เทศน์อบรมพระ   ณ   วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่   26   กันยายน   พุทธศักราช   2521

ขันธ์   5   ต่างหากจากจิต

         สิ่งภายนอก   คือ   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   เครื่องสัมผัสต่างๆมีอยู่ทั่วไปตลอดเวลา   เมื่อมีสิ่งรับทราบกัน   สิ่งเหล่านั้นจะสัมผัสสัมพันธ์ไม่ขาดวรรคขาดตอนกับสิ่งภายใน   คือ   ตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   ใจ   ความมีสติ   มีปัญญาเครื่องพิสูจน์กลั่นกรองกับสิ่งที่มาสัมผัสย่อมได้อุบายขึ้นมาเรื่อยๆ   ท่านเรียกว่าฟังเทศน์   เมื่อสิ่งเหล่านั้นมาสัมผัสสัมพันธ์กับตัวเราย่อมเป็นการปลุกความรู้สึกขึ้นมา   เมื่อจิตใจมีความตั้งมั่นต่อเหตุผลหรืออรรถธรรมอยู่แล้ว   ก็ทราบได้ทั้งสิ่งดีและชั่วที่มาสัมผัส   การพิจารณาตามนั้นเรียกว่าเรียนธรรม   ปฏิบัติธรรม   การเกิดข้อข้องใจขึ้นมาก็เกิดจากสิ่งเหล่านั้น

         การพิจารณาแก้ไขข้อข้องใจจนปลิดเปลื้องตนไปได้   ก็อาศัยปัญญาพิจารณาให้ถูกทางตามหลักธรรมที่ท่านสอนไว้   จนผ่านพ้นไปได้เป็นพักๆ   เป็นตอนๆ   เรื่อยไปเรียกว่า   เรียนความจริง   ไม่ใช่เรียนให้เป็นความจำ   เรียนเป็นความจำก็อย่างเราเรียนเราท่องตำรับตำราต่างๆเรียกว่า   เรียนเพื่อความจำ   นี้เรียนเพื่อความจริง   คือ   เพื่อความรู้จริงเห็นจริงตามหลักธรรมชาติที่เป็นจริงซึ่งมีอยู่ทั้งภายนอกภายใน

         เรียนเพื่อความจริงย่อมจะไม่มองข้ามสิ่งดีและชั่วที่มีอยู่กับตัวและสัมผัสสัมพันธ์กันอยู่เสมอ   จะเห็นได้ตอนปัญญาเริ่มไหวตัวนั้นแหละ   สมาธิมีความสบายมีความสงบ   จิตไม่ค่อยวุ่นวาย   เป็นความสะดวกสบายภายในใจ   คือจิตไม่รบกวนตัวเองด้วยอารมณ์ต่างๆที่ได้รับจาก   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   เครื่องสัมผัสที่เคยเกี่ยวข้อง   แล้วนำอารมณ์อดีตเข้ามาครุ่นคิด   มายุแหย่ก่อกวนจิตใจให้ว่าวุ่นข่นมัวขึ้นมา

         เราจะไปตำหนิว่ารูปไม่ดี   เสียงไม่ดี   กลิ่นไม่ดี   ก็ไม่ได้   ถ้าหากเราพิจารณาให้เป็นธรรมไม่ลำเอียงไปทางฝ่ายกิเลสก็ทราบได้ชัดว่า   จิตใจเราไม่ดีเอง   เราโง่เอง   ใจคะนองไปรักสิ่งนั้น   ไปชังสิ่งนี้   ไปเกลียดสิ่งนั้น   ไปโกรธสิ่งนี้   ความรักความชังความเกลียดความโกรธ   เป็นเรื่องของกิเลส   ไม่เรื่องของธรรม   เพราะฉะนั้น   ปัญญาจึงต้องใคร่ครวญด้วยดีเพื่อทราบความคิดปรุงต่างๆ   กระเพื่อมขึ้นจากตัวเอง   โดยอาศัยสิ่งที่มาสัมผัสนั้นเป็นสาเหตุให้กระเพื่อมขึ้นมา   เรียนธรรมะจำต้องเรียนอยู่ที่ตรงนี้

         จิตเมื่อมีความสงบย่อมมีความสบาย   เพราะไม่มีอะไรกวนใจเหมือนจิตที่หาหลักเกณฑ์ไม่ได้   จิตไม่เคยสงบเลย   คือจิตไม่มีหลัก   ย่อมจะถูกสิ่งก่อกวนราวีอยู่ไม่หยุด   และย่อมก่อกวนตนเองอยู่เสมอ   เมื่อถูกก่อกวนให้ขุ่นมัวอยู่เสมอ   ใจก็หาความสงบสุขไม่ได้   ปลงที่ไหนก็ปลงไม่ลง

         ถ้าจิตปลงตัวเองไม่ได้แล้ว   ไม่มีที่ไหนเป็นที่ควรปลง   จะปลงที่ต้นไม้   ภูเขา   ดินฟ้าอากาศ   ในน้ำ   บนบกก็ปลงไม่ลง   ถ้าไม่ปลงที่ต้นเหตุซึ่งมันเกิดขึ้น   คือ   ใจอันเป็นตัวมหาเหตุ

         มันเกิดที่ตรงไหนให้พิจารณาลงที่ตรงนั้น   มันว้าวุ่นขุ่นมัวที่ตรงไหนให้สนใจดูและพิจรณาที่ตรงนั้น   คำว่าตรงนั้นก็คือใจเรานั่นเอง   ต้องหาสารส้มมาแกว่งลงไป   คำว่าสารส้มก็หมายถึง   การบริกรรมภาวนา   ในขั้นริเริ่มเป็นอย่างนั้น   เช่นกำหนดอานาปานสติหรือกำหนดพุทโธเป็นต้น   ตามแต่อัธยาศัยชอบ   นำธรรมบทนั้นมาเป็นคำบริกรรม   จิตใจขณะที่บริกรรมอยู่ด้วยความไม่พลั้งเผลอ   ย่อมเป็นเหมือนกับกลั่นกรองอรามณ์ให้เข้าสู่จุดเดียวให้แน่วแน่ลงไป   เช่นเดียวกับสารส้มที่แกว่งลงไปในน้ำ   ตะกอนก็ต้องนอนก้นลงไป   น้ำก็ใสสะอาด   แน่ะ   เบื้องต้นต้องทำอย่างนี้ก่อน

         พอใจมีความสงบอารมณ์ก็ไม่กวน   ถ้าเป็นตะกอนก็ลงนอนก้นโอ่ง   ขั้นเริ่มแรกต้องทำอยางนั้น   เพียงเท่านี้ก็สบาย   แต่ยังไม่ค่อยเกิดความฉลาดหรือเกิดความแยบคายในแง่ต่างๆ   เพราะจิตเป็นเพียงความสงบ   เมื่อได้ความสงบก็เท่ากับเราได้ความสบาย   เพราะความสงบเป็นบาทฐานให้เกิดความสุขความสบาย   เรียกว่ามีที่พักของจิต   มีหลักมีเกณฑ์   พอปลงจิตปลงใจลงได้   นั่งอยู่ก็สบาย   นอนอยู่ก็สบาย   เพียงขั้นสงบเท่านี้ก็สบาย   เห็นผลประจักษ์ใจ

         เวลาเจอความสบายจะไม่เจอที่ไหน   จะเจอที่จิต   เพราะจิตเป็นตัวยุ่งเป็นตัวไม่สบาย   เมื่อได้อบรมตนในทางที่ถูกที่ควรตามหลักธรรมแล้ว   ก็ปรากฎเป็นจิตสงบเป็นจิตสบายขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดภายในใจ   ในอิริยาบถต่างๆ   เป็นไปด้วยความสะดวกสบายอยู่ที่ไหนก็พออยู่คนเรา   เมื่อจิตมีความสบายเสียอย่างเดียว   เรื่องอดเรื่องอิ่ม   ขาดตกบกพร่อง   มั่งมีศรีสุขอะไรนั้น   มันเป็นสิ่งภายนอก   ไม่ใช่ของจำเป็นยิ่งกว่าจิตได้หลักยึดได้ธรรมเป็นที่อาศัย   ไม่ระเหเร่ร่อนเหมือนแต่ก่อน

         สิ่งของปัจจัยเครื่องอาศัยภายนอกก็ไม่เป็นภัย   เพราะตัวเองฉลาด   มีความรอบคอบต่อสิ่งต่างๆ   ซึ่งมาเกี่ยวข้องกับตน   ท่านให้ชื่อว่าสมาธิ   ความสงบ   เป็นผลเกิดขึ้นจากการอบรมด้วยอารมณ์ของสมถะ   คือ   บทบริกรรมภาวนา

         อารมณ์แห่งธรรม   คือ   ความคิดความปรุงในคำบริกรรมนี้   แม้จะเป็นความปรุงเหมือนกันกับความคิดปรุงต่างๆที่เกิดขึ้นเพราะกิเลสผลักดันให้คิดให้ปรุง   แต่ความคิดปรุงประเเภทนี้เป็นความคิดปรุงในแง่ธรรมเพื่อความสงบ   ผิดกับความคิดปรุงธรรมดาของกิลเลสพาให้ปรุงอยู่มาก   กิเลสพาให้คิดปรุงนั้น   เหมือนเราเอามือหรือเอาไม้ลงกวนนั้นที่มีตะกอนอยู่แล้ว   แท่นทีมันจะใสแต่กลับขุ่นมากขึ้นฉะนั้น   แต่ถ้าเอาสารส้มลงกวนนั้นผิดกัน   น้ำกลับใสขึ้นมา

         นี่การนำอารมณ์เข้ามากวนใจ   แทนที่ใจจะสงบ   แต่กลับไม่สงบและกลับแสดงผลขึ้นมาให้เป็นความทุกข์ร้อนเสียอีก   ถ้าเอาพุทโธเป็นต้น   เข้าไปบริกรรมหรือแกว่งลงในจิต   โดยบริกรรมพุทโธๆ   แม้จะเป็นความคิดปรุงเหมือนกันก็ตาม   แต่คำว่าบริกรรมนี้ซึ่งเปรียบเหมือนสารส้ม   จึงทำให้ใจสงบเย็นลงไป

         ท่านผู้สั่งสอนท่านมีเหตุมีผล   เพราะท่านได้ดำเนินมาก่อนพวกเรา   และรู้มาก่อนแล้วจึงได้นำมาสอนพวกเรา   จึงไม่ใช่เป็นทางที่ผิด   ความคิดปรุงเช่นนี้เรียกว่าเป็นฝ่ายมรรค   เป็นฝ่ายระงับดับทุกข์ทั้งหลาย   ความคิดปรุงตามธรรมดาของสมัญชนเราซึ่งไม่มีข้ออรรถข้อธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น   เป็นความคิดปรุงที่เป็นสมุทัย   อันเป็นแดนผลิตทุกข์ขึ้นมาเรื่อยๆจนเป็นผลเดือดร้อน

         ในขั้นแรกก็ให้ได้ทรงสมาธิสมบัติภายในใจ   อย่าให้ใจว่างเปล่าจากสมบัติอันมีค่าตามลำดับ   ต่อไปพิจารณาทางด้านปัญญา   ฝึกหัดคิดอ่านไตร่ตรอง   อะไรเข้ามาสัมผัสก็เทียบเคียงหาเหตุผล   หาต้นหาปลายของมัน   ไม่ปล่อยให้อารมณ์นั้นๆมาคว้าเอาของดีไปกินเปล่า   ดังที่เคยเป็นอยู่เสมอ   อารมณ์นั้นมีอยู่เกิดอยู่เสมอ   เดี๋ยวก็มีเรื่องหนึ่งขึ้นมาสะดุดในให้ได้คิดเป็นเงื่อนต่อไปอีก   และเข้าใจในเงื่อนนั้นเข้าใจในเงื่อนนี้   แล้วปล่อยไปๆ   นี่เป็นวาระที่จะตัดกิเลส   ส่วนสมาธิเป็นเพียงควบคุมกิเลสเข้ามาสู่จุดรวมคือใจ   ปัญญาเป็นผู้คลี่คลายขุดค้นหากิเลส   และตัดฟันหรือทำลายที่ละชิ้นละอันโดยลำดับลำดา

         นักปฏิบัติเราไม่สามารถปฏิบัติเพื่อทรงมรรคผลนิพพานได้แล้ว   ไม่มีใครจะมีโอกาสสามารถยิ่งกว่าพระที่เป็นเพศอิสระ   อยากพูดเต็มปากอย่างนี้   เพราะพวกเราเป็นนักปฏิบัติด้วย   เป็นเพศนักบวชด้วย   ซึ่งเป็นเพศที่ปลดเปลื้องภาระต่างๆออกมาแล้ว   โลกเขารับรองชีวิตจิตใจความเป็นอยู่ทุกด้านทุกทาง   ปัจจัยสี่ก็เหลือเฟือครอบโลกธาตุแล้ว   ความเป็นอยู่ของเราสมบูรณ์แล้ว   ถ้าเป็นน้ำก็ท่วมลิ้นท่วมปากท่วมท้องแทบตลอดเวลา   เช่น   น้ำอ้อย   น้ำตาล   น้ำส้ม   น้ำหวาน   น้ำโกโก้   กาแฟ   สารพัดน้ำ

         คำว่าปัจจัยสี่ที่ได้มาจากประชาชนทำบุญให้ทาน   ด้วยศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใสในพระศาสนาเรื่อยมามิได้ขาดนั้น   คือ

จีวร   เครื่องนุ่งห่มใช้สอยต่างๆ   เช่นผ้าสังฆาฏิ   สบง   จีวร   ผ้าอาบน้ำ   ตลอดผ้าเพื่อใช้สอยต่างๆที่จำเป็น

บิณฑบาต   คือ   อาหารการบริโภคทุกประเภท   เพื่อยังอัตภาพให้เป็นไปในการประพฤติพรหมจรรย์

เสนาสนะ   ที่อยู่ที่อาศัย   เช่น   กุฏิ   กระต๊อบ   ร้านเล็กๆพอได้อาศัยบังแดดกันฝน   และนั่งสมาธิภาวนาหรือพักผ่อนนอนหลับ

คิลานเภสัช   ยาแก้โรคชนิดต่างๆในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย

         สิ่งเหล่านี้มีสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง   นอกจากผู้รับทานจากศรัทธาทั้งหลายจะบกพร่องในหน้าที่ของตนเสียเอง   จนกลายเป็นนอนใจ   ไม่คิดอ่านขวนขวายเท่านั้น

         เพศนักบวชผู้ปฏิบัตินี้แลเป็นเพศที่เหมาะสม   หรือใกล้ชิดติดกับอรรถกับธรรมกับมรรคผลนิพพานอย่างยิ่ง   ถ้าทำให้เป็นไปตามหลักธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า   เป็นไปตามเจตนาดั้งเดิมที่บวชมาเพื่อมรรคผลนิพพาน   งานของพระทุกชิ้นทุกอันจะเป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพานทั้งนั้น   เพราะงานโดยตรงของพระ   เป็นงานเพื่อถอดถอนกิเลส   เช่น   เดินจงกรม   นั่งสมาธิภาวนา   ตั้งสติมีความรู้สึกตัว   ระวังไม่ให้เผลอ   ปัญญามีความคิดอ่านไตร่ตรองอยู่เสมอในสิ่งที่ควรละควรถอน   สิ่งที่ควรบำเพ็ญ   สิ่งที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริง   พยายามทำ   พยายามพิจารณาด้วยปัญญาอยู่ทั้งวันทั้งคืน   ยืน   เดิน   นั่ง   นอน   เว้นแต่หลับเท่านั้น   เป็นผู้ทำงานเพื่อรื้อถอนตนออกจากทุกข์   ด้วยอำนาจของความเพียรมีสติปัญญาเป็นเพื่อนสองอยู่โดยสม่ำเสมอ

         กิเลสจะมาจากที่ไหน   จะยกกองพันกองพลมาจากที่ไหนก็ยกมาเถอะ   มันพังทลายทั้งนั้นแหละ   แต่กิเลสมีอยู่ที่ใจ   เหตุที่กิเลสมีมากจนทำให้เกิดทุกข์เป็นไฟทั้งกองภายในใจก็เพราะความไม่รู้ทันมัน   ความไม่เข้าใจวิธีการแก้   การถอดถอนมัน   และความเกียจคร้านอ่อนแอ   ความสะเพร่ามักง่ายแบบสุกเอาเผากิน   อยู่ไปวันๆซึ่งมีแต่เรื่องสั่งสมขึ้นมาโดยถ่ายเดียว   กิเลสจะหาทางออกทางสิ้นไปช่องไหนได้   เมื่อมีแต่เปิดประตู   คือทวารทั้งหกรับมันเข้ามาอยู่ตลอดเวลาดังที่เป็นอยู่นี้   ไม่ยอมปิดและขับไสไล่มันออกไปบ้าง

         หลักธรรมท่านสอนไว้ทุกแง่ทุกมุมไม่มีทางต้องติ   ฉะนั้น   เราควรทำหน้าที่ให้เต็มภูมิ   อย่าให้เสียเวล่ำเวลาในความเป็นนักบวชเพื่อประพฤติปฎิบัติธรรม   อยู่ที่ไหนให้ถือว่างานเป็นของสำคัญประจำใจ   อย่าเห็นงานใดมีความสำคัญยิ่งกว่างานถอดถอนตนให้พ้นจากทุกข์   ผู้นี้แหละผู้ที่ใกล้ชิดต่อมรรคผลนิพพาน   ใกล้ต่อความสำเร็จ   สุดท้ายก็ผ่านไปได้อย่างหายห่วง

         สิ่งที่ปิดบังลี้ลับไม่ให้รู้ให้เห็นก็ไม่ใช่สิ่งใดที่ไหน   ได้เคยพูดอยู่เสมอ   มีแต่กิเลสทั้งนั้นที่ปิดบังไว้   ไม่ใช่กาล   ไม่ใช่สถานที่   ไม่ใช่เวล่ำเวลา   ไม่ใช่บุคคล   ไม่ใช่สิ่งใดมาปิดกั้นจิตใจไม่ให้บรรลุมรรคผลนิพพาน   มีกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น   จะมีกี่แขนงก็รวมชื่อว่ากิเลส   เช่น   ความโลภ   ความโกรธ   ความหลง   ราคะตัณหาอะไร   มันเป็นเรื่องกิเลสแตกแขนงออกไป

         เหมือนกับต้นไม้ที่แตกกิ่งแตกก้านแตกแขนงออกไป   ออกจากไม้ต้นเดียวนั้นแหละ   กิเลสก็ออกจากใจดวงเดียว   รากฐานของกิเลสแท้ท่านเรียกว่า   อวิชชา   มันตั้งรากตั้งฐานอยู่ภายในใจนั่นแล   และครอบงำจิตใจไว้   แล้วก็แตกแขนงออกไปเป็นกิ่งเป็นก้านสาขาดอกใบไม่มีประมาณ   ดังธรรมท่านว่า   กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอะไรเหล่านี้   มันเป็นกิ่งก้านสาขาของกิเลสอวิชชานั่นแล

         เพราะฉะนั้น   การพิจารณาจึงต้องพิจารณาตามกระแสของจิตที่เกี่ยวพันกันกับกิเลส   ซึ่งทำให้ลุ่มหลงในรูป   ในเสียง   ในกลิ่น   ในรส   เครื่องสัมผัสต่างๆ   พิจารณาคลี่คลายโดยทางปัญญาจะถอดถอนได้   กิเลสผูดมัดจิตใจ   กิเลสทำให้มืด   กำเลสทำให้โง่   ตัวกิเลสเองมันไม่ได้โง่   มันฉลาด   แต่เวลามันมาครอบครองใจเรา   เราก็เป็นคนโง่   ไม่ทันกลมายาของมัน   เพราะฉะนั้น   จึงต้องอาศัยหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นต้น   ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กิเลสกลัว   นำมาขับไล่ปราบปราม

         นับบวชต้องเป็นผู้มีความอดทน   ตามหลักของนักบวชเป็นอย่างนั้น   มีความขยันหมั่นเพียรก็คือนักบวช   ชอบคิดอ่านไตร่ตรองก็คือนักบวช   ความไม่ลืมเนื้อลืมตัวก็คือนักบวช   ความเอาจริงเอาจังในสิ่งที่ชอบธรรมทั้งหลายก็คือนักบวช   นักบวชต้องเอาจริงเอาจังทุกงาน   ไม่ว่างานภายนอกภายใน   มีสติคอยกำกับรักษาใจเป็นประจำ   มีปัญญาคอยพิจารณาไตร่ตรองเลือกเฟ้น   สอดส่องดูว่าอันใดผิดอันใดถูก   ปัญญาแนบนำอยู่เสมอ

         ทุกข์ก็ทน   คำว่าทุกข์มันไม่ใช่ทุกข์เพราะความเพียรเท่านั้น   มันทุกข์เพราะการฝืนกับกิเลสเป็นสำคัญ   ความขี้เกียจก็คือเรื่องของกิเลส   ความอ่อนแอคือเรื่องของกิเลส   เราฝืนความอ่อนแอ   เราฝืนความเกียจคร้านซึ่งเป็นเรื่องของกิเลสด้วยความขยันหมั่นเพียร   ด้วยความเอาจริงเอาจังจึงเป็นทุกข์   ความเป็นทุกข์ที่ปรากฎอยู่นี้   ไม่ใช่เป็นทุกข์เพราะอะไร   เป็นทุกข์เพราะความต่อสู้กับกิเลส   ถ้าเรายังเห็นว่าความต่อสู้กับกิเลสเป็นเรื่องความทุกข์แล้ว   ก็ไม่มีทางต่อสู้กับกิเลสได้   และไม่มีวันชนะกิเลสไปได้เลยแม้ตัวเดียว

         เราต้องหาอุบายวิธีแก้ไขไม่นอนใจ   ตราบใดที่กิเลสยังมีอยู่ภายในใจ   การทำความเพียรต้องทำอย่างเข้มแข็งอยู่ตราบนั้น   ถอยไม่ได้   ถ้าไม่อยากให้กิเลสบดขยี้แหลกเหลวน่ะ   การนั่งนานเกิดความเจ็บปวด   นั่นมันเป็นธรรมดา   เดินนานก็เหนื่อยเราเปลี่ยนได้พลิกได้   แต่สำคัญที่ความทุกข์เพราะการต่อสู้กับกิเลสนี้มันไม่มีเวล่ำเวลา   ถ้าเราไม่ต่อสู้มัน   มันยิ่งเอาเราหนัก   การต่อสู้มันก็เพื่อชัยชนะ   จึงไม่ถือว่าป็นความลำบากลำบนเพราะเราต้องการอยู่เหนือกิเลส   เราต้องการชนะกิเลส   เรากลัวกิเลส   เราจะเอาอะไรไปสู้กับมัน

         เหมือนนักมวยเขาขึ้นชกกันบนเวที   ถ้ากลัวกันอยู่แล้วก็ไม่ได้ต่อยกัน   เพราะต่างคนก็ต่างหวังเอาชนะกันนั้นเอง   หวังชนะทุกคน   มันพลีชีพด้วยกันในขณะนั้น   จะไปขี้เกียนอ่อนแอในขณะชกกันอยู่บนเวทีได้หรือ   ขาดกำลังใจนิดหนึ่งก็ต้องแพ้   เผลอนิดนิเดียวก็ต้องแพ้ถูกหามลงเปลว่าไง   ดีแล้วหรืออย่างนั้นน่ะ

         เราเป็นนักรบก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น   ให้เป็นเหมือนนักมวยขึ้นต่อยกันบนเวที   จิตใจอยู่กับความชนะทั้งนั้น   กำลังใจเป็นรากฐานแห่งความชนะก็มีประจำใจ   การตั้งความชนะกิเลสไว้เป็นรากฐานสำคัญ   แล้วก้าวเดินเข้าไป   ทุกข์ก็ยอมรับว่าทุกข์เพราะต่อสู้กัน   เราเข้าสงครามระหว่างกิลเสกับจิต   ในธรรมท่านกล่าวไว้   โย   สหสฺสํ   สหสฺเสน   สงฺคาเม   มานุเส   ชิเน,   เอกญฺจ   เชยฺยมตฺตานํ,   ส   เว   สงฺคามชุตฺตโม.   การชนะสงครามที่คูณด้วยล้าน   ก็หาได้เป็นความชนะอันประเสิฐไม่   เพราะการชนะเหล่านั้นเป็นเครื่องก่อเวร   ผู้แพ้ก็เป็นทุกข์   ผู้ชนะก็ต้องได้ระมัดระวังตัว   และเป็นต้นเหตุเห่งความก่อเวรผูกพันกันไปเรื่อยๆ   ไม่มีสิ้นสุด

         แต่ผู้ชนะกิเลสภายในใจของตนเพียงคนเดียวนั่นแล   เป็นผู้ประเสริฐสุดยิ่งกว่าการชนะในสงครามที่คูณด้วยล้านนั้นเป็นไหนๆ   ความชนะเหล่านั้นสู้ความชนะกิเลสของตนไม่ได้   นี่เป็นพุทธภาษิต

         พวกเราอยู่ๆก็จะให้เกิดความชนะขึ้นมาโดยไม่มีการต่อสู้   อย่าหาญคิด   กระรอกกระแตที่มันเคยกัดกัน   ต่อสู้กันเพื่อเอาชนะกันจะหัวเราะเอา   แหละว่า   โอ้โฮ   พระวัดป่าบ้าตาดนี่โง่ชะมัดเชียว   พากันวาดมโนภาพนั่งเอาชนะ   นอนเอาชนะ   สัปหงกงกงันเอาชนะโดยไม่คิดหาทางต่อสู้บ้างเลย   พระเหล่าที่นอนชนะ   กินชนะนี่มาจากที่ไหนกันบ้างวะ   ดูว่ามาจากหลายจังหวัด   หลายภาค   หลายประเทศด้วยนี่   เวลาพากันมาอยู่วัดป่าบ้านตาดแล้ว   สอบไล่ได้ระดับปริญญาเอกมีนัยน์ตาข้างเดียวกันหมด   พวกเรามองไปไหนเห็นแต่พระปิรญญาเอกแบบนี้เต็มวัด   ถามองค์ไหนก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันอย่างคล่องปากว่า   พวกข้า(พระ)มันพวกนอนกิน   กิเลสแตกกระเจิงโดยไม่ต้องทำความเพียรหรือต่อสู้ให้ลำบากเหมือนพวกแกหรอก

         นี่ถ้าไม่อยากให้กระรอกกระแตแตกหนีจากวัดกันหมดละก้อ   ต้องเป็นนักต่อสู้ตัองมีสติปัญญาไม่ฉลาดไม่ได้   มีสักแต่ว่าตนทำความเพียร   เดินจงกรมไปเรื่อยๆ   เฉยๆ   โดยไม่มีสติสตัง   ก้ไม่จัดว่าเป็นความเพียรเพราะโลกเขาเดินได้ทั้งนั้น   แม้แต่เด็กก็ยังเดินได้   เดินไม่มีสติรักษาตน   ไม่มีความรู้สึกตัวในความเพียรของตัว   ไม่จัดว่าเป็นความเพียร   สติขาดระยะใดก็ชื่อว่าความเพียรได้ขาดระยะนั้น   ถ้าลงว่าสติได้ขาดแล้วความเพียรก็ขาดทันที   สติเป็นธรรมจำเป็นทุกกาลสถานที่   ปล่อยไม่ได้

         สติเป็นของสำคัญ   เป็นพื้น   เราพูดอย่างเต็มปาก   เพราะเคยเห็นคุณค่าของสติ   ตอนเริ่มฝึกหัดมาอย่างนั้นด้วย   ล้มลุกคลุกคลานเราก็เคยเป็นมาเสียจนพอตัว   ไม่กลัวใครจะมาแข่ง   จนบางครั้งเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจตนเองว่า   ตนมีวาสนาน้อย   เกิดมารกศาสนา   เพื่อนฝูงทั้งหลายท่านมีความสงบเย็นใจ   มีอรรถมีธรรมได้เล่าถวายครูบาอาจารย์ฟัง   ให้ท่านได้แก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นขั้นเป็นตอนไป   แต่เราไม่เห็นมีอะไร   มีแต่ความล้มลุกคลุกคลาน   มองดูทีไรมีแต่จิตถูกกิเลสมันเผาอยู่ตลอด   เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ   บางทีแทบจะร้องไห้ก็มี   แต่นี่เป็นเพียงขณะใดขณะหนึ่ง   ไม่ตลอดไป

         แต่อีกขณะหนึ่งจิตมันก็พลิกกันปั๊บว่า   ครูบาอาจารย์แต่ก่อนท่านก็เป็นอย่างนี้เหมือนกัน   ท่านก็เป็นคนๆหนึ่ง   ท่านสอนเราเพื่อให้เป็นคนอย่างท่าน   เพื่อให้รู้ให้เห็นอย่างท่าน   ทำไมเวลานี้เราก็มุ่งหน้าและตั้งหน้าตั้งตามาประพฤติปฏิบัติธรรมกับท่านด้วยความเต็มใจ   ทำไมมาตำหนิติเตียนตนไม่เข้าเรื่องเข้าราวอย่างนี้   เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง   เรามาเพื่อความรู้เห็นอรรถธรรม   ตลอดถึงมรรคผลนิพพาน   ทำไมทำไม่ได้   รู้ไม่ได้   เมื่อเรามีความเพียรอยู่   เอาซิเป็นอะไรเป็นกัน   คิดยุ่งให้เสียเวลาทำไม   จิตก็เกิดความห้าวหาญขึ้นมาและตะเกียกตะกายต่อไป

         จิตเมื่อได้การอบรม   การฝึก   การปลุกปลอบด้วยอุบายต่างๆ   อันเป็นการช่วยจิตอยู่ตลอดเวลา   จิตย่อมมีความเพียร   มีกำลังใจและมีความสะดวกราบรื่น   สงบเย็นลงได้   นี่แหละหลักการประพฤติปฏิบัติต่อจิตใจที่มีกิเลสครองอำนาจ   ย่อมลำบากทรมานพอๆกันนักปฎิบัติเรา

         เราพร้อมทุกอย่างแล้วเวลานี้   ว่างที่สุดไม่มีใครว่างเกินพระสำหรับเมืองไทยเรา   ผู้นับถือพุทธศาสนา   ถือพระเป็นสิริมงคลต่อจิตใจ   เขาเคารพเลื่อมใส   การทำบุญให้ทานเท่าไหร่ไม่อัดไม่อั้น   ไม่เสียดาย   อยากได้บุญกับพระผู้ตั้งใจฆ่ากิเลสตัวมหาโจรตัวมหาพินาศ   ทำให้โลกให้พินาศก็คือกิเลสที่เข้าสิงจิตหรือหนุนจิตให้เป็นไป   เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติกปฏิบัติ   เพื่อกำจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปจากใจแล้วธรรมสมบัติเริ่มปรากฎขึ้นมา   ตั้งแต่สมาธิสมบัติ   ปัญญาสมบัติ   จนกระทั่งวิมุตติสมบัติ   ท่านผู้นั้นย่อมเป็นที่พึงใจทั้งตนทั้งผู้สนับสนุน

         เพราะฉะนั้น   เวลานี้เราไม่มีอะไรบกพร่องอาหารการบริโภคก็ดูเอา   อยากได้น้อยเท่าไรก็ยิ่งมีมามาก   วันหนึ่งๆถ่ายบาตรไม่ทราบกี่ครั้งกี่หน   นี่คือน้ำใจของประชาชนที่มีความยินดีต่อผู้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกำจัดกิเลส   เขาอยากได้บุญด้วย   เขาทำอย่างเราไม่ได้เขาก็อยากได้บุญ   ให้เท่าไรไม่เสียดาย   ให้มากให้น้อยเท่าไรเป็นที่พอใจ   มีความยิ้มแย้มแจ่มใส   ตื้นตันใจ   พอใจ   อิ่มเอิบ   ข้าวยังไม่ตกถึงท้องก็ไม่หิว   เพราะอิ่มทานการบริจาคด้วยความพอใจ

         เราผู้ตั้งหน้ารบก็เอาให้จริงให้จัง   เป็นเจตนาคนละอย่าง   เขามีเจตนาอย่างนั้นกับเรา   เราก็มีเจตนาอย่างนี้กับตน   เพื่อถอดถอนกิเลสอาสวะให้หมดไปๆ   อย่าคุ้นกับความทุกข์   ไม่ใช่เป็นของน่าคุ้น   ไม่ใช่เป็นของน่าชิน   เหมือนดอกไฟกระเด็นมาถูกเราเราชินไหม   กระเด็นมาถูกน้อยก็เจ็บร้อนน้อยทุกข์น้อย   ถูกมากก็ร้อนมาก   ทุกข์ที่เกิดขึ้นมาจากไฟคือกิเลสที่ทำให้เราร้อนก็เหมือนกัน   ไม่ว่าประเภทใดเกิดขึ้นมา   มันเป็นธรรมชาติที่ร้อนที่ทำให้เกิดความทุกข์ทั้งนั้น   แล้วเราจะมีความเคยชินกับมันได้อย่างไร   สิ่งที่เคยชินไม่ได้ก็คือทุกข์   แสดงขึ้นเมื่อไรก็ต้องเดือดร้อนเมื่อนั้น   เราจึงไม่ควรนอนใจกับมัน   ให้เร่งความพากเพียรเข้าไปอย่าท้อถอย   การเร่งความเพียรทุกประโยคก็คือการก้าวหนีทุกข์   การวิ่งหนีทุกข์   จะเป็นสิ่งที่ขี้เกียจได้อย่างไร

         สติ   เป็นของสำคัญ   ปัญญา   เป็นของสำคัญ   นี้เป็นหลักสำคัญมากในการประกอบความเพียร   อย่าปล่อย   นี่สอนเสมอ   สอนหมู่เพื่อนเรื่องสติเรื่องปัญญา   เพราะไม่เห็นอันใดที่เด่นมาในการแก้กิเลสอาสวะทุกประเภท   จนกระทั่งหมดความสงสัยภายในใจที่นอกเหนือไปจากสติปัญญา   โดยมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุนนี้เลย   เราเคยเห็นคุณค่าของสติปัญญามาอย่างนี้   เราจึงพูดเต็มปาก   สติไม่มี   สติล้มลุกคลุกคลานก็เคยเป็นมาแล้วอย่างที่เล่าให้ฟัง   ปัญญาไม่มี   ไม่ทราบจะคิดอะไรให้เป็นอรรถเป็นธรรมให้เป็นสติปัญญา   ท่านพูดว่าปัญญาๆก็ไม่รู้   นี่ก็เคยเป็นมาพอแล้ว   เวลาพิจารณาจิตอบรมจิตหลายครั้งหลายหนอย่างเอาจริงเอาจัง   ก็ไม่ทนต่อความเอาจริงเอาจังด้วยความมีสติจดจ่อ   ใจสงบลงจนได้   เมื่อสงบลงได้แล้วก็ปรากฎเป็นความสุข   ความแปลกประหลาดยิ่งกว่านั้นก็เป็นความอัศจรรย์ตามขั้นของจิต

         ความเพียรเริ่มละที่นี่   เพราะเห็นผล   เมื่อเห็นผลของงานแล้วความเพียรหากเป็นมาเอง   เอ้า   ทีนี้พิจารณาแยกแยะทางด้านปัญญาอย่างเอาจริงเอาจัง   จดจ่อพิจารณาหาอุบายพลิกแพลงตนเอง   ไม่คอยแต่ครูบาอาจารย์อบกวิธีนั้นวิธีนี้   นั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของตนผลิตขึ้นมาเอง   ไม่ดีไม่เหมาะ   ปัญญาที่เกิดขึ้นจากความคิดความเห็นของตัวเอง   เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นกินไม่หมด   ยิ่งแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ   คิดเท่าไรพิจารณาเท่าไร   ยิ่งแตกแขนงออกไปไม่มีสิ้นสุด   จนกระทั่งกระจายไปรอบตัวรอบจักรวาล   นั่งอยู่ที่ไหนก็มีแต่สติปัญญาทำหน้าที่คุ้ยเขี่ย   ขุดค้น   ปราบปรามกิเลส

         ถ้ากิเลสเป็นด้านวัตถุ   ลงสติปัญญานี้ได้ออกก้าวเดินแล้วด้วยความสง่าผ่าเผย   องอาจกล้าหาญ   มีความเฉลียวฉลาดรอบตัว   เราเดินไปตามทางก็ดี   หรือในทางจงกรมก็ดี   ก็เหมือนว่าเราฆ่ากิเลส   เผากิเลสอยู่ตลอดเวลา   ฆ่ากิเลสตายระเนระนาด   ทั้งการเดินการนั่งมีแต่การฆ่ากิเลส   นั่งก็นั่งฆ่ากิเลส   ยืนก็ฆ่ากิเลส   ยืนที่ไหนฆ่าแต่กิเลส   ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรทั้งนั้น   หากกิเลสเป็นวัตถุแล้วซากศพของกิเลสเกลื่อนไปหมด   แต่ก่อนล้วนกิเลสมันสั่งสมตัวมันไว้กี่กัปกี่กัลป   ทำลายจิตใจ   ทีนี้ถูกสติปัญญาฟาดฟันหั่นแหลกกันลงไป   ตายระเนระนาด   ไปที่ไหนมีแต่เรื่องกิเลสตาย   นี่สติปัญญาขั้นนี้เป็นอย่างนี้

         ต้องให้รู้จักการรู้จักงาน   รู้จักวิธีรบ   วิธีรับ   วิธีต่อสู้   วิธีหลบหลีก   จึงเรียกว่าปัญญาอันคมกล้า   ถ้ามีแต่กิเลสคมกล้า   ไอ้เราก็มืดดำกำตาหรือมืดแปดทิศแปดด้าน   ถ้าปัญญาได้สว่างจ้าขึ้นมาภายในใจแล้วจะรอบตัว   กิเลสมาแง่ไหน   คิดขึ้นเรื่องใด   อะไรมาสัมผัส   สติปัญญาทันทั้งนั้น   นอกจากทันกับอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันแล้ว   ยังตามวินิจฉัยกันจนเป็นที่เข้าใจ   ปล่อยวางๆ   ไปเรื่อยๆ   จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา

         ที่นี่เอาละ   เรื่องความขี้เกียจเรื่องความกลัวทุกข์นั้นหายหน้าไปหมดเลย   ไม่มีคำว่ากลัวทุกข์   ไม่มีคำว่ากลัวตาย   มีแต่จะเอาให้รู้   เป็นก็ให้รู้ตายก็ให้รู้   หรือว่าเป็นก็ให้พ้นตายก็ให้พ้นจากทุกข์   พ้นจากกิเลสไปโดยถ่ายเดียว   เป็นสิ่งที่ต้องการ   คำว่าแพ้นี้ให้ตายเสียดีกว่า   อย่าให้แพ้แบบหมอบราบทั้งๆที่มีชีวิตอยู่นี้เลย   เป็นไปไม่ได้   ถ้าแพ้ก็ให้แพ้แบบตายเลย   เป็นมวยบนเวทีก็ให้ถูกน็อคล้มลงไป   ตายเลย   อย่างนี้จึงว่าแพ้   อยู่ๆก็ไปยกมือไหว้เขา   ว่ายอมแพ้ไม่ได้

         จิตขั้นนี้สติปัญญาขั้นนี้   เชื่อตัวเองขนาดนั้นแล   ให้ท่านทั้งหลายพิจารณาเอาเอง   เมื่อถึงขั้นเชื่อตัวเอง   เชื่ออย่างนั้น   คือ   เชื่อกำลังความสามารถของสติปัญญา   อยากพบเห็นข้าศึกคือกิเลสเท่านั้น   กิเลสตัวไหนที่มาขวางใจ   อยู่ตรงไหนบ้าง   มันพิจารณาซอกแซก   ซิกแซ๊ก   คุ้ยเขี่ยขุดค้นหาจนแหลก   เพราะเมื่อสติปัญญามีกำลังกล้าขึ้นมาแล้ว   ข้าศึกมันหลบตัวมันซ่อนตัว   จึงต้องขุดค้นคุ้ยเขี่ย   พอเจอกันแล้วก็ฟาดกันละที่นี่   เรียกว่าได้งานหรือเจอข้าศึกแล้ว   ฟาดลงไป   พอเหตุผลพร้อมแล้วกิเลสขาดสะบั้นลงไปเห็นชัดนี่ตัวนี้ขาดลงไปแล้ว   ทีนี้คุ้ยเขี่ยหาอีก   หางาน   พอเจอเข้าก็ได้งานและต่อสู้ขาดลอยไปอย่างนี้เรื่อยๆ   จิตก็เพลินในความเพียร

         ใจยิ่งเด่นขึ้นๆ   เห็นชัดเจนโดยลำดับลำดา   กิเลสมีมากมีน้อยเห็นชัดว่าเป็นภัยต่อจิตอย่างยิ่ง   เมื่อเป็นเช่นนั้นจะนอนใจได้อย่างไร   เอาดำเนินไปซิ   เมื่อความเพียรมีอยู่ไม่หยุดไม่ถอย   จะไม่พ้นจากคำที่กล่าวนี้ไปได้เลย   เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ในทางคงวามเพียรนี้   ต้องเป็นไปอย่างนี้จริงๆ   ไม่สงสัย   เอาให้จริง

         ทำอะไรอย่าทำแบบจับๆจดๆ   อย่าหัดนิสัยจับๆจดๆ   ให้มีความจดจ่อ   ให้มีความจริงใจกับสิ่งนั้นจริงๆ   ทำอะไรก็เพื่อผลประโยชน์   อย่าสักแต่ว่าทำผ่านมือๆไป   เป็นนิสัยจับจดใช้ไม่ได้   เวลาจะทำความพากเพียรถอดถอนกิเลสก็จะทำแบบจับๆจดๆ   ปล่อยๆวางๆ   เป็นคนหลักลอย   เลยไม่มีอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นของตัวได้เลย   มีแต่ความเหลาะแหละเต็มตัว   นั้นหรือเป็นตัว   เป็นตัวไม่ได้   เชื่อตัวเองไม่ได้

         เอาให้เชื่อตัวเองได้สิ   พระพุทธเจ้าสอนให้เชื่อตัวเอง   จาก   อตฺตา   หิ   อตฺตโน   นาโถ   คือความหวังพึ่งตนเอง   ด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรของตัวเอง   พระองค์มอบไว้แล้วทุกอย่าง   เครื่องมือถูกต้องหมดแล้ว   เอ้า   นำมาประกอบ   นำมาฟาดฟันกิเลส   กิเลสจะตายด้วยสติปัญญา   กิลเลสกลัวสติปัญญา   กิเลสประเภทใดก็ตามไม่พ้นจากสติปัญญานี้ไปได้   นี่กิเลสกลัวมาก   และตายด้วยสติปัญญาศรัทธาความเพียรนี้ด้วย   ไม่ได้ตายด้วยอย่างอื่น   สิ่งที่พอกพูนกิเลสอย่าสนใจนำมาใช้   สิ่งใดที่กิเลสจะยุบยอบลงไป   หรือจะสลายลงไปจากจิต   ให้นำสิ่งนั้นมาใช้เสมอ   สติปัญญาเอาให้ดี

         เราอยากเห็นหมู่เพื่อน   เราอยากได้ยินหมู่เพื่อนมีความพากเพียร   ว่าได้รู้อย่างนั้น   ว่าได้เห็นอย่างนั้นมันมีกำลังใจ   โอ้   การเทศน์มานี้ไม่เสียเวล่ำเวลา   ไม่สเยอรรถเสียธรรมที่สอนเต็มเม็ดเต็มหน่วย   ถอดจากหัวใจออกมาสอนทุกสิ่งทุกอย่าง   แล้วได้ปรากฎผลออกมาเป็นสักขีพยาน   เหมือนพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า   อญฺญาสิ   วต   โภ   โกณฺฑญฺโญ,   อญฺญาสิ   วต   โภ   โกณฺฑญฺโญติ   พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ   นั่นแล

         เหตุเบื้องต้นก็คือพระอัญญาโกณฑัญญะ   ได้รู้เห็นธรรม   บรรลุอริยธรรมขั้นต้นคือพระโสดาบัน   แล้วเปล่งอุทานออกมาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า   ด้วยความถึงใจว่า   ยงฺกิญฺจิ   สมุทยธมฺมํ   สพฺพนฺตํ   นิโรธธมฺมนฺติ   ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วต้องดับทั้นั้น   ด้วยความรู้ซึ้งถึงใจจริงๆ   วาระสุดท้ายพระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานอนุโมทนาธรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะว่า   อญญาสิ   วต   โภ   โกณฺฑญฺโญ,   อญญาสิ   วต   โภ   โกณฺฑญฺโญติ   พระอัญญาโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอๆ   อิติหิทํ   อายสฺมโต   โกณฺฑญฺญสฺส,   อญฺญาโกณฺฑญฺโญเตฺวว   นามํ   อโหสีติ.   อันนี้จึงได้เป็นมิตตกนามของพระอัญญาโกณฑัญญะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

         นี่คือ   พระอัญญาโกณฑัญญะ   เป็นผู้ที่รู้เห็นธรรมคนแรก   ที่เป็นสักขีพยานของพระพุทธเจ้า   ไม่เสียพระทัย   ไม่เสียพระกำลัง   ไม่เสียเวลาที่ทรงสั่งสอนเป็นปฐมเทศนาแก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าครั้งแรกแห่งความเริ่มเป็นศาสดาของโลก   และทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตรให้แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้าฟัง   รูปํ   อนิจฺจํ,   เวทนา   อนิจฺจา,   สญฺญา   อนิจฺจา,   สงฺขารา   อนิจฺจา,   วิญฺญาณํ   อนิจฺจํ,   รูปํ   อนตฺตา,   เวทนา   อนตฺตา,   สญฺญา   อนตฺตา,   สงฺขารา   อนตฺตา,   วิญฺญาณํ   อนตฺตา.   ฟังซิ   เอาฟังให้ซึ้งซิ   มันอยู่ในตัวของเรานี้น่ะ   ฟัง   รูปํ   อนิจฺจํ   มันแปรตัวอยู่ตลอดเวลา   อย่าชินชากับคำว่ามันแปรอยู่ตลอดเวลา   ให้ซึ้งด้วยปัญญา   จะทราบว่าสิ่งที่เราอาศัยอยู่นี้แปรอยู่ตลอดเวลา   เราอยู่ด้วยความแปร   ความแปรปรวน   อยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน   อยู่กับของหาหลักเกณฑ์อันแน่นอนไม่ได้   อยู่กับความว่างเปล่าจากสัตว์   บุคคล   ตัวตน   เราเขา

         รูปํ   อนตฺตา   ถือเป็นตัวเป็นตนที่ไหน   คือ   ธาตุสี่ดินน้ำลมไฟ   เราไปถือมาเป็นตัวเป็นตนได้อย่างไร   ดินก็เป็นดิน   น้ำก็เป็นน้ำ   ก็ชัดๆอยู่แล้ว   ลมก็เป็นลม   ไฟก็เป็นไฟ   ชัดๆอยู่แล้ว   ไปถือว่าเป็นคนได้อย่างไร   ไปถือว่าเป็นเราได้อย่างไร   ดินน้ำลมไฟน่ะ   ไม่ละอายเขาบ้างเหรอ   ปัญญาให้ซื้งลงไปตามนั้นซิ

         สัญญา   ความจำได้หมายรู้   จำอะไรก็ลืมๆไปหมด   เมื่อต้องการจำอีกก็ปรุงขึ้นมาอยู่อย่างนั้น

         สังขาร   ความปรุง   ความคิด   ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว   คิดเรื่องอดีตอนาคต   คิดอะไรดับทั้งนั้น   เอาสาระแก่นสารอะไรกับมัน   เอาการเหล่านี้มันก็เหมือนพยับแดดนั้นเอง   มองดูไกลๆก็เหมือนเป็นเนื้อเป็นหนัง   เป็นตนเป็นตัว   เวลาเข้าไปใกล้ๆแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร   นี่พิจารณาค้นเข้าไปจริงๆแล้ว

         ในที่ว่าอัตภาพร่างกายนี้มันไม่มีอะไร   เต็มไปด้วย   อนิจฺจํ   ทุกฺขํ   อนตฺตา   ทั้งนั้น   มันมีเราอยู่ที่ตรงไหนพอจะถือว่าเป็นเราเป็นของเรา   เราไม่อายความจริงบ้างเหรอ   เราไม่อายกิเลสบ้างเหรอ   หรือเราก็เป็นกิเลส   เป็นตัวเดียวกับกิเลส   เป็นตัวหลง   ถึงไม่อายกันนั้นก็ยิ่งเพิ่มความโง่เข้าไปอีกซิ   เวลานี้เราไม่ต้องการความโง่   ต้องการพิจารณาเพื่อความฉลาด

         เมื่อท่านแสดงถึงอนัตลักขณสูตรแก่พระเบญจวัคคีย์   วาระสุดท้ายก็มาถึง   รูปสฺมึปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในรูป   เวทนายปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในเวทนา   สญฺญายปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในสัญญา   สงฺขาเรสุปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย   คือความคิดปรุงต่างๆ   และทั้งสังขารอันหยาบคือร่างกายนี้ก็เป็นกองรูปอยู่แล้ว   สงฺขาเรสุปิ   นี้หมายถึง   ความคิดปรุงล้วนๆ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในสังขารทั้งหลาย   วิญฺญาณสฺมึปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในวิญญาณ   หมด   ขันธ์ห้าก็มีเท่านั้น   รูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   นิพฺพินฺทํ   วิรชฺชติ   เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด   เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น   เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว   ญาณความรู้แจ้งว่าจิตหลุดพ้นแล้วย่อมมี   นี่อนัตตลักขณสูตรท่านแสดงไว้อย่างนี้

         แต่สำหรับเราผู้ปฏิบัติ   คิดว่าสูตรนี้ท่านผู้จดจารึกจะตัดทอนออก   ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย   ถ้าเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องหยั่งเข้าถึงจิต   เพียงรู้เท่ารูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   นี้เท่านั้น   จิตหลุดพ้นไปได้อย่างไร   เราปฏิบัติมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่   มันค้านกันได้อย่างจังๆ   คือ   ค้านกันด้วยภาคปฏิบัติ   ไม่ได้ค้านกันด้วยความด้นเดาแต่อย่างใด

         ทำไมถึงค้านกันได้   ก็ยกเอาอาทิตตปริยายสูตรมาซิ   อันนั้นเรายอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์หาที่ค้านไม่ได้   หมอบราบเลย   อันนั้นท่านแสดงถึง   มนสฺมึปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในจิต   ธมฺเมสุปิ   นิพฺพินฺทติ   ย่อมเบื่อหน่ายในธรรมารมณ์ทั้งหลาย   พูดย่นย่อเอาใจความสำคัญมาเทียบกัน   เมื่อเบื่อหน่อยในอารมณ์แล้ว   สิ่งที่สัมผัสก็เบื่อหน่าย   เวทนาที่เกิดขึ้นจากความสัมผัสก็เบื่อหน่าย   เบื่อหน่ายไปหมด   ไม่มีอะไรเหลือภายในนั้น

         เข้าถึงจิต   ....   อาทิตตปริยายสูตร   จกฺขุ   โสต   ฆาน   ชิวหา   กาย   มโน   เอ้า   เราพูดย่อๆ   เบื่อหน่ายในตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   นี้แล้ว   เบื่อหน่ายในรูป   เสียง   กลิ่น   รส   เครื่องสัมผัส   ธรรมารมณ์   และเบื่อหน่ายในจิตอีก   นี่ซิมันเข้าถึงจิต   เมื่อเบื่อหน่ายในจิตแล้ว   มันก็หมด   คำว่าเบื่อหน่ายในจิต   คือ   รู้เห็นเหตุผลภายในจิต   รู้ว่าสิ่งที่แทรกอยู่ในจิตนั้น   มันเป็นตัวภัย   นั่น   ถึงขั้นอวิชชาเต็มตัวทีเดียว   ถ้ายังไม่เข้าถึงจิตก็ยังไม่เข้าถึงอวิชชา

         เมื่อพิจารณา   รูป   เสียง   กลิ่น   รส   เครื่องสัมผัส   แล้วยังพิจารณา   ตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   แล้วยังพิจารณาใจด้วย   อารมณ์ที่เกิดจากใจ   อะไรพาให้อารมณ์เกิดขึ้นมาในใจนั้น   ถ้าไม่ใช่อวิชชา   อะไรเป็นผู้พาปรุง   เป็นผู้ผลักดันออกมา   เชื้อแห่งความคิดปรุงทั้งหลายมันคืออะไร   พิจารณาเข้าไปตรงนั้น   ทีนี้มันก็รู้ชัดเหมือนสภาวธรรมทั่วๆไป   เหมือนรูป   เสียง   กลิ่น   รส   เครื่องสัมผัส   แล้วก็เหมือนตา   หู   จมูก   ลิ้น   กาย   เวลาพิจารณาใจ   พิจารณาเหมือนกันนั้น   รู้ก็รู้เหมือนกันนั้น   ปล่อยก็ปล่อยเสมอกันไปหมด

         เมื่อถึงจิตแล้วไม่มีทางไป   มนสฺมึปิ   นิพฺพินฺทติ,   ธมฺเมสุปิ   นิพฺพินฺทติ   ต่อจากนั้นก็ไป   นิพฺพินฺทํ   อันเดียวกัน   อันนี้เรายอมรับในภาคปฏิบัติ   เราปฏิบัติจริงนี่   มันเป็นอย่างนั้นจริงๆในภาคปฏิบัติ   ส่วนอนัตตลักขณสูตรนี้   พอไปถึงรูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   เบื่อหน่ายสิ่งเหล่านี้แล้ว   ยังไม่ถึงตัวจิตอวิชชาก็ผ่านไป   นี่เราเข้าใจว่าท่านตัดออก   นี่เราได้พิจารณาแล้ว   พิจารณารูป   รู้เท่ารูป   ปล่อยรูป   ภายในใจก็รู้ชัดๆ   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   มันรู้เท่าหมด   ปล่อยหมด   แต่มันยังไปติดอยู่ในใจ   มันไม่พ้นนี่นะเวลาปฏิบัติ   มันไปถือใจอยู่นั้นเสีย   ถือใจก็คือ   มานะ   อวิชชา   ซึ่งป็นสังโยชน์เบื้องบนนั้นแลจะเป็นอะไรไป   ถ้าไม่เป็นตัวใจล้วนๆกับอวิชชากลมกลืนกันอย่างสนิทติดจมน่ะ   เราพิจารณาอย่างนั้น

         มานะ   อุทธัจจะ   อวิชชา   มันก็อยู่ที่ใจทั้งหมดนี่   เมื่อเข้าถึงใจแล้วมันถึงได้รู้ตัวมานะ   คือ   ความถือใจ   มันเป็นกิเลสประเภทหนึ่ง   ท่านเรียกสังโยชน์เบื้องบน   คือ   กิเลสประเภทละเอียดที่จิตยังติดข้องอยู่   ยังไม่รอบตัว   พูดง่ายๆอวิชชาฟังดูซิ   จะอยู่ที่ไหนถ้าไม่อยู่ที่จิต   ไม่ได้อยู่ที่รูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   นะ   ไล่   รูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   อันเป็นอาการทั้งห้านี้   ด้วยสติปัญญา   รอบไปหมด   ปล่อยไปหมดแล้วมันยังไม่เห็นพ้นทุกข์นี่   ไม่เห็นพ้นจากกิเลสนี่นะ

         พอไล่เข้าไปถึงจิต   มันก็ไปโดนเอาตัว   มานะ   อุทธัจจะ   อวิชชา   จนได้   พอหมดอันนั้นแล้ว   ไม่ต้องบอก   บอกทำไม   นิพพานอยู่ที่ไหนไม่ต้องบอก   ไม่ต้องถามใครด้วย   พ้นหรือยังจิตที่นี่   ไม่ถามใคร   ถามทำไม   สันทิฎฐิโก   พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงผูกขาด   เมื่อปฏิบัติให้รู้เห็นตามหลักนี้แล้วมันก็รู้ชัดเจนขึ้นมาเอง   แม้พระองค์ประทับอยู่ข้างหน้าก็ไม่ถาม   ไม่ว่าสาวกองค์ใดจะไม่ถามเลยเพราะความจริงเท่ากัน

         นี่การปฏิบัติ   อันไหนที่มันแย้งกันเราก็บอกว่าแย้ง   ทางภาคปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ   เช่น   อาทิตตปริยายสูตรนี้   ไม่มีทางแย้งได้เลย   เอานั้นมาเทียบกับอันนี้ถึงแย้งกันระหว่างอาทิตตปริยายสูตรกับอนัตตลักขณสูตร   แต่เราถือว่าท่านแสดงเพียงสรุปเอา   ถ้าแสดงเต็มภูมิแล้วจะต้องถึงจิตอันเป็นตัวการ   ไม่ถึงจิตจะหลุดพ้นไปไม่ได้   ขัดต่อหลักความจริงของการปฏิบัติ   ของปัญญาที่จะเข้าถึงกัน

         นี่เข้าถึงเพียง   รูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ   ปล่อยนี้ไปแล้ว   ก็ไปแบกทุกข์ไว้ที่ใจ   แบกอวิชชาไว้ที่ใจ   ก็เหมือนตัดต้นไม้   ติดกิ่งตัดก้านตัดอะไรมันออก   รากแก้วไม่ถอนขึ้นมา   มันก็งอกขึ้นมาอีกละซิ   ถอนรากแก้วพรวดขึ้นมาหมดแล้ว   กิ่งก้านไม่ต้องไปตัด   มันก็แหลกไปหมด   มันตายด้วยกันหมดนั่นแหละ   อวิชชาเป็นตัวสำคัญมาก

         เราเห็นอย่างนั้นการปฏิบัติ   จริงจังอยู่ภายในจิต   รู้ชัด   การปฏิบัติธรรมจึงไม่จำเป็นต้องให้ถูกตามปริยัติเปี๊ยะๆไปทีเดียว   ตรงไหนแยกก็ให้ทราบว่าแยกด้วยภาคปฏิบัติของตน   ตรงไหนเข้าร่วมกันก็ให้รู้โดยภาคปฏิบัติของตน   ไม่ให้คาดไม่ให้เดา

         ดังสมาธิ   ปัญญา   นี่ก็เหมือนกัน   ของแต่ละรายๆแต่ละนิสัย   เอา   สมาธิของเราเป็นอย่างไร   ความสงบของเราเป็นแบบไหน   ให้รู้ภายในตัวเอง   อย่าเอาเรื่องของคนอื่นมาคาดหมายเทียบเคียง   มาเป็นสมบัติของตน   มันเป็นสิ่งหยิบยืม   มันไม่ใช่ของจริง   ของจริงแล้วเป็นขึ้นมาอย่างไร   นั้นแลคือของเราแท้   ของเรามีความสงบแบบนี้   ปัญญาของเราเดินแบบนี้   หนักในการพิจารณาทางนั้นๆ   องค์นั้นท่านชอบอย่างนั้น   องค์นี้ท่านหนักไปทางนี้   เป็นรื่องของแต่ละท่านๆ   อย่าเอามาคละเคล้ากัน   ปฏิบัติให้จริงจังอย่างนี้โดยอยู่ในหลักสัจธรรมด้วยกัน

         มรรคผลนิพพานจะอยู่ที่ไหนล่ะที่นี่   เมื่อสติปัญญาได้หยั่งลึกเข้าไปถึงจิตซึ่งเป็นที่รวมของอวิชชาตัวภพตัวชาติแล้ว   และกระจายมันออก   ทำลายมันได้โดยสิ้นเชิง   ไม่มีสิ่งใดเหลืออยู่แล้ว   อะไรจะมาเป็นภพเป็นชาติอีก   มันไม่มี   แล้วก็ไม่มีอะไรจะเทียบด้วย   ถ้าว่าว่างเสียหมดอย่างนี้   คนก็จะคาดว่าว่าง....   อย่างไหนไม่รู้   ความจริงมันเป็นอยู่นี่รู้ชัดๆเต็มหัวใจแต่พูดไม่ออก   ยกเอามาสมมุติ   เพราะอันนั้นไม่ใช่สมมุติ   จะมาพูดแบบสมมุติจะให้มันตรงแบบธรรมชาตินั้น   มันตรงไม่ได้   เพราะอันนั้นเป็นวิมุตติอันนี้เป็นสมมุติ   เป็นแต่เพียงข้อเทียบเคียงกันไปเท่านั้น

         จงพากันตั้งใจปฏิบัติอย่าท้อถอยอย่าลดละ   อยู่ที่ไหนอย่าเผลอ   อย่าลืมเนื้อลืมตัว   อย่าหลงกับสิ่งใดๆในโลกนี้   เป็นของเก่าแก่เคยมีมาดั้งเดิม   วัตถุอารมณ์ต่างๆมีอยู่เต็มแผ่นดิน   ไปที่ไหนก็มีแต่อันนี้   ดินฟ้าอากาศ   ต้นไม้   ภูเขา   เราเห็นอยู่แล้วด้วยตาตั้งแต่วันเกิดมา   ตื่นเต้นกับมันอะไรกัน   ฟังแต่ว่าโลกสมมุติเป็นไร   อะไรๆก็สมมุติ   สมมุติกันขึ้นมาๆ   เมื่อสมมุติกันขึ้นมาแล้วก็หลงกัน   โลกทั้งโลกมีแต่ความหลงสมมุติกัน   ไม่มีใครรู้สมมุติกันบ้างเลย   ความหลงสมมุติ   ความติดสมมุติ   ก็คือ   ความติดทุกข์   ความจมอยู่ในทุกข์นั้นแล   จึงไม่ใช่ความฉลาด   สมมุติก็ให้รู้ว่าสมมุติ   เมื่อรู้สมมุติรอบหมดแล้วก็เป็นวิมุตติขึ้นมาเอง   ภายในใจดวงที่เคยหลงเคยติดนั่นแล   เอาละ

- จบ -