มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2542]

"จำ Fespic Games ไว้แล้วจะไม่ฆ่าตัวตาย"

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


เฟสปิกเกมส์สุดสิ้นไปแล้ว 1 สัปดาห์ ภาพของการชิงชัยของนักกีฬาพิการนานาชาติ อาจจะยังเป็นที่จดจำฝังลึกอยู่ในใจของหลาย ๆ ท่าน แต่ก็มีอีกมากมายหลายท่าน ที่ความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับชัยชนะ ความภาคภูมิใจของนักกีฬาพิการ และคนพิการ ที่เกี่ยวข้องในงานเฟสปิกเกมส์ กำลังจะจางหายไป

คนไทยมีคำขวัญมายาวนานว่า "กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน" คำขวัญนี้เป็นความจริงทุกประการ และน่าจะเป็นคติสอนใจให้ประชาชนทุกคนไทยทุกคน ทุกวัย ทุกระดับการศึกษาได้รำลึกไว้เสมอว่า "กีฬา คือ การต่อสู้ในสนาม หากมีแพ้ก็ต้องมีชนะ ชีวิตก็เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เกมชีวิตจะต้องมีแพ้มีชนะ ไม่มีวันจะแพ้เสมอไป เกมชีวิตเป็นเกมระยะยาว หากพ่ายแพ้ก็จะต้องรู้จักต่อสู้จนได้ชัยชนะในชีวิต"

กีฬา คือ การต่อสู้ หลังจากได้เรียน ได้รู้ ได้ฝึก ได้ซ้อม และได้ทบทวนให้เกิดความชำนาญในกีฬานั้น ๆ จะต้องซ้อมจนกระทั่งทำลายสถิติของตนเอง ทำลายสถิติของผู้อื่นที่เคยทำไว้ หากยังทำไม่ได้ก็ต้องกลับมาร่ำเรียน ฝึกฝน และฝึกซ้อมทำสถิติใหม่ จึงจะไปสู่ชัยชนะได้

ชัยชนะในเกมกีฬา ก็เปรียบเหมือนชัยชนะในการเรียน ในการงาน ในความรัก ในความก้าวหน้า นำไปสู่ความสำเร็จ ก็คือชัยชนะในชีวิต หากยังไม่สามารถชนะได้ก็จะต้องไม่ย่นย่อท้อถอย จะต้องกลับมาศึกษาหาความรู้ ความชำนาญ เพิ่มประสบการณ์ และวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ทำให้ตนเองมีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้นก็จะต้องประสบชัยชนะในชีวิต และจะต้องจำไว้เสมอว่า เมื่อประสบชัยชนะในการกีฬาได้เหรียญทองอันดับหนึ่ง วันหนึ่งข้างหน้า ก็จะต้องมีผู้ทำลายสถิติ ช่วงชิงตำแหน่งนี้ไปได้

หากคิดได้ดังนี้ ผู้ที่เพลี่ยงพล้ำ พ่ายแพ้ในด้านสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ หรือแม้แต่ในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูง ก็จะต้องไม่ท้อแท้ ไม่ท้อถอย ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า และไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะนำไปสู่การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายผู้อื่น

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มาก เพราะว่าการที่เราเผชิญกับปัญหาเรื้อรัง แก้ปัญหาไม่ตก รวมทั้งปัจจัยพื้นฐาน ที่เราไม่รู้จักมาก่อน แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีของประเทศนอรเวยังลาพักร้อน 3 อาทิตย์ เพื่อไปรักษาโรคซึมเศร้า เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้ผมอยากจะเน้นว่า ใครที่คิดว่าตัวเองท้อแท้ก็ควรรีบไปขอรับคำปรึกษา อย่านิ่งดูดายปล่อยให้อารมณ์เศร้ากัดกร่อนไป จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ การที่คนเราจะเป็นโรคซึมเศร้านั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ จึงไม่ควรจะถือว่าเป็นเรื่องอับอาย เรื่องส่วนตัว หรือเป็นเรื่องที่ไม่ควรบอกใคร การปรึกษาหรือขอคำปรึกษานั้น ควรเริ่มต้นที่เพื่อนสนิท หรือญาติสนิท หรือผู้ใหญ่ที่สนิทสนม อาจรวมไปถึงนายงาน บุคลากรสายสาธารณสุข นักจิตวิทยาไปจนกระทั่งถึงจิตแพทย์

คนที่คิดฆ่าตัวตายอันเนื่องจากโรคซึมเศร้า มักจะมีจิตใจหดหู่ คิดมาก รู้สึกร่างกายอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง สตรีมีแนวโน้มเกิดโรคนี้มากกว่าบุรุษ ไม่มีญาติสนิท เด็กในครอบครัวที่แตกแยก จะตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าได้ง่าย ในประสบการณ์จริงจิตแพทย์หลายท่านบอกว่า คนที่มั่งมีหรืออยู่บนกองเงินกองทอง ก็มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ตลอดเวลา และมีความคิดอยากจะฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกัน โรคซึมเศร้าที่เข้าสู่ระยะอยากฆ่าตัวตายนี้ เป็นระยะที่ควรต้องรับการรักษาโดยจิตแพทย์โดยด่วน จะชักช้ารีรอให้แก้ไขสถานการณ์ ด้วยตนเองแล้ว อาจจะสายเกินไป

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า และมีแนวโน้มฆ่าตัวตาย มีได้หลายลักษณะ

สื่อต่าง ๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้าไปมากในปัจจุบัน ย่อมมีส่วนที่จะชักจูงประชาชน และเยาวชนให้หลีกหนีออกมาจากความเครียด หลีกหนีออกมาจากโรคซึมเศร้า และหลีกหนีออกมาจากความคิดที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม

นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ได้แนะนำว่า การเสนอข่าวเรื่องการฆ่าตัวตายก็มีโอกาส ที่จะลดอัตราเสี่ยง หรืออัตราการฆ่าตัวตายได้ หากการเสนอข่าวนั้นเป็นการเสนอข่าวที่เน้นว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่ทางออกที่ดี ชี้ให้เห็นว่าเหตุผลที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายนั้น เป็นเหตุผลที่เล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบปัญหา สำคัญ ๆ อื่น ๆ ที่ทุกคน ทุกชีวิตได้ยืนขึ้นต่อสู้ และประสบผลสำเร็จมาแล้ว แม้แต่ผู้พิการในเฟสปิกเกมส์ก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมาก การเสนอข่าวในลักษณะให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าชนิดที่เห็นแล้ว ชมแล้ว ได้ยินแล้ว อ่านแล้วเข้าใจ เกิดกำลังใจ เกิดการเปลี่ยนใจ หรือชักนำให้ไปหา บุคลากรทางการแพทย์ หรือปรึกษาจิตแพทย์ การเสนอข่าวในลักษณะนี้จะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้อย่างดียิ่ง

หน่วยงานที่ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของกรมสุขภาพจิตมีอยู่มากมายดังนี้

1. รพ.สมเด็จเจ้าพระยา กทม. 437-7061
2. รพ.ศรีธัญญา นนทบุรี 526-3342
3. รพ.ราชานุกูล กท. 245-4696
4.ศูนย์สุขวิทยาจิต กท. 245-7798
5. รพ.นิติเวช กท. 889-9082
6. รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กท. 394-1846
7. ศูนย์สุขภาพจิตชัยนาท ชัยนาท (056) 411-268
8. รพ.สวนปรุง เชียงใหม่ (053) 276-750
9. ศูนย์ส่งเสริมฯ ภาคเหนือ เชียงใหม่ (053) 890-245
10. รพ.จิตเวชนครพนม นครพนม (042) 513-259
11. รพ.จิตเวชขอนแก่น ขอนแก่น (043) 225-103 ต่อ 128
12. รพ.จิตเวชนครราชสีมา นครราชสีมา (044) 271-667-9
13. รพ.พระศรีมหาโพธิ์ อุบลราชธานี (045) 312-550, 281-048
14. รพ.สวนสราญรมย์ สุราษฎร์ธานี (077) 312-991
15. รพ.จิตเวชนครสวรรค์ นครสวรรค์ (056) 341-281 ต่อ 123

เดือนมกราคม เป็นเดือนใหม่ของปีใหม่ 2542 มีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้น มากมายในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ในวันเด็ก ในกีฬาเฟสปิกเกมส์ และในวันครูที่ผ่านมาล้วนน่าประทับใจ ทั้งหลายนี้ล้วนเป็นสิ่งดี และเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยกันลดปัญหาการฆ่าตัวตายให้หมดสิ้นไป

นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600