รู้แจ้งโลก
     จะปฏิบัติธรรมอย่างไร คนเราไม่รู้จัก นึกว่าการเดินจงกรม นึกว่าการฟังธรรม นึกว่าการนั่งสมาธิ เป็นการปฏิบัตินั่นเป็นส่วนน้อย ก็จริงอยู่  แต่มันเป็นเปลือกของมัน การปฏิบัติจริงๆก็ปฏิบัติเมื่อประสพกับอารมณ์ นั่นแหละการปฏิบัติแล้วที่มันประสพอารมณ์อยู่นั้น เช่นมีอะไร มีคนมาพูดไม่ถูกใจนะ เราเป็นทุกข์ขึ้นมา ถ้าคนพูดให้ถูกใจเรา เราก็เป็นสุข ตรงนี้แหละตรงที่จะปฏิบัติ เราจะปฏิบัติอย่างไรอันนี้สำคัญ ถ้าเราไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์ มัวไปวิ่งกับสุข ไปวิ่งกับทุกข์อยู่นั่น จะวิ่งตลอดจนถึงวันตายก็ไม่พบธรรมะ นี่ก็อยู่ไม่ได้ เมื่อรู้จักสุขทุกข์ทั้งสองนี้ขึ้นมาเมื่อไร เราจะแก้ไขปัญหาอย่างไรโดยธรรมะนี่คือการปฏิบัติ
    โดยมากคนที่ได้ของที่ไม่ชอบใจ ไม่อยากจะพิจารณา อย่างคนนินทาว่าเรา "อย่ามาว่าฉัน มาว่าฉันทำไม" นี่คือคนปิดตัวไว้ ตรงนั้นแหละต้องปฏิบัติ ถ้าเขาว่าเราไม่ดี เขานินทาเรานี่ควรฟัง "เขาว่าถูกหรือผิดอะไรหนอ" ไม่ดีตรงไหน เราควรรับฟังไม่ต้องปิด ปล่อยเข้ามาให้ดูไว้ บางทีก็มีนะที่เราไม่ดีนั่นน่ะ เขาว่าถูก ยังไปโทษเขาอีกนี่ทีนี้เรามาดูตัวเรา เราเห็นที่ไหนมันไม่ค่อยดี เราก็เขี่ยมันออกเสีย เขี่ยโดยไม่ให้ใครรู้จักนั่นแหละ เขี่ยสิ่งที่ไม่ดีออกเสีย มันก็ดีขึ้นมาอีก นี่คือคนมีปัญหา
    สิ่งทีมันวุ่นวาย สิ่งที่มันไม่สงบอยู่ ตรงนั้นแหละมันเป็นเหตุสิ่งที่สงบอยู่ ก็ตรงนั้นเอง เราเอามันแทนที่เข้าไปที่มันไม่สงบนั่นไง นี่บางคนไม่รับฟัง ทิฐิมันแรง เราทำอย่างนั้นจริงๆก็ไปเถียงเขาอีกนะ ยิ่งกับลูกเราแล้ว ความเป็นจริงบางอย่างมันถูกของเขา แต่เราเข้าใจว่าเราเป็นแม่เขา ไม่ยอมมัน อย่างนี้ก็มี อย่างเราเป็นครูคนนี่บางทีลูกศิษยนะ เขาพูดถูกแต่ว่าเราไม่ยอมมัน ทำไม เพราะว่าเราเป็นครูเขา เขาจะเถียงเราได้อย่างไร นี่คืออย่างนี้มันคิดไม่ถูก
    ในครั้งพุทะกาล มีสาวกองค์หนึ่ง ท่านมีปัญญามากพระพุทธเจ้าก็เทศน์ธรรมะให้ฟัง เทศน์ไปเรื่อยๆท่านก็ฟังไปเรื่อยๆพระพุทธเจ้าถามว่า "ท่านพระสารีบุตร ท่านฟังธรรมนี้ ท่านเชื่อไหม"  "เกล้ากระผมยังไม่เชื่อ" พระพุทธเจ้าชอบใจเลย "เออ ! ดีแล้ว ท่านมีปัญญา คนที่มีปัญญาไม่ควรเชื่อง่าย ต้องรับอันนี้ไปพิจารณาดูเหตุผลกันก่อนจึงเชื่อ " นี่แหละ ธรรมที่เป็นครูสอนคนอย่างดีทีเดียว คือความเป็นจริงมันถูกของท่าน พระสารีบุตร ที่ท่านพูดท่านเอาใจจริงมาพูดให้ฟังเลย บางคนก็ว่า ถ้าจะพูดว่าไม่เชื่อก็ดูเหมือนจะฝ่าฝืนอำนาจพระพุทธเจ้า กลัว ก็เลยกลัวในสิ่งที่ไม่ควรกลัว ก็เลยว่าถูกตามกันไปหมด นี่โลกของเรามันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าของเราตรัสว่า สิ่งที่ไม่ผิดไม่เป็นบาปไม่ต้องอายเลย เพราะเรายังเชื่อไม่ได้ เราพิจารณาไม่ได้ เรายังไม่เชื่อ พระสารีบุตรจึงพูดว่า "ข้าพระพุทธองค์ยังไม่เชื่อ " พระพุทธเจ้าชอบใจ  "องค์นี้มีปัญญามาก ให้ไตร่ตรองดูเหตุดูผลก่อนจึงเชื่อ" พระสารีบุตรนี้มีปัญญา อันนี้เป็นคติของผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์ ของคนเป็นอย่างดี บางทีความรู้เราได้จากเด็กๆก็มีนะ เราอย่าไปถือไปยึดมั่นอะไรทั้งหลาย
    ที่เราเกิดมา จะยิน จะเดินไปมา จะนั่งที่ไหน เวลานั้นเรียกว่าเราศึกษาทุกอย่าง เราศึกษาตามธรรมชาติ รูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี โผฏฐัพพะก็ดี เราต้องฟัง ต้องรับฟัง คนมีปัญญาต้องรับฟังข้อประพฤติปฏิบัตินั้น ก็ท่านปฏิบัติให้มันหมดเรื่อง ถ้าเรามีความชอบใจ ไม่รู้เท่าความชอบใจ ไม่รู้เท่าความไม่ชอบใจ นี่เรายังมีเรื่อง ถ้าเรารู้เท่ามันแล้ว ความชอบใจ ความสุขนี้ก็ไม่มีอะไร สักแต่ว่าความรู้สึกแล้วมันก็หายไป ไม่ชอบใจนี้ ก็ไม่มีอะไรมากมาย สักแต่ว่าความรู้สึกเท่านั้น แล้วมันก็หายไป จะเอาอะไรกับมันเล่า ถ้าเรานึกว่าสุขนั้นเป็นของเรา ทุกข์นั้นเป็นของเรา มันก็ทุกข์ยากลำบากไปเท่านั้นแหละ มันหมดเรื่องจบเรื่องไม่ได้ ปัญหาอันนี้ มันก็เกิดต่อๆไปเรื่อยๆนี่มันเป็นเช่นนี้ หลักความจริงมันก็เป็นเช่นนี้
    แต่ว่าเราสอนกัน ไม่ค่อยพูดกันถึงเรื่องจิตใจ ไม่ค่อยพูดกันถึงเรื่องความจริง ถ้าเอาความจริงมาพูดกันคนจะไม่ชอบด้วยซ้ำ เขาว่าไม่รู้จักกาละเทศะ ไม่รู้จักประสีประสา อะไรต่ออะไร ฟังธรรมนี่ต้องรับฟังคือ ธรรมะนี้ไม่ใช่ว่าท่านเอาความจำมาพูด ท่านเอาความจริงมาพูด คนทางโลกนี่มันเอาความจำมาพูดกัน แล้วก็ไปพูดในแง่ที่ว่า ยกหูชูหางขึ้นไป เช่นว่าเรานี่พรากันมานานแล้วนะ จากกันไปอยู่ต่างประเทศหรือจากกันไปอยู่ต่างจังหวัดกันมานาน อีกวันหนึ่งเผอิญไปขึ้นรถไฟพบกันเข้า "แหม ! ผมดีใจเหลือเกิน ผมนึกว่าจะไปเยี่ยมคุณอยู่เร็วๆนี้" อันนี้ไม่ใช่ ความเป็นจริงไม่เคยนึกเลย แต่ไปพูดขึ้นเดี๋ยวนั้นแหละ ไปปรุงขึ้นเดี๋ยวนั้นแหละ คนมันชอบเป็นอย่างนี้โกหก โกหกโดยไม่รู้ตัวเจ้าของนี่ ธรรมะมันเป็นเช่นนี้ ถึงว่าพระนี่ท่านพูดยาก เมื่อท่านพูดท่านเอาความจริงมาพูดให้ฟัง พูดไปพูดไปเถอะ คนฟังก็ไม่เข้าใจ เข้าใจยาก ถ้าเราเข้าใจธรรมะเราก็ได้ปฏิบัติในส่วนของธรรมะ ไม่ถึงกับว่าต้องมาบวชก็ได้ถ ้าเราเข้าใจ แต่การบวชนี่มันเป็นรากฐานโดยตรง ผู้จะมาปฏิบัติโดยตรงต้องออกมาอยู่ในป่า ต้องสละครอบครัว ต้องสละสมบัติมันถึงไม่กังวล การเข้ามาอยู่ในป่าหรือในที่สงัดนั้นเป็นเครื่องปฏิบัติโดยตรง
    บัดนี้ถ้าเรายังมีครอบครัวอยู่ ยังไม่มีภาระอยู่ ทำอย่างไรเราจึงนะปฏิบัติได้ บางคนก็นึกว่าเราปฏิบัติไม่ได้ล่ะ "พระกับโยมในโลกนี้ในประเทศไทยเรานี้ ใครมากกว่ากัน ?" "โยม" นั่นส่วนพระมาปฏิบัติเท่านี้ โยมนั้นไม่ปฏิบัติ มันก็วุ่นวานเท่านั้นเอง นี่คือเรายังเขาใจผิด... ผมยังบวชไม่ได้"... ไม่ใช่บวชหรอกไม่ใช่การบวช บวชมาแล้วก็ไม่ได้อะไร ถ้าเราไม่ปฏิบัติ ก็เป็นอย่างเก่านั่นแหละ ก็เสียไปอย่างนั้นถ้าเราคิดถูก แม้จะทำอะไรอยู่ที่ไหนก็ช่างเถอะ เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นข้าราชการทำหน้าที่การงานที่ไหนก็ตาม ถ้าเรารู้เรื่องของเรื่องอันนี้ จะได้รับการอบรมทุกวินาที เราได้ปฏิบัติ บางคนเข้าใจว่า "โอ๊ย ! ฉันเป็นฆราวาสทำไม่ได้หรอก" นี่คือมันหลงเตลิดเปิดเปิงไปทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เลย อย่างอื่นทำไมทำได้ อย่างอื่นทำได้ อะไรที่ไม่มีเราก็หาได้เพราะเราอยากได้เราก็ทำได้ "ผมไม่มีเวลาเลย ผมมีแต่การงาน" "เอ้า ! ทำไมคุณมีเวลาหายใจล่ะ" นี่เป็นเรื่องอย่างนี้ทำไมคุณจึงมีเวลาหายใจ หาเวลามาจากไหน แน่ะ! เพราะเรื่องการหายใจเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของคุณ ถ้าคุณเห็นว่าเรื่องการปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของคุณแล้ว การปฏิบัติของคุณก็เสมอลมหายใจเท่านั้นแหละ ก็เพราะการปฏิบัตินี้มิใช่ว่าจะไปวิ่งหรือไปเล่นกีฬาหรือจะต้องออกกำลังกายหรือจะไปทำอะไรให้มันวุ่นวาย เราดูความรู้สึกของเรานี่ มันเกิดมาจากเหตุใด ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น  ลิ้นลิ้มรสอะไรมา ก็รวมกันมาที่ผู้รู้ คือจิตที่มีความรู้ขึ้น มันเป็นอย่างไร  ถ้ามันไม่ชอบใจมันก็ไม่เอา เป็นทุกข์ ถ้ามันชอบใจมันก็เอาเป็นสุขเสีย เรื่องเท่านี้แหละ ทีนี้เราลองคิดว่า ถ้าคุณอยู่ในโลกนี้คุณจะไปเอาสุขที่ไหน ไม่ได้ ไม่ได้คุณจะไปอยู่ที่ไหน โลกนี้มันต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ท่านตรัสว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ พระพุทธเจ้าก็อยู่อย่างนี้ ไม่ใช่ท่านจะไปอยู่ที่ไหน ท่านก็อยู่ในโลกนี้ มีครอบมีครัว ท่านจึงพิจารณาจนมันเบื่อจนเห็นโทษมัน แล้วทำอย่างไรเราจะปฏิบัติได้ ถ้าคุณจะปฏิบัติได้คุณต้องพยายาม เมื่อคุณพยายามไปเรื่อยๆ คุณเข้าไปเห็นโทษในสิ่งนั้นแน่นอนแล้ว คุณก็วางมันได้เท่านั้นเอง
    อย่างคนดื่มเหล้านี้ "แหม ! ผมเลิกไม่ได้เหล้านี่" จะทำอย่างไรก็ไม่ได้ ยังไม่เห็นโทษของมันซี่ ถ้าคุณไปเห็นโทษของมันอย่างชัดเจนแล้วไม่ต้องมีใครสอนหรอก ยังไม่เห็นโทษพอที่จะละมัน ไม่เห็นอานิสงส์ที่จะเกิดขึ้นมาได้ การงานอันนั้นจึงไม่สำเร็จประโยชน์ เอาเล็บเขี่ยเล่นอยู่เฉยๆถ้าเราเห็นโทษของมันอย่างชัดเจน เห็นอานิสงส์ของการละมันอย่างชัดเจน เออ ! เช่นคุณไปสุ่มปลา สุ่มไปเถอะ รู้สึกว่ามีอะไรอยู่ในลุ่มของเรา มันดังคึกคักๆ เรานึกว่าปลา เอามือล้วงลงไป ไปเจอสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มันอยู่ในน้ำ ตาไม่เห็น แต่มีความรู้สึกในใจของเรา นึกว่าเป็นปลาไหลบ้าง นึกว่าเป็นงูบ้านนะ จะทิ้งมันก็เสียดายมัน หากว่ามันเป็นปลาไหลแล้วก็เสียดาย จะจับไว้ ถ้าหากว่ามันเป็นงูมันก็จะกัดเอา นี่เข้าใจไหม สงสัยอยู่ไม่ชัดเจน ไอ้ความอยากนี่มันมาก อุตสาห์จับไว้ เผื่อมันจะเป็นปลาไหลนะ พอโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำเห็นแสกคอมันลาย วางเลย ไม่มีใครมาบอกว่า "อันนั้นงู วางๆ" ไม่มีใครบอกหรอก มันบอกมันเอง ยิ่งชัดกว่าเราบอกเสียด้วย เพราะอะไร เพราะเห็นโทษว่างูมันกัดเป็นใครจะไปบอกมัน จิตนี้ ถ้าเราฝึกมันแล้ว รู้เช่นนั้นแล้ว มันไม่เอาหรอก
    นี่เราไม่ค่อยฝึกกันนะ ฝึกในทางอื่น ไม่ค่อยฝึกเรื่องนี้ มันก็เลยไม่แก่กัน ไม่ตายกัน พูดแต่เรื่องไม่แก่ไ่ม่ตายกันเรื่อยๆ อันนี้มันเก็บความรู้สึกไว้ในธรรมกันไม่ได้ ไม่ได้ปฏิบัติเลย ถึงไปฟังธรรมะก็ไปฟังกัน แต่ไม่ได้ฟัง คือไปถึงที่นั้น ฟังอยู่ข้างนอกนี่ บางทีในสังคมใหญ่ๆนิมนต์อาตมาเทศน์ ไม่อยากเทศน์หรอก รำคาญในใจ ทำไมไม่อยากจะเทศน์ เพราะไม่เกิดประโยชน์ เพราะเมื่อมองๆดูคนในที่นั้น ไม่ใช่คนที่จะเตรียมตัวมาฟังธรรม ดื่มเหล้ามาบ้าง สูบบุหรี่บ้าง คุยกันบ้าง อะไรต่ออะไรบ้าง มันไม่เป็นลักษณะของคนที่มีศรัทธาที่จะมาฟังธรรม ก็คิดว่าไปเทศน์ที่นั้น ก็เรียกว่าประโยชน์มันน้อย หรือไม่มีประโยชน์เลย  คนที่ยังมั่วสุมอยู่ในความประมาทเขาก็คิดว่า "แหม ! เทศน์นานเกินไป ทำนั่นก็ไม่ให้ทำ" มันคิดอยู่อย่างนี้เขาไม่ได้ฟังธรรมหรอก บางทีเขานิมนต์พระเทศน์เป็นพิธีเสียด้วย "นิมนต์พระคุณท่านสักนิด"... เขาไม่ให้เทศน์มากหรอกรบกวนเขา "นิมนต์พระคุณท่านสักนิดหนึ่ง" เราฟังแค่นี้เราก็เข้าใจแล้ว พวกนี้ไม่ชอบฟังธรรม เขารำคาญ พระเทศน์นิดเดียวก็ไม่เข้าใจกัน อย่างเอาของนิดๆหน่อยๆให้เรา มันพอไหม มันยังไม่พอ
    บางทีพระอุตสาห์เทศน์ไปหนักๆสักหน่อย ก็มีคนเมาๆอยู่ข้างๆนิมนต์ว่า "เฮ้ย ! ให้ทางท่าน ให้ทางท่านบ้าง ท่านจะออกมาแล้ว" ไล่พระอยู่นั้น ถ้าอาตมาเห็นชนิดนี้ ไปพบชนิดนี้ก็มีปัญญามาก ซึ้งในธรรมะ ซึ้งในจิตใจของคนเรา อันนี้เรียกว่ามันไปอุดอยู่ตรงนี้ คล้ายๆกับว่าน้ำในขวดเรามันมีเต็มอยู่เขาจะมาขอน้ำจากเรา ทั้งๆที่น้ำในขวดเรามันเต็มอยู่ เราจะเอาน้ำของเรารินลงไป มันก็ไม่มีที่เก็บ มันล้นออกมา ถ้าเห็นอาการมันเป็นอย่างนั้น ปัญญาก็เห็นไปอย่างนั้น ก็ไม่มีเวลา ไม่มีโอกาส และไม่สมควร เพราะน้ำในขวดนั้นยังเต็มอยู่ ที่เก็บน้ำมีอยู่แล้ว เต็มอยู่แล้ว เราจะรินลงไปอีก นี่ มันก็ล้นไปหมด ประโยชน์มันไม่มีแล้ว นี่ ประโยชน์ไม่มี ถ้าหากว่าในขวดเขามันว่างๆอยู่ มาขอน้ำกะเรา เราจับขวดน้ำเทลงไป คนที่เก็บน้ำก็สบาย คนให้ก็สบายใจ มันมีที่เก็บน้ำ อย่างคนที่ฟังธรรมะก็ฟัง นั่งฟังเข้าใจธรรมะจริงๆ เราก็มีกำลังใจ มีสมาธิ มีความมั่นใจเทศน์ให้ฟัง ก็เหมือนกัน ถ้าหากว่าไม่มีคนตั้งใจฟัง ก็เหมือนเทน้ำใส่ขวดที่มันบรรจุน้ำอยู่แล้วเต็มๆ นั่นแหละไม่รู้จะทำไปทำไป ไม่รู้จะเทไปทำไมนะ พลังของจิต พลังธรรมะนี้ก็ไม่วิ่งขึ้นมาสู่ความรู้อันนี้ เพราะว่าผู้ให้ก็ไม่ตั้งใจให้เพราะคนรับไม่ตั้งใจรับ มันเป็นเสียเช่นนี้
    โดยมากทุกวันนี้มันก็ชอบเป็นเสียอย่างนั้นกัน แล้วมันไม่เป็นอยู่เท่านี้ มันทวีขึ้นไปเรื่อยๆไม่ใช่มันจะหยุดอยู่แค่นี้ อันนี้มันเป็นอยู่ในความรู้สึกของมนุษย์ทุกวันนี้ คือไม่ค้นไปหาความจริงกัน อย่างการร่ำการเรียน การหาวิชาความรู้ เขาก็หาแต่เพียงไปเป็นอาชีพของเขาเท่านั้แหละ เพื่อจะเลี้ยงชีวิตไป เลี้ยงครอบครัวไป เลี้ยงอัตตภาพไปเท่านั้นแหละ เรียนเพื่ออาชีพนะ แต่เพื่อสัมมาอาชีพ ให้มันเป็นธรรมะน่ะ ที่ให้เข้าอกเข้าใจในธรรมะมันน้อย มันมีอยู่แต่มันน้อย ดังนั้นพวกนักเรียนทุกวันนี้มันจึงมีความรู้ หลักการวิชาการดีกว่าสมัยโบราณที่เราเคยทำกันมา ตลอดถึงเครื่องมือเครื่องใช้อะไรต่างๆมันครบบริบูรณ์แล้วจะทำอะไรสะดวกกว่า มีความรู้มากกว่าแต่ก่อน แต่คนสมัยนี้วุ่นวานกว่าแต่ก่อน เป็นทุกข์กว่าแต่ก่อน มันเป็นเช่นนั้น นี่ไม่ใช่เพราะอื่นใด เพราะเขาพยายามว่าเขาเรียนมาเพื่ออาชีพเท่านั้น นักบวชทุกวันนี้ที่เป็นเด็กรุ่นๆเคยได้ถาม บวชมาแล้วทำไมไม่ปฏิบัติ  "ผมบวชมาเพื่อเรียนหนังสือ ผมไม่ได้บวชมาเพื่อปฏิบัติธรรม" นี่มันไปรูปนี้ ไม่ได้บวชมาเพื่ออันนั้น บวชมาเพื่อเรียนหนังสือ ถ้าพูดด้วยภาษาคาเราทุกวันนี้ ก็เรียกว่า "ไม่มีทาง" อย่างเราถามเขาว่า "เป็นอย่างไรล่ะ" "ไม่มีทาง" คำว่า "ไม่มีทาง" นี่ คือ นักบวชนักพรตนักเรียนมาพูดอย่างนี้ "ผมไม่ได้บวชมาปฏิบัติพระธรรมวินัย ผมบวชมาเพื่อเรียนหนังสือ" คำนี้แหละเรียกว่า "ไม่มีทาง" ใช่ไหม? คือไม่มีทาง มันจบแล้วไม่ต่อไปอีก ที่จริงแล้ว เมื่อเราพูดถึงที่เรียนมาแล้ว เอาความจำมาสอนกันบางทีจิตเป็นอย่างหนึ่งสอนไปอีกอย่างหนึ่ง สอนไปตามความจำ ไม่ได้สอนเพื่อความจริง นี่โลก ฉะนั้นโลกก็ต้องเป็นอยู่อย่างนี้ ถ้าหากอยู่ร่วมกับเขา จะมาปฏิบัติอย่างนี้ไปอยู่เฉยๆให้ศีลมีธรรมสงบระงับ เขาเห็นว่าคนนั้นเป็นคนแปลกเขาทำโลกไม่ให้เจริญทำสังคมไม่ให้เจริญ เขายิ่งยุกันเข้าไป คนดีๆก็เลยเป็นคนไม่ค่อยดี ถูกเขารุมเอาเสีย นึกแล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปลึกแล้วก็จะกลับออกมา...มาไม่ได้ เลยมีคำพูดว่า "โอ๊ย ! ทุกวันนี้ผมไปไม่ได้ครับ...ผมเข้าลึกแล้ว ผมถอนไม่ได้" อันนี้มีปัญหาในโลก มันมักจะเป็นอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงเราไม่รู้จักคุณค่าของธรรมะ คุณค่าของธรรมะนั้น ไม่ใช่ไปเห็นตามตัวหนังสือตามตำราอันนั้นเป็นนั่น อันนั้นเป็นนั่น อันนั้นมันอยู่ข้างนอก มันไม่เห็นธรรมะ ซึ้งในจิตของตน เมื่อเราดูจิตของตน มันก็จะเห็นจิตของตน เห็นความจริงอยู่อย่างนั้น ถ้าเราเอาความจริงพูดขึ้นมา มันก็เป็นความจริง มันก็ตัดกระแสความไม่จริงทั้งหมดเลย ฉะนั้น ธรรมะในบางแห่งก็วุ่นวายขึ้นมา อย่างคนดื่มเหล้าไปเทศน์ให้คนดื่มเหล้าฟังว่า มันไม่ดีอย่างนั้น เป็นบาปอย่างนั้น โอ๊ย ! คนกินเหล้าจะมารุมเอาให้ได้
    ฉะนั้น จึงว่าสมัยนี้ สมัยไหนก็ช่างเถอะ คำสอนที่พระพุทธเจ้าของเราท่านสอนไว้นั้นมันเป็นความจริง ความจริงนี้จริงตลอดได้สองพันห้าร้อยยี่สิบกว่าพรรษามาแล้ว อันใดที่พระพุทธเจ้าของเราเทศน์แล้ว ทรงสั่งสอนเป็นความจริงแล้ว ถอดออกมาจากใจแล้ว อันนั้นท่านว่าอย่าไปเปลี่ยนแปลง อย่าไปเพิ่มเติม อย่าไปถอน ธรรมอันนี้แหละพระพุทธเจ้าตรัส "อย่าไปบัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติ อย่าไปถอนสิ่งทีตถาคตบัญญัติไว้แล้ว ให้สมาทานตามสิกขาบทอันนั้น" คือปิดไว้ ทำไมถึงปิดเพราะอันนี้เป็นคำพูดของผู้ที่ไม่มีกิเลส โลกจะเปลี่ยนไปสักเท่าไรก็ตามอันนี้มันคงที่อยู่ ไม่เปลี่ยนไปตาม อันใดที่มันผิด คนว่าถูกมันก็ไม่ถูกด้วย อันใดมันดี คนว่าไม่ดี มันก็ไม่เปลี่ยน ถึงแม้เราตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายมันก็ไม่เปลี่ยน เพราะคำนี้คือความจริง
    ความจริงอันนี้ใครสร้างขึ้นมา ก็ความจริงมันสร้างขึ้นมาไม่ใช่พระพุทธเจ้าสร้างหรือ ไม่ใช่ ท่านไปค้นพบว่าอันนี้เป็นอย่างนี้ ท่านก็เอาออกมาสอน คำสอนอันนี้ พระพุทธเจ้าจะเกิดมาก็ตาม ไม่เกิดมาก็ตาม ความจริงอันนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ที่เรียกว่า พระพุทธเจ้านี้เป็นเจ้าของพระธรรมคือความจริงอันนี้ เท่านั้นเอง ความเป็นจริงท่านก็ไม่ได้สร้างมันขึ้นมา มันเป็นอยู่แล้ว แต่นานๆแล้ว แต่ไม่มีใครพบไม่มีใครค้น พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ ท่านค้นพบเป็นอมตะนิยามแล้ว เอามาสอนคนเป็นธรรมะ มิใช่ว่าท่านมาแต่งขึ้น อันนี้มันเป็นของเก่า ถึงแม้พระพุทธเจ้าไม่เกิดก็มีอยู่ ถึงเกิดมาก็มีอยู่ แม้คนไม่ปฏิบัติก็มีอยู่ ถึงคนจะปฏิบัติอันนี้ก็มีอยู่ เพราะอันนี้เป็นความจริง เพราะฉะนั้นโลกอันนี้ตั้งมั่นขึ้นมา ตั้งมั่นอยู่นะ...แล้วก็ปฏิบัติตามความเป็นจริงกันไปแล้วก็ถล่มทลายตายฉิบหายหมด ก็วนกลับเข้ามาหาความเป็นจริงอีก ความเป็นจริงคือธรรมะก็หล่อเลี้ยงคนไปอีก นานๆไป คนมากขึ้นไป ก็ประมาทอีก มันก็ทำไปตามโลก ตามความมือของคนไป เจริญไปๆแล้วก็เสื่อมอีก ตั้งไม่ได้ วุ่นวายอีกแล้วก็กลับมาตั้งความเป็นจริงอีก เพราะอันนี้ไม่หาย พระพุทธเจ้านิพพานแล้วก็ไม่หาย พระพุทธเจ้าทุกองค์นิพพานแล้วก็ไม่หาย ท่านมาเกิดวันนี้ก็ไม่หาย ท่านดับขันธ์ไปแล้วอันนี้คงตั้งอยู่ โลกเวียนมาบรรจบอันนี้ มันก็คล้ายๆกับว่ามะม่วงต้นหนึ่งมันก็เป็นดอกมันก็เป็นผล เป็นผลเล็ก แล้วเป็นผลโตเรื่อยๆขึ้นมาจนกว่ามันห่าม มันห่ามแล้วก็สุก เหลือสุกมันก็เละ มันก็หล่นลงมาอีก เมล็ดมันก็กลับมาสู่อีก เป็นต้นใหม่ขึ้นมาอีก เรื่อยๆไป ผลที่สุดมันห่ามแล้วมันก็สุก สุกแล้วมันก็เละ เมล็ดมันก็ตกไปสู่ดินอีก ต้นก็มาเกิดอีกเช่นนี้ มันก็เป็นอยู่อย่างนี้ในโลกนี้ไม่ไปอื่นไกล มีแต่ของเก่านั้นแหละ
    อย่างที่เราทำทุกวันนี้ก็เหมือนกัน วันนี้เราก็ทำของเก่านั้นแหละ พรุ่งนี้เราก็ไปทำอย่างเก่านี้ล่ะ ไม่ไปทำอย่างอื่นหรอก เออ ! ไปทำให้มันยุ่งยากขึ้นมาอีก คนคิดมากเกินไป ก็ของในโลกมันมีหลายๆอย่างนี่ ใครมีปัญญาค้นขึ้นมาได้ มันก็มีขึ้นมา แต่มันจบไม่ได้ จบไม่ได้ พุทธศาสตร์ก็ดี วิทยาศาสตร์ก็ดี ศาสตร์ทั้งหลายที่มีมาหลายๆศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จิตตศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ทุกอย่างนั่นแหละค้นไปมันก็มีมา แต่ว่ามันก็มาจบอยู่ที่ความจริงของมัน เพราะมันเป็นวัฏฏะเหมือนกันกับล้อเกวียนเรามีเกวียนสักเล่มหนึ่ง แล้วก็มีโคลากมันไป ล้อเกวียนมันไม่ยาว แต่รอยมันยาว ถ้าโคตัวนั้นนะ  มันลากเกวียนไปไม่หยุด  อันรอยเกวียนนั้นมันก็ทับรอยโคไปไม่หยุด มันกลม แต่ว่ามันยาว จะว่ามันยาวก็ได้ แต่ว่ามันกลม เราเห็นความกลมมันเช่นนี้ ก็ไม่เห็นความยาวในวงเกวียนอันนั้น แต่เมื่อโคลากไป แหม! กี่วันกี่เดือน มันยาว เมื่อโคมันลากไปไม่หยุด ล้อเกวียนก็หมุนไปไม่หยุด อีกวันหนึ่งโคมันเหนื่อย มันสลัดแอกออกไปเสียแล้ว โคไปโค เกวียนไปเกวียน ล้อเกวียนก็หยุดเอง นี่ มันก็ทิ้งอยู่นั้นแหละ นานๆไปมันก็เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ถมทับเป็นดินหญ้าไปอย่างเดิม คนกระทำกรรมนี้ก็เหมือนกัน มันไม่จบเรื่องของมัน เราจะค้นอยู่ในโลกเหมือนกัน ตลอดถึงทุกวันนี้ คนพูดความจริงอย่างนี้มันก็ไม่จบเหมือนกัน คนมิจฉาทิฏฐิก็มีไม่จบเหมือนกัน มันมีกำลังเท่ากัน
    เหมือนมีดเล่มหนึ่ง เรามาลับให้มันคมๆเสีย จะเอาไปทำให้มันเป็นประโยชน์ มันก็มีประโยชน์ เป็นกำลังในทางที่เป็นประโยชน์ เราจะเอาไปทำให้ไร้สาระไร้ประโยชน์ มันก็มีกำลังเท่าๆกันเพราะมีดมันมีความคมเสมอกัน นี่ก็เหมือนกันแต่ว่าต่อไปมีดเล่มนั้น เมื่อมันเกิดเป็นมีดมาได้ สักวันหนึ่งมันจะหยุดเป็นมีด คนทำกรรมนี้ก็เหมือนกัน ทำไปๆมันหยุดตรงไหน เราหยุดการกระทำมาแล้ว รอยเกวียนมันก็ไม่หยุด มันก็หมุนไปเรื่อย การกระทำกรรมชั่วของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่หยุดมันก็ไม่หยุด ถ้าเราหยุดมันก็หยุดแค่นี้ นี่คือการปฏิบัติธรรม