฏิจจสมุปบาท  เป็นหลักธรรมที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการเกิดการดำเนินไปและการดับไปของชีวิต  รวมถึงการเกิด  การดับแห่งทุกข์ด้วย  ในกระบวนการนี้สิ่งทั้งหลายจะเกิดขึ้น   เป็นอยู่  และดับลงไปในลักษณะแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่  เป็นเหตุเป็นปัจจัยแก่กันและกันในรูปของ วงจร กล่าวคือ  เป็นกระบวนแห่งความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่  ในกระบวนแห่งปฏิจจสมุปบาทนั้นไม่มีส่วนไหนเป็นปฐมกรหรือปฐมเหตุ  เพราะกระบวนการของชีวิตเป็นวัฏฏะแห่งกิเลส  กรรม  วิบาก  ซึ่งกลายเป็นวัฏสงสาร         แต่อย่างไรก็ตามในการพยายามอธิบายกระบวนการแห่งชีวิตตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้จำเป็นจะต้องหาจุดเริ่มต้นอธิบายให้เห็นว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันอย่างไรก่อน  ดังนั้นท่านจึงสมมติเริ่มจากอวิชชา   โดยอธิบายอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสิ่งอื่น ๆ  ตามมาเป็นวัฏจักรนำไปสู่ทุกข์  ในทำนองเดียวกัน ถ้าอวิชชาดับไปไม่เหลือ  ก็จะเป็นเหตุนำไปสู่การดับทุกข์ได้ในที่สุด  เพราะความเป็นไปของชีวิตมีสภาวะเป็นวงจรที่เรียกว่าสงสารวัฏ   ดังนั้นเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุดของสังสารวัฏจึงไม่ปรากฏ
               ลักษณะอีกประการหนึ่งที่นับว่าเป็นหลักเกี่ยวกับความรู้ในพุทธปรัชญา  ก็คือ  พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงแสวงหาความจริงทั้งหลาย   ที่ไม่สามารถนำมาอธิบายได้ด้วยหลักปฏิจจสมุปบาท    อันได้แก่ อัพยากตปัญหา  คือปัญหาที่ไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ด้วยประสบการณ์ของมนุษย์   เช่น   ปัญหาเกี่ยวกับโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง  สัตว์ทั้งหลายหลังจากตายแล้วมีอยู่หรือไม่มีอยู่  ฯลฯ เป็นต้น  เพราะความรู้เรื่องอภิปรัชญาเช่นนี้ไม่นำไปสู่ความสิ้นทุกข์และไม่มีผลในทางปฏิบัติสำหรับชีวิตจริง  เป็นปัญหาที่อธิบายแล้วคนไม่
อาจจะมองเห็นและเข้าใจได้.

               ความหมายของคำว่า  "ปฏิจจสมุปบาท"
               คำว่า ปฏิจจสมุปบาท  มาจากศัพท์ว่า  ปฏิจจ    สํ    และอุปปาท
               ปฏิจจ     หมายถึง   เกี่ยวเนื่องกัน  สัมพันธ์กัน
               สํ    หมายถึง   พร้อมกัน  หรือด้วยกัน
               อุปปาท   หมายถึง   การเกิดขึ้น
              ปฏิจจสมุปบาท จึงหมายถึง สิ่งที่อิงอาศัยกันเกิดขึ้น ได้แก่  ภาวะของสิ่งที่ไม่เป็นอิสระของตนต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้
               คำว่า ปฏิจจสมุปบาท นี้ พระพุทธโฆษาจารย์  ได้แปลไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่  สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นได้เพราะอาศัยซึ่งกันและกัน
 
               ชื่อต่าง ๆ ของปฏิจจสมุปบาท
ยังมีคำอื่น ๆ เรียกแทนคำว่า "ปฏิจจสมุปบาท"  (คำอันเป็นไวพจน์) ได้อีก คือ
               1.      ธัมมฐิตตา  หรือ ธัมมฐิติ
               2.      ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม
               3.      อิทัปปัจจยตา
               4.      ตถตา
               5.      อวิตถตา
               6.      อนัญญถตา
               7.      ปัจจยการ

               1. ธัมฐิตตา หรือ ธัมมฐิติ     คือ  ความดำรงอยู่ตามธรรม  หมายถึง    ความดำรง
อยู่ตามปัจจัย  สิ่งที่ดำรงอยู่ตามปัจจัยนั้น ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้สังขารดำรงอยู่  สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณดำรงอยู่  วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปดำรงอยู่  นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะดำรงอยู่   สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะดำรงอยู่  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาดำรงอยู่   เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหาดำรงอยู่   ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานดำรงอยู่   อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพดำรงอยู่  ภพเป็นปัจจัยให้ชาติดำรงอยู่  ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะดำรงอยู่   เมื่อชาติชรามรณะยังดำรงอยู่แน่นอนว่า โสกะ  (ความโศก)  ปริเทวะ  (ความร้องไห้คร่ำครวญ)  ทุกข์  (ความทุกข์กาย)  โทมนัส (ความทุกข์ใจ)  อุปายาส  (ความคับแค้นใจ)  ก็ยังดำรงอยู่ด้วย
               2.  ธัมมนิยามตา หรือ ธัมมนิยาม  คือ ความแน่นอนแห่งธรรม  หรือความแน่นอนตามธรรม  หมายถึง ความแน่นอนแห่งปัจจัยหรือความแน่นอนตามปัจจัย  สิ่งที่แน่นอนตามปัจจัยนั้น  ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่า  อวิชชา เป็นปัจจัยให้สังขารเกิดแน่นอน  สังขารเป็นปัจจัยให้วิญญาณเกิดแน่นอน   วิญญาณเป็นปัจจัยให้นามรูปเกิดแน่นอน      นามรูปเป็นปัจจัยให้สฬายตนะเกิดแน่นอน   สฬายตนะเป็นปัจจัยให้ผัสสะเกิดแน่นอน  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เวทนาเกิดแน่นอน  เวทนาเป็นปัจจัยให้ตัณหเกิดแน่นอน  ตัณหาเป็นปัจจัยให้อุปาทานเกิดแน่นอน  อุปาทานเป็นปัจจัยให้ภพเกิดแน่นอน   ภพเป็นปัจจัยให้ชาติเกิดแน่นอน   ชาติเป็นปัจจัยให้ชรามรณะเกิดแน่นอน   เมื่อมีชาติ ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ย่อมเกิดด้วยอย่างแน่นอน
               3.  อิทปัจจยตา  คือ  ความมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย  หมายถึง  เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้ก็มีตาม   เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นตาม   สิ่งที่เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้ก็มีตาม  ก็คือ อวิชชา  สังขาร  ฯลฯ  ชาติ  ชรามรณะ  ซึ่งก็หมายความว่าเมื่ออวิชชามี สังขารก็มีตาม   เมื่อสังขารมี วิญญาณก็มีตาม  เมื่อวิญญาณมี นามรูปก็มีตาม  เมื่อนามรูปมี สฬายตนะก็มีตาม  เมื่อสฬายตนะมี ผัสสะก็มีตาม   เมื่อผัสสะมี เวทนาก็มีตาม  เมื่อเวทนามี ตัณหาก็มีตาม   เมื่อตัณหามี อุปาทานก็มีตาม    เมื่ออุปาทานมี ภพก็มีตาม   เมื่อภพมี ชาติก็มีตาม   เมื่อชาติมี  ชรามรณะก็มีตาม   เมื่อชรามรณะมี  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็มีตามด้วย
               4.  ตถตา  คือ ความเป็นเช่นนั้น  หมายถึง  ความเป็นจริงอย่างนั้น  สิ่งที่เป็นจริงอย่างนั้น  ก็คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะซึ่งเป็นความจริงที่คงอยู่ตลอดเวลา  และเป็นความจริงที่ว่า เมื่อมีชาติ  ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นของจริงที่เกิดตามมาจริง
               5.  อวิตถตา  คือ ความเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เป็นเช่นนั้น  หมายถึง ความเป็นจริงอย่างนั้นไม่ผันแปรไปเป็นความไม่จริง  สิ่งที่เป็นจริงโดยไม่ผันแปรนั้น  ก็คือ  อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ  ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ  และก็เป็นความจริงโดยไม่มีทางผันแปรไปได้อีกที่ว่า  เมื่อมีชาติ  ชรามรณะ  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปร
               6.  อนัญญถตา  คือ  ความไม่เป็นอย่างอื่น  หมายถึง เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้  สิ่งที่เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้ ก็คือ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร   สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ ฯลฯ  ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรามรณะ   และก็เป็นอย่างอื่นจากที่เป็นมานี้ไม่ได้  ก็คือ เมื่อมีชาติ  ชรามรณะแล้วโสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เป็นจริงที่เกิดตามมาโดยไม่ผันแปรเป็นอื่นจากนี้ไปได้
               7.  ปัจจยาการ  คือ  อาการตามปัจจัย  หมายถึง  อาการที่เกิดขึ้นตามปัจจัย  ซึ่งก็หมายความว่า อวิชชา  สังขาร   ฯลฯ   ชาติ  ชรามรณะ  ต่างเกิดขึ้นตามปัจจัยปรุงแต่ง   และเมื่อมีชาติ ชรามรณะแล้ว  โสกะ  ปริเทวะ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  ก็เกิดตามปัจจัยด้วย
               ทั้งหมดที่กล่าวมานี้  คือ   ชื่อเรียกปฏิจจสมุปบาท      ซึ่งเท่ากับให้ความหมายขยายความของปฏิจจสมุปบาท   ชื่อทั้งหมดนี้มีปรากฏอยู่ทั้งในพระสุตตันตปิฎก  พระวินัยปิฎก  และพระอภิธรรมปิฎก.

                ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาท
                ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่สำคัญอย่างยิ่งยวด    และเป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งที่สุด   จนได้ชื่อว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา    หรือตัวแท้ของศาสนา  ( แก่นแท้ของพุทธศาสนา )    ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทอาจเห็นได้จากพระพุทธพจน์ตอนหนึ่งว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม   ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นย่อมเห็นปฏิจจ-สมุปบาท"
               "ภิกษุทั้งหลาย  แท้จริงแล้ว  อริยสาวกผู้เรียนรู้แล้ว  ย่อมมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นว่า เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  ฯลฯ  เมื่อใดอริยสาวกรู้ทั่วถึงความเกิด ความดับของโลกตามที่มันเป็นเช่นว่านี้  อริยสาวกนั้น  เรียกว่าเป็นผู้มีทิฐิสมบูรณ์  (ความเห็นที่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์) ก็ได้     ผู้มีทัศนะสมบูรณ์ก็ได้   ผู้บรรลุถึงสัจธรรมนี้ก็ได้   ชื่อว่าผู้ประกอบด้วยเสขญาณก็ได้     ผู้ประกอบด้วยเสขวิชชาก็ได้   ผู้บรรลุกระแสธรรมแล้วก็ได้  พระอริยบุคคลผู้มีปัญญาชำระกิเลสก็ได้  ผู้อยู่ชิดติดประตูอมตะก็ได้"
               "สมณพราหมณ์เหล่าใด  รู้ธรรมเหล่านี้  รู้เหตุเกิดแห่งธรรมเหล่านี้  รู้ความดับของธรรมเหล่านี้  รู้ทางดำเนินเพื่อดับแห่งธรรมเหล่านี้  ฯลฯ   สมณพราหมณ์เหล่านั้นแล  จึงเป็นที่ยอมรับว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ  และเป็นที่ยอมรับว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์  และได้ชื่อว่าได้บรรลุ-ประโยชน์ของความเป็นสมณะและประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่ง  เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน"
               ความสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้นมีมาก  หากเราเข้าใจอย่างชัดเจน  และปฏิบัติตามได้อย่างเหมาะสมก็จะได้รับประโยชน์สูงสุดตามจุดหมายของพุทธศาสนา  ซึ่งถือว่าเป็นแก่นแท้หรือสาระสำคัญสูงสุดของพุทธศาสนา  ในกาลครั้งหนึ่ง พระอานนท์กราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เรื่อปฏิจจ-สมุปบาทดูเป็นเรื่องง่ายและตื้นสำหรับตัวท่านเอง   พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนพระอานนท์ว่า
               "ดูก่อนอานนท์  เธออย่ากล่าวอย่างนั้น  ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก  ลักษณะโครงสร้างก็ลึกซึ้ง  หมู่สัตว์นี้ไม่รู้  ไม่รู้ตามที่เราสอน  ไม่แทงตลอดหลักปฏิจจสมุปบาท  จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายที่ยุ่ง  เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม  ติดพันซ่อนเงื่อนกันยุ่ง  เหมือนเชิงผ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ  ไม่ล่วงพ้นจากสังสาระคืออบาย  ทุคติ  วินิบาตไปได้"
               ปฏิจจสมุปบาทเป็นแก่นแท้หรือหัวใจของพุทธศาสนา  เป็นหลักแสดงถึงกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยที่สืบต่อเชื่อมโยงกันทั้งในกระบวนการเกิดและดับ     หากจะประมวลเอาสาระสำคัญของปฏิจจสมุปบาทนั้น  ไม่อาจกล่าวให้ครอบคลุมได้ทั้งหมด  แต่อาจสรุปความสำคัญบางประการได้ ดังนี้
               1.  เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมชาติของสรรพสิ่ง  ซึ่งมีการไหลไปไม่หยุดนิ่ง มีเกิดในเบื้องต้น  แปรปรวนในท่ามกลาง  และแตกดับไปในที่สุด
               2.  เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎธรรมดาของสรรพสิ่ง  ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  และเป็นอนัตตา
               3.  เป็นหลักธรรมที่แสดงถึงกฎแห่งสงสารวัฏ คือวงจรแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกิเลส  กรรม  วิบาก
               4.      เป็นหลักธรรมข้อใหญ่ที่ประมวลเอาความหมายแห่งธรรมทั้งหลายมาไว้
               5.      เป็นธรรมที่ว่าด้วยเรื่องชีวิตของมนุษย์ในขณะนี้และเดี๋ยวนี้

               คำจำกัดความองค์ประกอบแห่งปฏิจจสมุปบาท 12 ข้อ
               การศึกษาหลักปฏิจจสมุปบาทให้เกิดความเข้าใจได้ถูกต้องนั้น จำเป็นต้องศึกษาคำจำกัดความและความหมายขององค์ประกอบแต่ละหัวข้อให้รู้ชัดเจนเสียก่อน     เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดในเรื่องกระบวนการที่เกิดขึ้นและดับไปของสรรพสิ่ง  จนทำให้หลักพุทธธรรมถูกทำลายและไร้ค่า  องค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาท  12   หัวข้อ  มีโดยย่อดังต่อไปนี้

               1.  อวิชชา   ( Ignorance  ,  Lack of Knowledge )    คือ ความไม่รู้  ไม่เห็น ตามความเป็นจริง ความไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ  ความหลงไปตามสมมติบัญญัติ  ความไม่เข้าใจในเรื่องโลกและชีวิตตามที่เป็นจริง  ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่าง ๆ    ภาวะของการขาดปัญญา   ความไม่หยั่งรู้เหตุปัจจัยตัวอย่างเช่น  ความไม่รู้แจ้งในเรื่องชีวิต  คือไม่รู้ว่า  อะไรคือทุกข์  อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์  อะไรคือความดับทุกข์  และอะไรคือทางที่จะดำเนินไปสู่การดับทุกข์ เป็นต้น

               2.  สังขาร  ( Volitional Activities )   คือ ความคิดปรุงแต่ง  ความจงใจ  ความมุ่งหมาย การตัดสินใจ  การที่จะแสดงเจตนาออกมาเป็นการทำ  กระบวนการความคิดที่เป็นไปตามความโน้มเอียง  ความเคยชิน  และคุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต  ซึ่งได้สั่งสมไว้  ตัวอย่างเช่น ความคิดปรุงแต่งให้วิญญาณดีหรือชั่ว  ให้เป็นกลาง ๆ ปรุงแต่งให้คิดไปทางดี  เรียกว่า "กุศลสังขาร"  ปรุงแต่งให้คิดไปในทางชั่ว  เรียกว่า "อกุศลสังขาร"  ปรุงแต่งให้คิดกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า "อัพยากฤต"  กล่าวให้สั้น ก็คือ สังขาร ได้แก่ กิเลสและคุณธรรม  ทั้งสองอย่างนี้จะผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปรุงแต่งจิตใจของคนไปทางใดทางหนึ่งใน 3 ทางดังกล่าว  คนเราจะคิดไปทางไหน  อย่างไรนั้นก็อยู่ที่ตัวสังขารนี้เอง  ดังคำกล่าวไปภาษาอังกฤษว่า
         Sow a thought, reap an act ;    แปลว่า  ความคิดก่อให้เกิดการกระทำ
         Sow an act, reap a habit ;  แปลว่า  การกระทำก่อนให้เกิดเป็นนิสัย  (เคยชิน)
         Sow a habit, reap a character ;  แปลว่า  นิสัยหลอมตัวเข้าเป็นอุปนิสัย
         Sow a character, reap a destiny ; แปลว่า  อุปนิสัยสร้างวิถีชีวิตของบุคคล
               คำว่า  "สังขาร" ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  มีความหมายตรงกับคำว่า "สังขาร" ในเบญจขันธ์ (ขันธ์ 5)  คือ จัดอยู่ในฝ่ายนามธรรมเท่านั้น  ส่วนคำว่า  "สังขาร"  ที่ปรากฏในคำสอนบางแห่ง  เช่น สังขารในประโยคว่า  "อนิจฺจา  วต  สงฺขารา"   แปลว่า สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ  ในประโยคนี้ มีความหมายว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม  หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้  จึงมีความหมายแตกต่างจาก  "สังขาร"  ในปฏิจจสมุปบาท และเบญจขันธ์

               3.  วิญญาณ  (Consciousness)   คือ ความรู้แจ้งอารมณ์  การรับรู้ต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้ง 6  (อายตนะ 6)  ในวิภังคปกรณ์  แสดงวิญญาณ 6  ไว้ดังนี้คือ
                      3.1  จักขุวิญญาณ     คือการรับรู้ทางตา
                      3.2  โสตวิญญาณ     คือการรับรู้ทางหู
                      3.3  ฆานวิญญาณ     คือการรับรู้ทางจมูก
                      3.4   ชิวหาวิญญาณ   คือการรับรู้ทางลิ้น
                      3.5   กายวิญญาณ      คือการรับรู้ทางกาย  (สัมผัส)
                      3.6   มโนวิญญาณ     คือการรับรู้ทางใจ  (ธัมมารมณ์)
               วิญญาณทั้ง 6  นี้ บางที่เรียกว่า  "วิถีวิญญาณ"   เพราะมันทำหน้าที่โดยที่เราไม่รู้สึกตัว เช่น เวลานอนหลับ  เป็นต้น
               คำว่า  "วิญญาณ"  ในหลักปฏิจจสมุปบาทนี้  หมายถึง  การรู้แจ้งอารมณ์หรือรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางสัมผัสทั้ง 5  และทางใจ   เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งในสี่ของจิต   ( องค์ประกอบ  4 ส่วน  คือ เวทนา  สัญญา  สังขาร  และวิญญาณ)    คำว่า "วิญญาณ"  ในปฏิจจสมุปบาทกับเบญจขันธ์  มีความหมายตรงกัน  ความหมายตามนัยนี้  วิญญาณจึงมิได้เป็น  "ตัวแทน"  หรือ "ตัวการกระทำ"  ซึ่งไม่มีสิ่งใดแสดงให้เห็นเป็น  "อัตตา"  ที่ถาวรออกจากร่างกายล่องลอยไปเกิดใหม่  ดังที่ลัทธิหรือศาสนาอื่นสอน  เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องวิญญาณในปฏิจจสมุปบาทชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงควรพิจารณาจากพุทธพจน์ต่อไปนี้
               "ดูก่อนผู้มีอายุ  จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเพราะอาศัยตาและรูป  เพราะการประชุมกันของธรรม 3 อย่าง  (คือ  ตา + รูป + วิญญาณ)   จึงเกิดผัสสะ  เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  จึงเกิดเวทนา  บุคคลเสวยเวทนาอันใด  ก็จำจากเวทนาอันนั้น  บุคคลจำเวทนาอันใด ก็ตรึงถึงเวทนาอันนั้น  บุคคลตรึกถึงเวทนาอันใด  ก็จินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันนั้น    บุคคลจินตนาการสร้างมโนภาพจากเวทนาอันใด  ความคิดเกี่ยวกับมโนภาพอันนั้นก็จะครอบงำบุคคลนั้น  ในเรื่องของรูปทั้งหลาย  ที่จะพึงรู้ด้วยตา  เป็นอดีตก็ดี  เป็นอนาคตก็ดี  เป็นปัจจุบันก็ดี.........." 
               ข้อความตามพุทธพจน์ชี้ให้เห็นว่า  วิญญาณเป็นเพียงองค์ประกอบอันหนึ่งในองค์ประกอบทั้ง 4 อย่าง  การเกิดของวิญญาณนั้นก็เกิดได้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5  คือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  และใจ  คือ มโน นั่นคือ ตา + รูป ก็เกิดจักขุวิญญาณ เป็นต้น   เมื่อตาเป็นรูปก็เกิดผัสสะ  (กระทบ เชื่อมโยงกัน)  จึงเกิดเวทนาขึ้น  นี่เป็นการแสดงกระบวนการของจิตจากองค์ประกอบต่าง ๆ  ซึ่งดำเนินไปแบบเชื่อมโยงติดต่อเรื่อยไปโดยอาศัย
เหตุปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

               4.  นามรูป  (Animated Organism)    คือความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม  (รูปและนาม) ในความรู้ของบุคคล   ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อสนองตอบในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้น  ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของจิต
               คำว่า "นาม"  ในพระบาลี  พระพุทธเจ้าตรัสหมายเอา เวทนา  สัญญา  เจตนา  ผัสสะ  และมนสิการ  ในอภิธรรม ท่านหมายเอา เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์
               คำว่า "รูป"  ท่านหมายเอา มหาภูตรูป 4  คือ ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  และอุปาทายรูป 24  (คือรูปอาศัยมหาภูตรูป)  ตามทัศนะของพุทธศาสนา  รูปคือสิ่งที่ต้องสูญสลายหรือแปรสภาพไปตามเหตุปัจจัย มีเย็นร้อน  เป็นต้น  รูปที่สอนกันมาก็คือ รูปร่างที่เป็นเนื้อหนังมังสา  หรือเลือดลมในกายกายนี้  เรียกมหาภูตรูป  และภาวะต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่กับมหาภูตรูป  หรือเกิดขึ้นจากมหาภูตรูป เช่น ภาวะชาย  ภาวะหญิง หรือภาวะสวย  ภาวะไม่สวย เป็นต้น  ภาวะต่าง ๆ นี้เรียกอุปาทายรูป
               เมื่อนำเอานามกับรูปมารวมกัน  ก็เป็น  "นามรูป"  ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องคู่กันและอิงอาศัยกันขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้         หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปก็เท่ากับการดับสลายตามหลักสากลของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวว่า  "เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้ก็มี   เพราะสิ่งนี้เกิด  สิ่งนี้จึงเกิด"  และ  "เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้ก็ไม่มี   เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้ก็ดับ
(ด้วย)"
               5.  สฬายตนะ  (The six sense - bases)  คือที่ต่อหรือที่เชื่อมโยง 6 อย่าง หมายถึงภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้น ๆ  อายตนะมี 6  เรียกว่า  "อายตนะภายใน 6" ได้แก่  จักขุ  (ตา)    โสตะ  (หู)   ฆานะ  (จมูก)    ชิวหา  (ลิ้น)  กาย  (ร่างกาย)    มโน  (ใจ)    อายตนะภายใน 6  นี้จับคู่กับอายตนะภายนอก 6 คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  (ทางกาย)  และธัมมารมณ์  (อารมณ์ที่เกิดที่ใจ)

               6.  ผัสสะ  (Contact)   คือ การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก    การรับรู้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ   อีกนัยหนึ่ง  ผัสสะ คือการกระทบกันระหว่างอายตนะภายใน 6 กับอายตนะภายนอก 6  ซึ่งจับคู่กัน คือ  ตา - รูป   หู - เสียง   จมูก - กลิ่น   ลิ้น - รส   กาย - โผฏฐัพพะ   ใจ - ธัมมารมณ์
               ในพระบาลี  พระพุทธพจน์แสดงไว้ว่า  "ฉยิเม  ภิกฺขเว  ผสฺสกายา  จกฺขุสมฺผสฺโส  โสตสมฺผสฺโส  ฆานสมฺผสฺโส  ชิวฺหาสมฺผสฺโส  กายสมฺผสฺโส  มโนสมฺผสฺโส"   แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ผัสสะ 6 ประการเหล่านี้  คือ จักขุสัมผัส  โสตสัมผัส  ฆานสัมผัส  ชิวหาสัมผัส  กายสัมผัส  มโนสัมผัส    นี่คือผัสสะ 6   ตามชื่อแห่งทวร  การกระทบกันระหว่างอายนตะภายใน 6 กับอายตนะภายนอก 6 นั้น  สิ่งแรกที่เกิดขึ้นก็คือวิญญาณ  เช่น
ตา กระทบ รูป  ก็รู้ว่าเป็นรูป เป็นต้น

               7.  เวทนา  (Feeling)  คือความรู้สึก  หรือการเสวยอารมณ์  เวทนาเกิดจากจักขุสัมผัส  โสตสัมผัสฆานสัมผัส  ชิวหาสัมผัส  กายสัมผัส  มโนสัมผัส  เรียกว่า  "เวทนา 6"  เวทนาหากแบ่งตามลักษณะจะแบบ่งได้ 3  คือ  สุข   ทุกข์  และอทุกขมสุข  หรือแบ่งเป็น 5  คือ สุข  (ทางกาย)   ทุกข์  (ทางกาย)  โสมนัส  (ทางใจ)    โทมนัส  (ทางกาย)  และอุเบกขา
               หากจะแบ่งความรู้สึกออกเป็นชนิดก็แบ่งได้ 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ความรู้สึกที่กาย  และความรู้สึกที่ใจ   ความรู้สึกที่กาย แบ่งตามลักษณะได้  2  คือ สุขกาย  และทุกข์กาย    ส่วนความรู้สึกที่ใจแบ่งตามลักษณะได้  2  คือ ความรู้สึกในทางดี  (กุศลเวทนา)   และความรู้สึกในทางชั่ว  (อกุศลเวทนา)  และลักษณะทั้ง  2  นี้ยังแยกย่อยออกไปอีก

               8.  ตัณหา  (Craving)   คือความอยาก  ความต้องการ  ความยินดี  ความพอใจในอารมณ์ต่าง ๆ   ตามพระบาลี ท่านแสดงตัณหาไว้ คือ รูปตัณหา  (ตัณหาในรูป)  สัททตัณหา  (ตัณหาในเสียง)  คันธ-ตัณหา  (ตัณหาในกลิ่น)    รสตัณหา  (ตัณหาในรส)   โผฏฐัพพตัณหา   (ตัณหาในสัมผัสทางกาย  และธัมมตัณหา  (ตัณหาในธรรมารมณ์)   เรียกว่า "ตัณหา 6"
              ตัณหานี้  ถ้าแบ่งตามอาการแบ่งได้ 3  คือ
                       8.1  กามตัณหา  คือความทะยานอยากในสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง 5
                       8.2  ภวตัณหา    คือความอยากให้คงอยู่ชั่วนิรันดร   หรือความอยากมี อยากเป็น
                       8.3  วิภวตัณหา   คือความอยากให้ดับสูญ  หรือความไม่อยากมี  ไม่อยากเป็น
               อีกนัยหนึ่ง  ท่านอธิบายตัณหา 3  ไว้อีกแบบหนึ่ง คือ  (1)  กามตัณหา คือ ความอยากด้วยความยินดีในกาม   (2)  ภวตัณหา  คือความอยากอย่างมีสัสสตทิฏฐิ   และ (3)  วิภวตัณหา คือความอยากอย่างมีอุจเฉททิฏฐิ

               9.  อุปาทาน  (Attachment, Clinging) คืออาการที่จิตเข้าไปยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้  ความยึดติดหรือเกาะติดในเวทนาที่ชอบและเกลียดชัง  รั้งเอาสิ่งต่าง ๆ และภาวะที่ชีวิต อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว    การตีค่ายึดถือความสำคัญของภาวะและสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตอบตัณหาของตน
               ในพระบาลี      มีพุทธพจน์แสดงอุปาทานไว้ว่า   "จตฺตาริมานิ  ภิกฺขเว  อุปาทานานิ  กามุปา-ทานํ  ทิฏฺฐุปาทานํ  สีลพฺพตุปาทานํ  อตฺตวาทุปาทานนฺติ"  แปลว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย   อุปาทาน 4  เหล่านี้คือ กามุปาทาน  (ความยึดมั่นในกาม คือ รูป  รส  กลิ่น  เสียง  สัมผัสต่าง ๆ)  ทิฏฐุปาทาน  (คามยึดมั่นในทิฐิ ได้แก่  ความเห็นหรือทัศนะ  ลัทธิ ทฤษฏีต่าง ๆ)    สีลัพพตุปาทาน  (ความยึดมั่นในศีลพรตว่าทำให้คนบริสุทธิ์)      อัตตวา-
ทุปาทาน  (ความยึดมั่นในอัตตา   การสร้างตัวขึ้นมายึดถือด้วยความหลงผิด)

               10.  ภพ   (Process of becoming)   คือ ความมี  ความเป็น  (รูปศัพท์เดิม คือ ภวะ  เมื่อมาเป็นภาษาไทย แปลง วะ  เป็น พะ  จึงสำเร็จรูปเป็นภพ)   ภพแบ่งได้  3  คือ
                     10.1 กามภพ  สัตว์ที่ยินดียึดถืออยู่ในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัส  (ทางกาย)  ก็มีกามภพ
อยู่ในใจ
                     10.2 รูปภพ  เมื่อสัตว์ยึดถือรูปเป็นนิมิต  ก็เป็นรูปภพอยู่ในจิตใจ
                     10.3 อรูปภาพ   เมื่อสัตว์ยึดถืออรูป  (อรูปฌาน)  ก็เป็นอรูปภพอยู่ในจิตใจ
               อีกนัยหนึ่ง  ภพ แบ่งออกได้ 2  คือ
                     10.1  กรรมภพ   คือ   กระบวนการพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกเพื่อสนองตัณหาอุปาทาน
                     10.2  อุปัตติภพ  คือภาวะแห่งชีวิตสำหรับตัวตนหรือตัวตนที่จะมี  จะเป็นไป
              ในรูปใดรูปหนึ่ง  โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนการพฤติกรรมนั้น

              11.  ชาติ   (Birth)   คือการเกิด   การปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย   การได้อายตนะเฉพาะการก้าวลงหรือการเป็นไปพร้อมขึ้นมาในหมู่สัตว์นิกาย  อีกนัยหนึ่ง  ชาติ  หมายถึง ความตระหนักในตัวตนว่า อยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้น  ๆ  มีหรือไม่ได้มี   เป็นหรือไม่ได้เป็นอย่างนั้น ๆ    ชาติ ที่หมายถึง การเกิด   มีความหมายกว้าง  มิได้หมายเอาเฉพาะการปรากฏของสิ่งที่เป็นรูปธรรม  เช่น  เป็นคน  เป็นสัตว์ ผู้ชาย  ผู้หญิง เป็นต้น  แต่หมายรวมไปถึงการเกิดหรือการปรากฏของสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ  สรรเสริญ  นินทา เป็นต้นด้วย

              12.  ชรามรณะ  (Decay and Death)   คำว่า "ชรา"  คือความเสื่อมอายุ  ความหง่อมอินทรีย์  และคำว่า   "มรณะ"   คือ   ความสลายแห่งขันธ์     ความขาดชีวิตินทรีย์        เมื่อนำคำทั้งสองมาต่อกันเป็น "ชรามรณะ"   คือความเสื่อมกับความสลายแห่งธรรมต่าง ๆ เหล่านั้น ๆ
               อีกนัยหนึ่ง ชรามรณะ  มีความหมายว่า  ความสำนึกในความขาด  พลาด  หรือพรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น   ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้น  สลายหรือพลัดพรากกับภาวะชีวิตนั้น ๆ  หรือการได้มีได้เป็นอย่างนั้น ๆ   ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาผสมก็คือ  โสกะ  ปริเทวะ   ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส  พ่วงเข้ามาด้วยความรู้สึกคับแค้น    ขัดข้อง   ขุ่นมัว   แห้งผากในใจ   หดหู่  ซึมเซา  กระวนกระวาย  ไม่สมหวัง และทุกขเวทนาต่าง ๆ     สำหรับชรามรณะนี้ก็มิได้หมายเอาเพียงความเสื่อมกับความสลายของสิ่งที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น  แต่รวมไปถึงสิ่งทั้งปวงที่เป็นนามธรรมด้วย.
.
               กระบวนการของปฏิจจสมุปบาท 12 หัวข้อ
               องค์ประกอบ 12 หัวข้อของปฏิจจสมุปบาทที่กล่าวมาแล้ว  ย่อมมีความสัมพันธ์อิงอาศัยและสนับสนุนกัน  เป็นปัจจัยอาศัยสืบต่อกันไปเป็นรูปวงกลม  ไม่มีต้น  ไม่มีปลาย  ไม่มีองค์ประกอบตัวใดเป็นตัวเหตุเริ่มแรกที่สุด  แม้ปฏิจจสมุปบาทแต่ละช่วงจะมีความสัมพันธ์ไปทุกช่วง แต่ในทางปฏิบัติ  (ในความเป็นจริง)  ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปหรือดำเนินไปตามลำดับเสมอไป  บางครั้งก็อาจจะมีความสัมพันธ์ข้ามช่วงก็ได้  เช่น  เพราะมีอวิชชา  จึงเกิดตัณหาขึ้น  เพราะตัณหาเป็นปัจจัย สังขาร  (บาปบุญ)  จึงมี เป็นต้น  จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า  ปฏิจจสมุปบาททุกช่วงต่างก็เป็นปัจจัยที่เป็นเหตุเป็นผลของกันและกันทั้งสิ้น  เปรียบเสมือนกับอวัยวะในร่างกายของคนเรา  แม้จะมีหลายส่วนก็จริง  แต่เมื่อบุคคลนั้น  เดิน  ยืน  นั่ง  หรือนอน  ณ ที่ใด  อวัยวะก็จะพร้อมกันและจะทำงานอย่างประสานกันได้ทุกขณะองค์ประกอบของปฏิจจสมุปบาทนั้น  จะนับตั้งแต่อวิชชาถึงชรามรณะเท่านั้น  ส่วนสุดท้าย คือ  โสกะ   ปริเทวะ   ทุกข์   โทมนัส   อุปายาส  เป็นเพียงตัวพลอยผสม  (ตัวประกอบ)  ที่พ่วงเข้ามาซึ่งมันจะเกิดเฉพาะบุคคลที่มีอาสวะกิเลสเท่านั้น       เมื่อมีชรามรณะแล้วก็จะเป็นตัวการหมักหมอมอาสวะ  ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชาหมุนวงจรต่อไป  
 กระบวนการที่เป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาท 12 หัวข้อนั้น  ย่อมเป็นเหตุผลหรือเป็นปัจจัยของกันและกัน  ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในสายเกิดหรือสายดับ.

               ความสัมพันธ์ของปฏิจจสมุปบาท 12 หัวข้อ
              1.  อวิชชา               สังขาร   :   เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง  ไม่เข้าใจชัดเจนถึงคิดปรุงแต่ง คิดวาดภาพไปต่าง ๆ นานา  เหมือนคนที่ไม่เห็นของทายที่อยู่ในกำมือ  จึงคิดหาเหตุผลมาทาย  เดา
และถกเถียงต่างๆ หรือเหมือนคนที่เชื่อว่าเทพเจ้าเมื่อเกิดความชอบใจก็จะดลบันดาลให้ความปรารถนาของตนสมประสงค์  ก็จึงปรุงแต่งคำอ้อนวอน  บวงสรวง  และการกระทำการเช่น ไหว้ สังเวย เป็นต้น 

               2.  สังขาร         วิญญาณ  :   เมื่อมีเจตนาคือตั้งใจมุ่งหมายที่จะเกี่ยวข้อง  วิญญาณที่เห็น ที่ได้ยิน  เป็นต้น จึงจะเกิดขึ้น   แต่หากไม่สนใจ  ไม่ใส่ใจ  แม้จะอยู่ในวิสัยที่จะรับรู้ได้วิญญาณก็จะไม่เกิดขึ้น เหมือนคนที่กำลังมุ่งใส่ใจในงานบางอย่าง  เช่น อ่านหนังสืออย่างเพลิดเพลิน จิตรับรู้เฉพาะเรื่องอ่าน  ถึงจะมีเสียงเพลงดังควรจะได้ยิน  ก็ไม่ได้ยิน  หรือแม้ยุงกัดก็ไม่รู้สึกตัว  เป็นต้น
               อีกประการหนึ่ง  การรับรู้ของจิตในอารมณ์หรือสิ่งเดียวกันของคนหลายคน  จิตก็ถูกปรุงแต่งไปไม่เหมือนกัน เช่น จิตรับรู้มีดเป็นอารมณ์เดียวกัน  คนหนึ่งอาจรับรู้มีดในฐานะอาวุธ  อีกคนหนึ่งอาจรับรู้ในแง่สิ่งที่จะใช้ประโยชน์ในครัวเรือน  ขณะอีกคนหนึ่งรับรู้มีดในฐานะเป็นชิ้นโลหะชิ้นหนึ่ง  ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าคนนั้นเป็นโจร  เป็นคนครัว  เป็นคนรับซื้อโลหะ  ตัวอย่างดังกล่าวแสดงถึงเจตจำนงที่อยู่ในภาวะแห่งความนึกคิดเป็นสำคัญ

               3.  วิญญาณ               นามรูป  :  วิญญาณกับนามรูปอาศัยซึ่งกันและกัน  นั่นคือเพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ  เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป  หากจะถามว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปได้อย่างไร ?   อาจตอบคำถามโดยอาศัยเหตุผล 2 ข้อ ต่อไปนี้คือ
                    (1)  จิตรับรู้ต่ออารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น  ตามองเห็นของสิ่งหนึ่ง  หูได้ยินเสียงอย่างหนึ่ง  เป็นต้น ลักษณะเช่นนี้  แท้จริงก็คือรับรู้ต่อนามรูปต่าง ๆ นั่นเอง   สิ่งที่มีสำหรับบุคคลคนหนึ่งก็คือสิ่งที่มีอยู่ในความรับรู้ของเขาในขณะนั้น ๆ  (นามรูปที่ถูกวิญญาณรับรู้ในขณะนั้น ๆ เท่านั้น)  เช่น ดอกกุหลาบที่มีอยู่  ก็คือดอกกุหลาบที่กำลังถูกรับรู้ทางจักษุประสาท หรือทางมโนทวารในขณะนั้น ๆ เท่านั้น
                    (2)  นามรูปที่เนื่องอาศัยวิญญาณย่อมมีคุณภาพสอดคล้องกับวิญญาณนั้นด้วย  โดยเฉพาะนามทั้งหลายก็คือคุณสมบัติของจิตนั่นเอง  เมื่อความคิดปรุงแต่ง  (สังขาร)  ดีงาม  ก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณที่จะรับรู้อารมณ์ที่ดีงาม  และในแง่ที่ดีงาม  ในขณะนั้นจิตใจก็ปลอดโปร่งผ่องใสตามไปด้วย  อากัปกิริยาหรือพฤติกรรมต่าง ๆ ทางด้านร่างกายก็แสดงออกในทางที่ดีงามสอดคล้องกัน  เช่น เมื่อรู้สึกรักใคร่มีไมตรี  (สังขาร)  ก็เกิดการรับรู้อารมณ์ส่วนที่ดีงาม  (วิญญาณ)  จิตใจก็แช่มชื่นเบิกบาน (นาม)  สีหน้าก็สดชื่นยิ้มแย้มแจ่มใส  รวมถึงกิริยาอาการต่าง ๆ ก็กลมกลืนกัน  (รูป)

               4.  นามรูป               สฬายตนะ  :  การที่นามรูปจะปฏิบัติหน้าที่หรือการตัดสินใจหรือเลือกกระทำการใด ๆ นั้น  จะต้องอาศัยความรู้ต่อโลกภายนอก หรือดึงเอาความรู้เดิมที่สะสมไว้ก่อน
ดังนั้น นามรูปส่วนที่มีหน้าที่เป็นสือหรือช่องทางที่ต่อรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ อายตนะที่เกี่ยวข้องในกรณีนั้น ๆ  ที่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัวและกระทำหน้าที่สัมพันธ์สอดคล้องกับปัจจัยข้อก่อน ๆ ตามลำดับ  ตัวอย่างเช่น  นักฟุตบอลที่กำลังเล่นบอลอยู่ในสนามบอล   อายตนะ เช่น ประสาทตา  เป็นต้น ที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์เกี่ยวกับกีฬาที่เล่นจะต้องอยู่ในสภาพที่ตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์ที่เกียวข้องกับกีฬาที่เล่นด้วยความไวเป็นพิเศษ   ส่วนอายตนะที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่อยู่ในสภาพที่ตื่นตัวที่จะรับรู้อารมณ์  เช่น  ความรู้สึกกลิ่น  ความรู้รส เป็นต้น  อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในขณะที่เขากำลังเล่นฟุตบอลนั้น


               5.  สฬายตนะ                ผัสสะ  :  เมื่อใดก็ตามที่อายตนะปฏิบัติหน้าที่ของมัน  การรับรู้ก็จะเกิดขึ้น  โดยมีองค์ประกอบ 3 อย่าง เข้ามาบรรจบกัน  คือ อายตนะภายใน  (ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  ใจ)  อย่างใดอย่างหนึ่ง  กับอายตนะภายนอก  (อารมณ์ภายนอก)  (รูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ  ธัมมารมณ์)  อย่างใดอย่างหนึ่ง  และวิญญาณ  (จักขุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  ฆานวิญญาณ  ชิวหา-วิญญาณ  กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ)  อย่างใดอย่างหนึ่ง   การรับรู้ก็เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับอายตนะนั้น ๆ

               6.  ผัสสะ      เวทนา  :  เมื่อผัสสะ  (การสัมผัส)  เกิดขึ้นแล้ว  จึงเกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นตามมา  ความรู้สึกที่เกิดนั้นแยกได้ 3 อย่าง คือ ความรู้สึกสบาย  เพลิดเพลินเป็นสุข  เรียกว่าสุข-เวทนา   ความรู้สึกไม่สบาย  เป็นทุกข์  เจ็บปวด  บีบคั้น  เรียกว่า ทุกขเวทนา   ความรู้สึกเฉย ๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ เรียกว่า อุเบกขาเวทนา  หรือ อทุกขมสุขเวทนา
               ปฏิจจสมุปบาทตั้งแต่หัวข้อที่ 3 - 7  (วิญญาณ - เวทนาป  นี้ เป็นกระบวนการในช่วง (ท่อน)วิบาก คือผลของกรรม    หัวข้อที่ 5 - 6 - 7 ไม่เป็นบุญ  ไม่เป็นบาป  ไม่ดี  ไม่ชั่ว  ในตัวของมันเอง แต่จะเป็นสาเหตุแห่งความดี  ความชั่วได้ต่อไป

               7.  เวทนา         ตัณหา  :  เมื่อได้รับหรือเสวยสุขเวทนา  ก็เกิดความพอใจ  ชอบใจ  ติดใจ อยากได้ และปรารถนาที่จะรับยิ่ง ๆ ขึ้นไป  เมื่อได้รับหรือเสวยทุกขเวทนาก็ขัดใจ  เสียใจ  เจ็บปวด  ทรมาน  อยากให้สิ่งเหล่านี้สูญสิ้นไป  พินาศไปเสีย  อยากให้ตนพ้นไปจากทุกขเวนาเหล่านั้น  และพยายามดิ้นรนแสวงหาสิ่งอื่นเพื่อให้ได้สุขเวทนาต่อไป   เมื่อได้รับหรือเสวยอุเบกขเวทนาก็เฉย ๆ ชวนให้เกิดอาการซึมเซา  ซึ่งเป็นโมหะและเป็นสุขเวทนาอ่อน ๆ ที่อาจทำให้เกิดความพอใจได้  และอาจเป็นเชื้อให้เกิดความอยากได้สุขเวทนายิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
               ตัณหจะแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  คามอยากได้เบญจกามคุณ   อยากได้ภาวะแห่งชีวิตบางอย่าง   เช่น   ความเป็นผู้ร่ำรวย   เป็นผู้มีเกียรติยศ   เป็นต้น    หรืออยากพ้นไปจากภาวะที่ไม่น่าปรารถนา  เบื่อหน่าย  ตลอดถึงอยากตายไปเสีย.

               8.  ตัณหา          อุปาทาน  :  เมื่ออยากได้  หรือปรารถนาสิ่งใด  ก็ยึดมั่นเกาะติด ผูกมัดตัวเองไว้กับสิ่งนั้น  ยิ่งมีความอยาก  ความปรารถนามากเท่านใด  ก็ยิ่งยึดมั่นมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเท่านั้น  ในทางตรงกันข้าม หากประสบทุกขเวทนา  ก็อยากพ้นไปจากภาวะเช่นนั้น  และเกิดความยึดมั่นในแง่ของความเกลียดชังต่อสิ่งนั้น  หากสิ่งนั้นสร้างความเจ็บปวดให้ตนมาก  ก็ยิ่งเกลียดชังอย่างรุนแรงต่อสิ่งนั้น  ดังนั้น  ตัณหาจึงทำให้เกิดอุปาทานในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเข้าไปยึดติดในวัตถุ-กาม  ทั้งในแง่ของความต้องการอยากได้  และแง่ของความเกลียดชัง    ยึดมั่นติดอยู่กับความเห็น ทั้งที่เป็นความเห็นถูก  และความเห็นผิด   ยึดมั่นติดอยู่กับศีลพรต  ทฤษฏี  และหลักการอย่างใดอย่างหนึ่ง  และการยึดมั่นในตัวตน  จนกลายเป็น "ตัวเรา" "ของเรา"  สำคัญตนเองว่าเป็นอย่างนั้น  เป็นอย่างนี้  เป็นต้น

               9.  อุปาทาน                ภพ   :  ความเข้าไปยึดมั่นติดข้องนั้น  ได้กลายเป็นการผูกมัดตัวเองไว้ก็เกิดความมีความเป็นขึ้น  ที่เรียกว่า "ภพ"  เช่น การยึดมั่นในตัวตน  หากการยึดมั่นรุนแรงก็จะทำให้พฤติกรรมเฉพาะตนเป็นพิเศษลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งเด่นชัด  เช่น อยากเป็นคนมีเกียรติ  ก็ย่อมยึดมั่นเอาคุณค่าอย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความมีเกียรติ  แล้วก็ยึดมั่นในแบบของความประพฤติที่สอดคล้องกับคุณค่านั้น   ยึดมั่นในตัวตนที่จะมีเกียรติอย่างนั้น  ๆ  เมื่อเป็นเช่นนั้น   เจตจำนงและการกระทำก็จะมุ่งไปในทิศทางที่ตนยึดมั่นไว้นั้น

               10. ภพ      ชาติ  :  เมื่อเกิดมีตัวตนซึ่งสำนึกว่าเรา ได้เป็นนั่น  เป็นนี่ อยู่ในภาวะชีวิตอันนั้น  อันนี้   ซึ่งอาจจะตรงกับเจตจำนง  ซึ่งกล่าวเป็นภาษาธรรมว่า ตัวตนเกิดขึ้นในภพนั้น  จึงมีตัวเราที่เป็นเจ้าของ  (ถ้าเกิดมีตัวเรา  ก็ต้องมีคำว่า "ของเรา" ตามมาอีก) เช่น เราเป็นโจร  ตัวเราเป็นคนไม่มีเกียรติ  ตัวเราเป็นผู้แพ้  ฯลฯ  ชาติหรือความเกิดแห่งตัวตนจะเห็นได้ชัดเจน  เมื่อเกิดกรณีขัดแย้ง  ถกเถียง  ซึ่งจะเกิดตัวตนที่เป็นนั่น  เป็นนี่  และชาติจะเห็นชัด เมื่อมีมรณะเข้ามาใกล้ตัว

               11. ชาติ        ชรามรณะ  :  เมื่อมีตัวตนที่ได้เป็นอย่างนั้น  อย่างนี้  ก็ย่อมจะต้องมีตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  อย่างนี้  ตัวตนที่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น  อย่างนี้ ก็จะถูกคุกคามด้วยความขาด  ความพร่อง  ด้อยลง  เสื่อมลงไป  เมื่อตัวตนเกิดขึ้นในภาวะชีวิตที่ไม่ต้องการ  ความทุกข์แบบต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้น เช่น  เกิดความเศร้าโศก   ความคร่ำครวญ  เป็นต้น
               ในชีวิตประจำวันของคนเราปัจจุบัน  มนุษย์มีการแข่งขันกันมากขึ้น  เมื่อมีการแข่งขัน ก็ย่อมมีแพ้  มีชนะกันเกิดขึ้น  เมื่อมีแพ้ มีชนะ  ก็ย่อมมีผู้แพ้ ผู้ชนะ  เกิดตามมา  เช่น ความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่า "เราเป็นผู้ชนะ"  ก็เท่ากับ  ตัวเราเกิดขึ้นในความเป็นผู้ชนะ  (ชาติ)        แต่ความเป็นผู้ชนะของเราในความหมายที่สมบูรณ์ก็พ่วงเอาความมีเกียรติ  ความยกย่องเยินยอ  ความได้ผลประโยชน์  ความนิยมชมชอบ  การยอมรับของผู้อื่น เป็นต้นไว้ด้วย   เมื่อเป็นผู้ชนะตามเจตจำนงมาแต่แรก  ก็เป็นผู้สมหวังเมื่อสมหวังก็จะเกิดความรู้สึกที่ผูกมัดตัวเองไว้กับความเป็นผู้ชนะแน่นแฟ้นขึ้นพร้อมกับความกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะสูญสิ้นไปจากตน   หากมันสูญสิ้นไป ก็กลัวต่อไปว่า  ความเป็นผู้มีเกียรติ  ความนิยมยกย่อง  การยอมรับของผู้อื่น ก็คงค่อย ๆ สูญสิ้นไปด้วย  ดังนั้น ตัวตนเป็นเช่นนี้ก็จะถูกคุกคามด้วยความเสื่อมโทรม  (ชรา)  และความสูญสลาย  (มรณะ)

               ปฏิจจสมุปบาทกับวัฏฏะ
               กระบวนการของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นโดยการสนับสนุนกันและกันในหลักปฏิจจสมุปบาท  12 หัวข้อนั้น  หากศึกษาให้ละเอียดก็จะพบว่า  เหตุปัจจัยต่าง ๆ จะเกิดขึ้นและสนับสนุนกันเป็นแบบลูกโซ่และกระบวนการดับก็จะดับเป็นแบบลูกโซ่เช่นเดียวกัน  ชีวิตมนุษย์ก็จะมีสภาพเช่นว่านี้  การเกิดจนถึงการสลายไปแห่งขันธ์ 5  ก็จะเป็นวงจรวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป      หากไม่มีการทำลายหรือการดับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก่อน  ในการดับนั้น เราสามารถดับปัจจัยตัวใดก่อนก็ได้  การสืบต่อของปัจจัยอื่นก็จะไม่มี   เหมือนกับการตัดห่วงของลูกโซ่  เราจะตัดห่วงข้อใดก่อน ก็ได้   ดังนั้น ในการดับหรือทำลายเหตุปัจจัยในปฏิจจสมุปบาท  12  หัวข้อนั้น  เราตัดหรือทำลายตัวใดก็ได้  ไม่จำเป็นที่จะดับปัจจัยที่ยกมากล่าวคือ อวิชชา
               หลักทางพุทธศาสนาได้แสดงธรรมไว้หมวดหนึ่ง  ซึ่งมีกระบวนการของเหตุปัจจัยที่อาศัยกันเกิดและสืบต่อกันไป  นั่นคือ การเวียนว่ายตายเกิดแห่งชีวิต  ที่เรียกว่า  "วัฏฏะ"  ซึ่งแปลว่า วน  หรือวงกลม วัฏฏะมี  3  อย่างคือ
               1.  กิเลสวัฏฏะ  คือ แรกผลักดันของกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดการกระทำต่าง ๆ  กิเลสได้แก่  อวิชชา   ตัณหา  อุปาทาน
               2.  กัมมวัฏฏะ  คือ การกระทำต่าง ๆ ที่มีเจตจำนงหรือเจตนา ซึ่งก่อให้เกิดผลต่อ ๆ ไป  กัมม-วัฏฏะ  ได้แก่  สังขาร  ภพ
               3.  วิปากวัฏฏะ  คือ ความเป็นไปแห่งชีวิตอันเป็นผลมาจากการกระทำ  หากทำดี ผลก็จะออกมาดีหรือตอบสนองในทางดี   หากทำชั่ว ผลก็จะตอบสนองในทางชั่ว  แต่ผลของการกระทำอาจจะให้ผลช้าหรือเร็วเท่านั้น  วิปากวัฏฏะ  ได้แก่  วิญญาณ   นามรูป   สฬายตนะ  ผัสสะ  เวทนา
              จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า  วัฏฏะ  3  นี้เป็นกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิต  เป็นวงจรหมุนเวียนอยู่ตลอดไปตราบเท่าที่ยังมีเหตุปัจจัยเหลืออยู่ เช่น  กิเลสเป็นเหตุให้ทำกรรม  เมื่อเกิดการกระทำเมื่อใด  การกระทำนั้นก็จะก่อให้เกิดผลตามมา  จึงวนกันไปไม่มีที่สิ้นสุดเป็นแบบวงกลม  คือ กิเลส กรรม   วิบาก
               วัฏฏะทั้ง 3  ข้างต้นนั้น   หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่กัน  ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย
               การจัดปฏิจจสมุปบาท 12 หัวข้อเข้าในวัฏฏะ 3
               เหตุปัจจัยที่อุดหนุนกันเกิดเป็นกระบวนการตามลำดับในหลักปฏิจจสมุปบาท  สามารถจัดเข้าในวัฏฏะ 3  ได้ดังนี้
               อวิชชา  ตัณหา  อุปาทาน   จัดเข้าใน กิเลสวัฏฏะ
               สังขาร  ภพ     จัดเข้าใน กัมมวัฏฏะ
               วิญญาณ   นามรูป  สฬายตนะ  ผัสสะ  เวทนา  ชาติ   จัดเข้าใน วิปากวัฏฏะ 
              โดยหลักการทั่วไปในการปฏิบัติเพื่อทำลายลูกโซ่แห่งชีวิต  ซึ่งเป็นการตัดวงจรมิให้มีการสืบต่อหรือสนับสนุนของปัจจัยอื่น  ท่านผู้รู้กล่าวว่า เราควรจะทำลายหรือตัดลูกโซ่ช่วงที่เป็นกิเลส  คือ อวิชชาตัณหา   และอุปาทานก่อน   โดยเริ่มจากการทำลายตัวตัณหา  เพราะเมื่อตัณหาน้อยหรือเบาบางลง  อุปาทานก็น้อยและเบาบาง  แล้วอวิชชาคือความไม่รู้  ความเขลา  ความมืดบอดก็ค่อย ๆ จากลงและสูญสิ้นไปด้วย
               ตามหลักแห่งอริยสัจ  ตัณหาเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์  (คือตัวสมุทัย)   วิธีละหรือทำลายก็ดำเนินตามอริยมรรคมีองค์ 8  แต่ในหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น  ถ้าตัวสายโซ่ตามที่เรียงลำดับไว้  ก็คือการละหรือทำลายอวิชชา  เพราะอวิชชาเป็นตัวทำให้สัตว์โลกมืดเขลา  ปิดบังไม่ให้มองเห็นตามสภาพความเป็นจริงของชีวิตและสิ่งต่าง ๆ  จึงทำให้เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการอื่นสืบต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด   การทำลายอวิชชาก็เหมือนกับการออกจากที่มืด  เมื่อวิชชาเกิดขึ้นก็เหมือนกับคนตาดียืนอยู่ในที่มีแสงสว่าง  สามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้
               ดังนั้น  ในหลักปฏิบัติแล้ว  เราสามารถจะปฏิบัติตามหลักอริยสัจ  หรือปฏิจจสมุปบาทได้  แต่หากเป็นหลักปฏิบัติรวม ๆ  นักปราชญ์กล่าวว่า จะต้องปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลส  คือ อวิชชา  ตัณหา และอุปาทาน นั่นเอง

               ปฏิจจสมุปบาทแสดงหลักความจริงสายกลาง
               ความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทที่ถูกต้อง  เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ  และความเห็นที่ถือว่าถูกต้องนั้นจะต้องเป็นความเห็นเป็นกลาง ๆ  ไม่เอียงสุดโด่งไปข้างใดข้างหนึ่ง  ปฏิจจสมุปบาทเป็นพุทธธรรมที่แสดงความจริงสายกลางนี้    บางทีเรียกว่า  "มัชเฌนธรรม"    ซึ่งว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์  ตามกระบวนการของธรรมชาติ  การที่พระพุทธองค์ทรงนำเอาหลักปฏิจจสมุปบาทนี้มาแสดงก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติจริง ๆ  พระพุทธเจ้าไม่ทรงสนพระทัยในการส่งเสริมความพยายามเพื่อการเข้าถึงสัจธรรมด้วยวิธีการคิดหาเหตุผล  เพื่อถกเถียงแล้วสร้างหลักการ  ทฤษฎีต่าง ๆ ขึ้นมา  ซึ่งไม่อาจปฏิบัติตามได้หรือหากปฏิบัติตามได้แต่ไร้เสียซึ่งคุณค่าทางจริยธรรม  นี่ก็เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสนพระทัยในด้านอภิปรัชญา  ในการแสดงธรรมนั้น พระพุทธเจ้าทรงมุ่งถึงผลของการปฏิบัติเป็นสำคัญ  อันจะทำให้คนสามารถดำเนินชีวิตไปได้ราบรื่น มีความสุขและความสำเร็จตามอัตภาพของแต่ละบุคคล
               หลักปฏิจจสมุปบาทนั้น  แสดงความจริงเป็นสายกลาง  การที่เรียกว่าสายกลางก็เพราะมีการเปรียบเทียบกับลัทธิหรือปรัชญาอื่นที่มีทัศนะสุดโต่งเอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง  เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องความจริงสายกลางชัดเจนยิ่งขึ้น  จึงควรนำเอาลัทธิที่มีทัศนะสุดโต่งมาศึกษาเทียบ  ซึ่งลัทธิที่จะนำมาศึกาจะจัดไว้เป็นคู่ ๆ ซึ่งแยกได้ 4 คู่ คือ
               คู่ที่  1
                      1.  อัตถิกวาทะ   ลัทธินี้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง
                      2.  นัตถิกวาทะ   ลัทธินี้เห็นว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่จริง
               คู่ที่  2
                      1.  สัสสตทิฏฐิ   ลัทธิที่ยึดถือว่า  สิ่งทั้งหลายเที่ยงแท้
                      2.  อุจเฉททิฏฐิ   ลัทธิที่ยึดถือว่า  สิ่งทั้งหลายขาดสูญ
               คู่ที่  3
                      1.  อัตตการวาทะ  ลัทธินี้ยึดถือว่า สุข ทุกข์ เป็นต้น ตนทำเอง
                      2.  ปรการวาทะ ลัทธินี้ยึดถือว่า  สุข  ทุกข์  เป็นต้น  เกิดจากตัวการ ภายนอก
               คู่ที่  4
                      1.  การกเวทกาทิเอกัตตวาทะ ลัทธิที่ยึดถือว่า  ผู้กระทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นตัวการเดียวกัน
                      2.  การกเวทกาทินานัตตวาทะ ลัทธิที่ยึดถือว่า  ผู้กระทำและผู้เสวยผล เป็นต้น เป็นคนละอย่างแยกขาดจากกัน
              ทัศนะของลัทธิทั้ง  4  คู่นี้   ตามทัศนะของพุทธศาสนามองว่า  เป็นทัศนะที่เอียงไปสุดข้างหนึ่ง  (สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง)  และจัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ  ดังพุทธพจน์ที่ตรัสกับท่านกัจจานะว่า  "ดูก่อนกัจจานะ ข้อที่ว่า "สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริง"  นี้ก็เป็นที่สุดข้างหนึ่ง  และข้อที่ว่า "สิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่จริง"  นี้ก็เป็นที่สุดอีกข้างหนึ่ง  ตถาคตย่อมแสดงธรรมเป็นกลาง ๆ ไม่เข้าไปยึดติดที่สุดทั้งสองนั้น  (ตถาคต ตรัส) ว่า
              (1)    เพราะอวิชชา  เป็นปัจจัย สังขาร     จึงมี
                       เพราะสังขาร  เป็นปัจจัย วิญญาณ  จึงมี
                       ........................... ฯลฯ ...........................
              (2)    เพราะอวิชชานี้ สำรอกดับไปไม่เหลือ   สังขาร     จึงดับ
                      เพราะสังขารนี้ ดับไป     วิญญาณ  จึงดับ
                      .................................. ฯลฯ ................................."   
 
 
               สรุปปฏิจจสมุปบาท
               หลักปฏิจจสมุปบาทนั้นถือว่า  เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งประการหนึ่ง   อาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจแห่งคำสอนทางพระพุทธศาสนา   ศาสตราจารย์ ริส เดวิด  ได้นิยามคำว่า "ปฏิจจสมุปบบาท" ว่าเป็น "กฎแห่งสากลจักรวาล"  หมายความว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นกฎที่ครอบคลุมความเป็นไปของชีวิตและจักรวาลทั้งหมดไว้  การทำให้แจ้งหลักธรรมดังกล่าวจะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในกระบวนการของชีวิตและจักรวาลทั้งหมด    การปฏิบัติเพื่อทำโซ่แห่งชีวิต  (ปฏิจจสมุปบาท) นั้น สามารถทำได้โดยตัดช่วงใดช่วงหนึ่งขององค์ประกอบ 12 หัวข้อ  เพราะทั้งหมดนั้นเป็นหตุปัจจัยของกันและกัน  ดังที่พระพุทธองค์ ตรัสว่าดังนี้
                                              อิมสฺมึ  สติ  อิทํ  โหติ.  
                                              เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี
                                              อิมสฺสุปฺปาทา  อิทํ  อุปฺปชฺชติ.    
                                              เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น  สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
                                              อิมสฺมึ  อสติ  อิทํ  น  โหติ.  
                                              เมื่อสิ่งนี้ไม่มี  สิ่งนี้ก็ไม่มี
                                              อิมสฺส  นิโรธา  อิทํ  นิรุชฺฌติ. 
                                              เพราะสิ่งนี้ดับไป  สิ่งนี้ก็ดับไป
               แต่โดยทั่วไป  นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาสอนว่าให้ทำลายช่วงที่เป็นกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา  อุปาทาน  บรรดากิเลสทั้งสามนี้  ควรทำลายตัณหาก่อน  เพราะเมื่อตัณหาน้อย อุปาทานก็น้อยลง และอวิชชาก็จะค่อย ๆ จางลงตาไปด้วย
               อวิชชา คือความมืด   วิชชาเหมือนแสงสว่าง  ตัณหาและอุปาทานเหมือนวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งที่ปิดบังแสงสว่างไว้มิให้มองเห็น  เมื่อเราสามารถทำลายสิ่งที่ขวางกั้นแสงสว่างเสียได้  แสงสว่างก็จะส่องเข้าไปทำให้ความมือหายไป  เราก็สามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในเงามืดได้อย่างชัดเจน  คนส่วนใหญ่นั้นมักตกอยู่ในแดนของอวิชชา  จึงมืดบอดไม่รู้สภาพตามความเป็นจริง  การที่ท่านผู้รู้ที่สอนให้ทำลายตัณหาและอุปาทานก่อนนั้น  เป็นคำสอนที่ตรงกับหลักแห่งอริยสัจ 4  กล่าวคือ ตัณห  อุปาทานเป็นสมุทัย  (สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์)   การที่จะทำลายทุกข์ก็จะต้องทำลายตัวเป็นสาเหตุเสียก่อน   การจะปฏิบัติเพื่อทำลายตัวเหตุก็คือการดำเนินตามทางสายกลาง  ได้แก่ อัฏฐังคิก-มรรค  หรือ อริยมรรคมีองค์ 8.
               การศึกษาปฏิจจสมุปบาทให้เข้าใจย่อมทำให้เกิดความรู้เกี่ยวกับสภาวธรรมตามเป็นจริงของชีวิตได้ดังนี้
               1.  การทำให้เข้าใจว่า  ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่แสดงว่าทุก ๆ ปรากฎการณ์ของโลกและชีวิตย่อมมีเหตุมีปัจจัย  ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นตั้งอยู่หรือดับไปอย่างลอย ๆ ปราศจากเหตุปัจจัยสนับสนุน ธรรมทั้ง 12  ประการนี้  มีความเกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่  ดังนั้นท่านจึงเรียกว่า ปัจจยาการ
               2.  ปฏิจจสมุปบาทแสดงให้เห็นลักษณะความจริงของสรรพสิ่งว่ามีลักษณะเป็น อนิจจัง ความไม่เที่ยง  ทุกขัง  ความเป็นสภาวะอันสัตว์ทนได้ยาก  และอนัตตา  เป็นไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยสิ่งต่าง ๆ จึงมีอยู่โดยความสัมพันธ์  สิ่งทั้งหลายมีอยู่เพราะอาศัยเหตุปัจจัย  ไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิม  แม้แต่ขณะเดียวไม่มีอยู่โดยตัวเองมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่เป็นตัวยืนโรงนิรันดร  ดังนั้นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทำให้สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นไปตามกฎธรรมชาติก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง  ไม่คงอยู่  เกิดแล้วสลายไป  ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันและสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันตลอดเวลา  สิ่งทั้งหลายเป็นเพียงส่วนประกอบต่าง ๆ ที่มาประชุมรวมกันเข้า  ตัวตนแท้จริงของสิ่งทั้งหลายไม่มีเมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ที่มาประกอบกันเข้านั้นออกไปหมด  ก็จะไม่พบตัวเองของสิ่งเหล่านั้นเหลืออยู่  ดังนั้น การศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้รู้จักชีวิตในฐานะประกอบด้วยไตรลักษณ์
               3.  ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่สามารถทำลาย สัสสตทิฏฐิ  คือความเห็นที่ว่ามีความจริง บางอย่างคงอยู่อย่างไม่ต้องอาศัยปัจจัยใด ๆ  มีอยู่ด้วยตัวของมันเองอย่างเที่ยงแท้   และอุจเฉททิฏฐิ คือความเห็นที่ว่าสรรพสิ่งเป็นสภาพนขาดสูญ  โดยปราศจากเหตุปัจจัย  เพราะปฏิจจสมุปบาทแสดงว่าสรรพสิ่งที่เราสัมผัสได้ทางผัสสะนั้นมีอยู่จริง  แต่การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นก็อาศัยปัจจัยแก่กัน  ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นหรือสลายไปโดยบังเอิญ  ดังนั้นการรู้จักปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้เราเข้าใจหลัก มัชฌิมาปฏิปทา  ซึ่งเป็นหลักแสดงความจริงแห่งการปฏิบัติที่หลีกเลี่ยงจากความยึดถืออันสุดโต่งทั้ง  2  ขั้ว  ดังนั้นความรู้เรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นสัมมาปัญญา
               4.  ปฏิจจสมุปบาท  จัดไว้เป็น 3  กาล คือ    1. อดีตธรรม   ได้แก่  อวิชชาและสังขาร หมายถึงสิ่งที่เกิดมาแต่อดีตที่ล่วงมาแล้ว  คือ  ความไม่รู้   และสิ่งปรุงแต่งในอดีต    เป็นปัจจัยส่งผลให้ถึงปัจจุบัน    2. ปัจจุบันธรรม ได้แก่ วิญญาณ   นามรูป  สฬายตนะ  ผัสสะ  เวทนา  ตัณหา  อุปาทาน  และภพ  หมายถึง สิ่งที่อยู่ในปัจจุบันนี้เท่านั้น กล่าวคือ ในปัจจุบันนี้มนุษย์เราเกิดมาย่อมมีอัตตภาพตัวตน    และสัมภวชาติ     คือ จิตใจหรือวิญญาณที่ประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึกทางผัสสะมีเวทนา   ตัณหา อุปาทานเป็นประจำอยู่โดยตลอดไปทั้งสิ้น         ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดภพ    ชาติต่อไป  3.  อนาคตธรรม  ได้แก่ ชาติ  ชรามรณะ  หมายถึงเมื่อผ่านปัจจุบันไปแล้ว  ธรรมในปัจจุบัน (ภพ)  จะส่งให้เกิดในกำเนิด 4  อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นชาติต่อไป  ผลของการเกิดก็คือ ชรา  ความแก่  มรณะ ความตาย  โสกะ  ความเศร้าโศก  ปริเทวะ  ความร้องไห้     ทุกขะ  ความทุกข์กาย    โทมนัสะ  ความทุกข์ใจ    อุปายาส  ความคับแค้นใจ เป็นต้น
               5.  ปฏิจจสมุปบาท  แสดงถึง สภาวะของชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงตายชีวิตทุกชีวิตเป็นสภาวธรรมอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยขันธ์ 5  หรือ รูป  นาม  อันเป็นทุกข์   มีการเวียนว่าย ตาย เกิด        เมื่อเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทนี้แล้ว  ย่อมเป็นผู้หายสงสัยในเรื่องโลกและชีวิต  นรกสวรรค์  บุญบาป  ชาตินี้ชาติหน้า และนิพพานวว่าเป็นของมีจริง  ดังนั้นการศึกษาปฏิจจสมุปบาทจึงทำให้เข้าใจถึงตัวสภาวะธรรมชาติ ที่เป็นสังสารธรรม  และประการสำคัญที่สุด ก็คือให้เกิดสัมมาทิฏฐิ  อันเป็นบุรพธรรมในการดำเนินไปสู่ความสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิง.




หนังสืออ้างอิง
- พระเทพเวที , พุทธธรรม . กรุงเทพ ฯ :: โรงพิพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , 2532.
- บรรจบ บรรณรุจิ , ปฏิจจสมุปบาท เกิด - ดำรงอยู่ - ตาย - และสืบต่อ อย่างไร . กรุงเทพ ฯ : พรบุญการพิมพ์ , 2538.
- พุทธทาส ภิกขุ , ปฏิจจสมุปบาท หลักกปฏิบัติอริยสัจจ์ที่สมบูรณ์แบบ. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์ธรรมสภา , 2514.