มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2541 ]

"เหยื่อเด็ก" สังเวียนเรียน

น.พ.ชูทิตย์ ปานปรีชา


"สุดสลดใจ นักศึกษาหนุ่มคงแก่เรียน มุ่งมั่นตั้งใจไขว้คว้าเกียรตินิยม กลัวตกวิชาเอก ตัดสินใจแขวนคอตาย กดดันพ่อเป็นด็อกเตอร์พี่เรียนปริญญาโท"
เป็นข่าวที่สะเทือนใจสอดแทรกอยู่ในความร้อนของการเมืองและสังคม

การที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งประพฤติดี เรียนดีมาตลอด ครั้งหนึ่งเคยผิดหวังเพราะเอ็นทรานซ์ไม่ติด เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอกชน ก็คาดหวังว่า ตัวเองจะนำความสำเร็จ หอบปริญญา เกียรตินิยมผูกโบ เป็นของขวัญให้พ่อแม่และตัวเอง แต่ความไม่หนักแน่นของจิตใจ ช่องว่างระหว่างครอบครัว ช่องว่างแห่งความสัมพันธ์ของครอบครัว ก็ทำให้ "เขา" คิดสั้น ผูกคอตาย เพราะเหตุเพียงกลัวสอบตก กลัวไม่ได้เกียรตินิยม กลัวไม่ได้เป็นที่ภูมิใจของพ่อแม่
ทุกวันนี้ สังคม ครอบครัว คาดหวังอะไรจากเด็กกันแน่

น.พ.ชูทิตย์ ปานปรีชา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เหตุการณ์เศร้าสลดที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะมีหลาย ๆ ประเด็นที่ชักนำให้สู่จุดสะเทือนใจได้ เช่น

1. ภาวะการณ์ปัจจุบันที่เด็กหนุ่มคนนี้มีความคิดว่า สิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็น สิ่งที่คิดว่า จะทำให้ตัวเอง มีความสุข พอความสำเร็จกำลังล่มสลาย จึงทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ
2. หรือเพราะต้องการสร้างสถานะตัวเอง สร้างความเป็นลูกให้เท่าเทียมกับพี่สาว ในเมื่อ พี่สาวเรียนจบเกียรตินิยมมาก่อน และกำลังศึกษาปริญญาโท เป็นที่ชื่นชมของพ่อแม่มาก จึงอยากมีความเท่าเทียมตรงนี้บ้าง ไม่แน่ใจว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ ลูก การสร้างลูกให้มีความสำเร็จในชีวิต ของครอบครัวนี้เป็นอย่างไร หรืออาจเป็นเพราะ พ่อแม่สำเร็จการศึกษาสูง เป็นถึงดอกเตอร์ พี่สาวเรียนจบเกียรตินิยม ต่อปริญญาโท เป็นการสร้างความคิดรวบยอดของลูก โดยที่พ่อแม่ไม่เฉลียวใจเลย ทำให้ลูกมีความรู้สึกว่า ต้องเก่งเหมือนพ่อแม่พี่น้อง ถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่ได้รับความสำคัญในบ้าน
3. ระยะหลังเด็กหนุ่มคนนี้ แยกตัวเอง คิดวนไปวนมา กลัวความผิดหวัง อาจจะนอนน้อย สมองมึนงง ร่างกายอ่อนเพลีย ซึ่งสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง เพราะขาดสติ อีกทั้งยังเป็นโชคร้ายของเขา และครอบครัวอย่างมาก เพราะการที่เขาอยู่หอพัก ชอบหมกตัวอยู่คนเดียว ไม่มีใครสนิทสนมเป็นพิเศษด้วย แม้จะมีเพื่อน ก็เป็นเพื่อน ที่คบกันแบบผิวเผิน ยิ่งอยู่ระหว่างการสอบเช่นนี้ ทุกคนย่อมที่จะห่วงตัวเอง มากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว

เมื่อเขามีความทุกข์ ก็ไม่สามารถระบายทุกข์ออกมาได้ ทำให้จิตใจหม่นหมอง รู้สึกแย่ ความหวังล่มสลาย เพราะฉะนั้น ความผิดหวัง ความกลัวรวมทั้งการแยกตัวเอง สุดท้ายเข้าใจว่าเด็กคนนี้น่าจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า และคาดว่าน่าจะเป็นโรคซึมเศร้า
ระยะแรก ๆ โดยไม่มีใครรู้
เมื่อหลาย ๆ อย่างประกอบกันเข้า สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นแล้ว

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับพ่อแม่ ครู อาจารย์และครอบครัวอื่น ๆ ปัญหาที่ดูเหมือน เป็นเรื่องเฉพาะตัว บางครั้งเมื่อต้องแก้ปัญหา อาจต้องใช้การประสานใจจากทุกฝ่าย
กรณีเช่นนี้ หากรอแก้ที่ตัวเด็กฝ่ายเดียวบางครั้งก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว

แม้กลุ่มเพื่อนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยเองก็มีส่วนสำคัญ "กลุ่ม" จะเป็นแรงเสริมกำลังใจ เป็นที่ระบายทุกข์ระบายสุข หากเพื่อนพลาดพลั้งอย่างไร ก็สามารถตักเตือนกันได้ รวมทั้งสังเกตเพื่อนในกลุ่มด้วยกันเองว่า ในช่วงไหนเพื่อนมีความผิดปกติอย่างไร ความผิดปกตินั้น ๆ ก็จะถึงผู้ใหญ่ นี่เป็นการเฝ้าระวังทางธรรมชาติที่ดีที่สุดในวัยเรียน วัยศึกษา

สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองเอง แม้ปากจะบอกว่าไม่ได้คาดหวังความสำเร็จจากลูก อย่างรุนแรงก็ตาม แต่บางครั้งก็อาจมีคำพูดที่ทำให้ลูกไม่เข้าใจชัดเจนจนลูกทำตัวไม่ถูก ไม่รู้พ่อแม่จะเอายังไงกันแน่ เช่น ปากบอกว่าไม่คาดหวังกับลูก ไม่กดดัน ไม่บังคับ แต่เวลาที่พี่ได้เกียรตินิยม พี่สำเร็จปริญญาโท พ่อแม่เองก็แสดงออกชื่นชมจนออกหน้าออกตา โอ๋ลูกคนนั้นให้ความสำคัญกว่าพี่น้องคนอื่นเกิดความรู้สึกว่าเราต้องทำอย่างพี่ให้ได้นะ แล้วพ่อแม่จะรักให้ความสำคัญ ให้ความสนใจเช่นนั้นบ้าง เกิดเป็นการเปรียบเทียบ กันเองระหว่างพี่น้อง
บางครั้งการแสดงออกของพ่อแม่ สำคัญยิ่งกว่าคำพูดเสียด้วยซ้ำ

การแข่งขัน การชิงดีชิงเด่นระหว่างพี่น้อง ครอบครัวและสังคม การคาดหวังจากใบปริญญา การศึกษาค่านิยมเรื่องสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ทำให้เด็กเป็น "เหยื่อ" ของสังคมในที่สุด

ดังนั้นระหว่างนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสอบระหว่างภาค สอบแข่งขัน พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคน ควรสำรวจเอาใจใส่ลูกหลานอย่างใกล้ชิดติดตามได้แล้วว่าลูกหลานของตนมีปัญหาอะไร หรือไม่ และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับลูกหลานที่มี "จุดอ่อนด้านอารมณ์" เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะทนต่อแรงกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้น้อย โอกาสที่จะคิดสั้นคิดมาก คิดผิดมีมากกว่าเด็กปกติ

ซึ่งบางครั้งชีวิตคนทั้งชีวิตก็เป็นกรณีการศึกษาได้ หากสังคมยังไม่เฉลียวใจ ไม่ร้อน ไม่หนาว โอกาสที่เด็กดีมีอนาคต แต่ต้องจบลงด้วยความสะเทือนใจ สังคมก็จะกลายเป็นภาพที่ทับซ้อน เกิดขึ้นเสมอและเกิดขึ้นแล้ว
เมื่อสาว มธ. สอบไม่ได้โดดตึกตายสังเวย "เรียน" ในอีก 2 วันต่อมา
จะต้องมีอีกกี่ศพ สังคมนี้จึงมีสติ

น.พ.ชูทิตย์ ปานปรีชา
อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต


หากมีข้อข้องใจหรือสงสัย ปรึกษาหน่วยงานที่ให้บริการด้านสุขภาพจิต
โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โทร 437-7061, 437-0200-9
หรือใช้บริการ ฮอตไลน์คลายเครียด โทร 1667 ตลอด 24 ชั่วโมง

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600