สัมมาทิฏฐิ
โดย พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โอกาสต่อไปนี้เป็นเวลาที่เราจะได้ฟังธรรมและได้ปฏิบัติธรรม พร้อมๆ กันไปด้วย การฟังธรรมก็คือการเรียนธรรม การฟังเทศน์ก็คือการฟังธรรม การฟังก็คือการเรียน เรียนให้รู้
ให้มีความเข้าใจ เพื่อจะได้นำไปเป็นหลักการปฏิบัติ

บัดนี้เราหันมาเรียนธรรมะในคัมภีร์ใจของเรา ท่านผู้ที่เรียนจบพระไตรปิฏก ฟังไปฟังมาก็รู้สึก
คล้ายๆ กับว่า ความรู้ที่ท่านเรียนมามันอาจจะไปปะทะกันเป็นบางครั้งบางคราว บางทีก็กระเทือนแรงถึงขนาดกระเทือนโลก โลกกระเทือนอย่างที่เราได้รู้ ๆ กันมาอยู่นั่นแหละ

ทั้งนี้เพราะเหตุว่าเราเรียนธรรมะแล้วส่งใจออกไปข้างนอก ธรรมะนี้ถ้าไปรู้อยู่ข้างนอกมันเป็นสมุทัย
เพราะความรู้ข้างนอกนี้มันเกี่ยวกับคนอื่น วัตถุสิ่งอื่น ในเมื่อสิ่งใดที่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งภายนอก
บุคคลภายนอกมันก็ย่อมมีเรื่องขัดกันเป็นธรรมดา เพราะอะไร เพราะคนเราท่านว่า
นานาจิตตัง ต่างจิตต่างใจ ต่างคนต่างรู้

หลักการปฏิบัติธรรมะนี้ ถ้าหากว่ามีใครมีความข้องใจสงสัยว่า ทำไมหนอ
บางครั้งนักปฏิบัติจึงขัดคอกัน อันนี้เรามาพูดกันเรื่องพื้นๆตื้นๆ ที่มันสัมผัสกับเรา
อยู่ทุกวันทุกลมหายใจ เพราะอันนี้เมื่อเราเดินไปแล้วกระทบ ในเมื่อกระทบแล้วมันก็กระเทือนใจเรา
ทำให้ใจเรามันกระเพื่อม พอกระเพื่อมแล้วมันก็เหมือนน้ำกระเพื่อม น้ำใจท้องทะเลนี้มันใส ถ้ามันอยู่นิ่ง ๆ เราสามารถมองเห็นกรวดทรายเต่าปลาอยู่ในน้ำได้อย่างถนัด แต่ถ้ามันเกิดมีฟองมีคลื่นขึ้นมาแล้ว เราจะมองดูอะไรไม่ถนัด

จิตหรือใจของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันกระทบแล้วมันกระเทือน เมื่อกระเทือนแล้วก็ไหว
เรียกว่าหวั่นไหว ในเมื่อมันหวั่นไหว เวลามองดูอะไรมันก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้นถ้าเราส่งความรู้สึกออกไปข้างนอกไม่มองเข้ามาในจิตในใจของเรา
หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า

รู้นอกเป็นสมุทัย รู้ในเป็นมรรค

นี่ขอให้ท่านทั้งหลายพึงนำไปพิจารณาดู เพราะฉะนั้น เหตุที่มันมีปัญหาอยู่นั้น อาตมาจะขอยกมาพูดอย่างนี้

คนเรียนธรรมะต่างคนต่างรู้ไม่จริง พอเจอกันเข้าทะเลาะกัน ฝ่ายหนึ่งรู้จริงอีกฝ่ายหนึ่งรู้ไม่จริง
เจอกันเข้าก็ทะเลาะกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างรู้จริง เห็นจริง ได้จริง มองดูกันแล้วยังไม่ทันออกปากพูด
มองดูลูกตากันก็เข้าใจกันแล้ว เพราะเรื่องของธรรมะนี้มันเป็นเรื่องหนึ่งเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสมาธิภาวนา มันเป็นเรื่องหนึ่งเดียวแท้ ๆ

ถ้าคนนั้นผู้ใดทำจิตให้สงบเป็นสมาธิลงไปได้ เพียงแต่จิตไปสงบนิ่งเฉย ๆ อยู่ โดยไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไร
ก็รู้ได้ทันทีว่าจิตมันสงบๆซืดๆ สงบนิ่งๆ สงบโดยไม่มีพลังงาน สงบโดยไม่มีความสว่าง
สงบโดยไม่มีปีติและความสุข ความสงบอันนี้เขาเรียกว่าสงบ แต่สงบแบบชนิดที่นิ่งๆ แต่ยังไม่มีพลังงานพอที่จะทำประโยชน์อันใดได้ ได้แต่สงบนิ่งสบายอยู่เฉยๆ นี่นักภาวนาทั้งหลาย
ท่านผู้รู้ทั้งหลายท่านกลัวติดที่ตรงนี้ ไปสงบนิ่งๆ ซืดๆ สงบนิ่งโดยไม่มีความหมาย อยู่เฉยๆ นี้ก็สบายดีนี่
ลงผลสุดท้ายก็เลยไปเข้าใจว่าคืออนัตตา

เช่น อย่างคนหนึ่งอยู่แถวภูแก้ว อำเภอสูงเนิน แกบวชมา ๒๐ กว่าปี แกก็ไปเทศน์สอนชาวบ้าน แกบอกว่า

โอ๊ย! จะมานั่งสวดมนต์ไหว้พระมานั่งทรมานทำไม ปล่อยวางอย่างเดียวเท่านั้น ถืออนัตตาเป็นหลัก

วันนั้นพอดีได้ยินเขาเถียงกันอยู่กับเด็กน้อยคนหนึ่งอายุ ๑๐ ขวบ ทีนี้หลวงตาคนนั้นแกบอกว่า

ไอ้หนู แกอย่าไปนั่งหลับตาให้เสียเวลา เพียงแต่อยู่เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยวางมันหมดมันก็สบายแล้ว

ทีนี้ไอ้หนูน้อยมันก็เลยบอกว่า

ใช่ซิ! หลวงตาบวชมา ๒๐ ปี กินข้าวแล้วก็นอน นอนตื่นขึ้นมาก็กิน กินแล้วก็นอน ไม่ได้ทำอะไร
หลวงตาก็สบาย แต่ที่หนูภาวนามานี่ หลวงพ่อสอนให้หนูภาวนาพุทโธ ๆ ๆ พอเผลอพั้บ!
จิตมันวูบบวาบลงไป สว่างโพลงขึ้นมา หนูทำอย่างนี้บ่อยๆ มันก็ไม่ได้จืดซืดเหมือนอย่างหลวงตา

หลวงตาใจมันอยู่เฉย ๆ มันเป็นโมหะ โมหะเข้าครอบงำ เลยถือว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตาทั้งสิ้น
บาปไม่มี บุญไม่มี เพราะฉะนั้น ในสมัยที่หลวงตาบวชอยู่นั้น หลวงตาไม่มองเห็นบาปเห็นบุญ
กินข้าวแล้วก็นอนจำวัดสบาย ๆ

หลวงตาบอกว่า อันนี้มันถูกต้อง อันนี้คือมิจฉาทิฏฐิ” ไอ้หนูน้อยมันเทศน์สอนหลวงตา

แต่ว่าหนูภาวนาแล้วจิตของหนูมันสงบวูบวาบลงไปนิ่งสว่างขึ้นมา แล้วมีปีติ มีความสุข
พอลืมตาขึ้นมาก็ อ้อ! พ่อกับแม่ไปไร่ ไปทำนาหามรุ่งหามค่ำ หาข้าวหาปลาหาทรัพย์สมบัติ
หาเงินหาทองมาจุนเจือเราเราจะมาวิ่งเล่นอยู่อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องรีบไปช่วยพ่อช่วยแม่

ทีนี้ความรู้สึกเคารพ ความกตัญญูกตเวที มันเกิดขึ้นในจิตในใจสำนึกถึงคุณของผู้มีคุณ
ความหมั่นความขยันทุกสิ่งทุกอย่าง มันนิ่งนอนใจไม่ได้ แม้จะอยู่เฉย ๆ ใจมันก็ทำงานตลอดเวลา ค้นคิดพิจารณาของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่ามันสงบลงไป แล้วไปนิ่งซืดๆ อยู่อย่างไม่มีน้ำมีนวล
ไม่มีความหมาย

อย่างที่ใครๆ เขาเข้าใจว่า ปล่อยวางหมดสิ้นแล้วมันก็สบาย อันนั้นสบายจริง แต่ว่าสบายแบบไม่ได้อะไร
ไม่ได้ทำอะไร ได้แต่ความเฉยๆ อันนี้เขาเรียกว่าจิตมันไปติดโมหะสมาธิ ติดสมถะขั้นโมหะ

อันนี้แหละนักปฏิบัติทั้งหลายท่านกลัวนักกลัวหนา กลัวว่าจิตมันจะไปติดที่ตรงนี้
แล้วจะกลายเป็นความขึ้เกียจขึ้คร้าน การไหว้พระไหว้เจ้าก็ไม่เอา ถือว่าไม่จำเป็น พุทโธ พุธโธ
ก็ไม่ต้องว่า ใจรู้อย่างเดียวพอแล้ว นี่เข้าใจไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ปัญหาต่าง ๆ นี่ ถ้าหากว่าท่านผู้ใดภาวนาภูมิจิตถูกต้องแล้ว จะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ เพราะการภาวนานี่เพื่อให้ได้คุณธรรม
ซึ่งท่านเรียกว่า พละ ๕ อินทรีย์ ๕

พระพุทธเจ้าบางครั้งท่านอธิษฐานจิตเดินจงกรมอากาศ เดินไปทำไม
เพราะคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้านี้ ไม่ใช่ว่าจะทำคนให้นอนอยู่เฉย ๆ
พอสำเร็จคุณธรรมความเป็นพระพุทธเจ้า ความหมั่น ความขยัน ความเข้มแข็ง
ความเสียสละสารพัดที่มันจะเกิดขึ้น ถ้าคนสามัญธรรมดามองดูพระอริยทั้งหลายแล้ว
คล้ายๆ กับว่าท่านเป็นผู้มีความโลภ เป็นผู้ตระหนี่เหนียวแน่น เป็นผู้หวงแหน
เพราะว่าระเบียบของความเป็นผู้ดีของความเป็นพุทธะนี้มันละเอียดเหลือเกิน

เอาละ ยกตัวอย่างเช่น ในวินัยบัญญัติบางข้อ พระภิกษุอยู่ในวัดเห็นด้ายยาวประมาณพอสนเข็มได้
ไม่เก็บ ต้องอาบัติทุกกฏ เห็นตะปูตัวหนึ่งตกอยู่ลานวัด ไม่เก็บ ต้องอาบัติทุกกฏ
แกล้งทำของสงฆ์ให้เสียหาย ไม่รู้จักรักษาถ้วยชามทิ้งอยู่ทุกหนทุกแห่ง เอาของสงฆ์ไปตั้งอยู่กลางแจ้ง เสร็จแล้วไม่เก็บเองก็ดี ไม่ให้คนอื่นเก็บก็ดี เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งหลายเหล่านี้เมื่อแสดงออกมาแล้ว เราปุถุชนนี่จะรู้สึกว่า พระอริยะอะไรหนอจู้จึ้จุกจิก

เช่นอย่างพระภิกษุแก่ ในตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพานแล้วมีพระภิกษุผู้เฒ่าท่านหนึ่งซึ่งยังเป็นปุถุชน

โอ๊ย! ดีแล้วสมณโคดมนิพพานแล้วเราสบายแล้ว สุขใหญ่แล้วเมื่อก่อนที่พระองค์ยังอยู่นี่
เอ้า! ประเดี๋ยวนี่ท่านนิพพานไปแล้ว เราจะได้ทำอะไรตามอำเภอใจของเรา

นี่! พระองค์นั้นมีความรู้สึกเช่นนั้นเพราะท่านเป็นปุถุชน พระพุทธเจ้าท่านละเอียดมาก
ใครทำอะไรผิดพลาดนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่สวยไม่งาม ท่านจะทักอยู่เสมอ ถ้าอย่างพวกเราในสมัยปัจจุบันนี้
ถ้าอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าแล้วท่านทักบ่อย ๆ คงรำคาญแย่

เพราะฉะนั้น เรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่ว่าปฏิบัติไปแล้วมันปล่อยวางหมดทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วอยู่เฉยๆ
โดยไม่ทำอะไร อันนั้นเข้าใจผิดเมื่อปฏิบัติธรรมมีศิลมีสมาธิแล้ว เราได้พลังงาน ได้ศรัทธา ได้วิริยะ ได้สติ
ได้สมาธิ ได้ปัญญา เมื่อศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีพลังพร้อม

วันหนึ่งเผลอไปไม่ได้สวดมนต์ ไม่ได้นั่งสมาธิ นอนไม่หลับนี่สังเกตดู

ถ้าคุณธรรมเกิดขึ้นในใจแล้ว เรามีความหมั่น มีศรัทธา ศรัทธาความเชื่อในสมรรถภาพของตัวเอง
ศรัทธาความเชื่อในคุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้า คุณธรรมที่ทำคนให้เป็นพระพุทธเจ้า ก็คือความรู้สึกสำนึกผิดชอบชั่วดี เมื่อคุณธรรมส่วนนี้วิ่งเข้าไปสู่จิตในส่วนลึกทำให้จิตนี้รู้ ตื่น เบิกบาน
นั่นธาตุแท้แห่งความเป็นพุทธะเกิดขึ้นในจิตของเราแล้ว

ทีนี้ในขณะที่เราเริ่มต้นในการที่จะปฏิบัติ เรานึกถึงอารมณ์จิตอะไรก็ได้ แล้วตั้งใจนึกอารมณ์นั้น เช่น พุทโธ ๆ ๆ ที่เราตั้งใจนึกนี่เป็นอารมณ์จิต ประเดี๋ยวจะหาว่าหลวงพ่อเทศน์อะไรเทศน์แต่ของเก่า
มาทีไรก็มาเทศน์แต่พุทโธ ๆ ๆ ที่เทศน์พุทโธเพราะเมื่อครู่นี้มีท่านผู้หนึ่งมาถามเรื่องพุทโธ
ในเมื่อภาวนาพุทโธ ๆ ๆ แล้ว ถ้าจิตมันจะเป็นสมาธิมันเป็นยังไงนี่มาทำความเข้าใจที่ตรงนี้ก่อน

ในเมื่อเราตั้งใจพุทโธ ๆ ๆ ๆ ในตอนต้นเราตั้งใจว่าพุทโธ แล้วตั้งใจคุมใจของเรานี้ให้ว่าพุทโธอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราไม่ตั้งใจพุทโธ พุทโธไม่มีในใจ ใจของเราก็ไม่นึกพุทโธ อันนี้มันยังไม่เป็น เมื่อเราตั้งใจนึกพุทโธ พุทโธ ๆ
เมื่อจิตมันติดกับพุทโธแล้ว บางทีนึกขี้เกียจว่าพุทโธ จะหยุดมันไม่ยอมหยุด ถ้าจิตของเราว่าพุทโธไม่ยอมหยุด เราจะตั้งใจมันก็พุทโธไม่ตั้งใจมันก็พุทโธ นี่ตัวนี้ตัวสำคัญ จุดนี้จุดสำคัญ จุดเริ่มของสมาธิมันจะอยู่ที่ตรงนี้

ในเมื่อจิตมันนึกพุทโธ ๆ ๆ อยู่ใม่หยุด บางทีมันก็นึกพุทโธอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง นอนหลับแล้วมันก็ยังนึกอยู่ มันนึกเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ แต่ในบางครั้งมันนึกพุทโธ ๆ ๆ พอทิ้งพุทโธพั้บ ไปคิดอย่างอื่นขึ้นมา
พอจิตคิดอย่างอื่นขึ้นมาแล้ว เราเข้าใจว่าจิตนี่มันออกนอกลู่นอกทางไม่ได้อยู่กับพุทโธที่เราตั้งใจ
แล้วก็เอาความรู้สึกของเราไปแหย่มันเข้า จะไปบังคับให้มันหยุดคิด พอมันถูกกระทบเข้าพั้บมันก็อาละวาด
คือมันฟุ้งใหญ่ ในขณะที่มันต้องการจะทำงาน ต้องการจะคิด เราจะไปข่มให้มันหยุด มันไม่หยุด

มันคล้าย ๆ กับว่า ในขณะที่เราเกิดโกรธใครจัด ๆ ขึ้นมา อารมณ์โกรธมันฝังอยู่ใจจิตในใจ มันก็นึกถึงคู่พยาบาทอาฆาตนั้นอยู่ตลอดเวลา เราพยายามที่จะระงับใจก็ระงับไม่ได้ อดไม่คิดถึงมันก็อดไม่ได้
ห้ามไม่ให้มันคิดถึงคนที่อาฆาตเคียดแค้นกันในก็ไม่หยุด มันจะต้องพยายามคิดถึงให้ได้ นี่ลักษณะมันจะเป็นอย่างนั้น

ในเมื่อจิตมันถึงธรรม มันจะยึดเอาธรรม หรือมันจะรู้ธรรมขึ้นมานี่ มีลักษณะเหมือนๆ กับที่
มันถึงอารมณ์ที่มันข้องใจอยู่ หรืออารมณ์ที่มันเคียดแค้น หรืออารมณ์ที่มันยึดอย่างเหนียวแน่น เหมือนๆ
กับใครสักคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รักที่ชอบใจของเราเกิดถึงแก่ความตายไป ใจของเรามันจะไปนึกฝันอยู่ที่ตรงนั้น
เมื่อจิตมันดูดดื่มในคุณธรรมที่มันเกิดขึ้น มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน

เพราะฉะนั้น ทางปฏิบัติเราจะต้องยึดหลักอย่างนี้ในขณะที่จิตมันท่องคาถาบริกรรมภาวนาพุทโธ ๆ
เป็นต้น ถ้าแกไม่หยุดก็ปล่อยให้แกท่องอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตื่นก็ท่อง นอนหลับก็ท่อง อันนี้ช่วงหนึ่ง
และอีกช่วงหนึ่ง ในเมื่อพุทโธ ๆ ไป พอหยุดพุทโธนั้น วูบลงไป เกิดมีความคิดฟุ้ง ๆ ๆ ขึ้นมา บางทีเราเข้าใจว่าจิตฟุ้งซ่าน แต่แท้ที่จริงมันเป็นความรู้ที่เกิดจากสมาธิ ถ้าหากรู้สึกว่าช่วงนี้มีสติรู้สึกอ่อน ๆ ให้รีบกำหนดทำสติทันที กำหนดรู้ความคิดที่มันเกิดขึ้นฟุ้ง ๆ ขึ้นมานั่นแหละ

ในขณะที่สติยังรู้ไม่ทัน ตามความคิดไม่ทัน เป็นความฟุ้งซ่านไปก่อน แต่เมื่อสติตัวนี้มีพลังแก่กล้าขึ้น
ตามทันความคิดทุกขณะจิต ความคิดนั้นจะกลายเป็นปัญญาในสมาธิ ถ้าใครไม่เชื่อก็ลอง ๆ ดู
เพราะมันจะต้องมีเหตุการณ์ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรื่องนี้ไม่อยากจะคิดถึงทำไม่มันไม่หยุด
ทำไมมันคิดไม่หยุด นี่ปัญหานี้เราจะเจอ ในเมื่อคิดไม่หยุด มันห้ามไม่หยุด
เอ้า! เชิญแกคิดไป ฉันจะตั้งใจดูแก

เอากันอย่างนี้มาแก้ ในเมื่อคิดไป ๆ ดูไป ๆ ดูซิ! มันจะคิดจนกระทั่งอกแตกให้มันรู้ไป
นี่เอากันอย่างนี้นักปฏิบัติ มันถึงจะรู้ทันความคิดของตัวเอง

และอีกอย่างหนึ่ง ในตอนที่ไปออสเตรเลีย ไปได้ความคิดแปลก ๆ ขึ้นมา ฝรั่งเมื่อเขาภาวนาแล้ว
เมื่อจิตสงบ จิตมันจะเปลี่ยนสภาพจากปกติธรรมดาไปสู่ความเป็นสมาธิ เขาเรียกว่า สลบ พอภาวนาไปแล้ว
กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมมันค่อยละเอียด ๆ ๆ ไป สลบพั้บ! ไปเลย หมดความรู้สึก
ฝรั่งเขาว่าอย่างนี้

อาการอย่างนั้นมันเป็นอาการที่จิตมันเกิดขึ้นระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราคุยกันอยู่อย่างนี้ เมื่อภาวนาแล้วจิตมันสงบละเอียด ๆ ลงไป มันจะเปลี่ยนสภาพ พอเปลี่ยนสภาพแล้ว
มันหมดความรู้สึกไปพักหนึ่ง ตอนที่หมดความรู้สึก หมดความตั้งใจนั้น ท่านเรียกว่าจิตก้าวเข้าสู่ภวังค์ ภวังค์คือภพเดิมของจิต ภวังค์ตัวนี้ไม่ใช่สมาธิ อย่าไปเข้าใจผิด

ภวังค์คือช่วงว่างระหว่างวิถีจิตกับวิถีจิตติดต่อกัน เช่นอย่างขณะนี้จิตคิดถึงสีขาว พอทั้งสีขาว
ระหว่างจะเปลี่ยนมาหาสีแดง ตรงนี้มันว่างไม่มีสีเป็นเครื่องหมาย ความว่างที่ตรงนี้ท่านเรียกว่าภวังค์
จิตของเราปกตินี้ เราคิดอะไร ๆ ระหว่างความคิดที่ ๑ ไปถึงความคิดที่ ๒ ช่วงระหว่าง ๑ กับ ๒ นี้
มันระหว่าง ช่วงว่างอันนี้ท่านเรียกว่า ภวังค์

ในขณะที่เรานั่งสมาธิภาวนา พอจิตมันสงบละเอียด ๆ ทีแรกก็พอรู้สึกตัวตาม ๆ ๆ
กันไป เช่นอย่างลมหายใจ ลมหายใจนั้นมันเข้าออก ๆ แผ่ว ๆ ๆ ลงไป
ผลสุดท้ายรู้สึกว่าลมหายใจหาย พอหายไปแล้วมันวับมันเปลี่ยนสภาพ วับไปนิดหนึ่ง
ลมหายใจก็หายไป ร่างกายก็หายไปด้วย

ในช่วงนั้นถ้าหากว่าจิตดวงนี้มันไม่เป็นสมาธิ มันก็มืดมิดไป เป็นการนอนหลับอย่างไม่รู้สึกตัว
พอมันวับแล้ว มันนอนหลับมันก็มืดมิดไป ทีนี้พอวับไปแล้ว มันไปหยุดนิ่งปั๊ป มันเกิดสว่างโพลงขึ้นมา
มันกลายเป็นสมาธิ นี่มันเปลี่ยนกันที่ตรงนี้

เพราะฉะนั้น นักภาวนาทั้งหลาย ตรงนี้แหละเป็นจุดสำคัญ พอไปถึงตรงนี้
พอมีอาการวูบ ๆ ๆ มันตกใจ บางทีก็กลัวว่าจิตมันจะไปเลย วิญญาณมันจะไปเลย
มันไม่กลับคืนมา ฉะนั้น ตรงนี้ตรงเส้นขนานนี่มันข้ามยากนัก!
เราจึงไม่จำเป็นจะต้องไปมุ่งที่จะให้จิตมันเข้าไปสู่สมาธิขั้นละเอียดถึงขนาดที่ว่าตัวหาย
หรือว่ายังเหลือแต่จิตดวงเดียวลอยเด่นอยู่บนฟ้าบนเมฆอะไรทำนองนั้น

เอากันเพียงแค่ว่าในเวลาปกติ ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด
เป็นอารมณ์จิต ให้มีสติรู้อยู่กับสิ่งนี้ซึ่งเป็นเรื่องอารมณ์ เป็นเรื่องชีวิตในปัจจุบัน
เป็นเรื่องชีวิตประจำวัน นอกจากเวลาเรานั่งสมาธิหลับตาพุทโธ ๆ ๆ ยุบหนอ-พองหนอ
กำหนดดูรูปนาม อะไรต่างๆ

เกิดหนอ ดับหนอออกมา แล้วให้มีสติรู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน
ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ ให้ถือว่าเราปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา

ในขณะที่เราไปปฏิบัตินั่งสมาธิบริกรรมภาวนาหรือพิจารณาอะไรก็ตาม
ในตอนนั้นพอนั่งปั๊ป ให้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าเวลานี้เราสละชีวิตเพื่อจะปฏิบัติบูชา
อะไรจะเกิดขึ้นเราไม่สนใจ เราจะกำหนดรู้อารมณ์จิตของเราอย่างเดียว

เช่นเดียวกันกับโยคีทั้งหลาย ที่ไปนั่งอยู่ในป่าในประเทศอินเดีย พอนั่งปั๊ปลงไปนี่
เขาตั้งใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง ช้างจะเหยียบเขาก็ไม่แคร์
รถไฟทั้งขบวนจะมาทับเขาก็ไม่สนใจ ในเมื่อตั้งใจจะนั่งปฏิบัติแล้ว

เช่น อย่างในเรื่องอดีตสมัยก่อนพุทธกาล ฤาษีไปนั่งภาวนาอยู่ จอมปลวกมันก่อตัวขึ้นมา
จนกระทั่งหุ้มตัวฤาษี หนวดเครายาวออกมาจนกระทั่งนกกระจอกมันมาทำรังอยู่ในนั้น
ทีนี้นางนกกระจอกตัวเมียสงสัยว่า ผัวมันไปมีชู้ เพราะในขณะที่มันไปหากินนั่น
มันไปเคล้าเอาเกสรดอกบัวตอนค่ำ ดอกบัวใหญ่มันก็หุบเอานกกระจอกบินออกมาไม่ได้
ตื่นเช้ามันถึงกลับมาหารังหาลูกหาเมีย เพราะมันอาศัยทำรังอยู่ในหนวดเคราของพระฤาษีนี่
มันก็สาบานกันว่า ถ้าเจ้าไม่นอกอกนอกใจให้เจ้าตัวใหญ่เท่าฤาษี พอฤาษีได้ยินเข้าชักไม่พอใจ

เพราะฉะนั้น การทำสมาธินี้ถ้าเราจะเอาจริงแล้วกำหนดเวลาไว้ดีที่สุด
อันนี้พูดถึงหลักปฏิบัติในตอนแรก ๆ ต้องพยายามหาอุบายบังคับตัวก่อน
เอาธูปมาจุดเอาไว้ ธูปดอกนี้กี่นาที ธูปดอกนี้กี่ชั่วโมง นั่ง พอลืมตาเมื่อไหร่
ถ้าเห็นไฟธูปอยู่เราจะไม่ลุกขึ้น นี่ต้องตั้งกฏเกณฑ์บังคับอย่างนี้

มีผู้กล่าวว่า ชาวพุทธในเมืองไทยเรานี่ สำหรับญาติโยมทั้งหลาย
ที่ไม่ได้บวชเรียนเขียนอ่าน ไม่ได้เป็นมหาเปรียญอะไร ไม่เป็นไร
แต่ว่าผู้ที่เรียนสูง ๆ เรียนจบมหา ๘-๙ ประโยค แปลคัมภีร์พระอภิธรรม
เข้าใจในเรื่องปรมัตถธรรมเป็นอย่างดี ทั้งๆที่ท่านก็ศึกษาทางพระพุทธศาสนามา
ในคัมภีร์พระไตรปิฏกมา แต่บางครั้งท่านก็ไปหลงเชื่อ ลัทธิการปฏิบัติของชาวต่างประเทศ

ทีนี้พอไปดู ๆ ถามไปถามมา สมัยที่ท่านศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฏกเคยปฏิบัติ
อย่างจริงจังตามกฏเกณฑ์ที่ฝรั่งเขาเขียนให้มีไหม บอกว่ายังไม่เคย เพราะฉะนั้น
ในสมัยที่ท่านยังปฏิบัติอยู่บวชอยู่นั้น ท่านปฏิบัติยังไม่จริง อันนี้เขาบังคับให้ท่านนั่ง ๔-๕ ชั่วโมง เ
ดินชั่วโมง นั่งยืนชั่วโมง หรืออะไรทำนองนี้ เขาให้ท่านปฏิบัติ มีกฏเกณฑ์อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เราตั้งใจปฏิบัติจริง จะแบบฝรั่งแบบไทยแบบจีนอะไร
รู้ทั้งนั้นแหละ มันเกิดผลขึ้นมาทันที แต่ถ้าเราทำไม่จริงแล้วเราก็มีแต่ข้อสงสัยข้องใจอยู่อย่างนั้น
เอ้า! พอได้ยินว่าสำนักโน่นสอนเก่งก็ไปลองดู ๆ ไม่ได้ผล เอ้า ไปสำนักโน้น ลงผลสุดท้ายไปทุกสำนักจนเมื่อยขาที่จะเดินไป ลงผลสุดท้ายคำสอนของพระพุทธเจ้า
ไม่เห็นมีอะไรจริงจัง แล้วเราจะไปลงโทษคำสอนของพระพุทธศาสนาว่าหาความจริงไม่ได้
เพราะเราปฏิบัติไม่จริง

เพราะฉะนั้น สัจจะความจริงใจ ถ้าใครจะภาวนาพุทโธ ๆ ให้พุทโธทุกลมหายใจ
ยุบหนอ-พองหนอ ก็ยุบหนอ พองหนอไป สัมมาอรหัง ก็สัมมาอรหังไป
หรือใครจะกำหนดดูอารมณ์จิตของตัวเอง ยืน เดิน นั่ง นอน
รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด จะรู้อยู่ที่นี่ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ ก็ว่ากันไป
เอาให้มันจริงมันจังลงไปดีกว่า จะไปนั่งเถียงกันอยู่ไม่รู้เรื่อง

บางทีมีคนหน้าตาดี ๆ ไปถามว่า “หลวงพ่อบวชมานานแล้ว แสดงฤทธิ์ได้ไหม
อย่างนี้ก็เคยถูกถามมาแล้ว หลวงพ่อก็บอกว่า แสดงได้ เอ้า! แสดงให้ดูซิ เอ้า! ฉันแสดงแล้ว
คุณไปหลับหูหลับตาอยู่ที่ไหนเขาบอกว่า เอ้า! ทำไมพระโกหก ไม่เห็นแสดงแล้วบอกว่าแสดง
ก็ฉันแสดงแล้ว อาคารที่คุณนั่งอยู่นี่มันเกิดขึ้นด้วยบุญฤทธิ์
ถ้าฉันไม่มีบุญแล้วใครเขาจะมาสร้างให้ฉันอยู่ ลงผลสุดท้ายก็เลยจี้ถูกเส้นใจเข้าให้

ความเข้าใจของคนทั้งหลายนี้ การภาวนานี้จะต้องเห็นโน่นเห็นนี่ มีฤทธิ์มีเดชทำโน่นทำนี่ได้
นั่นสิ่งหลอกลวงทั้งนั้น เหมือน ๆ กันกับอาจารย์องค์หนึ่งเคยให้คติสอนใจว่า

ท่านเจ้าคุณอย่าไปสนใจกับเรื่องเลขหวยเลขเบอร์ อันนั้นคือดอกไม้พญามาร

ถ้าเราอยู่ดี ๆ เราภาวนา ๆ ไปแล้วมันจะเป็นตัวเลขมาหลอกเรา
ทีนี้ถ้าเราไปหลงติดมันทีหลังมันจะหลอกเราอยู่เรื่อย สิ่งเหล่านั้นมันไม่เป็นของจริง

ทีนี้ก็เลยถามท่านว่า อย่างเช่นสมมติว่าภาวนาแล้วเห็นนรกเห็นสวรรค์เห็นเมืองนิพพาน
ก็ไม่ใช่ของจริงซิ ! มันก็ไม่จริง มันเป็นมโนภาพ มันเป็นของหลอกลวง
ถ้าหากหลับตาไปแล้วเห็นเมืองสวรรค์ในมโนภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปเห็นนิพพานในมโนภาพ
ไปเห็นเมืองแก้วแล้วเห็นอะไรต่ออะไรแล้ว อ้อ! เรามาถึงเมืองนิพพานแล้ว
ต่อไปทีหลังก็ไม่ต้องทำอะไร หลับตาภาวนา นะมะพะทะ ก็มองเห็นนิพพานนอนอยู่ นิพพานสบาย
แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงมโนภาพเท่านั้น

นิพพาน แปลว่าความดับ มันดับอะไร ดับความยินดี ดับความยินร้าย
ดับความอิจฉาตาร้อน ดับความอิจฉาพยาบาท มันดับกิเลสอันเป็นเหตุก่อให้เกิดความวุ่นวายในสังคม
ดับกิเลสอันเป็นเหตุ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในจิตในใจ โลภ โกรธ หลง ความอิจฉาตาร้อน
ความอิจฉาริษยา อะไรต่าง ๆ หมู่นี้ ดับกิเลสเหล่านี้ แต่มันไม่ได้ดับความคิด เรานั่งอยู่ในสังคมอย่างนี้
เราอยู่รวม ๆ กัน เราจะมีแต่ความเมตตาปรานีมีแต่ความสงสารซึ่งกันและกัน
ความอิจฉาพยาบาทเคียดแค้นคิดทำลายกันมันไม่มี

ญาติโยมทั้งหลายมาปฏิบัติกันนี้ จะละความชั่ว ละกันที่ไหน ละที่กาย วาจา และใจ
ตามกฏของศีล ๕ ฝึกจิตใจให้มีกรรมบถ ๑๐ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓

กายกรรม ๓
ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ท่องไว้

วจีกรรม ๔ มุสาวาท
พูดโกหกผรุสวาจา พูดคำหยาบปิสุณาวาจา พูดส่อเสียดยุยง
สัมผัปปลาปะ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ท่องเอาไว้ อย่าให้ผิด

มโนกรรม ๓ อภิชฌา เพ่งเล็งเพื่อยากจะได้สมบัติของคนอื่นมาเป็นของตน
พยาบาท ผูกพยาบาท เคียดแค้น คิดที่จะปองร้าย
มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม นี่ท่องเอาไว้

สัมมาทิฏฐินี้คืออย่างไร สิ่งใดที่เรารู้เห็นขึ้นมาแล้วจิตมันรู้จักปล่อยวาง
ไม่ยึดเอาไว้สร้างปัญหาให้ตัวเองเดือดร้อน นั่นคือสัมมาทิฏฐิ แต่สิ่งใดเรารู้ขึ้นมาแล้ว
สร้างปัญหาขึ้นมาว่านี่คืออะไร แล้วมันคิดยุ่งจนปวดสมอง อันนี้เรียกว่า
มิจฉาทิฏฐิ ความรู้สิ่งใดไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดไว้ก่อเรื่องเดือดร้อนรำคาญ สิ่งนั้นคือสัมมาทิฏฐิ

วิธีแก้โรคอิจฉาริษยา เห็นท่านผู้ใดนั่งรถยนต์คันสวย ๆ งาม ๆ สาธุ
ท่านมีบุญท่านจึงมียานยนต์พาหนะนั่ง อันนี้เป็นแนวปฏิบัติ
เห็นท่านผู้ใดมีบ้านช่องสวย ๆ งาม ๆ ใหญ่โตอย่างกับพระราชวัง สาธุ!
ท่านมีบุญท่านจึงมีวิมานอยู่เหมือนเทวดาเห็นท่านผู้ใดเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี สาธุ!
ท่านมีบุญท่านจึงร่ำรวย ถ้าเขาโกงรวยยังไปสาธุกับเขาอยู่หรือ
ก็ต้องสาธุเขาซิ เขามีบุญ เขาถึงโกงรวย! อย่างเราโกงทีเดียวไม่มีบุญ ติดตะรางจ้อย!
นี่เอาไปคิดนะ อย่าหาว่าหลวงพ่อพูดตลกนะ นี่คือวิธีการแก้โรคอิจฉาริษยา

พระพุทธเจ้าท่านว่าความอิจฉาริษยายังโลกให้ฉิบหาย โลกนี้หมายความว่าโรคใจ
มันเกิดโรคที่ใจแล้วทำใจให้เสื่อมจากคุณงามความดี คนที่อิจฉาริษยานี้มีแต่ความเดือดร้อน
เช่นอย่าง บางคนใช้โทรศัพท์แล้ววางหูโทรศัพท์ไม่สนิท คนอื่นโทรเข้ามาหาตัวเองมันรับไม่ได้
หาว่าคนอื่นเกิดความอิจฉา ริษยากลั่นแกล้ง ไม่ให้โทรศัพท์ของตัวเองโทรติด ทั้ง ๆ
ที่ตัวเองวางหูโทรศัพท์ไม่สนิท ในเมื่อวางไม่สนิทมันก็ไม่ติด เมื่อมันไม่ติดใครโทรมามันก็ไม่ว่าง
นี่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้ นักปฏิบัติทั้งหลายต้องสนใจ

ก่อนอื่น เมื่อมีเหตุอะไรเกิดขึ้น ต้องเล็งพิจารณาถึงตัวเองก่อน ความบกพร่องของตัวเองก่อน
ในเมื่อเราหาความบกพร่องของตัวเองไม่เจอ ค่อยควานหาสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านตำหนิ ต้องตรวจดูตัวเองก่อน ในเมื่อหาความผิดของตัวเองไม่ได้
ก็ภูมิใจเพราะเราไม่มีความผิด

ถ้าเรารู้สิ่งนี้เราบกพร่อง เราก็ปรับปรุงให้มันดีขึ้น นิสัยของบุคคลบางคน เช่นอย่างครูบาอาจารย์บางองค์
พระเณรในวัดนี่เหลวไหลหมด เสร็จแล้วพอเขาถูกเทศน์ถูกตำหนิ เขาถูกเตือนบ่อย ๆ ทีนี้เขาก็ได้สติสัมปัชชัญญะขึ้นมาว่า อ้อ! คูรบาอาจารย์ท่านว่าเราเหลวไหล
เราก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาหามรุ่งหามค่ำ
วันพระอยู่เนสัชชิกกันตลอดคืนย่ำรุ่งเขาทำกัน ครูบาอาจารย์บางท่านไม่มีคุณธรรม
มีแต่ความอิจฉาตาร้อน พอเขาปฏิบัติตามคำแนะนำตามคำเทศน์ของตัวเอง
สนองความตั้งใจของครูบาอาจารย์ เขาก็บอกว่า มันดัดจริตทำไปอย่างนั้นแหละ
อย่างนี้ก็มี

ในสังคมพุทธบริษัทของเรานี้มักมีทุกสิ่งทุกอย่าง พิจารณาจะต้องเลือกเฟ้น
เพราะฉะนั้น เพื่อตัดปัญหา ศีล ๕ เราก็รู้อยู่แล้ว กรรมบถ ๑๐ เราก็รู้อยู่แล้ว
วิธีนั่งสมาธิเดินจงกรมเราก็รู้อยู่แล้ว เราตั้งใจปฏิบัติทางใด มันเกิดผลในทางจิต
ทำให้จิตสงบ ทำให้เราละความชั่วได้ ทำให้ความโมโหโทโสมันน้อยลง
ทำให้ความอิจฉาตาร้อนมันน้อยลงหรือหมดไป เราดูเอาตรงนี้ไม่ดีหรือ

เรียนก็รู้ อ่านหนังสือก็ออก คัมภีร์ธรรมะเราก็รู้ โลกเราก็รู้ ธรรมเราก็รู้
เรื่องอะไรไปหาเที่ยวเชื่อคนอื่น ทำไมไม่คิดที่จะคิดพิสูจน์ ดูจิตดูใจของตัวเองบ้าง

อย่างบางทีเราอาจจะไม่รู้อะไร พอภาวนาพุทโธ ๆ จิตสงบวูบสว่าง โอ๊ย!
มีความสุขความสบาย หลวงพ่อเคยมีประสบการณ์มา คนที่ภาวนาแล้วจิตสงบนิ่งจนกระทั่งตัวหาย
จนกระทั้งรู้สึกว่า มีแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ บางทีหนัก ๆ เข้า ภายหลังมาเขาไม่ต้องบริกรรมภาวนา
ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น จิตของเขามีสติเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา พออะไรเข้ามาปั๊ป มันมาพิจารณาปุ๊ปปั๊ป
ๆ สงบวูบวาบลง แล้วความรู้มันผุดขึ้น ๆ ทีนี้ภายหลังเขาเกิดสงสัยขึ้นมา เขาก็เที่ยวไปถาม
ครูบาอาจารย์ที่ไหนว่าเป็นนักปฏิบัติ เขาก็ไปถาม พอเขาเล่าให้ฟังจบ ท่านบอกว่า คุณจะเป็นโรคประสาทตายจิตมันฟุ้งซ่าน

ทีนี้คนที่ภาวนานี่ ตอนที่จิตเขาเริ่มสงบ มีความสว่างเขาก็สบาย เมื่อจิตของเขาเกิดภูมิความรู้นี่
ยิ่งคิดจิตก็ยิ่งแจ่มใส ยิ่งคิดจิตก็ยิ่งปลอดโปร่ง ยิ่งคิดยิ่งได้สติปัญญารู้แจ้งเห็นจริง อนิจจัง ทุกขังอนัตตา
ไม่เคยท่องตำรามามันก็รู้ทุกขอริยสัจซึ่งมันเกิดขึ้นในจิต ทั้งๆ ที่พระไม่เคยบอกเขาก็รู้
ว่าทุกข์ใจนี้คือทุกขอริยสัจ ทุกข์ ความเสื่อมความเปลี่ยนแปลงในพระไตรลักษณ์ มันอ่านออกมาได้อย่างนี้
เมื่อมีคนมาบอกว่าจิตฟุ้งซ่านจะเป็นโรคประสาทตาย เขาก็คำนึงถึงว่าใครหนอจะเป็นผู้มีปัญญาแก้ไขปัญหาได้
คิดไปคิดมาจิตมันก็วูบวาบ ไปบอกว่า หลวงพ่อพุธๆ

แกรู้สึกตัวขึ้นมาก็ถามชาวบ้านว่าหลวงพ่อพุธอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าอยู่ที่วัดป่าสาลวัน พอไปถึงปั๊ป แกก็พูดอะไรไม่ออกทักทายหลวงพ่อด้วยการร้องไห้ พอไปนั่งปั๊ปก็ร้องไห้โฮ หลวงพ่อถามว่า
คุณมีความเสียใจอะไรมา ก็เลยติดตลกถามไปว่า โดนผัวตีมาหรือถึงมาร้องไห้ให้พระฟัง แกก็บอกว่า
ไม่ใช่ หนูมีปัญหาทางจิต เรื่องอะไร เมื่อก่อนนี้หนูภาวนาจิตสงบสว่างจนกระทั่งตัวหาย
แต่เวลานี้จิตมันไม่สงบ มันมีแต่ความคิดฟุ้งๆๆ ขึ้นมา แต่สติของหนูก็ตามรู้ ๆ ไปเรื่อย สบาย

ภายหลังนี้ไปถามพระ พระท่านบอกว่าจิตหนูฟุ้งซ่านเดี๋ยวจะเป็นโรคประสาทตาย ก็เลยชักๆ จะไม่สบายใจ
แกเล่าจบ แกถามว่า หนูจะเป็นโรคประสาทหรือเปล่า หลวงพ่อบอกว่า ไม่เป็นหรอก
แต่ว่าอย่าไปหลงความรู้ ให้มีสติตามรู้มันอยู่ตลอดเวลา

หลักมีอยู่ว่า ศืลอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมจิต ใครอ่านหนังสือปัญญาอบรมสมาธิของหลวงพ่ออาจารย์มหาบัวเข้าใจ ปัญญาก็คือความคิด
คิดอะไรก็ได้ คิดโลก คิดธรรม ความคิดที่มีสติตามรู้ทันอยู่ทุกขณะจิตนั่นคือปัญญาในสมาธิ

อย่าไปเข้าใจว่า พอเกิดปัญญาขึ้นมาแล้ว มันไปอ่านคัมภีร์ขึ้นมา รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อะไรเป็นคัมภีร์ เหมือนพระเทศน์นั่นแหละ

มันไม่ใช่อย่างนั้น ความคิดมันเกิดปุ๊ปขึ้นมาสติมันรู้ทันปั๊ป พอรู้แล้วมันทิ้งปล่อยวางไป

พอความคิดขึ้นมาพั้บ มันยึด เกิดความยินดี จิตที่มีสติก็ว่า นั่นกามตัณหากำลังจะเล่นงานแกแล้วนะ
ระวังให้ดีๆ บอกอย่างนี้

ถ้าสิ่งใดมันไม่พอใจ เกิดความยินร้าย นั่น ๆ วิภวตัณหามันกำลังจะเล่นงานแล้ว พอไปยึดปั๊ป
นั่นภวตัณหาจะโขกกระบาลแกแล้ว ระวังให้ดีทีนี้

พอไปยึดปั๊ป ชาติปิ ทุกขา ชาติคือความเกิดก็บังเกิดขึ้น มันเกิดยังไงชาติ ชาติก็คือความคิด
ตัวสังขารมันปรุง พอไปยึดปั๊ปมันก็บอกว่านี่คืออะไร มันก็คิด คิด ไม่หยุด ความคิดไม่หยุด
นี่ก็คือ ชาติปิ ทุกขา ถ้าไปยึดความคิดนั้น มันก็เกิดความยินดีเกิดความยินร้าย

ในเมื่อเกิดความยินดี เกิดความยินร้าย มันก็มีสุขมีทุกข์ เพราะฉะนั้น
ความคิดนี้ท่านจึงว่า ชาติปิ ทุกขา ถ้าไปยึดเอาความคิดนั้นไว้นาน ๆ
มาดองไว้ในหัวใจ เกิดทุกข์อยู่ไม่หยุด มันก็ ชราปิ ทุกขา ทีนี้มันไปติดอยู่นั่น ถอนตัวไม่ขึ้น
มรณัมปิ ทุกขัง ติดตายอยู่กับอารมณ์นั้น นี่ท่านให้สังเกตกัอย่างนี้

เพราะฉะนั้น ผู้ทีฝึกสติสัมปชัญญะให้เข้มแข็ง แม้แต่เพียงอาศัยการยืน เดิน
นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นอารมณ์จิต ให้มีสติกำหนดตามรู้อยู่
ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ ในเมื่อฝึกได้คล่องตัวชำนิชำนาญแล้ว
ตัวเด่นที่สุดก็คือตัวสติ สติจะมาเตรียมพร้อม พอขยับเดินปั๊ป รู้ ยืนปั๊ป
นอนปั๊ป รู้ นั่งปั๊ป รู้ รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ตัวรู้ตัวเดียว จะตามรู้อยู่ทุกขณะจิต

เมื่อเป็นเช่นนั้น เมื่อเรามีสติรู้พร้อมอยู่กับสิ่งเหล่านี้
สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้ คือธรรมะที่ปรากฏกับจิตของผู้บำเพ็ญเพียร
ผู้ที่มีสติเพ่งเล็งอยู่นั้นเป็นโยคี ผู้บำเพ็ญเพียร จึงมาได้ในคำว่า
ในกาลใดแลธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่พราหมณ์
ผู้มีเพียรแต่อยู่ ในกาลนั้นความรู้แจ้งเห็นจริงของพราหมณ์ย่อมเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น อย่าไปเที่ยวแสวงหารู้ธรรมที่อื่น
รู้ธรรมรู้จิตของเราว่ามันดำหรือมันขาว มันมีกิเลสตัวไหนมาก
รู้เห็นความประพฤติทางกายทางวาจาของเรามันผิดหรือมันถูก ผิดศีล ๕ ไหม
ผิดกรรมบถ ๑๐ ไหม นี่ดูกันที่ตรงนี้

แล้วก็เห็นสภาพความเป็นจริง เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเปลี่ยนแปลง
ของกาย วาจา และใจ ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
รวมเข้ามาแล้วก็คือความเปลี่ยนของใจ ใจเวลาอยู่ปกติ
ไม่ถูกใครด่ามันก็สบายดี พอถูกกระทบปั๊ป โกรธผิดปกติอนิจจังมันเกิดขึ้นแล้ว
ไปดูอะไรไกลนักหนา!

อันนี้อะไรไปเที่ยวหาคู่ ต้นไม้ ภูเขา รถเรือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแทัที่จริง ไอ้ตัวใจนี่แหละ ตัวนี้แหละ มันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันไปเที่ยวสมมติบัญญัติ ไปเที่ยวกล่าวตู่เขา ว่าคนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้
คนนั้นสวย คนนั้นงาม คนนั้นขี้ริ้วขี้เหร่ คนนั้นทำอะไรถูกอกถูกใจเรา สารพัดสารเพ
ไอ้ตัวใจไม่เป็นปกติเสียเลย

ไอ้หมอนี่มันอยากเป็นใหญ่กว่าเขา อยากเป็นจ้าวโลก มันจึงไปเที่ยวเบ่งทับคนทั่วโลก
ในเมื่อเบ่งทับไม่สำเร็จมันก็ฟุ้ง ฟุ้งตัวนั้นคือทุกขอริยสัจมันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นการดูธรรมนี้ดูที่กาย ดูที่ใจ ดูที่ความประพฤติของตัวเอง รู้ธรรม
รู้กาย รู้ใจ รู้กายนี้ก็คือว่ากายนี้ต้องกินอาหารใจนี้ต้องกินอารมณ์

อาหารของกายคือข้าว อาหารของใจคืออารมณ์ ความนึกคิด ดังนั้น ใครจะไปขจัดใจ
ไม่ให้เกิดความคิด ไม่ให้มันคิด เป็นการทรมานจิตใจให้ผอมโซ ประเดี๋ยวมันก็ไม่มีพลัง
ทำอะไรไม่ได้

เอาละ วันนี้ขอกล่าวธรรมะพอเป็นคติเตือนใจของบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย
ก็เห็นว่าพอสมควรแก่กาลเวลา ในท้ายที่สุดนี้ ด้วยอำนาจแห่งคุณพระพุทธ พระธรรม
พระสงฆ์ และบุญกุศลที่ท่านมุ่งหมายที่จะปฏิบัติธรรม ละความชั่ว เจริญความดี
ทำใจให้บริสุทธิ์สะอาด มีใจถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ คือสภาวะรู้ ตื่น
เบิกบาน สว่าง สะอาด สงบ บริสุทธิ์ ขอให้สำเร็จตามที่ตั้งปณิธานปรารถนาไว้โดยทั่วกันทุกท่านเทอญ

*** หมายเหตุ

จัดทำเมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒


พบข้อบกพร่อง มีข้อเสนอแนะ บอกกันบ้างครับ
สารบัญหลัก อ่านข่าวเมืองไทย
สารบัญธรรมปฏิบัติ
สารบัญวิทยุโทรทัศน์
สารบัญเวปสื่อชาวไทย
สารบัญข่าวราชการ
สารบัญกฏหมายไทย
สารบัญงานไทย
ร้านหนังสือยิ้มสยาม