มาที่นี่ที่เดียว ได้อ่านบทความทางด้านการแพทย์ ภาษาไทย จากเกือบทุกโฮมเพจที่มีใน INTERNET
http://www.oocities.org/Tokyo/Harbor/2093/
จำสั้นๆ i.am/thaidoc


"ระวังไวอากร้ามีผลต่อตา
ใช้มาก ใช้น้อยแค่ไหนจึงจะเหมาะ??"

ตั้งแต่ไวอากร้า ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ ผ่านการรับรอง โดยองค์การอาหารและยา แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นที่ฮือฮากันทั่ว ในหมู่ชายสูงอายุทั่วโลก และแน่นอนไม่เว้น แม้ในประเทศไทย จึงมีจำหน่ายในบ้านเรา
ในเวลาต่อมา คงไม่ต้องพูดถึงราคายาซึ่งค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในยุคนี้ ผลประโยชน์ที่ได้ว่าจะคุ้มกันหรือไม่ คงต้องแล้วแต่มุมมองซึ่งแตกต่างกันไป

ไวอากร้ามีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ค้นพบโดยบังเอิญในปี 2535 ขณะนำมาทดลองรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง ในรายที่มีหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ แต่ปรากฏว่า ยานี้มีผลทำให้หลอดเลือดในอวัยวะเพศชายขยายด้วย จึงได้นำมาใช้รักษาภาวะเสื่อมสภาพทางเพศในผู้ชาย โดยยาตัวนี้จะไปยับยั้งเอนไซม์ Phoshodiesterase ไม่ให้ไปสลาย cyclic GMP (ไซคลิกจีเอ็มพี -cyclic monophosphate- สารที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะเพศคลายตัว) ซึ่งมีปริมาณน้อยในชายที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพ จึงเสมือนทำให้มี cyclic GMP มากขึ้นเมื่อใช้ยาตัวนี้ ทำให้มีการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณอวัยวะเพศชาย สามาราถมีเพศสัมพันธ์ได้

อย่างไรก็ตาม ยาตัวนี้เช่นเดียวกับยาตัวอื่น นอกจากจะมีประโยชน์แล้วมักมีผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการร่วมด้วย เพียงแต่ต้องดูว่าข้อดีมีมากกว่าข้อเสีย หรือข้อเสียที่ว่าไม่รุนแรง ก็ถือเป็นยาที่น่าใช้ อาการข้างเคียงของไวอากร้า อาจเกิดเกือบทุกระบบของร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ร้อนวูบวาบที่ใบหน้า ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดกล้ามเนื้อ และที่สำคัญห้ามใช้ร่วมกับยาในกลุ่มไนโตรกลีเซอรีน ซึ่งใช้เป็นยาขยายหลอดเลือดหัวใจ การใช้ร่วมกันอาจทำให้ ความดันเลือดลดต่ำมาก จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จึงเป็นข้อห้ามหรือใช้อย่างระมัดระวังในชายที่มีโรคหัวใจ (ทั้งจากขาดเลือดมาเลี้ยงหรือหัวใจล้มเหลวจากสาเหตุอื่น) ผู้ที่ได้ยาลดความดันโลหิต ตลอดจนผู้ที่ได้รับยาหรือเป็นโรค ซึ่งอาจทำให้ตัวยาไวอากร้าอยู่นานกว่าปกติ ผลข้างเคียงอีกอันหนึ่ง ที่มีผู้กล่าวถึงคือ สายตา เป็นที่ฮือฮาว่าการบริโภคยาตัวนี้ อาจทำให้ตาบอดได้เป็นความจริงหรืออย่างไร

ตัวเอนไซม์ Phosphodiesterase มีอยู่ในเนื้อเยื่อหลายๆ ส่วนของร่างกายและตัวไวอากร้าสามารถสะกัดกั้นการทำงานของเอนไซม์ตัวนี้ ทั้งที่มีอยู่ในจอประสาทตา คือ phosphodiesterase-6 และ phosphoesterase-5 ที่มีในเกล็เลือด ตลอดจนกล้ามเนื้อเรียบในร่างกาย ในจอประสาทตาตัวเอนไซม์ phosphodiesterase จะเป็นตัวควบคุม cyclic GMP ที่มีอยู่ไม่ให้มีมากเกินไป ถ้าตัว cyclic GMP ในจอประสาทตามีมากกว่าปกติ จึงทำลายเซลล์รับรู้การเห็น ทำให้สายตามัวลง แต่เนื่องจากยานี้มีฤทธิ์อยู่ชั่วคราว ก็น่าจะทำให้ระดับ cyclic GMP สูงขึ้นชั่วคราว จึงอาจมีผลต่อสายตาชั่วครู่ อย่างไรก็ตาม มีผู้พบตัวยานี้จะอยู่ในจอประสาทตาได้นานกว่าอวัยวะอื่น กล่าวคืออยู่ได้นานถึง 24 ชั่วโมง ในการทดลองในหนูและในสัตว์ทดลอง และเป็นที่สงสัยว่าถ้ามีผู้บริโภคยาตัวนี้มากเกินไป หรือบริโภคคิดต่อกันนานๆ จะเป็นเหตุให้ cyclic GMP สูงตลอด จนทำลายเซลล์รับรู้การเห็นอย่างถาวรหรือไม่ คงยังไม่มีคำตอบ สำหรับคำถามนี้ การรายงานจากผู้ใช้ยาตัวนี้ออกมาเรื่อยๆ จะทำให้เรามีความรู้มากขึ้น

มีรายงานจากผู้เชี่ยวชาญทางจักษุวิทยาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ประมาณร้อยละ 3 ของผู้ป่วยที่ใช้ยาไวอากร้าในขนาด 2 เท่า ของขนาดที่แนะนำจะเกิดความผิดปกติของการมองเห็นขึ้น โดยจะมองอะไรเป็นสีฟ้าตลอดจนความรู้สึกเวลาเห็นแสงเปลี่ยนไป แต่อาการดังกล่าวจะเป็นอยู่ไม่กี่ชั่วโมง เข้าใจว่า ตัวยาไวอากร้ามีฤทธิ์ไปกระตุ้น cone cell สีน้ำเงิน หรืออาจจะไปยับยั้ง cone cell สีแดงและเขียว จึงทำให้ผู้ใช้เห็นอะไรเป็นสีฟ้าชั่วคราว

จากการที่คิดว่าผลข้างเคียงที่ทำให้การเห็นผิดไป หลังใช้ยาไวอากร้าน่าจะมาจากการมี cyclic GMP มากไป หรือมีความผิดปกติของเอนไซม์ phosphodiesterase ทำให้นึกถึงผู้ป่วยโรคตาบางชนิดที่มีความผิดปกติของเอนไซม์ และมีสาร cyclic GMP มากกว่าปกติอยู่แล้ว ได้แก่ โรค retinal-conedysplasis, retinitis pigmentosa ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ มีอาการตาพร่ามัวในระยะแรก เป็นมากเวลากลางคืน เป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยเหล่านี้จึงไม่ควรจะใช้ยาไวอากร้า เพราะจะยิ่งทำให้โรคตาที่เป็นอยู่กำเริบขึ้น

ถ้าท่านเป็นผู้สูงอายุที่สนใจจะบริโภคยาตัวนี้ โดยที่ท่านมีประวัติของโรคตามัวตอนกลางคืน จึงควรได้รับการตรวจตาหรือปรึกษาจักษุแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัย

กล่าวโดยรวมๆ การบริโภคยานี้ที่ปลอดภัย คงต้องเริ่มจากการใช้ยา ในปริมาณที่แจ้งไว้ อย่าใช้มากหรือบ่อยเกินไป หากมีโรคหัวใจรับประทานยาบางตัวเป็นประจำ โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิต ตลอดจนเป็นโรคตาบอดกลางคืน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจใช้ยา

ศ.พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต


[ที่มา..นิตยสาร fitness ปีที่ 10 ฉบับที่ 102]

[ BACK TO LIST]
main พบแพทย์ คอมพิวเตอร์ เรื่องบ้าน เรื่องรถ เรื่องกฏหมาย เรื่องของผู้บริโภค เรื่องเบาๆ คลายเครียด

มีปัญหาสุขภาพ ที่นี่มีคำตอบ ห้องสมุดE-LIB[ hey.to/yimyam ][ i.am/thaidoc ]

Best view with [IE3.02][NETSCAPE 4.05][OPERA 3.21]resolution 800x600