มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2541 ]

แฟชั่น "ฆ่าตัวตาย" ทางเลือกสังคมเปราะบาง

ศรีสุดา โตประสี


เหตุการณ์นักศึกษาฆ่าตัวตายขณะนี้ดูจะพาดหัวรายวันของหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ด้วยระยะห่างเพียง 3 วัน มีนักศึกษาตัดช่องน้อยหนีหน้าจากโลกนี้ไปแล้ว ถึง 2 รายติด ๆ กัน รายแรกแขวนคอตายในห้องพัก เป็นนักศึกษาชายวัย 21 ปี จากมหาวิทยาลัยหอการค้า ผิดหวังที่ได้คะแนนไม่สูงและกลัวพลาดเกียรตินิยมทั้งที่เกรดสะสมเฉลี่ยมาถึง 3.7 รายถัดมาเป็นนักศึกษาสาววัย 20 ปี ชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัดสินใจกระโดดตึกโหม่งโลกจากชั้น 11 ตึก ภปร. โรงพยาบาลจุฬาฯ เพราะกลัวเรียนไม่จบใน 4 ปี

เป็นความเสียใจแทบแตกสลายของผู้ปกครอง เป็นความเศร้า สะเทือนใจ อย่างยิ่งของ ครูอาจารย์และเพื่อน ๆ ที่รู้ข่าวและรับทราบการจากไปที่ไม่ธรรมดาของคนเหล่านี้ เรื่องราวของการฆ่าตัวตาย เกิดขึ้นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อไหร่ เป็นวิธีที่ได้รับการสั่งสอน สั่งสม หรือ ระบาดมาอย่างไร เป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบ แต่ในอดีตที่ผ่านมารู้แต่ว่า สาเหตุของการฆ่าตัวตายที่มักกล่าวอ้างกันเสมอ คือฆ่าตัวตายเพราะหนีโรคร้าย

แต่นั่นเป็นสภาพที่เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งสภาพสังคมยังไม่สลับซับซ้อน ยุ่งยากเหมือน ปัจจุบัน และคนที่คิดฆ่าตัวตาย หรือ ลงมือกระทำอัตวินิบาตกรรมก็เป็นผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน หรือ ช่วงอายุ 35-51 ปี มาถึงปัจจุบันที่สภาพสังคมซับซ้อนมากขึ้น และการเดินทางรอบโลก สามารถกระทำได้เพียงลัดนิ้วมือเดียว การฆ่าตัวตายของคนไทยจึงมีสภาพที่เปลี่ยนแปลง ไปจากอดีต อันดับแรกคือช่วงอายุจากเดิม 35-51 ปี เปลี่ยนมาเป็น 15-24 ปี ถัดมาเป็นเรื่อง กลุ่มคนเสี่ยงที่มีแนวโน้มเป็นนักเรียน-นักศึกษา มากขึ้น เนื่องมาจากสภาพสังคม ที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมสงบ อยู่กันอย่างเครือญาติถ้อยที่ถ้อยอาศัย กลายเป็นสังคม ที่มีการแข่งขันสูง แข่งขันกันตั้งแต่ลืมตาดูโลกทีเดียว

นายนิติกร มีทรัพย์ รองผู้อำนวยการผ่ายวิชาการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์ อันตรายนี้ว่า สภาพสังคมปัจจุบันมีการแข่ขันสูงมาก แม้แต่ในระบบการศึกษาก็แข่งขันกัน สอบเข้าเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลทำให้คนเกิดความเครียดตั้งแต่เด็ก เดิมกลุ่มคนที่มักฆ่าตัวตายจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่รูสึกผิดหวังล้มเหลวในชีวิต แต่ในวันนี้กลับเป็นกลุ่มรุ่นหนุ่มสาวที่ยังไม่เข้าวัยเบญจเพส

นายกิติกร กล่าวถึงคนฆ่าตัวตายมี 2 แบบ คือ กลุ่มจงใจฆ่าตัวตาย พวกนี้สังเกตยาก และ กลุ่มที่มีความเครียดแล้วไม่มีทางออก จึงพยายามฆ่าตัวตาย มักเกิดขึ้นในกลุ่มนักศึกษา นักเรียน เพราะพวกนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก ต้องตื่นตัวตลอดเวลา ความเครียดจึงสะสม เรื้อรัง เด็กสมัยนี้ อายุแค่ 20 ปี ก็เริ่มเครียดกันแล้ว เมื่อเครียดแล้วไม่มีทางออก ก็เกิดอารมณ์เศร้า รู้สึกชีวิตตีบตัน สิ้นหวัง ไม่มีใครช่วยเหลือ รู้สึกเหมือนอยู่คนเดียวในโลกในที่สุด ต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นทางออก ลักษณะนี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นสูงมาก เพราะมีการ แข่งขันสูง รวมทั้งประเทศนิวซีแลนด์ เพราะนิวซีแลนด์ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับประเทศไทย

"มูลเหตุของการฆ่าตัวตายในเด็กวัยนี้มีอยู่ 2 เรื่องใหญ่คือ เรื่องความรัก และปัญหาเรื่องเรียน วิตกกังวลกลัวเรียนไม่จบ หรือไม่มีงานทำ ไม่รู้อนาคต ซึ่งปัญหานี้เกิดกับเด็กวัยนี้แทบทุกคน แต่ทุกคนมิได้เลือกฆ่าตัวตาย เพราะแต่ละคนมีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน บางคนปรับตัวเก่ง แต่สำหรับคนที่เปราะบางมาก ไม่สามารถทนต่อสภาพกดดันได้ จึงต้องเลือกฆ่าตัวตาย กลุ่มนี้นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่พบ อาทิ เกิดความน้อยใจเมื่อถูกตำหนิ หรือสอบตก นี่เป็นเพียงสาเหตุเสริม คาดว่าน่าจะมีปัญหาหรือความกดดันในจิตใจ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเจอเหตุการณ์เพียงเล็กน้อยก็เหมือนถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงจึงคิดสั้น"

สำหรับการฆ่าตัวตายนั้นในแต่ละวินาทีของแต่ละวัน มีแนวโน้มอัตราการฆ่าตัวตายของ ประชากรสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่ากลัว ข้อมูลเดิมจากสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อัตราการฆ่าตัวตายคิดเป็น 1.9 ต่อ แสนประชากร และเพิ่มขึ้นเป็น 3.11 ต่อแสนประชากร ใน พ.ศ. 2538 และปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7 ต่อประชากร 1 แสนคน แต่ในความเป็นจริงอาจจะมากกว่านี้ เพราะมีจำนวนมากที่เป็นคดีเพราะอับอาย

ส่วนข้อมูลจากกรมตำรวจ และสถานบริการสาธารณสุขทั่วไประบุว่า ปีพ.ศ. 2536 มีอัตราการคิดฆ่าตัวตาย 25.85 ต่อแสนประชากร และ พ.ศ. 2537 เพิ่มขึ้นเป็น 45.05 ต่อแสนประชากร ในขณะที่กลุ่มงานระบาดวิทยากรมสุขภาพจิต รวบรวมข่าวสาร การฆ่าตัวตาย พบว่า ระยะเวลาระหว่างวันที่ 6 กรกฎาคม -31 ธันวาคม 2540 เกิดเหตุการณ์ ฆ่าตัวตายถึง 269 ข่าว ตายสมใจ 289 คน บาดเจ็บ 37 คน ในจำนวนนี้มาจากปัญหาเศรษฐกิจ 81 คน ใช่ปืนยิงตัวตาย 92 ราย แขวนคอตาย 81 ราย กินยาฆ่าแมลง 26 ราย โดดตึก 25 ราย และวิธีอื่น ๆ อีก 35 ราย มิหนำซ้ำยังพาผู้อื่น อาทิ ลูก คนรักและผู้อยู่ใกล้เคียงลาโลกไปด้วยถึง 33 ราย

หากโฟหัสมาที่นักเรียน-นักศึกษา วิธีการฆ่าตัวตายที่ฮิตมาก คือ การกระโดดตึก นั้น นายกิติกรแสดงทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า เป็นเพราะนักเรียน-นักศึกษานอกจากจะคับข้องใจ และทนความกดดันในสภาพสังคมอันเปราะบางเช่นทุกวันนี้แล้ว คนที่เลือกการกระโดดตึก ฆ่าตัวตาย ก็เพื่อประจานสังคม ประจานคนใกล้เคียง รวมถึงครอบครัว อยู่ลึก ๆ แต่จริง ๆ แล้ววิธีการฆ่าตัวตายขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้ที่จะฆ่าตัวตายมากกว่า โดยคนที่มีความก้าวร้าว รุนแรง มักเลือกวิธีค่อนข้างเจ็บปวด เช่น ยิงตัวตาย แต่ถ้าเป็นคนเปราะบาง จะเลือกวิธี ที่ไม่ทำให้รู้สึกทรมานหรือเจ็บปวด เช่น กินยาตาย กระโดดน้ำตาย เป็นต้น แต่วิธีที่นิยมใช้ มากที่สุดสำหรับผู้ผิดหวังในรัก มักใช้วิธีผูกคอตาย รองลงมายิงตัวตาย และกินยาฆ่าแมลง

ดังนั้นเมื่อเกิดมีคนใกล้ชิด หรือเพื่อน จะฆ่าตัวตาย มักมีสัญญาณบอกเหตุ เช่น บ่นอยากตาย เบื่อหน่าย ไม่มีคนเข้าใจ อยากอยู่คนเดียว หากได้ยินเสียงบ่นลักษณะนี้แล้วอย่านิ่งนอนใจ ต้องให้ความเอาใจใส่ และถามไถ่พูดคุย ทั้งนี้เพื่อช่วยลดความกดดันภายในจิตใจ นักเรียน -นักศึกษาที่คิดฆ่าตัวตาย ต้องมีเหตุที่สั่งสม ไม่ใช่เรื่องเพียงเรื่องเดียว และเมื่อถึงเวลา หาทางออกไม่ได้ การฆ่าตัวตายจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ โดยไม่คิดว่าคนที่อยู่ข้างหลัง จะเศร้าโศก อาดูร เพียงใด ดังนั้ก่อนที่จะทำให้เด็กตัดสินใจถึงจุดดังกล่าว พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ นั่นแหละ คือ รั้วที่ล้อมคอกความคิดอันตรายนี้เป็นอย่างดี ส่วนตีวนักเรียน-นักศึกษา เองนั้นความสำเร็จในเรื่องการเรียน การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต การรู้จักปรับตัวปรับใจเมื่อไม่สมหวัง และยอมรับกับความจริง ที่เกิดขึ้น จะเป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จตามที่หวังได้ในที่สุด
หน่วยงานที่บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์
กรมสุขภาพจิตโทรศัพท์ เวลาทำการ
- ศูนย์สุขวิทยาจิต254-7798 09.00-15.00 น.
- โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา437-7061 08.30-16.30 น.
- โรงพยาบาลศรีธัญญา 526-3342 ตลอด 24 ชั่วโมง
- โรงพยาบาลนิติจิตเวช 441-9029 08.30-16.30 น.
- โรงพยาบาลราชานุกูล 245-4696 08.30-16.30 น.
- โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ 394-1846 13.00-16.00 น.
องค์กรเอกชน
- สะมาริตันส์ 249-9978-9 14.00-22.00 น.
- ฮอทไลน์ 276-2950
จันทร์-ศุกร์
08.30-22.00 น.
- ฮอทไลน์ เสาร์-อาทิตย์ 09.00-18.00 น.
- แอคเซ็นเตอร์ 249-5205 อังคาร-เสาร์
13.00-19.30 น.
- สภาสังคมสงเคราะห์ฯ 247-6274-77 08.30-16.30 น.

"การฆ่าตัวตายมีสองชนิด คือ จงใจฆ่าตัวตาย และพยายามฆ่าตัวตาย การป้องกันก็ต้องดูเป็นพวกไหน พวกพยายามฆ่าตัวตาย เขาจะขอความ ช่วยเหลือ ขอความเห็นใจ ขอความรัก พวกนี้ระวังง่าย จะบ่นก่อน ทำงานไม่มี ความสุข บ่นอยากตาย เขียนจดหมายลา แสดงลักษณะเบื่อหน่ายโลก เบื่อหน่าย งาน คนข้างเคียง คนพวกนี้จะบ่นบ่อย ๆ คนเลยมองว่าไม่จริง แกล้งทำ เรียกร้อง ความสนใจ เป็นเด็กไม่รู้จักโต ที่จริงมันมีนัยอยู่ เพราะฉะนั้นในเชิง ป้องกัน ถ้าคนพวกนี้บ่น ต้องเอาใจใส่ หน่อย ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงานบ่น สามีหรือภรรยาบ่น ลูกบ่น ต้องเอาใจใส่ พวกนี้ก่อน หัวหน้างานก็ต้องดูแลลูกน้อง อาจารย์ต้องดูลูกศิษย์ พ่อ-แม่ต้องดูลูก เป็นต้น ช่วยกันระมัดระวัง ยิ่งสถานการณ์อย่างนี้คนมันเปราะอยู่แล้ว หาเรื่องทะเลาะกันอยู่แล้ว ยิ่งต้องดู"
นายกิติกร มีทรัพย์
รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการสำนักงานพัฒนาสุขภาพจิต
กระทรวงสาธารณสุข

"เรื่องของการสื่อสารดูเหมือนไม่สำคัญ แต่สำคัญมาก สื่อสารเป็นการพูดกันให้รู้เรื่อง แต่คนฆ่าตัวตายมันพูดกันไม่รู้เรื่องกับทางบ้าน สังเกตดูการพูดของคนในบ้านที่ไม่เป็นสุข ไม่ได้หันหน้าเข้าหากัน อาจจะพูดกันหันข้าง ขับรถ พูดจริง ๆ ต้องดูตากัน พ่อแม่พูดกับลูกต้องดูตาลูกถึงจะสื่อกันได้ เพราะฉะนั้นต้องสื่อให้รู้เรื่อง พูดให้ชัด หันหน้าเข้าหากัน ในเมืองฝรั่งจะมีศูนย์ป้องกัน แต่ศูนย์ในบ้านเราไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ของกระทรวงสาธารณสุขก็สื่อทางเดียว
เพราะฉะนั้นป้องกันที่ครอบครัวดีที่สุด ครอบครัว-สำนักงาน-เพื่อนบ้าน และชุมชน"

พระพิศาลธรรมพาที
(พระพยอม กัลยาโณ)
ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี
"สาเหตุที่เด็กนักเรียน-นักศึกษาฆ่าตัวตายกันมาก ในระยะนี้ อาตมาว่าสาเหตุมาจาก พ่อแม่บีบคั้น มีแต่ความโลภอยากให้ลูกได้เกรดดี ๆ ได้เกียรตินิยม ให้คนยกย่องว่าลูกของตัวเองเด่น ในสังคม เด็กเองก็เข้าใจชีวิตผิดมาก ไปรักเกรด ไม่รักชีวิต เกิดเป็นมนุษย์นี้ยากนะไม่น่ามา ทำลายง่าย ๆ ไม่คุ้มค่า-ที่พ่อแม่เสียเลือดเนื้อ เลี้ยงดูมาจนโต ขนาดนี้ ตอนเด็กอนุบาล ไม่มีปัญหา ประถมไม่มีปัญหา มัธยมไม่มีปัญหา มาปัญญาอ่อนตอนอุดมศึกษานี่ น่าเสียดาย อาตมาเองไม่มีโอกาส เรียนมหาวิทยาลัย แต่คิดเป็น ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย เรียนจบแค่ป. 4 ก็สามารถทำประโยชน์ให้สังคมได้มาก ไม่น้อยไปกว่าคนเรียนปริญญา เพราะ
ชีวิตคนเรา บางทีเรียนไม่ถึงแต่ว่าความคิดเรา
ถูกต้อง มันดีกว่าเรียนมากแล้วความคิดไม่ถูกต้อง
"เป็นลูกตาสีตาสาไม่ได้เรียนหนังสือฆ่าตัวตาย คนเขาไม่ประณาม แต่ถ้าเป็นนักศึกษา แล้วฆ่าตัวตายแสดงว่างี่เง่า ยิ่งอยู่ยิ่งโง่ ยิ่งโตยิ่งเซ่อ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่มาก แทนที่มีความรู้ท่วมหัวเอาตัวรอด แต่กลับเป็นมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ใครที่เครียด มีความทุกข์แล้วฆ่าตัวตาย ถือว่าเป็นคนไม่ฉลาด พ่อ-แม่-ครู สำคัญอย่าไปยั่วยุต้องได้เกรด ได้คะแนนดี ๆ
สูง ๆ "
"ชีวิตมีความสำคัญ ชีวิตสามารถ ทำอะไรได้ หลายอย่าง สอบไม่ได้ ทำอย่างอื่นได้ เยอะแยะ อยากให้นักศึกษาทุกคน มีค่านิยมใหม่คือ ขอให้ทำดี ทำถูก คิดถูก เรียนไม่จบ ไม่สำคัญ เรียนไม่เก่ง ไม่สำคัญ แต่คิดเก่ง คิดถูก นี่สำคัญที่สุด ทางแก้ไขเรื่องนี้ ต้องแก้จากตัวเอง ต้องให้รู้ว่าเขาเกิดมาทำไม ต้องรู้จักตวาด ความทุกข์ พอทุกข์มาก ๆ- ก็ต้อง "กูไม่ได้เกิดมา เพื่อทุกข์โว้ย" หมายังไม่ฆ่าตัวตาย แมวก็ยังไม่ฆ่าตัวตาย เรื่องอะไรเป็นคนแล้วยังจะมาฆ่าตัวตาย ต้องปลูกฝังให้เด็กอายแมว อายหมา เกิดเป็นคนฆ่าตัวตายอายแมว ในทางศาสนาสอนว่าการฆ่าตัวตายเป็นบาป เป็นความโง่ เป็นความเศร้าหมอง ที่ไม่น่าจะเกิด คนที่ฆ่าตัวตายอารมณ์ต้องร้ายแรงมาก หลวงพ่อปัญญาเคยบอกว่า หมาขี้เรื้อนมันเรื้อนจนหมดตัว ขนไม่มีติดหนัง คันทั้งวัน มันก็ยังไม่คิดสั้น วิ่งไปเกาไป สู้ชีวิตไป จนมันดับของมันไปเอง อย่าไปฆ่าตัวตายเลย"

ปวีณา หงสกุล
ส.ส.กทม.พรรคชาติพัฒนา

"ปัจจุบันเด็กไทยมีการแข่งขันกันสูง
โดยเฉพาะในเรื่องการเรียน ดังนั้น
เด็กนักเรียน-นักศึกษาจึงเครียดมาก
ขณะเดียวกันปัญหาด้านเศรษฐหิจ สังคม
ทำให้พ่อแม่ต้องทำงานมากเพื่อหารายได้
เลี้ยงครอบครัว จึงไม่มีโอกาสพูดคุย
ให้ความใกล้ชิดกับลูก เด็กจะมีการตัดสินใจ
ด้วยตัวเอง ไม่มีคนปรึกษา ด้านสังคม
ก็มีการแข่งขันกันมากเหลือเกิน
เดี๋ยวนี้เด็กอนุบาลต้องเรียนพิเศษ แต่ก่อนไม่เคยมีเพิ่งจะมาเห็นในยุคนี้ อาจารย์ที่สอนก็เครียด จึงเป็นผลกระทบ กับเด็ก เพราะฉะนั้นเมื่อปัญหาพวกนี้ มันสะสมมาแต่เด็กก็เกิดความคิด ฆ่าตัวตายขึ้น พ่อ-แม่-ครูอย่าให้เกิด ความเครียดในเด็ก อย่าให้เด็กหมกหมุ่น ให้มีทางออก โดยการให้เล่นกีฬา เล่นดนตรี มีการสังคมกับเพื่อนฝูงบ้าง ให้เขาพักผ่อนบ้าง
เด็กนักเรียนไทยจะเรียนมากเหลือเกิน ทางทฤษฎี ทางปฏิบัติไม่ค่อยมี กิจกรรม ไม่ค่อยมี เด็กจึงไม่มีทางระบายออก เด็กที่มีปัญหาเช่นนี้จะไม่ค่อยพูด ดังนั้นถ้าเด็กไม่มีเพื่อน เงียบขรึม ต้องช่วยกันสอดส่อง และพูดคุยถามไถ่ มีปัญหาอะไร" "หลักสูตรการเรียนในเมืองไทยหนักเกินไป ควรปรับปรุงให้มีกิจกรรมให้มากขึ้น รณรงค์ให้นักเรียน นักศึกษา มีความคิดแบบใหม่ว่าจบการศึกษา ไม่จำเป็นต้องได้เกียรตินิยม เกรดท็อป ก็มีอนาคตไกลได้ ดูตัวอย่างจากคนที่เป็นผู้นำ หรือประสบความสำเร็จในการงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเรียนเก่ง ได้เกียรตินิยม เอาแค่เรียนใช้ได้ เอาตัวรอดได้ ในสังคมก็พอแล้ว"
"ในฐานะที่เป็นแม่และมีลูกชาย เห็นลูกคนอื่นฆ่าตัวตายก็ยังใจกาย ถ้าเป็นลูกของตัวเองหัวใจสลายเลย เพราะกว่าจะเลี้ยงลูกให้โตขึ้นมา กว่าจะเรียนสำเร็จ เราให้ความรัก ใช้เวลใช้เงินทอง เพราะฉะนั้น ก่อนจะตัดสินใจทำอะไรไปขอให้นึกถึงพ่อแม่ ว่าเขาหัวใจสลายขนาดไหน พ่อ-แม่ เหมือนตายทั้งเป็น"

นิ่มนุช ประสานทอง
กรมสุขภาพจิต

ข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัยหอการค้า ที่ตั้งความหวังว่าจะเรียนให้ได้เกียรตินิยม และพลาดหวังจากเกียรตินิยมจนตนเอง รับไม่ได้กับความผิดหวัง และฆ่าตัวตาย เพื่อจะได้พ้นความอับอายและความรู้สึก ล้มเหลวของตน รายนี้ ดูเหมือนเป็นข่าว ที่ทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และใคร ๆ อีกหลายคนที่ชอบตั้งความหวังกับลูกหลาน ไว้สูง ๆ หวังจะให้ลูกหลานเรียนเก่ง เรียนดี มีเงินเดือนเยอะ ๆ ได้ทำงานดี ๆ ต่างลดความคาดหวังในตัวลูกหลานลงมา และมองเขาอย่างที่เขาเป็น สนับสนุนในแนวทางที่เขาต้องการ จะช่วยให้เขามีความกดดันในชีวิตน้อยลง และมีความรู้สึกเป็นสุขกับชีวิตมากขึ้น สาเหตุที่ทำให้คนเราคิดฆ่าตัวตายนั้น จิตแพทย์ได้กล่าวว่า เป็นเพราะจิตใจ ของคน ๆ นั้น ได้รับความดกดันอย่างรุนแรง โดยไม่รู้ตัวและไม่สามารถควบคุมความ รู้สึกนั้นได้ จึงเกิดการต่อสู้ขึ้นภายในจิตใจ ระหว่างความคิดอยากตายและความคิด อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งสิ่งที่ทำให้แรงผลักดัน ที่คิดจะฆ่าตัวตายสำเร็จ คือ การปิดกั้นตนเองจากสังคมภายนอก แยกตัวเองอยู่คนเดียวตามลำพัง คิดคนเดียว ยิ่งคิดยิ่งเจ็บปวด มีหนทางเดียว ที่ตนควรทำคือ กำจัดตนเองเสีย
แม้ว่าครอบตรัวนี้ พ่อแม่จะไม่ได้ ตั้งความหวังไว้กับลูก แต่ความกดดัน ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษารายนี้ ก็มาจากการที่พ่อซึ่งเป็นต้นแบบ ที่เด็กชายลอกเลียนแบบ เป็นตัวแบบที่เก่ง มีความสามารถ ทำให้เด็กเกิดความรู้สึก เป็นปมด้อย เพราะฉะนั้นตนจะต้องทำให้ ได้ดีเท่า ๆ กับตัวแบบ หรือ ดีกว่าตัวแบบ เมื่อไม่สามารถทำได้ดีเท่าตัวแบบ จึงเกิดเป็นความรู้สึกผิดในใจ ประกอบทั้งนักศึกษารายนี้ มีบุคลิกภาพเก็บตัว เงียบขรึม ไม่ค่อยมีสังคม ไม่ชอบคบค้าสมาคมกับใคร มุมานะในเรื่องเรียนอย่างเดียว ยิ่งเป็นการกำจัดตัวเองจากผู้อื่น และไม่ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัว ปรับใจ เมื่อพบกับความผิดหวัง อีกทั้งเคยผิดหวัง ในชีวิตการเรียนมาแล้วหนหนึ่ง จากการสอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด ซ้ำยังเคยบอกคนในครอบครัวว่า ถ้าตนไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนอีก ตนจะฆ่าตัวตาย เพราะจริงจังกับชีวิตมากเกินไป และไม่สามารถทำใจให้รับกับความผิดหวังได้ จึงจบชีวิตตนเองดังกล่าว ความสำเร็จในเรื่องการเรียนการศึกษา ไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดของคนเรา จึงอยากเตือนให้น้อง ๆ ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน รู้จักปรับตัวปรับใจเมื่อไม่สมหวัง และยอมรับกับความไม่สมหวังนั้น พร้อมทั้งปรับปรุงตนเองใหม่ให้ได้ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จะไม่หันมาทำร้ายตนเอง จนทำให้ใครต่อใครอีกหลายคนต้องเสียใจ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง

ศรีสุดา โตประสี


[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600