มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากสกู๊ปหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน 2541 ]

ศูนย์ป้องกันฆ่าตัวตาย ประเทศไทย...ยังไม่มี

สกู๊ปหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


หากจะกล่าวว่า่การฆ่าตัวตายเป็นแฟชั่นฮิตของสังคมไทยในวันนี้ ก็อาจจะถูกมองว่า เขียนยุยงส่งเสริม เพราะการตายไม่ว่าจะตายแบบไหน วิธีไหน ก็เป็นความสูญเสีย นำมาซึ่งความสลดหดหู่แก่ผู้ใกล้ชิดหรือเกี่ยวข้อง

โดดตึกโชว์...ซดยาพิษ...ใช้ปืนระเบิดขมับ ดูแล้วรูปแบบการฆ่าตัวตายแต่ละรายไม่เคยมีมาตรฐาน

กระนั้นก็ตาม ระยะหลังมานี้มีข้อสังเกตว่า บรรดานักฆ่าตัวตายทั้งไทยและเทศ เริ่มหันมานิยมตายด้วยการโดดจากที่สูงกันมากขึ้น!!

เฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีรายงานว่า มีคนใช้เทือกเขาฟูจิเป็นสถานที่กระโดดฆ่าตัวตาย เมื่อปี 2537 มากถึง 57 ราย ต้นปี 2541 ชาวญี่ปุ่นใช้สถานที่เดียวกัน กระโดดลงมาตาย 58 ราย หน่วยปฏิบัติการค้นหาศพผู้เสียชีวิตของญี่ปุ่นคาดว่า ภายในสิ้นปี 41 บริเวณตีนเขาฟูจิจะต้อนรับศพผู้ฆ่าตัวตายที่ไม่ใช่นักไต่เขา พุ่งขึ้นไม่น้อยกว่า 70 ศพ

หันมาดูเมืองไทยบ้าง ไม่ว่าหนุ่มแบงก์เชียงใหม่ ยักยอกเงินธนาคารถูกจับได้ สาวสติเฟื่องวัย 30 ที่ถูกพ่อแม่กีดกันรัก นักศึกษาปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยดัง 2 แห่ง ที่เห็นว่าตัวเองอาจจบช้ากว่าเพื่อนแค่ครึ่งปี หรือเรียนแล้วไม่ได้เกียรตินิยมอวดพ่อแม่

แต่ละรายที่ว่ามาล้วนมอบความไว้วางใจ เลือกตายด้วยวิธีโดดทั้งสิ้น!

ทั้งนี้รวม 2 รายสดๆร้อนๆ "เล็ก" ศรัณย์ สาครสิน ที่เลือกใช้คลองลาดพร้าวเป็นที่กระโดดไปเจอจุดจบ หรือ ศรีประไพ เฉยฉิว สาวไทยเมียมาเลย์ ที่ใช้ดาดฟ้าชั้น 6 พันทิศแมนชั่น หาดใหญ่ ปลิดชีพ

ดุสิตโพล เคยสำรวจสาเหตุที่ทำให้กลุ่มวัยรุ่นฆ่าตัวตาย พบว่า ยังไงวัยรุ่นก็คือวัยรุ่นวันยังค่ำ แม้สภาพสังคมจะเปลี่ยนไป ทำให้คนกลุ่มนี้โตเร็วผิดปรกติ จนดูเป็นคนที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง แต่ในความเป็นจริงกลับตรงข้าม กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย

โพลดังกล่าวระบุว่า โดยทั่วไปหากวัยรุ่นคิดฆ่าตัวตาย คนที่ยับยั้งเขาได้ 50% คือ พ่อแม่ 27% คือ ตัวเอง ที่เหลือเป็นปัจจัยอื่นและคนรอบข้าง

ขณะที่ พ.ต.ท.วีรพล กุลบุตร อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สามพราน ได้เสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เคยศึกษาไว้ว่า

การห้ามใครไม่ให้ฆ่าตัวตายเป็นเรื่องยาก เพราะไม่รู้ว่าใครจะฆ่าตัวตายเวลาไหน แต่พอมีวิธีสังเกตและป้องกันไม่ให้ฆ่าตัวตายอยู่บ้าง

อย่างแรก ให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม เพราะก่อนฆ่าตัวตายคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากร่าเริงเป็นเศร้า หรือเศร้าเป็นร่าเริงอย่างฉับพลัน ระหว่างเศร้ารุนแรงตื่นนอนเช้าผิดปรกติ แต่งกายพิถีพิถันผิดธรรมดา สีหน้าแววตาแสดงความว่างเปล่า เหมือนคนไม่เหลืออะไรจะวิตกกังวล

ข้อสังเกตถัดมา พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ มักมีการพูดเปรยหรือเขียนจดหมายลาตายล่วงหน้า ถ้าใครพบเห็นคนรอบข้างเข้าข่ายอย่างหนึ่งอย่างใดที่ว่า ไม่ควรปล่อยให้อยู่ลำพัง ควรเข้าไปให้การช่วยเหลือด้วยการพูดคุย ปลอบประโลม ให้กำลังใจและให้ความหวังโดยด่วน

เคยมีผู้รวบรวมสถิติการฆ่าตัวตายในเมืองไทยไว้ว่า เฉลี่ยมีคนไทยคิดฆ่าตัวตายชั่วโมงละ 1 คน เฉพาะที่สุราษฎร์ธานีจังหวัดเดียว จากต้นปี 41 มีคนฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 200 คน

ขณะที่ข้อมูลด้านระบาดวิทยา ของกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า ปริมาณการพยายามฆ่าตัวตายของคนไทย มีตัวเลขสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เฉพาะช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายนปีนี้ มีผู้คิดฆ่าตัวตายหลายวิธี แต่ไม่สำเร็จ เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 1,380 ราย ต่อมาในจำนวนนี้ได้ตายสมใจ 50 ราย

จะว่าเมืองไทยไม่เคยคิดหามาตรการป้องกัน พวกคิดสั้นฆ่าตัวตายเลยก็คงไม่แฟร์ เพราะเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง มีตึกสูงระฟ้าไม่น้อยหน้ากรุงเทพฯอย่างเชียงใหม่หรือหาดใหญ่ ทราบว่าเคยจัดซื้อฟูกยักษ์พองลม ไว้ต้อนรับพวกหนีไฟบนที่สูง และคิดฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึก ไว้ใช้งานกับเขาเหมือนกัน

เพียงแต่กรณีที่หาดใหญ่ โชคร้ายหน่อยที่การติดต่อประสานงานระหว่างผู้ดูแลฟูกฯ ซึ่งยังไม่ทันแกะออกจากห่อ กับผู้กระโดดตึกฆ่าตัวตายไม่สอดคล้องกัน แทนที่จะโดดลงมาแล้วเด้งดึ๋งอยู่บนฟูกพองลม กลายเป็นอัดพื้นตายจมกองเลือด

บทเรียนจากหาดใหญ่ ทำให้นึกถึงหน่วยงานที่รับมือปัญหาด้านนี้โดยตรง อาจจะได้ยินชื่อ "หน่วยสวาท" กันบ้าง หน่วยงานนี้มีชื่อเป็นทางการว่า หน่วยอรินทราช 26 สังกัดกองบังคับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

หน่วยอรินทราช 26 มีภาระหน้าที่รับผิดชอบปัญหาผู้ก่อการร้าย และการช่วยเหลือตัวประกัน ถึงวันนี้ ความสามารถเดียวกันนี้ ปรับเปลี่ยนมาใช้แก้ปัญหาฆ่าตัวตายรายวันได้อย่างสบาย

ปัญหามีเพียงว่า หน่วยอรินทราชมีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่ปัญหาการฆ่าตัวตายแผ่กระจายไปทั่วประเทศ จังหวัดใกล้เคียงอาจไปได้ แต่ไกลออกไปคงไปไม่ถึง

ไม่แน่ถ้าเมืองไทยมีคนฆ่าตัวตายเพิ่มเรื่อยๆ เราอาจเห็นหน่วยงานพิสดารบางหน่วยเกิดขึ้น เหมือนศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา

ถึงแม้วันนี้เมืองไทยยังไม่มีศูนย์แบบนี้ เป็นเรื่องเป็นราวอย่างสหรัฐฯ อย่างเก่งมีแค่ "ศูนย์โฮปไลน์ เปรียญ 9" ที่ รมช.อาคม เอ่งฉ้วน เพิ่งตั้งสดๆร้อนๆ (หมายเลขโทรศัพท์ 282-2445) หวังลดสถิติพวกชอบฆ่าตัวตายรายวัน ระหว่างนี้จึงน่าจะดูคำแนะนำของ เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของสหรัฐฯ ไปพลางก่อน

เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของนครลอสแอนเจลิส ผู้หนึ่งบอกว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายของคนในสังคม ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากปัญหาเดียว แต่เกิดจากความหมักหมมของปัญหา

การฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับความเครียดในชีวิตเสมอ ระหว่างฆ่าตัวตายยังไม่มีสูตรสำเร็จในการป้องกันที่ได้ผล เพราะไม่รู้ว่าใครจะฆ่าตัวตายช่วงไหน หรือวิธีใด ระหว่างพบเห็นผู้กำลังจะฆ่าตัวตาย สิ่งเดียวที่ทำได้คือ การปลอบประโลม และพยายามหาทางป้องกันช่วยเหลืออย่างเต็มที่

กระนั้นก็ตาม จากสถิติการฆ่าตัวตาย พบว่าผู้คิดฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ ต้องจำทนกับภาวะเครียดเรื้อรัง ตกอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว ขาดคนรู้ใจ เห็นใจ แทนที่จะได้พึ่ง กลับหนีหน้าหรือหมิ่นแคลน ทำให้ทุกข์ทรมาน ในที่สุดเมื่อความรู้สึกสิ้นหวังพุ่งเกินขีดบำบัด ถึงตอนนั้นคนเราสามารถฆ่าตัวตายด้วยวิธีง่ายๆ อย่างไม่น่าเชื่อ

เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตาย ของลอสแอนเจลิสรายนี้ สำทับว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า การเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญให้เกิดการลอกเลียนพฤติกรรมฆ่าตัวตายสูง ไม่แพ้สาเหตุอื่น

สื่อมวลชนไม่ควรเสนอข่าวการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรเสนอภาพและรายละเอียดในลักษณะหดหู่ จนมีผลต่อสภาพอารมณ์ผู้อ่าน ไม่ควรอธิบายหรือบรรยายขั้นตอนการฆ่าตัวตายโดยละเอียด แต่ควรชี้ว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่การแก้ปัญหาของชีวิต ถ้าช่วยกันจริงจังจะเซฟชีวิตผู้คิดฆ่าตัวตายไว้ได้มหาศาล

ทำมาทำไปก็มาลงท้ายที่ "สื่อ" แม้สื่อจะยืนยันว่า ทำข่าวสะท้อนปัญหาไปตามหน้าที่ แต่ข้อมูลสำคัญทางวิชาการประเด็นที่ว่า ในพื้นที่ที่ข่าวการฆ่าตัวตายแพร่หลายเพราะสื่อ มีคนฆ่าตัวตายมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีข่าวสารถึง 11 เท่า สื่อก็หนีบ่วงข้อหานี้ไม่พ้นจนได้

ไม่บอกเล่าก็ถูกหาว่าไม่ทำหน้าที่ แต่พอบอกเล่า ก็เจอข้อหายุยงส่งเสริม ใครไม่เคยมาทำหน้าที่สื่อคงไม่รู้ว่า อกไหม้ไส้ขมสักแค่ไหน.

สกู๊ปหน้าหนึ่ง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600