แสดงธรรม โดย พระราชนิโรธรังสี   (เทสก์   เทสรังสี)
วัดหินหมากเป้ง   อำเภอศรีเชียงใหม่   จังหวัดหนองคาย

ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์

<<   คัดลอกมาจากหนังสือ   "ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์"   ซึ่งจัดพิมพ์เพื่อแจกเป็นอนุสรณ์   เนื่องในการทำบุญฉลองอายุครบ   90   ปีบริบูรณ์   ของหลวงปู่เทสก์   เทสรังสี   ในวันที่   26   เมษายน   2535   โดยเป็นการนำต้นฉบับที่เขียนโดยลายมือหลวงปู่มาจัดพิมพ์   -   พิม   >>


คำนำ

         คณะศิษยานุศิษย์ปรารภในการที่จะจัดพิมพ์หนังสือแจกเป็นอนุสรณ์   เนื่องในการทำบุญฉลองอายุครบ   ๙๐   ปีบริบูรณ์ของผู้เขียน   ในวันที่   ๒๖   เมษายน   ๒๕๓๕   นี้   ด้วยเหตุผลว่าหนังสือที่พิมพ์มานานแล้วไม่พอกับการแจกจ่าย   ได้มาหารือกับผู้เขียนว่าจะพิมพ์หนังสืออะไรดี   ผู้เขียนพิจารณาเห็นว่าหนังสือที่ได้เขียนไว้ที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน   คือเรื่อง   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์   ซึ่งสมควรที่ผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานพึงรู้เรื่องโดยถ่องแท้   ด้วยเหตุว่า   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์   นี้เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา   จึงสมควรแท้ที่ผู้ปฏิบัติพึงทำความเข้าใจ   เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆ   ขึ้นไป   ผู้เขียนจึงเลือกหนังสือธรรมะเรื่องดังกล่าวให้ไปจัดพิมพ์แจกในงานครั้งนี้

         ขออนุโมทนาด้วยเป็นอย่างยิ่งแก่คณะศิษยานุศิษย์ทั้งหลายที่มีศรัทธาและกุศลเจตนาพิมพ์หนังสือแจกเป็นธรรมทานในครั้งนี้

         พระราชนิโรธรังสี

         ๑   เมษายน   ๒๕๓๕


คำปรารภ

         เนื่องในงานฉลองอุโบสถฝังลูกนิมิต   วัดพระงามศรีมงคล   ซึ่งพระครูสีลขันธ์สังวร   (อ่อนสี)   ได้ชักชวนญาติโยมพากันก่อสร้างมาเป็นเวลานานถึง   ๑๐   กว่าปี   สิ้นเงินไปประมาณล้านกว่าบาท   บัดนี้ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้วด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง   การสร้างอุโบสถเป็นงานใหญ่แลงานละเอียด   ต้องใช้เวลาแลความอดทนกล้าหาญต่อสู้กับอุปสรรคนานาประการจึงจะสำเร็จได้   พระครูสีลขันธ์สังวรท่านมีคุณธรรมดังกล่าวแล้วครบครันในตัวของท่าน   จึงสามารถสร้างอุโบสถหลังนี้ให้สำเร็จได้   ซึ่งพระบางรูปแม้แต่ตัวข้าพเจ้าเองก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้   นอกจากนี้   ถาวรวัตถุอันมีอยู่ในวัดพระงามศรีมงคลที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด   ก็สำเร็จด้วยฝีมือของท่านทั้งนั้น   (ขณะที่ท่านกำลังทำการก่อสร้างอุโบสถหลังนี้อยู่   ท่านยังได้ชักชวนคณะญาติโยมให้ช่วยกันสร้างอุโบสถ   วัดพระเจ้าองค์ตื้อ   อันเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมให้กลับคืนดีมาอีกด้วย)

         ฉะนั้นท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าพุทธศาสนิกชนเป็นอันมาก   ในการฉลองฝังลูกนิมิตครั้งนี้   กรรมการจัดงานวัดไม่ได้ทำรูปเหรียญหรือเครื่องขลังของรางเป็นเครื่องชำรวยแก่ผู้ที่มาบริจาคใดๆ   ทั้งนั้น   จะรับแต่เฉพาะผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบก่อสร้างเท่านั้น   แลได้พิมพ์หนังสือประวัติของวัดแลของพระครูสีลขันธ์แจกเป็นธรรมทานด้วย   ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่า   หนังสือควรจะให้มีเนื้อหาเป็นสารธรรมอยู่บ้าง   ในขณะเดียวกันนี้   ข้าพเจ้าก็กำลังเขียนธรรมบรรยาย   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์อยู่แล้ว   จึงได้ถือโอกาสรีบเขียนเพื่อให้เสร็จทันพิมพ์ต่อท้ายในหนังสือเล่มนี้ด้วย   หนังสือเล่มนี้   หากท่านผู้อ่านไม่เห็นเป็นหญ้าปากคอกละก็   หวังว่าคงจะไม่ไร้สาระแลให้ประโยชน์แก่ท่านผู้สนใจในธรรมปฏิบัติตามสมควร   โดยเฉพาะท่านผู้เจริญกรรมฐานภาวนา   ถ้าอุสส่าห์คิดค้นตรึกตรองตาม   อาจทำให้ท่านได้รับความรู้แปลกๆ   ขึ้นมาบ้าง   ดีกว่าจะนั่งหลับตาเพ่งเอาความสุขสงบแล้วโงกง่วงซึมเซ่ออยู่เฉยๆ   หากไม่คิดค้นตามหลักธรรมให้เกิดแสงสว่างบ้าง   จะไม่สามารถรักษาภูมิจิตของตนไว้ได้เลย   แล้วก็ขอเตือนไว้   ณ   ที่นี้เสียเลยว่า   การคิดค้นพิจารณาอย่าให้หนีจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์   ถ้าคิดค้นไปตามอารมณ์ชอบใจแล้ว   มิใช่แตกปลอกแค่   มันมีหวังปลอกแตกแน่   การรู้จักประมาณ   ท่านผู้รู้ทั้งหลายชมว่าเป็นของดี

เทสรังสี.


         ธรรมกถาซึ่งจะอธิบายต่อไปนี้จะได้ยกธรรมสามกองคือ   ธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   อายตนะ   ๖   ขึ้นมาตั้งเป็นกระทู้แล้วจะได้อธิบายเป็นลำดับต่อไป   เพราะธรรมสามกองนี้เป็นของจำเป็นแก่ผู้ใครในธรรม   ไม่ว่าทางโลกียะแลโลกุตตร   จำเป็นต้องดำเนินแลค้นคว้าพิจารณาตามหลักธรรมสามกองนี้ทั้งนั้น   จึงจะบรรลุตามเข้าหมายของตนได้   อนึ่ง   ธรรมสามกองนี้ก็เป็นของที่มีพร้อมอยู่ในตัวของคนเราแต่ละคนอยู่แล้ว   เมื่อเรามารู้เท่าเข้าใจในธรรมสามกองซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้แล้ว   ก็จะรู้ธรรมอื่นๆ   ซึ่งนอกออกไปจากตัวของเรา   ซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกันนี้   หากหลงใหลเข้าใจผิดไปในธรรมสามกองซึ่งมีอยู่ในตัวของเรานี้แล้ว   ธรรมอื่นๆ   ซึ่งมีอยู่นอกออกไปจากตัวของเราก็จะหลงใหลเข้าใจผิดไปหรอก

ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์

         มนุษย์ตัวตนคนเราที่เกิดขึ้นมาแล้วนี้ย่อมมีของสามอย่างนี้เป็นสมบัติเบื้องต้น   ก่อนจะมีสมบัติใดๆ   ทั้งสิ้น   แล้วก็เป็นของสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันโดยเฉพาะด้วย   จะดีจะชั่วจะสุกจะดิบจะเป็นโลกเป็นธรรม   ก็ต้องมีของสามอย่างนี้เสียก่อนเป็นมูลฐาน   เป็นเครื่องวัดเครื่องหมายแสดงออกมาว่าอะไรเป็นอะไร   ผู้ถือว่าเราว่าเขาว่าสุขว่าทุกข์   ก็ถืออยู่ในองค์ของสามอย่างนี้   หลงอยู่ในห้วงของสามอย่างนี้   ผู้จะรู้แจ้งเห็นจริงจนเป็นสัจจะก็รู้แจ้งเห็นจริงในของสามอย่างนี้   ของสามอย่างนี้เป็นเครื่องวัดเครื่องเทียบโลกแลธรรมได้เป็นอย่างดี   ผู้ไม่เห็นของสามอย่างนี้ก็ตกไปจมอยู่ในของสามอย่างนี้   หรือผู้ที่เห็นแล้วแต่ยังไม่ชัดแจ้งก็ปล่อยวางไม่ได้เข้าไปยึดเอามาเป็นของตัวก็มี   เรียกย่อๆ   ว่าผู้เห็นตนเป็นโลกแล้วย่อมไปดึงเอาของสามอย่างนั้นหรือสิ่งเกี่ยวเนื่องของสามอย่างนั้นมาเป็นโลกไปด้วย   ส่วนผู้ที่ท่านเห็นว่าตนเป็นธรรมแล้ว   ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นแต่สักว่าธรรมเท่านั้น   หาได้มีตนมีตัวหรืออะไรทั้งหมดไม่   เช่นธาตุสี่   ก็เป็นสักแต่ว่าธรรมธาตุ   ขันธ์   ๕   ก็เป็นสักว่าธรรมขันธ์   ส่วนอายตนะ   ๖   ก็รวมอยู่ในธรรมทั้งสองนี้

         ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้อธิบายถึงธรรมสามอย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น   เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใคร่ในธรรม   แล้วจะได้นำไปพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางนำไปสู่ความสว่างของชีวิตต่อไป   ธรรมสามอย่างนั้นได้แก่   ธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   อายตนะ   ๖

         หากจะถามว่า   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   มีเท่านี้หรือ   ทำไมจึงแสดงแต่   ธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   อายตนะ   ๖   เท่านั้น   ตอบว่า   ธาตุมีมาก   เช่นธาตุ   ๖   อายตน   ๑๘   หรือสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้เรียกว่าธาตุทั้งหมด   ดังที่ท่านเรียกว่า   "โลกธาตุ"   แม้พระนิพพาน   ท่านก็เรียกว่านิพพานธาตุ   ขันธ์ก็มีมากเหมือนกัน   ขันธ์แปลว่ากองว่าเหล่าหรือหมู่หมวด   ท่านแสดงภูมิของสัตว์ที่ยังมีกิเลสเวียนอยู่ในโลกนี้ไว้ว่า   ต้องเกิดอยู่ในภพที่มีขันธ์   ๕   ได้แก่มนุษย์และต่ำลงไปกว่ามนุษย์   ตลอดถึงนรก   ๑   ขันธ์   ๔   ได้แก่เทพผู้ไม่มีรูป   ๑   ขันธ์ได้แก่พรหมผู้มีรูป   ๑   รวมความจริงแล้วโลกนี้พร้อมเทวโลกแลพรหมโลก   ท่านก็เรียกว่าขันธ์โลก   ส่วนข้อความแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแลดงไว้แล้วเป็นหมวดหมู่   ท่านก็เรียกว่าขันธ์ทั้งนั้น   ที่เรียกว่าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามี   ๘๔๐๐๐   พระธรรมขันธ์   ดังนี้เป็นต้น   ส่วนอายตนะนี่ก็แยกออกไปจากธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   แต่มีหน้าที่การงานมากไปกว่าที่แสดงย่อๆ   ก็เพราะต้องการจะแสดงแต่เฉพาะ   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   อันเป็นมูลฐานล้วนๆ   เท่านั้น

ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   สัมพันธ์

ธาตุ ๔

         ธาตุ   ๔   เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งมูลฐานของสิ่งทั้งปวง   แม้แต่ธรรมทั้งหลายที่เป็นนิยานิกธรรมอันจะดำเนินให้ถึงวิมุติด้วยสมถะวิปัสสนา   ก็จะหนีจากธาตุสี่นี้ไม่ได้   แต่ธาตุ   ๔   เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ   ไม่เกี่ยวกับนามธรรมแลกิเลสใดๆ   เลย   ท่านจำแนกออกเป็นกองๆ   ตามลักษณะของธาตุนั้นๆ   เช่นสิ่งใดที่มีอยู่ในกายนี้มีลักษณะข้นแข็ง   ท่านเรียกว่า   ธาตุดิน   มี   ๑๘   อย่าง   คือ   ผม   ๑   ขน   ๑   เล็บ   ๑   ฟัน   ๑   หนัง   ๑   เนื้อ   ๑   เอ็น   ๑   กระดูก   ๑   เยื่อในกระดูก   ๑   ม้าม   ๑   หัวใจ   ๑   ตับ   ๑   พังผืด   ๑   ไต   ๑   ปอด   ๑   ไส้ใหญ่   ๑   ไส้น้อย   ๑   อาหารใหม่   ๑   อาหารเก่า   ๑   (ถ้าเติมกะโหลกศีรษะและมันสมองศีรษะเข้าด้วยก็เป็น   ๒๐   พอดี   แต่ที่ไม่เติมเพราะไปตรงกับกระดูกและเยื่อในกระดูก   จึงยังคงเหลือ   ๑๘)

         ธาตุน้ำ สิ่งใดที่มีลักษณะเหลวๆ   ท่านเรียกว่าธาตุน้ำ   มี   ๑๒   คือ   น้ำดี   ๑   น้ำเสลด   ๑   น้ำเหลือง   ๑   น้ำเลือด   ๑   น้ำเหงื่อ   ๑   นั้นมันข้น   ๑   น้ำตา   ๑   น้ำมันเหลว   ๑   น้ำลาย   ๑   น้ำมูก   ๑   น้ำมันไขข้อ   ๑   น้ำมูตร   ๑

         ธาตุไฟ สิ่งใดที่มีลักษณะให้อบอุ่น   ท่านเรียกว่า   ธาตุไฟ   มี   ๔   คือ   ไฟทำให้กายอบอุ่น   ๑   ไฟทำให้กายทรุดโทรม   ๑   ไฟช่วยเผาอาหารให้ย่อย   ๑   ไปทำความกระวนกระวาย   ๑

         ธาตุลม สิ่งใดที่มีลักษณะพัดไปมาอยู่ในร่างกายนี้   สิ่งนั้นท่านเรียกว่าธาตุลม   มี   ๖   คือ   ลมพัดขึ้นเบื้องบน   ทำให้มึน   งงหาวเอื้อมอ้วกออกมา   ๑   ลมพัดลงข้างล่างทำให้ระบายเผยลม   ๑   ลมในท้องทำให้ปวดเจ็บท้องขึ้นท้องเฟ้อ   ๑   ลมในลำไส้ทำให้โครกครากคลื่นเหียนอาเจียน   ๑   ลมพัดไปตามตัวทำให้กายเบาแลอ่อนละมุนละไม   ขับไล่เลือดและโอชาของอาหารที่บริโภคเข้าไป   ให้กระจายซึมซาบไปทั่วสรรพางกาย   ๑   ลมระบายหายใจเข้าออกเพื่อยังชีวิตของสัตว์ให้เป็นอยู่   ๑   หรือจะนับเอาอากาศธาตุคือช่องว่างที่มีอยู่ตัวของเราเช่น   ช่องปาก   ช่องจมูก   เป็นต้น   เข้าด้วยก็ได้   แต่อากาศธาตุก็เป็นลมชนิดหนึ่งอยู่แล้วจึงสงเคราะห์เข้าในธาตุลมด้วย   มนุษย์ทั้งหลายที่เราๆ   ท่านทั้งหลายที่เห็นกันอยู่นี้   ถ้าจะพูดตามเป็นจริงแล้วมิใช่อะไร   มันเป็นแค่สักว่าก้อนธาตุมารวมกันเข้าเป็นก้อนๆ   หนึ่งเท่านั้น   มนุษย์คนเราพากันมาสมมติเรียกเอาตามชอบใจของตนว่านั่นเป็นคนนั่นเป็นสัตว์   นั่นเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ   นานาไป   แต่ก้อนอันนั้นมันก็หาได้รู้สึกอะไรตามสมมติของตนไม่   มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามเดิม   อย่างไปสมมติว่าหญิงว่าชายว่าหนุ่มว่าแก่ว่าสวยไม่สวย   ก้อนธาตุอันนั้นมันก็ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย   หน้าที่ของมันเมื่อประชุมกันเข้าเป็นก้อนแล้วอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งแล้วมันก็ค่อยแปรไปตามสภาพขอมัน   ผลที่สุดมันก็แตกสลาย   แยกกันไปอยู่ตามสภาพเดิมของมันเท่านั้นเอง   ใจของคนเราต่างหากเมื่อความไม่รู้เท่าเข้าใจตามเป็นจริงแล้ว   ก็ไปสมมติว่าเป็นคนเป็นหญิงเป็นชาย   สวย-ไม่สวย   สวยก็ชอบใจรักใคร่อยากได้มาเป็นของตน   ไม่สวยก็เกลียดเหยียดหยามดูถูกไม่ชอบใจไม่อยากได้อยากเห็น   ใจไปสมมติเอาเองแล้วก็ไปหลงติดสมมติของตัวเอง   เพิ่มพูนกิเลสซึ่งมันหมักหมมอยู่แล้วให้หนาแน่นขึ้นอีก   กิเลสอันเกิดจากความหลงเข้าใจผิดนี้   ถ้ามีอยู่ในจิตสันดานของบุคคลใดแล้วหรืออยู่ในโลกใดแล้ว   ย่อมทำบุคคลนั้นหรือโลกนั้นให้วุ่นวายเดือดร้อนมากแลน้อย   ตามกำลังพลังของมัน   สุดแล้วแต่มันจะบันดาลให้เป็นไป   ฯ

         ความจริงธาตุ   ๔   มันก็เป็นธาตุล้วนๆ   มิได้ไปก่อกรรมทำเข็ญให้ใครเกิดกิเลสหลงรักหลงชอบเลย   ถึงก้อนธาตุจะขาวจะดำสวยไม่สวย   มันก็มีอยู่ทั่วโลก   แล้วก็มีมาแต่ตั้งโลกโน่น   ทำไมคนเราพึ่งเกิดมาชั่วระยะไม่กี่สิบปีจึงมาหลงตื่นหนักหนาจนทำให้สังคมวุ่นวายไม่ทราบว่าอะไรเป็นอะไร   มืดบอดยิ่งกว่ากลางคืน   ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าของพวกเราทั้งหลายผู้ทรงประสงค์ความสันติสุขแก่โลก   จึงทรงจำแนกสมมติที่เขาเหล่านั้นกำลังพากันหลงติดอยู่เหมือนลิงติดถัง   ออกให้เป็นแต่สักว่าธาตุ   ๔   ดังจำแนกมาแล้วข้างต้น   หรือจะเรียกว่าพระองค์ทรงบัญญัติให้เป็นไปตามสภาพของเดิม   เพื่อให้เขาเหล่านั้นที่หลงติดสมมติอยู่แล้ว   ให้ค่อยๆ   จางออกจากสมมติแล้วจะได้เห็นสภาพของจริง   บัญญัตินี้ไม่เป็นตนเป็นตัว   เป็นสภาพธรรมอันหนึ่ง   แล้วบัญญัติเรียกขื่อเป็นเครื่องหมายใช้ชั่วคราวเท่านั้น   ถ้าผู้มาพิจารณาเห็นกายก้อนนี้เป็นสักแต่ว่าธาตุ   ๔   แล้ว   จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาก้อนธาตุมาเป็นอัตตาเลย   อันเป็นเหตุให้เกิดกิเลสหยาบช้าฆ่าฟันกันล้มตายอยู่ทุกวันนี้   ก็เนื่องจากความหลงเข้าไปยึดก้อนธาตุว่าเป็นอัตตาอย่างเดียว   ผู้ใคร่ในธรรมข้อนี้จะทดลองพิจารณาให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเองอย่างนี้ก็ได้   คือพึงทำใจให้สงบเฉยๆ   อยู่   อย่าได้นึกอะไรแลสมมติว่าอะไรทั้งหมด   แม้แต่ตัวของเราก็อย่านึกว่านี่คือเราหรือคน   แล้วเพ่งเข้ามาดูตัวของเราพร้อมกันนั้นก็ให้มีสติทำความรู้สึกอยู่ทุกขณะว่า   เวลานี้เราเพ่งวัตถุสิ่งหนึ่ง   แต่ไม่มีชื่อว่าอะไร   เมื่อเราทำอย่างนี้ได้แล้ว   จะเพ่งดูสิ่งอื่นคนอื่นหรือถ้าจะให้ดีแล้วเพ่งเข้าไปในสังคมหมู่ชนมากๆ   ในขณะนั้นอาจทำให้เกิดความรู้สึกอะไรขึ้นมาในใจแปลกๆ   และเป็นสิ่งน่าขบขันมาก   อย่างน้อยหากท่านมีเรื่องอะไรหนักหน่วงและยุ่งเหยิงอยู่ภายในใจของท่านอยู่แล้ว   เรื่องทั้งหมดนั้นหากจะไม่หายหมดสิ้นไปทีเดียว   ก็จะเบาบางแลรู้สึกโล่งใจของท่านขึ้นมาบ้างอย่างน่าประหลาดทีเดียว   หาดท่านทดลองดูแล้วไม่ได้ผลตามที่แสดงมาแล้วนี้   ก็แสดงว่าท่านยังทำใจให้สงบไม่ได้มาตรฐานพอจะให้ธรรมเกิดขึ้นมาได้   ฉะนั้นจึงขอให้ท่านพยายามทำใหม่จนได้ผลดังแสดงมาแล้ว   แล้วท่านจะเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า   เป็นคำสอนที่นำผู้ปฏิบัติให้ถึงความสันติได้แท้จริง   ฯ

         อนึ่ง   คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนเพื่อสันติ   ผู้ที่ยังทำใจของคนให้สงบไม่ได้แล้ว   จะนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสันติมาพิจารณาก็ยังไม่เกิดผล   หรือมาตั้งไว้ในใจของตนก็ยังไม่ติด

         ฉะนั้น   จึงขอเตือนไว้   ณ   โอกาสนี้เสียเลยว่าผู้จะเข้าถึงธรรม   ผู้จะเห็นธรรม   รู้ธรรม   ได้ธรรม   พิจารณาธรรมใจธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งที่แสดงมาแล้วและกำลังแสดงอยู่หรือที่จะแสดงต่อไปนี้ก็ดี   ขอได้ตั้งใจทำความสงบเพ่งอยู่เฉพาะในธรรมนั้นๆ   แต่อย่างเดียว   แล้วจึงเพ่งพิจารณาเถิดจึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมนั้นๆ   อย่างถูกต้อง   เรื่อง   ธาตุ   ๔   เป็นสภาวธรรมเป็นจริงอยู่ตามธรรมชาติแล้ว   แต่คนเรายังทำจิตของตนไม่ให้เข้าถึงสภาพเดิม   (คือความสงบ)   จึงไม่เห็นสภาพเดิมของธาตุ   ธาตุ   ๔   เมื่อผู้มาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว   จะเห็นว่า   ธาตุเป็นสักแต่ว่าธาตุ   มันมีสภาพเป็นอยู่เช่นไร   มันก็เป็นอยู่เช่นนั้นตามสภาพของมัน   ธาตุมิได้ก่อกวนให้ใครเกิดกิเลสความรักแลความหวัง   หรือโลภโกรธหลงอะไรเลย   ใจของคนเราก็เป็นธาตุเหมือนกัน   เรียกว่ามโนธาตุ   หากผู้มาพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งปวงเป็นแต่สักว่าธาตุคือเห็นธาตุภายใจ   (คือกายก้อนนี้)   และธาตุภายนอก   (คือนอกจากกายของเรา)   และมโนธาตุ   (คือใจ)   ตามเป็นจริงแล้ว   ความสงบสุขก็จะเกิดมีแก่เหล่าประชาสัตว์ทั่วหน้ากัน   สมตามพุทธประสงค์ที่พระพุทธองค์ตั้งปณิธานไว้ทุกประการ

ขันธ์   ๕

         เมื่อได้อธิบายธาตุ   ๔   มาพอสมควรแล้ว   ต่อจากนี้ไปจะได้อธิบายขันธ์   ๕   ซึ่งเป็นของเกี่ยวเนื่องกันมา   ธาตุ   ๔   เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ   มิได้เกี่ยวเนื่องด้วยใจ   คนเราถ้ามีธาตุ   ๔   ล้วนๆ   ไม่มีใจแล้ว   ก็ไร้ค่าหาประโยชน์มิได้   หรือจะพูดให้สั้นๆ   ที่เรียกว่าคนตายนั้นเอง   ขันธ์คือกองแห่งธรรม   ในตัวของคนเรานี้   ท่านจัดกองแห่งธรรมไว้   ๕   ดวง   กองรูปได้แก่ธาตุ   ๔   ดังอธิบายมาแล้ว   เรียกว่ารูปขันธ์   อีก   ๔   กองเรียกว่านามขันธ์   คือ   เวทนาขันธ์   ๑   สัญญาขันธ์   ๑   สังขารขันธ์   ๑   วิญญาณขันธ์   ๑   อายตนภายใน   ๖   มีตาเป็นต้น   ประสบกับอายตนะภายนอก   ๖   มีรูปเป็นต้น   แล้วเกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง   หรือโสมนัส   โทมนัส   อุเบกขาเฉยๆ   เรียกว่าเวทนาขันธ์ฯ   อายตนะภายใน   ๖   ภายนอก   ๖   ประสบกันเข้าแล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาดังอธิบายมาแล้วข้างต้น   แล้วจำได้หมายรู้ในอารมณ์นั้นๆ   แม้จะนานแสนนานทั้งที่เป็นอดีตแลอนาคตหรือปัจจุบัน   เรียกว่าสัญญาขันธ์ฯ   จิตชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากอายตนะทั้งสองนั้นประสบกันก็ดี   หรือเกิดลอยๆ   ขึ้นมาแล้วคิดนึกฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปต่างๆ   นานา   จนหาที่จบลงไม่ได้   เรียกว่าสังขารขันธ์   หมายถึงสังขารจิตโดยเฉพาะ   แต่ถ้าเป็นการตรึกตรองในเรื่องนั้นๆ   จนเห็นถ่องแท้ชัดเจนหมดกังขาด้วยปัญญาอันชอบแล้ว   เรียกว่า   "ธัมมวิจย"   มิได้เรียกสังขารขันธ์ฯ   วิญญาณมีมากอย่าง   วิญญาณในปฏิจจสมุปบาทเป็นวิญญาณนำเอาขันธ์ทั้ง   ๕   มาปฏิสนธิ   คือวิญญาณตัวนั้นต้องมีขันธ์ทั้ง   ๕   พร้อมมูลมาในตัว   จึงจะมาอุบัติในภูมิขันธ์   ๕   ได้   ถ้ามี   ๔   ก็ไปอุบัติในภูมิขันธ์   ๔   คือมีแต่นามไม่มีรูป   ความจริงรูปท่านก็เรียกรูปจิตเหมือนกัน   แต่เป็นรูปละเอียดพ้นเสียจากรูปขันธ์ที่อธิบายมาแล้วข้างต้น   ถ้ามีหนึ่งคือมีแต่เฉพาะวิญญาณตัวเดียว   ก็ไปอุบัติใน   "เอกโอปปาติก"   ที่เรียกว่าพรหมลูกฟัก   คือมีแต่รูปจิตอย่างเดียวนั้นเองฯ

         วิญญาณทำหน้าที่ในอายตนะได้แก่   ความรู้สึกในชั้นแรกของอายตนะทั้งสองประสบกัน   แต่ไม่ถึงกับจำอารมณ์หรือเสวยอารมณ์นั้นๆ   การจำอารมณ์เป็นหน้าที่ของสัญญา   การเสวยอารมณ์เป็นหน้าที่ของเวทนา   วิญญาณชนิดนี้จะเรียกว่าวิญญาณธาตุก็ได้ฯ   ส่วนวิญญาณในขันธ์   ๕   เป็นวิญญาณนามบัญญัติล้วนๆ   ยังไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ   เหมือนกับขันธ์อื่นๆ   ขันธ์   ๕   ก็เหมือนกันกับธาตุ   คือไม่ใช่ตัวกิเลสแลไม่ได้ทำให้ใครเกิดกิเลส   แต่ท่านจัดเป็นประเภทแห่งรูปธรรม-นามธรรม   เป็นกองๆ   ไว้เพื่อให้รู้ว่านั่นรูปนั่นนามเท่านั้น   กิเลสเกิดขึ้นเพราะผู้มาหลงสมมติแล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์ว่าเป็นตัวของตนหรือตนเป็นขันธ์บ้างต่างหาก   เมื่อจะพูดให้เข้าใจง่ายแล้ว   ความที่เข้าใจผิดหลงไปยึดเดาขันธ์   ๕   ว่าเป็นของตนของตัว   หรือเห็นว่าตัวของตนเป็นขันธ์   ๕   บ้าง   มิฉะนั้น   ก็เห็นว่าขันธ์   ๕   นอกออกไปจากคนหรือคนนอกไปจากขันธ์   ๕   บ้าง   ความเห็นอย่างนั้นแล   จึงทำให้เข้าไปยึดถือจนเกิดกิเลสขึ้นเป็นทุกข์   ในเมื่อขันธ์เหล่านั้นเป็นไปตามปรารถนาแล้วก็ชอบใจเพลิดเพลินหลงระเริงลืมตัวมัวเมาประมาทจนเป็นเหตุให้ประกอบบาปกรรมความชั่วด้วยประการต่างๆ   หากขันธ์เหล่านั้นไม่เป็นไปตามปรารถนาก็ไม่ชอบใจ   เป็นทุกข์โทมนัสด้วยประการต่างๆ   ไม่เห็นตามสภาพความเป็นจริงของขันธ์นั้นๆ   ซึ่งมันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันอยู่อย่างนั้น   ธรรมที่พระอัสสชิแสดงแก่พระสารีบุตรเมื่อท่านยังเป็นนักบวชนอกพระศาสนาครั้งพบกันที่แรกว่า   ธรรมของพระสมณะโคดมทรงแสดงว่า   "ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ   เมื่อเหตุดับสิ่งนั้นก็ดับไป"   ดังนี้   รูปขันธ์เกิดจากอวิชชา   ตัณหา   อุปาทาน   กรรม   ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นแจ้งชัดด้วยตนเองแล้วว่า   ธรรมเหล่านั้นเป็นเหตุแห่งรูป   วิชชาเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว   อวิชชาก็ดับไป   ธรรมทั้งหลายมีรูปเป็นต้น   ที่มีอยู่แล้วก็กลายเป็นวิบากไป   ที่จะเกิดใหม่อีกก็ไม่มี   กิเลสแลทุกข์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงในขันธ์แล้วเข้าไปยึดเอาขันธ์อัตตา   ดังแสดงมาแล้ว   ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า

  ภารหเว   ปญฺจักขนฺธา     ขันธ์   ๕   เป็นภาระจริง  
  ภาราหาโร   จ   ปุคคโล     แต่บุคคลก็ยังถือภาระไว้  
  ภาราทานํ   ทุกขํ   โลเก     การเข้าไปยึดถือเอาภาระไว้   เป็นทุกข์ในโลก  
  ภารนิกเขปนํ   สุขํ     การปล่อยวางภาระเสีย   เป็นความสุข  
  นิกขิปิตวา   ครุ   ภารํ     บุคคลปล่อยวางภาระเสียได้แล้ว  
  อญฺญํ   ภารํ   อนาทิย     ไม่เข้าไปถือเอาสิ่งอื่นเป็นภาระอีก  
  สมูลํ   ตณหํ   อพฺพุยห     เป็นผู้รื้อถอนตัณหากับทั้งรากได้แล้ว  
  นิจฺฉาโต   ปรินิพฺพุโต   ติฯ     เป็นผู้หมดความอยากแล้วปรินิพพาน   ดังนี้ฯ  

         ในพุทธพจน์นี้   แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า   ขันธ์   ๕   เป็นตัวทุกข์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ   เมื่อผู้ใดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นความสุขแล้วหลงเข้าไปยึดไว้   ผู้นั้นจะได้รับความทุกข์เดือดร้อนอย่างยิ่ง   เปรียบเหมือนผู้เห็นเปลวความร้อนของก้อนเหล็กแดงว่าเป็นของสวยงาม   หลงชอบใจเข้าไปกอดเอาด้วยความรัก   ความร้อนของก้อนเหล็กแดงนั้นจะมิได้ผ่อนความร้อนแล้วย่อมรับด้วยความปราณีเลย   ความร้อนของมันมีอยู่เท่าไรมันก็จะแผดเผาเอาผู้นั้นให้ไหม้เป็นเถ้าผงไปตามเคยฉะนั้น   สมกับพุทธพจน์ว่า   "สังขารา   ปรมา   ทุกขา   -   สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง"

         หากจะมีคำถามว่า   เป็นทุกข์เพราะอะไร?   ก็ต้องตอบว่า   เป็นทุกข์เพราะความหิว   ความไม่รู้จักพอ   ความหิว   ความไม่รู้จักพอไม่ว่าจะเป็นส่วนร่างกายหรือจิตใจ   เป็นทุกข์ทั้งนั้น   เมื่อความอิ่มความพอของจิตใจเกิดขึ้นมาแล้ว   ความสงบสุขของใจก็จะเกิดขึ้นมาทันที   แล้วจะมองเห็นความเกิดดับของขันธ์ตามความเป็นจริงดังอุปมา

         รูปขันธ์   "เปรียบเหมือนฟองน้ำอันเกิดจากคลื่นหรือระลอก   เป็นต่อมเป็นฟองขึ้นมาชั่วครู่หนึ่งประเดี๋ยวแล้วก็ดับแตกไปเป็นน้ำตามเดิม"   รูปกายนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน   แปรสภาพเป็นรูปมนุษย์ชายหญิงหรือเป็นสัตว์ต่างๆ   นานา   มาจากธาตุ   ๔   อยู่ได้ชั่วระยะหนึ่งซึ่งคนเราเข้าใจว่านาน   แต่สัตว์บางจำพวกซึ่งมีอายุนานกว่า   เขาจะเห็นว่าชั่วครู่เดียวแล้วก็แตกดับสลายไปเป็นธาตุ   ๔   ตามเดิมฯ

         เวทนา   "เปรียบเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง   ลูกคลื่นเหมือนกับเป็นตัวตนกลิ้งมากระทบกับฝั่งดังซู่ซ่าแล้วสลายหายตัวไปเป็นน้ำตามเดิม"   เวทนาก็เกิดจากสัมผัส   แล้วมีความรู้สึกเปรียบเหมือนเสียงคลื่นเป็นสุขบ้างทุกข์บ้างหรือเฉยๆ   แล้วก็หายไป   เดี๋ยวสัมผัสอื่นมากระทบอีก   ดังนี้อยู่ตลอดกาลฯ

         สัญญา   "เปรียบเหมือนพยับแดด   ธรรมดาพยับแดดอันเกิดจากไอระเหยของความร้อน   เมื่อบุคคลเพ่งมองดูอยูแต่ที่ไกลจะแลเห็นเป็นตัวระยิบระยับเป็นกลุ่มเป็นหมู่ๆ   เมื่อเข้าไปถึงใกล้แล้ว   สิ่งที่เห็นอยู่นั้นก็จะหายไป"   ฉันใด   สัญญาความจำที่เกิดจากสัมผัสในอายตนะทั้ง   ๖   ก็ผลุบๆ   โผล่ๆ   เกิดทางตาบ้าง   ทางหูบ้าง   โน่นบ้าง   นี่บ้างอยู่ตลอดกาล   ไม่เป็นของตัวเองเลยก็ฉันนั้นฯ

         สังขาร   "เปรียบเหมือนต้นกล้วย   ธรรมชาติของต้นกล้วยย่อมไม่มีแก่นเป็นธรรมดา"   สังขารรูปกายของคนเรานี้ก็หาสาระมิได้   เริ่มเกิดขึ้นมาก็มีสภาวะแปรสภาพไปพร้อมๆ   กันเลย   จะอยู่ได้นานแสนนาน   สภาพความแปรปรวนของสังขารก็เปลี่ยนแปลงไปตามทุกขณะอยู่อย่างนั้น   แล้วก็มีความแตกดับเป็นที่สุด   แม้แต่สังขารจิตคิดนึกปรุงแต่งเอาจริงเอาจังกันประเดี๋ยวๆ   ก็หายวูบไป   ฉะนั้นเหมือนกันฯ

         วิญญาณ   "เปรียบเหมือนมายา   ธรรมดาเรื่องของมายาแล้ว   มีแต่จะหลอกลวงผู้อื่นให้เข้าใจผิดคิดตามไม่ทันในเรื่องของตัวเท่านั้น"   วิญญาณก็มีลักษณะหลอกลวงให้ผู้อื่นตามไม่ทัน   พอตาเห็นรูปเกิดความรู้สึกขึ้น   เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกนั้นยังไม่ทันอะไร   เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางหู   เมื่อจะตามไปดูความรู้สึกทางหูนั้น   ยังไม่ทันอะไร   เดี๋ยวไปเกิดความรู้สึกขึ้นทางอื่นต่อๆ   ไปอีกแล้ว   มีแต่จะหลอกลวงให้คนอื่นตามไม่ทันฉันนั้นเหมือนกันฯ

         ผู้มาพิจารณาเห็นขันธ์มีอุปมาดังแสดงมาแล้วนี้ชัดแจ้งด้วยปัญญาอันชอบด้วยตนเองแล้ว   จะไม่หลงเข้าไปยึดเอาขันธ์มาเป็นอัตตาหรืออนัตตา   แต่จะหยิบยกเอาขันธ์เป็นเป้าหมายแห่งญาณทัสสนะของปัญญาวิปัสสนา   การใช้ปัญญาแยบคายไม่เข้าไปยึดเอาของมีอยู่แลเนื่องด้วยอัตตา   จัดเป็นปัญญาในอริยมรรค   เพราะของที่ไม่มีและไม่เนื่องด้วยอัตตาสามัญญนาม   ใครๆก็ละได้   หรือจะเรียกว่าผู้ไปยึดของไม่มีเป็นผู้ไร้ปัญญาก็ได้

         คำสอนของพระพุทธองค์เป็นคำสอนยุทธวิธีเพื่อผจญกับกิเลสข้าศึกความชั่ว   ซึ่งมันฝังอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลมานานแล้ว   ฉะนั้น   ขันธ์   ๕   คือตัวของคนเราแต่ละคน   จึงเท่ากับสนามยุทธ   แต่ยุทธวิธีของพระองค์   การแพ้คือการเข้าไปยึดถือ   การชนะคือการปล่อยวางให้มันเป็นไปตามสภาพเดิมของมัน   ไม่เหมือนการแพ้แลการชนะของผู้ยังมีกิเลสอยู่   ความเป็นจริงการชนะของทุกๆ   อย่างไม่ว่าชนะภายนอกและภายใน   ในโลกนี้หรือในโลกไหนๆ   ก็ตาม   ถ้าจะว่าการชนะที่บริสุทธิ์แลแท้จริงแล้วก็คือคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่ายจะต้องมีอิสระเต็มที่   หากจะยังมีการคิดเพื่อจะต่อสู้กันอีกหรือเข้าไปยึดอำนาจควบคุมยึดถือกันอยู่แล้ว   ชนะนั้นไม่ชื่อว่าเป็นการชนะที่บริสุทธิ์แลเป็นธรรมเลย   วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องมีการแพ้อีกเป็นแน่   หรืออย่างนั้นก็ก่อเวรก่อกรรมซึ่งกันและกัน

         พระพุทธองค์ทรงเห็นทุกข์คือตัวข้าศึกมีชาติเป็นต้น   ก็เห็นอยู่ในขันธ์นี้เอง   แล้วทรงใช้ยุทธวิธีด้วยปัญญาอันชอบจนเอาชนะข้าศึกก็ในขันธ์อันนี้   แต่แล้วข้าศึกก็มิได้ล้มตายฉิบหายไปไหน   ข้าศึกคือขันธ์ก็ยังเป็นขันธ์ปกติอยู่เช่นเดิม   ปัญญาวุธที่พระองค์นำมาใช้เป็นของกายสิทธิ์   ประหารข้าศึกจนพ่ายแพ้ไปได้   แต่หาได้ทำให้ข้าศึกเจ็บปวดแม้แต่แผลเท่าเมล็ดงาก็หาได้ปรากฏไม่   เรื่องนี้มีอุทาหรณ์รับสมอ้างดังปรากฏในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรอยู่แล้ว   หากจะมีปัญหาถามว่า   ข้าศึกที่แพ้แก่พระองค์แล้วจะไปตั้งทัพอยู่   ณ   ที่ไหน   ตอบว่าเมื่อแพ้แก่พระองค์แล้วก็ต้องเป็นบ่าวรับใช้ของพระองค์ต่อไป   ผู้ที่เอาชนะมันไม่ได้เท่านั้นจึงยอมเป็นทาสของมันต่อไป   ฉะนั้น   ขันธ์ที่ยังไม่มีใครเอาชนะได้จึงยังมีอิสระครอบโลกทั้งสามอยู่

         อายตนะ   อายตนะแปลว่า   บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์   บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์อะไร   อธิบายว่า   สื่อสัมพันธ์ของอายตนะทั้งสองแล้วเกิดอารมณ์ขึ้น   บ่อน้ำก็คือสายของน้ำที่ออกมาจากใต้ดิน   แล้วไหลเนื่องติดต่อกันกับน้ำที่อยู่ข้างนอกไม่ขาดสายนั้นเอง   อายตนะมีตาเป็นต้น   เมื่อสัมผัสกับรูปแล้ว   ก็ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงประสาทเข้ามาหาใจ   แล้วใจก็รับเอามาเป็นอารมณ์   ถ้าดีก็ชอบใจ   สนุก   เพลิดเพลิน   หรรษา   ถ้าไม่ดีก็ไม่ชอบใจ   คับแค้นเป็นทุกข์โทมนัสต่อไปเมื่อตายังไม่หลับ   อายตนะอื่นๆ   มีหูเป็นต้นก็มีนัยเช่นเดียวกัน   ดังได้อธิบายมาแล้วข้างต้นตอนว่าด้วยอายตน   ๖   ฉะนั้นในที่นี้จึงจะไม่อธิบายอีก   แต่จะอธิบายเฉพาะยุทธวิธีสำหรับต่อสู้กับข้าศึก   (คืออารมณ์หรือกิเลส)   ที่มันจะรุกรบเข้ามาทางทวาร   ๖   ต่อไป   เพื่อให้เชื่อมกับขันธ์   ๕   อันอุปมาเทียบเหมือน   "สนามยุทธ"   ดังได้พูดค้างไว้   ที่พูดค้างไว้นั้นได้พูดเฉพาะแต่สนามยุทธเท่านั้น   ยังไม่ได้พูดถึงเชิงยุทธวิธีเลย   ฉะนั้นต่อไปนี้จะได้แสดงยุทธวิธีอันจะมีขึ้นในสมรภูมินั้นต่อไป   ใครจะแพ้   ใครจะชนะ   ขอท่านผู้อ่านจงติดตามดูลวดลายของคู่ต่อสู้ต่อไป

         อายตนะ   ๖   ได้แต่   ตา   ที่เห็นวัตถุรูป   ๑   หู   ที่เสียงดังมากระทบ   ๑   จมูก   ที่สูบกลิ่นสารพัดทั้งปวง   ๑   ลิ้น   ที่รับรสทุกๆ   อย่างที่มาปรากฏสัมผัส   ๑   กาย   ที่ถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอันจะรู้ได้ทางกาย   ๑   ใจ   ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้นๆ   ๑

         อายตนะทั้ง   ๖   นี้ย่อมรับทำหน้าที่แต่ละแผนกๆ   ไม่ปะปนกัน   เช่นตารับทำหน้าที่แต่เฉพาะไว้ดูรูปเท่านั้น   ตกลงว่าบรรดารูปทั้งหลายแล้ว   จะเป็นรูปชนิดใดอย่างไร   หยาบละเอียด   แม้แต่รูปอสุภะอันแสนน่าเกลียดก็มอบภาระให้ตาดูไป   ให้หูดูแทนไม่ได้เด็ดขาด   เป็นต้น   ท่านจึงเรียกว่าเป็นใหญ่ในหน้าที่นั้นๆ

         ฉะนั้น   เมื่อพูดถึงอายตนะภายใน   ๖   แล้ว   จึงจำต้องพูดคู่ของอายตนะภายในไปพร้อมๆ   กันจึงจะเห็นประโยชน์ของอายตนะ   ๖   ที่ว่ามานั้นเป็นของอยู่ในตัวของเราท่านจึงเรียกว่าอายตนะภายใน   สิ่งที่เป็นคู่กับอายตะภายในเช่นรูปเป็นคู่กับตาเป็นต้น   ท่านเรียกว่าอายตนะภายนอก   อายตนะภายนอกก็มี   ๖   เหมือนกัน   อายตนะภายตัวไม่มีคู่เช่นมีแต่ตาอย่างเดียวไม่มีรูปให้เห็นก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลย   หรือมีแต่รูปอย่างเดียวไม่มีตาดูก็จะมีประโยชน์อันใด   แต่เมื่อเห็นรูปแล้วย่อมมีทั้งคุณแลโทษเหมือนๆ   กับผู้รับผิดชอบการงานในหน้าที่นั้นๆ   จะต้องรับผิดชอบทั้งดีแลไม่ดี   อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกกระทบกันเข้านี่แหละที่ทำให้เกิดคุณแลโทษก็อยู่ที่ตรงนี้

         ฉะนั้น   อารมณ์ที่เกิดจากอายตนะทั้งสองนี้จึงเป็นเหมือนกับมิตรแลศัตรูไปพร้อมๆกัน   แต่มิตรไม่เป็นไรเรายอมรับทุกเมื่อ   แต่ศัตรูนี้ซิ   ตาเกลียดนักจึงคอยตั้งป้อมต่อสู้มัน

         อายตนะทั้ง   ๖   เมื่อใครได้มาเป็นสมบัติของตนครบถ้วนบริบูรณ์   ไม่วิกลวิกาลแล้วจึงนับได้ว่าเป็นลาภของผู้นั้นแล้ว   เพราะมันเป็นทรัพย์ภายในอันมีคุณค่ามหาศาล   ยากที่จะหาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในตลาดได้   ทรัพย์ทั้งหลายภายนอกจะมีมากน้อยสักเท่าไร   แลจะดีมีคุณค่าให้สำเร็จประโยชน์ได้ทุกประการก็ตาม   หากขาดทรัพย์ภายในเหล่านี้แล้ว   ก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรเท่าไรนัก   อนึ่ง   ทรัพย์ภายใน   ๖   กองนี้มีแล้วใช้ได้ไม่รู้จักหมดสิ้นตลอดวันตาย   เป็นแก้วสารพัดนึกให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกสิ่ง   เมื่อโดยมิต้องลงทุนหรือหางจะลงทุนบ้างเล็กน้อยแต่ได้ยลล้นค่า   เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ   ๖   กองอย่างน่าภาคภูมิใจด้วย   หากใครได้เกิดมาในโลกนี้ไม่ได้สมบัติ   ๖   กองนี้   หรือได้แต่ไม่ครบถ้วน   ก็เท่ากับเป็นคนอาภัพในโลกนี้เสียแล้ว   สมบัติ   ๖   กองนี้เป็นของผู้ที่เกิดมาในกามโลก   มีขันธ์   ๕   โดยเฉพาะ   อารมณ์   ๕   ที่เกิดทาง   ตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   ได้แก่   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   โผฏฐัพพะ   บัญญัติํติธรรมเรียกว่า   "กามคุณ   ๕"   เพราะผู้ที่ได้ประสบอารมณ์   ๕   นี้แล้วชอบใจ   ดีใจ   ติดใจ   เข้าไปฝังแน่นอยู่ในใจ   เห็นเป็นคุณทั้งหมด   หากจะเห็นโทษของมันอยู่บ้างบางกรณี   แต่ก็ยากนักที่เอาโทษนั้นมาลบล้างคุณของมัน   ฉะนั้นเหมาะสมแล้วที่เรียกว่า   "กามคุณ"

         ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาเมื่อได้ประสบอารมณ์ทั้ง   ๕   นั้นแล้วจึงหวานฉ่ำ   เหมือนแมลงวันหลงใหลในน้ำผึ้ง   ติดทั้งรสทั้งกลิ่น   จะบินหนีก็เสียดาย   ผลที่สุดคลุกเคล้าเอาตัวไปจมลอยอยู่ในนั้น   กามคุณเป็นหลุมฝังของปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาโดยความสมัครใจของแต่ละบุคคลโดยแท้   โลกที่มีธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   อายตนะ   ๖   บริบูรณ์   ท่านเรียกว่า   "กามโลก"   ทุกๆ   คนที่ยังพากันสร้างบารมีอยู่จำจะต้องเวียนว่ายมาเกิดในกามโลกนี้จนได้   เพราะกามโลกสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง   จึงทำให้ปุถุชนผู้เยาว์ปัญญาหลงใหลคิดว่าเกิดมาได้รับความสุขพอแล้ว   แม้พระพุทธเจ้าหรืออริยเจ้าทั้งหลายก่อนที่ท่านจะได้สำเร็จเป็นพระอริยะ   ท่านก็ต้องมาเกิดในกามโลกนี้อันเป็นวิบากผลกรรมของท่านแต่ชาติก่อน

         อนึ่ง   กามโลกนี้นับว่าเป็นสมรภูมิอย่างดีที่สุดของท่านผู้จะได้เป็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย   มรรคปฏิปทา   สมถะ-ฌาน-สมาธิ-สมาบัติ-วิปัสสนา   อันเป็นหนทางที่จะให้ถึงเป็นพระอริยเจ้า   ก็จำเป็นจะต้องมายืมสถานที่คือกามโลกนี้เป็นที่บำเพ็ญเจริญให้ได้ครบถ้วนบริบูรณ์   ถ้าจะพูดให้สั้นแล้วเรียกว่า   ผู้จะพ้นจากกามโลกได้   ก็ต้องมาเกิดหรือมาศึกษาค้นคว้าในกามโลกนี้   ให้เห็นคุณแลโทษชัดแจ้งด้วยปัญญาแยบคายด้วยตนเองเสียก่อน   จึงจะเรียกว่ารู้แจ้งซึ่งโลกแล้วจึงจะหนีจากโลกนี้ได้โดยชอบธรรม   ถึงรูปโลกแลอรูปโลกก็เช่นนั้นเหมือนกัน

         ฉะนั้น   เมื่อท่านเหล่านั้นเกิดขึ้นมาในกามโลกนี้แล้ว   ด้วยบุญญาบารมีที่ท่านได้สะสมมานาน   แทนที่ท่านจะหลงเพลิดเพลินมัวเมาในกามทั้งหลายดังปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป   ท่านเลยเห็นตรงกับข้าม   อายตนะทั้ง   ๖   มีไว้ใช้เพื่อให้เกิดความสุขแก่ปุถุชนก็จริงแล   แต่ท่านผู้มีบารมีที่ได้บำเพ็ญมาควรที่จะได้ตรัสรู้ท่านเลยเห็นตรงกันข้าม   คือเห็นว่าที่แท้นั้นมันเป็นบ่อเกิดของอารมณ์   นำทุกข์มาให้เช่นตาเห็นรูปสวยแล้วขอบใจอยากได้มาเป็นของตัว   ก็เป็นทุกข์เพราะอยากได้   การพยายามที่จะให้ได้มาก็เป็นทุกข์   ได้มาแล้วก็เป็นทุกข์เพราะจะต้องบริหาร   หากรูปนั้นเสื่อมสูญฉิบหายไปโดยธรรมดาของมันอย่างนั้นก็ตาม   แต่ใจเราฝ่าฝืนไม่อยากให้มันเป็นไปอย่างนั้น   ก็เป็นทุกข์   เมื่อยังมีการเห็นเช่นนั้นอยู่   ก็เป็นทุกข์   เมื่อระลึกถึงรูปนั้นที่หายไปแล้ว   ก็ยังเป็นทุกข์อยู่อีก   อายตนะอื่นๆ   นอกนี้มีหูเป็นต้นก็เช่นเดียวกันนี้   เรื่องนี้   พระพุทธองค์ได้เคยประสบการณ์มาด้วยพระองค์เองแล้วจนเห็นโทษ   แล้วทรงสละทุกสิ่งทุกอย่างออกบวชบำเพ็ญทางใจ   (คือต่อสู้กับอารมณ์)   จนได้สำเร็จพระโพธิญาณ   พระองค์จึงนำเอาประสบการณ์แลหลักยุทธวิธีที่พระองค์ทรงใช้ได้ผลแล้วนั้นนำมาสั่งสอนแก่เหล่าศาสนิกชนต่อมา   หลักคำสอนของพระพุทธองค์ตั้งแต่อนุปุพพิกถา   มีทาน   ศีล   เป็นต้น   ล้วนแต่เป็นหลักยุทธวิธีทั้งนั้น   แต่เป็นยุทธวิธีเป็นขั้นๆ   ไป   ต่อสู้กับอะไร?   ท่านต่อสู้กับความตระหนี่   เห็นแก่ตัว   บางทีใจเป็นบุญกุศลอยากทำทานอยู่   แต่อีกใจหนึ่งคิดห่วงหน้าห่วงหลัง   กลัวจะขาดแคลน   หรือไม่เมื่อให้ท่านไปแล้วกลัวทรัพย์ที่มีอยู่จะไม่ครบจำนวน   ดังนี้เป็นต้นฯ

         ศีลก็ต่อสู้กับเสียดายความสุขสนุกเพลิดเพลินอันเป็นโลกียะที่เคยได้ประสบมาแล้วแลเห็นแก่ตัวเหมือนกันฯ   เมื่อผู้มาต่อสู้ทั้งสองทัพนี้จนพ่ายแพ้ไปได้แล้ว   จะเห็นกิเลสเหล่านั้นเป็นของน้อยนิดเดียว   ไม่มีกำลังอ้นน่ากลัวเลย   แล้วจะเห็นความสุขอันยิ่งใหญ่ในชัยชนะนั้น   จนจิตใจกล้าหาญ   มีความร่าเริงอิ่มใจเป็นอย่างยิ่งฯ   เรียกว่า   อ   นิสังสกถา   ฯ   คำสอนของพระองค์ยังสอนไว้ว่า   ชนะขั้นนี้ยังไม่เป็นการชนะอย่างเด็ดขาด   เพราะเป็นการชนะข้าศึกภายนอกมันยังอาจกลับกลอกได้   เพราะใจมันยังไปยินดีติดกับด้วยความสุขในกามคุณ   ๕   คือ   รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผฏฐัพพะ   อันเป็นอานิสงส์ของ   ทาน   ศีล   เท่านั้นฯ   กามคุณ   ๕   เป็นความสุขที่เจือไปด้วยทุกข์   สำหรับหลอกลวงบุคคลผู้มีปัญญาเยาว์ให้หลงติดอยู่   เหมือนกับปลากำลังหิวอาหารหลงเข้าไปฮุบเอาเหยื่อที่เขาหุ้มเบ็ดไว้ฉะนั้น   แล้วท่านสอนให้ต่อสู้กับความหลงผิดติดสุขในกาม   อย่าเห็นแก่ความหิวในเหยื่อเท่านั้น   โทษจะถึงความตายในภายหลัง   เรียกว่า   "กามทีนพโทษ"ฯ   เมื่อผู้มาพิจารณาเห็นโทษในกามคุณ   ๕   ว่าเป็นเหมือนกับยาเสพติดคิดเบื่อหน่ายคลายสละได้   ใจพ้นจากอามิส   เป็นอิสระสุขอยู่แต่ผู้เดียว   เรียกว่า   เนกขัมกถาฯ   แต่ยุทธวิธีตอนว่าด้วยอายตนะซึ่งจะอธิบายต่อไปนั้น   เป็นยุทธวิธีอย่างละเอียด   ต้องต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายกันจริงๆ   และสามารถให้ก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณทัสสนะได้ฯ

         ท่านผู้อ่านทั้งหลาย   เป็นที่น่าอัศจรรย์ไหม   พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ   เป็นอยู่ในกามภูมิ   แวดล้อมแล้วด้วยกามคุณ   ๕   ยั่วยวนแล้วด้วยกามกิเลสเหมือนๆ   กับปุถุชนคนเราทั้งหลาย   แต่พระองค์เห็นโทษแล้วในกามทั้งหลาย   จึงทรงแสดงหาอุบายหนีเอาตนรอดจนเป็นยอดของบุคคลผู้เป็นอิสระทั้งหลาย   โดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์แต่รู้แจ้งด้วยพระองค์เอง   ฉะนั้น   พระอานนท์เถระจึงชมเชยพระองค์ว่า   เป็นที่น่าอัศจรรย์หนอ   "พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ในโอกาส"   อธิบายว่า   พระพุทธองค์ทรงอุบัติเกิดขึ้นมาในกามภพ   แต่ไม่หลงติดอยู่ในกามภพ   ถึงจะแวดล้อมไปด้วยกามคุณ   ๕   แต่พระองค์ก็มิได้หลงใหลไปด้วย   ถึงจะอุบัติอยู่ในกามภูมิแต่พระองค์ก็มิได้จมอยู่ในภูมินั้น   รู้เท่าเข้าใจเห็นแจ้งชัดจริงทั้งคุณแลโทษพร้อมทั้งอุบายหนีให้พ้นจากมันเสียจนได้   ด้วยใจด้วยปัญญาอันเฉียบแหลมของพระองค์เอง

         อายตนะทั้ง   ๖   ถึงแม้จะเป็นบ่อเกิดกองบุญของผู้ที่ยังปรารถนากามภพอยู่ก็จริงแล   แต่ผู้ที่เห็นโทษในกามภพแล้ว   ผลของบุญหรืออานิสงส์ของบุญนั้นมันกลับเป็นเครื่องผูกมัดจิตใจของผู้ต้องการพ้นจากกามไป   เปรียบเหมือนสมบัติทั้งหลายย่อมเป็นที่ปรารถนาแต่เฉพาะผู้ต้องการเท่านั้น   ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการแล้วแม้จะถูกคนบางคนหาว่าเป็นบ้าก็ตาม   เขาผู้นั้นก็ยอมสละเพื่อเนกขัมมะ

         ฉะนั้น   อายตนะทั้ง   ๖   มีตาเป็นต้นมิใช่จะเป็นบ่อเกิดแต่กิเลสอันเป็นของหยาบๆ   เท่านั้น   ผลบุญกุศลที่เกิดจากอายตนะทั้ง   ๖   ก็จัดเป็นกิเลสของผู้เห็นโทษในกามภพด้วย   เช่นผู้ออกบวชก็เห็นโทษในกามตามนามบัญญัติว่า   เนกฺขมฺม   อยู่แล้ว   สรุปแล้วสัพพกิเลสทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น   ณ   ทวารทั้ง   ๖   นี้ทั้งนั้น   ในอาทิตตปริยายสูตรที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ชฏิลสามพี่น้องพร้อมทั้งบริวาร   ผู้บูชาไฟเพื่อปรารถนาในกามสุขว่า   "อายตนะทั้ง   ๖   มีตาเป็นต้น   เป็นของร้อน   ร้อนเพราะไฟคือราคะ   โทสะ   โมหะ"

         ท่านผู้อ่านบางคนอาจสงสัยว่า   ถ้าอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้นเป็นของร้อนแล้ว   ไฉนมนุษย์คนเราทั้งหลายจึงเป็นคนอยู่ได้   ทำไมไฟคือกิเลสราคะเป็นต้นจึงไม่ไหม้ตายหมด   พูดดูเหมือนอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น   จะไม่มีประโยชน์ให้คุณเสียเลย   หากมีผู้คิดเห็นไปเช่นนั้นก็เป็นที่น่าเห็นใจเหมือนกัน   ปลาเกิดในน้ำจืดจะไปอยู่ในน้ำเค็มย่อมไม่ได้   สัตว์บางชนิดเกิดในน้ำร้อนแต่มันก็อยู่ได้ไม่ตาย   หนอนเกิดในที่สกปรกแลเหม็นคลุ้งมันก็เพลินสนุกอยู่ได้ไม่เห็นมีอะไรแปลก   ไฟมิใช่จะให้แต่โทษอย่างเดียว   คุณของไฟก็มีมาก   คุณแลโทษเป็นแต่บทรำพันแต่ละทัศนะของแต่ละบุคคลเท่านั้น

         อายตนะ   ๖   มีตาเป็นต้น   ผู้เกิดมามีไม่ครบบริบูรณ์   ทางพระศาสนาถือว่าเป็นกรรมเก่าของผู้นั้น   คนพิการแม้จะบวชในพระศาสนาพระวินัยบัญญัติก็ห้าม   สมจริงตามนั้น   โลกอันนี้จะเป็นที่น่าอยู่น่าชมสนุกสนานก็เพราะมีอายตนะทั้ง   ๖   นี้เอง   หากขาดอายตนะอันใดอันหนึ่งไปเสียแล้ว   ก็เรียกได้ว่าความสุขในโลกนี้ไม่สมบูรณ์   นี่ก็แสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า   อายตนะทั้ง   ๖   แต่ละอย่างมีความสำคัญแลคุณประโยชน์มากแก่ความเป็นอยู่ของผู้เกิดมาสักเพียงไร   เกจิอาจารย์บางท่านยังแสดงอายตนะทั้ง   ๖   เทียบกับสวรรค์   ๖   ชั้นอีกด้วย   พอสมจริงดังท่านว่าอีกเหมือนกัน   เพราะท่านพูดต้นเหตุ   อายตนะทั้ง   ๖   เป็นบ่อเกิดของกามาพจรกุศลทั้งหลาย   หรือผู้มีอายตนะทั้ง   ๖   แล้วก็เหมือนกับได้ทิพย์สมบัติ

         ฉะนั้น   ที่ท่านแสดงไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า   อายตนะเป็นของร้อนนั้น   ท่านหมายเอาอายตนะทั้งหลายมีตาเป็นต้น   สัมผัสกับรูปแล้ว   วิญญาณอาศัยของสองอย่างนั้นเกิดขึ้น   ว่าเป็นของร้อน   แล้วพระองค์แจงออกไปว่าร้อนเพราะอะไร?   ร้อนเพราะมีเชื้อเดิมอยู่แล้วในตานั้นที่ไปเห็นรูป   ๓   อย่างได้แต่   ราคะความกำหนัดย้อมใจ   ๑   โทสะความโกรธขึ้งเคียด   ๑   โมหะความหลงไม่รู้เท่าเข้าใจในเหตุผลของสิ่งนั้นๆ   ๑   ของสามอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดความร้อน   อายตนะอื่นๆ   นอกจากนี้ก็เช่นเดียวกัน   ถ้าสิ่งสามอย่างนี้เป็นเชื้ออยู่แล้ว   หูฟังเสียง   จมูกถูกกลิ่น   ลิ้นถูกรส   กายถูกสัมผัส   ใจคิดไปในอารมณ์ต่างๆ   ย่อมร้อนเหมือนกันทั้งหมด   ความจริงอายตนะทั้ง   ๖   นี้มิใช่ไฟเป็นของร้อนอะไรเลย   อายตนะ   ก็เป็นอายตนะอยู่ดีๆ   นี่เอง   ถ้าอายตนะ   ๖   เป็นไฟไปหมดแล้ว   ตนตัวคนเราทั้งหมดก็เป็นเชื้อที่ให้ไฟไหม้ไปหมดแล้วแต่นาน   หรือไม่ก็เป็นนรกตลอดกาลเท่านั้นเอง   ที่ว่าเป็นของร้อนเพราะมันมีเชื้อไฟสามอย่างดังอธิบายมาแล้วอยู่ในนั้น   หรือไม่ก็มีอยู่ในอายตนะภายนอกทั้ง   ๖   มีรูปเป็นต้น   เปรียบเหมือนไม้แห้งสองอันเอามาสีกันเข้า   ต่างก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัวของแต่ละอันอยู่แล้ว   เมื่อเอามาสีกันเข้าจึงจะเกิดไฟขึ้นมาฉะนั้น   ถ้าไม่เอามาสีกันถึงจะมีเชื้อไฟอยู่ในตัว   ไฟนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นมาได้

         ฉะนั้น   พระพุทธองค์จึงสอนให้ระวังสังวรเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น   ก็อย่าให้กระทบแรง   ได้แก่ให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอว่า   ตาก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัว   รูปก็มีเชื้อไฟอยู่ในตัว   แล้วก็ให้ระวังใจว่าราคะก็เกิดขึ้นที่ใจนี้   โทสะก็เกิดที่ใจนี้   โมหะก็เกิดที่ใจนี้   ทั้งสามอย่างนี้มันล้วนแต่เป็นของร้อนทั้งนั้น   คนรู้จักของร้อนแลเคยได้ประสบความร้อนมาด้วยตนเองก่อนแล้ว   เมื่อมีผู้รู้เรื่องนั้นดีกว่า   ฉลาดกว่า   มาแสดงโทษให้ฟัง   เขาก็จะเข้าใจได้ดีแลได้ความรู้ฉลาดเพิ่มขึ้น   หากเขาผู้นั้นไม่รู้จักความร้อนแลโทษของความร้อน   หรือไม่เคยได้ประสบความร้อนมาด้วยตนเองก่อนแล้ว   ท่านผู้รู้ทั้งหลายก็ไม่ทราบว่าจะสอนให้เขาเข้าใจได้อย่างไร   ท่านอุปมาความร้อนของไฟสามกองไว้ว่า   "ราคะมีความร้อนเหมือนกับน้ำร้อน"   น้ำปกติเป็นของเย็น   คนที่ถูกความร้อนแผดเผาย่อมระลึกถึงน้ำ   หรืออาบน้ำไม่ก็ดื่มเพื่อระงับความร้อนกระวนกระวายเสีย   แต่เมื่อน้ำมากลายเป็นของร้อนไปจึงยากที่บุคคลผู้จะรู้ได้   ตราบใดความร้อนของน้ำยังไม่สัมผัสกับตัวด้วยตนเอง   ก็ยังไม่รู้โทษของความร้อนของน้ำอยู่ตราบนั้น   ความใคร่ความพอในยินดีในกามคุณห้า   ย่อมเป็นที่พอใจแลปรารถนาของผู้ยังมีความหิวอยู่   เหมือนกับผู้ถูกความร้อนแล้วรู้สึกแลหิวกระหายน้ำฉะนั้น   เมื่อดื่มน้ำเข้าไป   ความร้อนหรือความหิวกระหายนั้นก็ระงับไป   แล้วความหิวกระหายอื่นก็เกิดขึ้นมาแทน   มิฉะนั้นเปรียบเหมือนอสรพิษกัด   แล้วมียาดีๆ   มาใส่ให้หายพิษได้ทันที   แต่แล้วก็กัดอีกอยู่อย่างนั้นร่ำไป   แต่ท่านผู้หมดความหิวแล้วย่อมไม่มีความอยากกรหาย   แม้แต่ไฟคือราคะความกำหนัดรักใคร่   ก็ไม่เข้าไปย้อมใจของท่านให้ชุ่มได้   ฉะนั้น   ท่านจึงไม่มีความหิวแลความอยากแล้ว   อายตนะทั้งหลายของท่านจะเป็นเหตุให้เกิดไฟคือราคะได้อย่างไร

         โทสะ   มีความร้อนเปรียบเหมือนไฟไหม้ป่า   ธรรมดาไฟป่าเมื่อเผาตนเองแล้ว   ก็ย่อมลุกลามไหม้สิ่งที่อยู่รอบๆ   ไฟไม่เหลือ   แม้ที่สุดของแห้งแลของสด   จะเป็นของสะอาดหรือโสโครกก็ตาม   ไฟย่อมไหม้หมดโดยไม่เลือก   ไฟคือโทสะนี้ก็เหมือนกัน   เมื่อมันติดลุกเกิดขึ้นในใจของผู้ใดแล้ว   ย่อมเผากายใจของตนเองให้เดือดร้อนกระวนกระวาย   แล้วเผาคนอื่นให้เดือดร้อนตามๆ   กันไป   คนผู้ดีมีจนมีคุณไม่มีคุณแม้แต่บิดามารดาผู้เกิดเกล้า   ไฟคือโทษ   ย่อมเผาไม่เลือก   ไม่ว่าไฟป่าหรือไฟบ้านเมื่อมันลุกลามขึ้นมาแล้ว   ใครๆ   เห็นเข้าย่อมกลัวทั้งนั้น   กิ้งก่ากิ้งกือตักแตนแมลงต่างเห็นเข้าแล้ว   ต่างก็วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนเพื่อเอาตนรอดทั้งนั้น   มนุษย์ได้สามัญญนามว่าเป็นผู้มีปัญญา   มีใจสูงแต่ก็อดที่จะเอาไฟคือโทสะมาเผากายใจของตนเองไม่ได้   นามบัญญัติที่ว่านั้นมันมีความหมายอะไรอยู่ที่ตรงไหนกันแน่   หรือว่ามันเป็นเพียงมนุษย์ปลอมๆ   เปล่าๆ   เท่านั้นหรือ

         โมหะ   มีความร้อนเปรียบเหมือนกับไฟไหม้แกลบ   ไฟแกลบใครๆ   ก็ทราบอยู่แล้วว่ามันมีเถ้าปกคลุมอยู่ข้างบน   แต่ข้างใต้มันร้อนระอุไม่แพ้ไฟอื่นเลย   นานๆ   ถ้ามีผู้ไปเขี่ยเถ้าของมัน   จึงจะแสดงประกายให้ปรากฏออกมา   ครั้นแล้วก็ค่อยเศร้าๆ   สงบลงไปร้อนกรุ่นอยู่ภายในตามเดิม   โมหะจริตก็เช่นนั้นเหมือนกัน   อารมณ์อันใดเกิดขึ้นในจิตจะร้อนแสนก็ไม่ค่อยจะแสดงอาการออกมาภายนอก   แต่มิใช่เพราะความรู้เท่าเข้าใจในอารมณ์นั้นๆ   ตามเป็นจริงแล้วปล่อยวางได้   ความร้อนมีอยู่แต่ไม่ทราบว่าจะแก้ไขความร้อนนั้นด้วยอุบายใด   มันมีแต่ความร้อนกับตันตื้อไปหมด   ไม่ว่าจะอยู่ในท่าไหนมันทำให้มึนงงไปทั้งนั้น   หรือที่เรียกว่ามืดแปดด้าน   ไม่มองเห็นช่องสว่างเอาเสียเลย   เรื่องนี้พูดไม่ถูกถ้าใครได้ประสบการณ์ด้วยตนเองแล้วจึงจะรู้ชัดยิ่งกว่าคนอื่นเล่าให้ฟัง   นี่พูดถึงลักษณะของไฟคือโมหะ   แต่ลักษณะของโมหะแท้ท่านแสดงไว้ในที่ต่างๆ   ว่า   ไม่รู้ในอริยสัจสี่   ไม่รู้ในปฏิจจสมุปบาท   ไม่รู้อดีต   ไม่รู้อนาคต   แลไม่รู้ปัจจุบัน   หรือไม่รู้ในทั้งหมด   ที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วยไม่รู้ทั้งที่จะทำให้หมดกิเลสสิ้นทุกข์ทั้งปวงด้วย   เรียกว่าโมหะ   ความจริงโมหะนี้มิใช่ไม่รู้อะไรทั้งหมด   โดยเฉพาะความร้อน   โมหะก็ยังรู้ว่าร้อนอยู่   แลเหตุให้เกิดความร้อนก็รู้อยู่เหมือนกัน   แต่ไม่ยอมละเหตุนั้น   เรียกว่ารู้แล้วแต่ไม่ยอมละ   รู้แล้วยิ่งเกิดมานะเพิ่มกิเลสขึ้นมาอีก   ความจริง   โมหะนี้ย่อมมีแก่สามัญญชนทั่วไปตลอดตั้งแต่พระเสขบุคคลก็ยังมีโมหะเหลืออยู่   ต่างแต่ว่าใครจะมีมากมีน้อยกว่ากันเท่านั้น   ใครมีความร้อนแลทุกข์ก็มาก   ใครมีน้อยความร้อนแลทุกข์ก็มีน้อย

         อายตนะเป็นบ่อเกิดของอารมณ์ทั้งดีแลไม่ดี   ใจเป็นผู้รับอารมณ์   ถ้าดีก็ชอบใจติดใจ   ถ้าไม่มีก็ไม่ชอบใจเสียใจ   วิสัยของปุถุชนย่อมเป็นอยู่อย่างนี้   ผู้เห็นโทษของอารมณ์ว่าเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ดังนี้แล้ว   ย่อมตั้งสติระวังสังวรในอายตนะนั้นๆ   โดยยึดอุดมคติว่า   "อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะทั้ง   ๖   เป็นเครื่องทำลายความสุขสงบของจิตอย่างยิ่งแล้ว   ก็ตั้งสติระวังสังวรในอายตนะนั้นๆ   ต่อไป   เพื่อความเกษมสุขอันปราศจากอามิส   นี้เป็นทางเอกทางเดียวเท่านั้นที่จะนำผู้ประพฤติปฏิบัติตามให้ถึงนิรามิสสุข"   นอกนี้แล้วไม่มีหวัง   สมดังพระพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุ   ๕   รูปที่ต่างก็พากันระวังสังวรในทวารทั้ง   ๕   มีตาเป็นต้น   แล้วเห็นอำนาจประโยชน์ว่าที่ตนทำนั้นถูกต้องดีแล้ว   แลนำความสุขมาให้สมดังประสงค์   โดยสรุปใจความได้ว่า   "ภิกษุผู้สำรวมในแต่ละทวาร   ย่อมยังคุณประโยชน์ให้สำเร็จได้ทั้งนั้น   ภิกษุผู้สำรวมแล้วในทวารทั้งปวง   ย่อมพ้นทุกข์ได้"   ดังนี้ฯ

         เนื่องจากไฟสามกองอันเป็นข้าศึกเกิดติดอยู่กับตัวตลอดกาล   จึงเป็นของลำบาทยากที่จะไม่ให้ไฟนั้นร้อนถึงตัวได้   ผู้ที่คุ้มกันไฟอันติดอยู่กับตัวแต่ไม่ให้ร้อนถึงตัวได้จึงนับว่าเป็นบุคคลน่าอัศจรรย์อย่างเยี่ยม   เราท่านทั้งหลายโดยเฉพาะผู้ที่ออกบวชแล้วหรือผู้ที่เห็นโทษในกามทั้งหลายโดยได้นามสมัญญาว่า   เนกฺขมฺม   ขอได้ติดตามยุทธวิธี   ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปนี้ดูว่า   เมื่อทำตามแล้วจะได้คุณประโยชน์สมจริงหรือไม่   โดยยึดเอาอุดมคติดังกล่าวแล้วข้างต้นเป็นที่ตั้ง   ทั้งผู้ที่ออกบวชแล้วแลไม่ออกบวช   หากยังไม่เห็นโทษในกามคุณห้าอยู่แล้ว   ก็ไม่ทราบว่าจะไปต่อสู้กับใครเพื่อประโยชน์อันใด   เพราะไฟสามกองดังกล่าวแล้วย่อมเกิดขึ้น   ณ   ที่อายตนะ   ๖   อันมีอยู่ในตัวของเราท่านทุกคนนี้เอง   ผู้ไม่เคยทำจิตของตนให้สงบก็จะทราบว่าความสุขเกิดจากความสงบได้อย่างไร   จึงเป็นที่น่าเสียดายมาก   จะเห็นได้แต่ความเพลิดเพลินของจิตอันหลงระเริงสนุกเฮฮาไปตามอารมณ์ที่ตนชอบใจเท่านั้น   ว่าเป็นสุขอย่างยิ่ง   เหมือนกับปลาผู้ไม่รู้เรื่องความสนุกสนานที่มีอยู่ในป่าเถื่อนดงดอนอันเต่าผู้เป็นสหายเห็นแล้วนำมาเล่าสู่ฟัง

         ฉะนั้น   เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีฉันทะความพอใจในอันที่จะระวังสังวรในอายตนะ   ๖   ต่อไป   ผู้ที่ได้ฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงความสุขสงบอันปราศจากอามิสได้แล้ว   ย่อมเห็นภัยในอารมณ์ที่เกิดจากอายตนะเหมือนข้าศึกที่น่ากลัวฉะนั้น

         ชั้นสูงจากสวรรค์ลงมา   ต่ำแต่นรกขึ้นมา   เป็นภูมิที่อยู่ของกามาพจรสัตว์ผู้ล่องลอยอยู่ในกามคุณห้า   มนุษย์เกิดมาด้วยอำนาจวิบากของกามาพจรกุศล   จึงต้องวนวุ่นอยู่กับกลิ่น   คือกามารมณ์   อายตนะทั้ง   ๖   จึงทำหน้าที่รับเอาอารมณ์ขนาดหนักอยู่ตลอดเวลา   ถึงแม้จะเห็นโทษว่าเป็นของวุ่นวายนำมาซึ่งความเดือดร้อน   แต่ก็จำต้องรับวิบากไปตามกาล   เพราะได้ตกอยู่ในห้วงของกรรมแล้ว   ผู้เห็นโทษเท่านั้นจึงคิดที่จะต่อสู้เพื่อเอาชนะมันได้   แล้วดำเนินตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า   "ให้ตั้งสติระวังอย่าให้หลงใหลไปตามกระแสของอารมณ์ทั้ง   ๖   เพราะทวารทั้ง   ๖   นี้จำต้องใช้มันอยู่ตลอดเวลา"   ตาเห็นรูปก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล   รูปที่ตาเห็นก็เป็นวัตถุที่อยู่ในกามภูมิ   ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล   ใจผู้รับรู้รับเห็นอารมณ์ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากกามาพจรกุศล   ฉะนั้น   อารมณ์ที่เกิดขึ้นจากสัมผัสของสองอย่างนั้นจึงต้องเป็นกามาพจรสืบไปด้วย   คือมียินดียินร้าย   ชอบใจแลไม่ชอบใจแล้วแต่ไฟสามกองคือ   ราคะความรักใคร่ชอบใจ   โทสะความไม่พอใจขึ้งโกรธ   ความคับแค้นแน่นอุรา   โมหะความลุ่มหลงมัวเมาเข้าใจผิด   ติดในอารมณ์นั้นๆ   แล้วเข้าไปยึดถือเอามาเป็นตนเป็นของตน   ก็เข้ามารุมเผากายใจของตนให้เร่าร้อนเป็นทุกข์   หูแลเสียง   จมูกแลกลิ่น   ลิ้นแลรส   กายแลสัมผัส   ใจแลธรรมารมณ์   ทั้ง   ๕   นี้ก็มีอาการเช่นเดียวกัน   แล้วบางที่ก็ต้องใช้พร้อมๆ   กันทั้ง   ๖   ทวารก็มี   บางที่ก็ต้องเพียง   ๒-๓-๔-๕   บ้าง   สุดแล้วแต่กรณี   ตลอด   ๒๔   ชั่วโมง   หากตนคนนั้นมีอายุ   ๕๐-๖๐-๗๐   ขึ้นไปละ   ลองคิดดูว่าความเร่าร้อนเป็นทุกข์ของเขานั้นจะมีมากน้อยสักเท่าไร   บางคนอาจสงสัยว่า   อายตนะนี้นอนหลับแล้วไม่ต้องใช้   ขอเฉลยไว้   ณ   ที่นี้เลยว่าต้องใช้   คือ   "มโนทวาร"   คือใจ   มีอายตนะครบถ้วนอยู่แล้วเรียกว่า   "อายตนะภายใน"   มันทำงานอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน   กายพักผ่อนนอนหลับแล้ว   ใจไม่หลับที่เราเรียกกันว่าฝัน   แล้วในฝันนั้น   มันมีขันธ์   ๕   อายตนะคนบริบูรณ์เลย   แต่ที่ไม่ฝันนั่นเป็นเพราะสัญญานามธรรมไม่ร่วมทำงานด้วย   แท้ที่จริงใจนี้ไม่มีการพักผ่อนหลับนอนเลย   ใจจะพักทำงานได้ก็ต่อเมื่อใจได้อบรมกรรมฐานโดยถูกต้อง   แล้วเข้าถึงฌาน   (คือภวังค์จิต)   ถ้าจะพูดให้ชัด   ภวังค์จิต   ก็ยังไม่ชื่อว่า   "จิตพักโดยสมบูรณ์   ต้องเข้าถึงนิโรธสมาบัติ   ดับความรู้สึกนึกคิดทั้งหมด   แม้แต่ลมหายใจก็ไม่ปรากฏ"   เพราะภวังค์เป็นแต่หยุดงานอันเกี่ยวข้องด้วยอารมณ์หรืออายตนะภายนอกเท่านั้น   ส่วนอายตนะภายในใจซึ่งเกิดกับดับพร้อมอยู่   ณ   ที่ใจโดยเฉพาะแล้วหาได้หยุดไม่   ยังคงทำงานอยู่ตามเดิม   แต่มันเป็นงานอันละเอียดเฉพาะส่วนตัว   ถ้าจะเปรียบแล้วเหมือนกับเราหยุดรับงานอื่นๆ   มีงานรับแขกเป็นต้น   แล้วเข้าห้องเขียนหนังสือเป็นต้น   ฉะนั้น   ผู้ที่ไม่ได้ระวังสังวรในอายตนะทั้งหลาย   จึงต้องได้รับความเดือดร้อนเป็นทุกข์มาก   เพราะอารมณ์มากแลมีทั้งดีทั้งชั้ว   ผู้มาพิจารณาเห็นโทษแล้ว   จึงต้องระวังสังวรในอายตนะทั้งหลาย   เพื่อมิให้ใจหลงใหลไปในอารมณ์ต่างๆ

         ฉะนั้นงานนั้นจึงต้องใช้ทั้งสติแลปัญญาแยบคายอันฉลาดแหลมลึก   แลความกล้าหาญอดทนจึงจะเอาชนะกับอารมณ์ได้   เช่นตาเห็นรูป   ธรรมดาใครๆ   ก็ต้องการดูแต่ที่สวยๆ   เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินเจริญตาเจริญใจ   ซึ่งกามสัตว์ทั่วไปปรารถนาอยู่แล้ว   แต่ผู้เห็นโทษแล้วกลับเห็นความเพลิดเพลินนั้นเป็นความหลงใหลไร้สาระอย่าว่าแต่ถึงกับเพลิดเพลินเลย   แม้ขณะที่จิตแล่นออกไปจากความเป็นหนึ่งของจิต   ก็เห็นเป็นภัยอันใหญ่หลวงแล้ว   สมกับที่ว่า   "ภยทสฺสี   ผู้ที่ปกติเห็นภัยมีประมาณเล็กน้อย"

         เนื่องจากกายแลจิตเป็นวิบากของกามาพจรกุศล   แลตกอยู่ในท่ามกลางของกามภูมิดังกล่าวแล้ว   ฉะนั้น   จิตจึงมักตกไปในกามารมณ์ได้ง่าย

         ผู้เห็นโทษแล้วจึงต้องใช้อุบายให้ตรงกันข้าม   เห็นตามเป็นจริงว่า   รูปเป็นแต่สักว่าธาตุ   ๔   ขันธ์   ๕   หรือเห็นเป็นอสุภะของไม่งาม   ไม่เที่ยงแท้แน่นอน   เป็นทุกข์   เป็นของสูญเปล่าหาแก่นสารไม่ได้   เป็นต้น   เมื่อพิจารณาไปๆ   จิตมันถอนออกจากอุปาทานความเห็นผิดเดิมเสียได้   มาเห็นแน่ชัดในใจด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงว่า   ที่เห็นเป็นคนเป็นมนุษย์บุรุษชายหญิง   สวยไม่สวย   น่ารักน่าเกลียดนั้น   แท้จริงนั้นเป็นความหลงเข้าใจผิดต่างหาก   หาได้เป็นไปตามนั้นไม่   ผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นอย่างนี้เรียกว่าผู้ตื่นจากหลับหรือความหลงจึงจะตรงกันว่า   เนกฺขมฺม   โดยแท้

         ท่านผู้อ่านทั้งหลาย   ข้าศึกตีวงล้อมเราอยู่ทั้ง   ๖   ทิศ   มันหมายพิชิตแย่งเอาอิสระของเรา   หากเราไม่ใช้กำลังศรัทธาพละ,วิริยพละ,สติพละ,สมาธิพละ,ปัญญาพละ   ยอมสละชีพเพื่อความอยู่รอดของตนแล้ว   มีหวังเป็นทาสของข้าศึกอย่างแน่นอน   ข้าศึกอย่างที่ว่านี้ถึงชนะมันแล้วก็อย่าได้วางใจ   ข้าศึกภายในมันเข้าลักษณะที่ว่า   ไส้เกิดเป็นหนอน   คนสนิทคิดขบถได้ง่ายกว่าคนอื่นไกล   ชนะเพราะเห็นตามเป็นจริงแล้วอย่าได้ประมาทว่า   จะได้ไม่หลงเห็นผิดอีก   ข้อนั้นจะไม่สมหวังตลอดไป   เพราะใจเป็นของเบากลับกลอกได้ง่าย   อนึ่งใจที่เราปฏิวัตินั้นมันได้หลงใหลในอารมณ์มานานแสนนาน   การที่ใจกลับกลอกหลงใหลไปสู่สภาพเดิมเป็นของง่าย   เหมือนน้ำไหล

         ท่านผู้อ่านทั้งหลาย   อารมณ์ที่เข้ามาทางทวาร   ๖   เปรียบเหมือนข้าศึกของใจ   ที่หวังจะแย่งเอาความสุขสงบของผู้มีความสงบอยู่แล้ว   ผู้ต้องการจะชิงชัยเอาชนะก็คือสติโดยใช้ปัญญาอันคมกล้าเป็นอาวุธในยุทธสนามอันกว้างศอกยาววาหนาคืบนี้เอง   ใจเป็นผู้หลง   ใจก็ต้องเป็นผู้แก้ความหลงของตนเอง   ใจจึงต้องรับหน้าที่ต่อต้านกับความหลงอย่างหนัก   การปฏิวัติความหลงของใจให้เกิดปัญญาเห็นตามเป็นจริง   มิใช่ของทำง่าย   จำต้องใช้ความพยายามอย่างพลีชีพ   เป็นทหารหาญเอาเยี่ยงอย่างพระบรมครูของเราจึงจะชนะได้   ถึงเราชนะความหลงใหลแล้ว   อายตนะทั้ง   ๖   อันเป็นช่องทางให้ใจเกิดความหลงก็คงยังเป็นอายตนะแลอยู่ร่วมกันกับผู้ชนะนั่นเอง   คนสนิทคิดขบถย่อมทำได้ง่ายกว่า   คนอื่นไกลเป็นไหนๆ   มันจะเข้ากับหลักที่ว่าไส้กลับกลายเป็นหนอน   คิดว่า   "ผู้เอาชนะแล้วจะไม่แพ้อีก"   ข้อนั้นจะไม่สมหวังตลอดไป   ใจเป็นของกลับกลอกได้ง่ายแล้วก็เคยหลงใหลเข้าใจผิดมานานแสนนาน   กว่าที่เราจะมาปฏิวัติให้เห็นชัดของจริงตามเป็นจริงจึงเป็นของทำได้ยาก   เมื่อผู้ชนะแล้วจึงไม่ควรประมาทด้วยประการทั้งปวง

         ให้เห็นอารมณ์ที่เข้ามาในทวารทั้ง   ๖   ว่าจะเป็นภัยคุกคามแก่ความสงบสุของใจอยู่เสมอ   ในหลักปฏิบัติท่านสอนให้เจริญ   "วสีห้า"   คือ
         ให้ชำนาญในการพิจารณาอารมณ์   ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ   ใกล้ไกล   หยาบละเอียด   ให้พิจารณาให้ได้ให้เห็นชัดเหมือนกันหมด   ๑
         ให้ชำนาญในการเข้าจิต   คือเข้าฌาน-สมาธิให้ได้ในอิริยาบทใด   อยู่ในสถานที่ใดก็ให้เข้าให้ได้ทุกขณะ   ๑
         ให้ชำนาญในการตั้งอยู่ของจิต   คือเมื่อจิตเข้าฌาน-สมาธิได้แล้ว   จะให้จิตนั้นตั้งอยู่ในขั้นใดภูมิใด   ช้านานสักเท่าไรก็ได้ตามประสงค์   ๑
         ให้ชำนาญในการตรวจตราชั้นภูมิของจิตทั้งของตนแลของคนอื่น   ๑
         ให้ชำนาญในการถอนจิต   คือจิตเข้าถึงฌาน-สมาธิแล้ว   เวลาจะถอนออกจากนั้นมา   ให้รู้จักลักษณะอาการนั้นๆ   ของจิต   มิใช่เวลาจะถอนปุ๊บปั๊บถอนออกมาเลย   ๑

         ผู้ชำนาญในวสีห้านี้   ฌาน-สมาธิของผู้นั้นจะไม่มีเสื่อมเลย   พระพุทธองค์จึงทรงตรัสย้ำว่า   "ภาวิตา   พหุลีกตา   อภิญฺญาย   สมฺโพธาย   นิพฺพานาย   สํวตฺตติ"   แปลว่า   ท่านทั้งหลายจงทำให้มาก   เจริญให้ยิ่ง   จึงจะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้   เพื่อความดับทุกข์ดังนี้   คือพระองค์ประสงค์ว่า   ทั้งผู้ที่กำลังเจริญอยู่ก็ดีหรือผู้ที่เจริญเป็นไปแล้วก็ดีในกรรมฐานหรือฌาน-สมาธิ-วิปัสสนาใดๆ   ก็ตาม   ไม่ให้ประมาท   จงพากันเจริญอยู่เสมอๆ   เพราะสิ่งที่จะยั่วยวนชวนให้เราหลงใหลมีอยู่รอบตัวในตัวของเรานี้ตลอดกาล

         ถ้าผู้ใดมาเห็นว่าตัวของเราทั้งหมดพร้อมด้วยสิ่งแวดล้อม   ตกอยู่ในภายใต้ของกามคุณห้า   จะทำอย่างไรๆ   ก็เอาชนะมันไม่ได้   ไปไม่พ้นแล้ว   ผู้นั้นชื่อว่า   "เป็นผู้ยอมแพ้แล้วแต่ยังไม่ทันออกสู่สนาม"   ถ้าผู้ใดมาเห็นว่า   การรักษาอายตนะทั้ง   ๖   เป็นการยุ่งยากลำบากมาก   ผู้นั้นได้ชื่อว่า   "กำลังต่อสู้กับข้าศึกอยู่   ชัยชนะมอบไว้ให้แก่กาลเวลาในอนาคต"   ถ้าผู้ใดมาเห็นว่า   อายตนะทั้ง   ๖   เรารู้เท่าเข้าใจตามความเป็นจริงแล้ว   อารมณ์ทั้ง   ๖   เราเอาชนะมันได้แล้ว   ผู้นั้นได้ชื่อว่า   "ใกล้อวสานแห่งการแพ้ต่อข้าศึกอยู่แล้ว   ความหายนะกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้เข้าทุกวินาที"

         ธาตุ   ๔   เป็นวัตถุธาตุล้วนๆ   ไม่ได้เกี่ยวด้วยจิต   ขันธ์   ๕   อายตนะ   ๖   เป็นธาตุประสม   แต่ไม่ได้จัดว่าเป็นตัวกิเลส   เป็นแต่บัญญัติธรรมเท่านั้น   ผู้หลงผิดคิดว่าธรรมสามกองนี้เป็นตน   เป็นของของตน   แล้วเข้าไปยึดถือเอามาไว้เป็นอุปาทาน   จึงจัดเป็นกิเลส   ผู้จะกล่าวถึงโลกสามแล้วก็ต้องกล่าวอยู่ในขอบเขตของธรรมสามกองนี้   ผู้เจริญสมถะ-วิปัสสนา-กรรมฐาน   ต้องการจะข้ามพ้นโลกสาม   ก็มาตั้งต้นบันไดขั้นแรกตรงที่ธรรมสามกองนี้   ธรรมสามกองนี้จึงเป็นทั้งโลกียะแลโลกุตตร

         ผู้มายกเอาธรรมสามกองนี้ขึ้นมาปรารภโดยเห็นว่ามนุษย์   สิงสาราสัตว์สารพัดซึ่งมีอยู่ในโลกนี้   นับตั้งแต่ตัวของเราเป็นต้นไป   เห็นเป็นเราเป็นของของเรา   เป็นมนุษย์บุรุษชายหญิง   เป็นนั่นเป็นนี่   เรียกว่าผู้เห็นโลกเป็นเรา

         ผู้มาพิจารณาเห็นโลกมีตัวเราเป็นต้น   เห็นเป็นแต่สักว่าเป็นธาตุ-ขันธ์-อายตนะเท่านั้น   ไม่มีอะไรทั้งหมด   ที่สมมติบัญญัติว่าอันนั้นเป็นนั่นเป็นนี่   เป็นแต่สมมติบัญญัติลมๆ   แล้วๆ   ตามชอบใจของตนเท่านั้น   แท้จริงสิ่งนั้นหาได้เป็นไปตามนั้นไม่   มันมีแต่บัญญัติคือ   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   เท่านั้น   เช่นสมมติว่าผู้ชายชื่อขาว   เมื่อเข้าไปตรวจตัวจริงแล้ว   ผู้ชายจะไม่มีจริง   จะมีแต่วัตถุธาตุเท่านั้นซึ่งจะแยกออกไปก็เป็นธาตุ-ขันธ์-อายตนะต่างหาก   คำว่าชายก็มีเพศหรือลักษณะอันเป็นเครื่องหมายต่างออกจากเพศหญิงเท่านั้น   คำว่าขาว   ก็แสดงลักษณะของธาตุดินอีก   คนอื่นแลสิ่งอื่นนอกออกไปจากตัวของเราแล้วก็มีนัยดังแสดงมาแล้วนี้ทั้งนั้น   ผู้มาพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้   เรียกว่าผู้พิจารณาเห็นโลกสามตามความเป็นจริง   ผู้พิจารณาเห็นเช่นนั้นแล้ว   เข้าไปหลงติดเพลิดเพลินอยู่กับความเห็นของตนนั้น   เรียกว่าผู้ติดอยู่ในโลกสาม   เมื่อเห็นเช่นนั้นชัดแจ้งด้วยญาณทัสสนะอันชอบแล้ว   จิตปล่อยวางเห็นเป็นสภาวธรรมตามเป็นจริงว่า   "ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกิดขึ้นมาแล้ว   ตั้งอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็แตกดับสลายไป   เป็นธรรมดา"   เรียกว่าผู้รู้แจ้งโลกทั้งสาม   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   เป็นธรรมกลางๆ

         ผู้ตกอยู่ในกามโลกก็ไปดึงเอาธรรมสามกองนั้นมาเป็นอัตตา   หลงใหลเพลิดเพลินไปตามธรรมสามกองนั้นจะให้เกิดกามโลกไป   ผู้มาพิจารณาธรรมสามกองนั้นเห็นชัดเจนด้วยปัญญาวิปัสสนา   แต่ยังถอนความรู้ความเห็นนั้นไม่ได้   เรียกว่าผู้ยังติดอยู่ในรูปโลก   ผู้มาพิจารณาเห็นเช่นนั้นแล้ว   แลเห็นว่าการที่มาชอบใจพอใจอยู่กับความรู้ความเห็นเช่นนั้นเป็นของหยาบ   ปล่อยวางความจำที่ว่าชอบไม่ชอบหรือความเป็นของเฉยๆ   นั้นเสียได้   แล้วอยู่ด้วยความไม่มีอะไรทั้งหมด   เรียกว่าผู้ติดอยู่ในอรูปโลก   ที่เรียกว่าโลกเพราะไปติดอยู่กับความที่ว่ามีหรือไม่มี   หรืออัตตาอนัตตา

         ท่านผู้มีปัญญามาพิจารณาเห็นโลกสาม   รู้ตามความเป็นจริงดังอธิบายมาแล้ว   ท่านไม่เข้าไปยึดเอาโลกสามมาเป็นอัตตาหรืออนัตตา   เป็นแต่เอาโลกสามนั้นมาเป็นเครื่องวัดปัญญาญาณทัสสนะของท่านว่า   นั่นโลกสาม   นั่นปัญญาผู้รู้เห็นตามเป็นจริง   ความรู้ที่รู้จริงจะต้องรู้แล้วปล่อยวาง   ไม่หลงเข้าไปยึดเอาความรู้นั้นเข้ามาเป็นอัตตาหรืออนัตตาอย่างนี้ๆ   เมื่อตรวจดูจิตของตนก็ผ่องใสสะอาดพอๆ   กับความรู้ความสงบ   ไม่ยิ่งไม่หย่อน   เป็นความรู้ที่ปราศจากความปรุงแต่งใดๆ   ทั้งหมด   แม้แต่ความจำในอดีต   อนาคต   ก็มิได้เอามาใช้ในที่นั้น   แต่เมื่อเอามาเทียบกับความรู้ชัดในนั้นที่นั้นแล้ว   ตรงกับความจริงทุกๆ   ประการ   แต่มันชัดแจ้งกว่า   มีรสชาติกว่า   เมื่อมาตรวจดู   ธาตุ-ขันธ์-อายตนะ   ก็เป็นจริงตามสัญญาบัญญัติอยู่อย่างนั้น   มันมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นตามปกติของมัน   จิตของท่านจึงไม่อยู่นอกอยู่ในแลไม่นึกไม่เอา   สิ่งใดมีสภาพเป็นอยู่อย่างไรมันก็เป็นอยู่เช่นนั้นตามเคย   เมื่อธาตุ-ขันธ์-อายตนะยังเป็นไปอยู่   คือยังไม่แยกออกจากกัน   ต่างก็ทำงานตามหน้าที่ของความเป็นอยู่ของธาตุนั้นเรียกว่า   "ธาตุปริวัติ"   ความเป็นอยู่ของขันธ์นั้นเรียกว่า   "ขันธ์วิบาก"   ความเป็นอยู่ของอายตนะนั้นเรียกว่า   "ฉฬังคุเปกขา"   เมื่อธรรมสามกองนี้แยกกันแล้ว   ผู้รู้ผู้สำรวมรักษาผู้พิจารณาผู้มาเห็นตามเป็นจริงก็หมดหน้าที่ตามๆ   กันไป   สมมติบัญญัติก็ไม่มี   คำพังเพยโบราณท่านว่า   "น้ำเพียงใด   ดอกบัวเพียงนั้น"   ความจริงดอกบัวมันอยู่บนน้ำ   สายบัวต่างหากเป็นเครื่องวัดความลึกตื้นของน้ำ   พร้อมกันนั้น   น้ำก็เป็นเครื่องวัดของสายบัวไปในตัว   รูปธรรม   นามธรรม   จิต   กิเลส   นิพพาน   ย่อมเป็นเครื่องวัดของกันแลกันฉะนั้น   ธรรมเป็นของละเอียดมาก   ยากที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะอธิบายให้ถูกต้องถึงเนื้อแท้ของธรรมได้บริบูรณ์   แต่ถูกต้องที่สุดก็คือเป็นผู้หวังดีต่อผู้อื่น   แล้วพยายามอธิบายอรรถธรรมนั้นเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจตามความสามารถภูมิปัญญาของตนๆ   พระสัพพัญญูพุทธะแลสาวกพุทธะก็มีฐานไม่เสมอกัน   แต่ท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็มีปัญญาสามารถทำหน้าที่ของตนๆ   ให้บรรลุตามความประสงค์ของตนได้

         ผู้เขียนก็ขอสารภาพว่า   ธรรมบรรยายที่แสดงมาทั้งหมดนี้   คงอธิบายไม่ถึงตามความลึกซึ้งของธรรมนั้นทั้งหมดเป็นแน่   แต่ด้วยอำนาจศรัทธาในท่านผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย   จึงได้เขียนเสนอเพื่อจะได้นำเอาไปพิจารณา   หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย   หากผิดพลาดคลาดเคลื่อนในอรรถธรรมข้อใดหมวดใด   ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายได้โปรดกรุณาให้คำแนะนำตักเตือนผู้เขียนด้วย   จะขอบพระคุณในความกรุณาเป็นอย่างยิ่ง.

= จบ =