เดินให้ถูกทาง
โดย สิน วิภาวสุ
๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕
สพฺพทานํ   ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรม ชนะการให้ทั้งปวง

เดินให้ถูกทาง
เส้นทางชีวิตของแต่ละบุคคลย่อมผิดแผกแตกต่างกันไป สั้นยาวดีชั่วไม่เท่ากัน ซึ่งใครๆ ชอบเรียกว่าทางสายนี้ว่า เป็นทางพรหมลิขิต แต่ข้าพเจ้าชอบเรียกทางสายนี้ว่าทางกรรมลิขิตมากกว่า เพราะตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ขึ้นชื่อว่ากรรม ย่อมหลีกลี้หนีไม่พ้น ใครทำกรรมใดไว้ ย่อมจะต้องได้รับผลกรรมนั้น ไม่ช้าก็เร็วอย่างไม่ต้องสงสัย ดังพุทธภาษิตว่า หว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

แต่อย่างไรก็ดี บนเส้นทางชีวิตของแต่ละสายนั้น ล้วนมีอุปสรรคด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งบางคนก็เดินไปบ่นไป บางคนก็เดินไปทอดอาลัยในชีวิตของตนไป บางคนก็เกิดความท้อแท้ใจ บางคนถึงกับต้องเดินไปร้องไห้คร่ำครวญไปอย่างน่าทุกขเวทนายิ่ง

ข้าพเจ้าขอใคร่ชี้แจงกับท่านสักเล็นน้อยว่า ท่านอย่าได้เสียใจไปเลยเพราะทางสายนี้ ท่านเป็นผู้สร้างของท่านเองทั้งสิ้น จะดีหรือเลวก็เพราะการกระทำของท่านเองทั้งนั้น ฉะนั้น หากท่านได้สติว่ามันไม่ดี ก็เริ่มต้นสร้างแต่ทางที่ดี หมั่นสร้างแต่สิ่งที่เป็นกุศล แล้วในไม่ช้าท่านก็จะได้เดินทางที่ดีที่ราบเรียบต่อไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า ชาตะคือทุกข์ การเกิดมานี้เป็นทุกข์ เพราะเมื่อมีการเกิด สิ่งที่ตามมาก็คือความมีชีวิตล่วงไปๆ เป็นทุกข์ ความเจ็บป่วยเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความอาลััย ความคร่ำครวญ ความทนลำบาก ความเสียความคับแค้นใจ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่รักเป็นทุกข์ ความไม่สมประสงค์เป็นทุกข์  รวมความแล้ว บนเส้นทางชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น ย่อมเป็นทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรเล่าจึงจะให้ทุกข์เหล่านี้เบาบางลงได้ มีซิท่าน ก็บรรดาลักษณะต่างๆ  ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เราอย่าเข้าไปยึดถือผูกพัน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเพราะจะนำทุกข์มาให้ แต่การที่เราจะทำได้เช่นนั้นก็จะต้องเรียนรู้ถึงเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดทุกข์เสียก่อน แล้วจึงหาทางป้องกันได้ เหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ ก็คือตัว กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา นั่นเอง

กามตัณหา คือ ความทะยานอยากในกาม ความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ อันเป็นบ่อเกิดแห่งทุกข์อย่างหนึ่ง  ฉะนั้น เมื่อมีสติระลึกได้ว่ามันจะทำให้เกิดทุกข์ หรือจะเป็นตัวนำทุกข์มาให้ มันเป็นไฟ มันร้อน ที่จะเผาลนจิตใจของเรา ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ตัวเรา ก็จงหลีกเลี่ยงอย่าเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หากท่านทำได้ทุกข์นั้นก็ไม่เกิด ถ้ายังหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะยังรักยังชอบใจอยู่ ก็จงทำใจให้ปล่อยวางเสียบ้าง เพราะจะแก้ยาก สลัดคืนยาก แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงออกจากเหตุ ที่จะทำให้เกิดทุกข์ไม่ได้ ทุกข์นั้นก็ต้องเกิดแน่ แต่จะมาก หรือน้อยทั้งนี้ก็สุดแล้วแต่ว่าตนเองจะสามารถป้องกันได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น รักมากก็ทุกข์มาก รักน้อยก็ทุกข์น้อย

ภวตัณหา คือ ความอยากให้เกิดมีเกิดเป็นในสิ่งที่ตนต้องการ กระหายอยากให้มีไว้บ้าง กระหายอยากให้คงอยู่บ้าง เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ก็เป็นทุกข์ นี้แหละคือเหตุแห่งทุกข์อีกประการหนึ่ง

วิภวตัณหา คือ ความกระหายอยากให้พ้นไป ไม่อยากให้มี ไม่อยากให้เป็น เพราะตนไม่รักไม่ชอบในสิ่งนั้น เช่น คนที่เป็นหนี้เขาอยู่ก็อยากจะให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้ เมื่อยังหาใช้หนี้เขาไม่ได้ หรือยังใช้ไม่หมด ก็หาไปบ่นไปเมื่่อไรจะหมดหนี้เสียสักที ทุกข์เหลือเกิน คิดถึงมันทีไรก็เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที อย่างนี้เป็นต้น

เม่ือคนเราเกิดมาล้วนมีทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้สุดแล้วแต่กรรมที่ได้ทำไว้ มากบ้างน้องบ้าง ไม่แน่นอน ฉะนั้น เมื่อเราได้รู้ถึงเรื่องทุกข์และเหหตุที่ทำให้ทุกข์เกิดแล้ว ต่อไปจึงค่อยศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องการดับทุกข์ อันความดับทุกข์นั้นเป็นอย่างไร ได้แก่ความดับสนิทแห่งตัณหาทั้งหลายดังทีได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง ไม่ใช่อื่น ความสละเสียได้ ความปลดเสียได้ ความปล่อยเสียได้ ซึ่งความอยาก ความกระหายทั้งปวงนั่นแหละและการที่ความอยาก ความกระหาย หรือที่เรียกว่าตัณหานั้นไม่ติดพัวพันอยู่ย่อมจะดับทุกข์ลงได้

เมื่อเรารู้ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์แล้ว ต่อไปก็ถึงทางไปถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น หนทางที่จะไปให้ถึงความดับทุกข์ ก็คือปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้เหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งนี้ความดับทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า    มรรค เพราะเป็นข้อปฎิบัติ ให้ถึงความดับทุกข์ทั้งสิ้น อันข้อปฎิบัตินี้ประกอบด้วยความขยันมั่นเพียร ศึกษาค้นคว้าแล้วลงมือปฎิบัติทำไปเรื่อยๆ เอาใจฝักใฝ่ไม่ว่างเวัน พร้อมทั้งหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในสิ่งที่ตนปฎิบัติอยู่ ก็คงไม่เหลือวิสัยที่จะถึงซึ่งความสำเร็จได้

ฉะนั้น สำหรับท่านที่ไม่เคยศึกษาและปฎิบัติิมาก่อนก็ลองศึกษาและปฎิบัติดู แล้วท่านจะรู้สึกว่าเกิดความปีติยินดีสักเพียงใด คิดนึกเสียดายที่ปล่อยให้เวลาล่วงเลยไป
เพิ่งจะมาศึกษาและปฎิบัติเอาตอนนี้ แต่ก็ยังไม่สายหรอกนะท่าน ขอให้ตั้งใจทำจริงๆ เถิด จะบังเกิดผลอย่างแน่นอน  ธรรมะของพระพุทธเจ้ามากมายถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ ซึ่งสามารถเลือกศึกษาและปฎิบัติได้ตามระดับชั้น ผู้ทีปฎิบัติจนละกิเลสให้เบาบางลงได้ เป็นลำดับจนถึงขั้นพระอริยบุคคลซึ่งได้แก่ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี จนถึงขั้นพระอรหันต์ เป็นผู้ที่สิ้นแล้วซึ่งกิเลสทั้งปวง ตัดวัฏฏสงสารลงได้ เป็นผู้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ดังที่ผ่านมาแล้วไม่รู้ว่ากี่ภพกี่ชาติอย่างนับไม่ถ้วน

ท่านผู้อ่านที่เคราพ ท่านเคยถามตัวเองบ้างไหมว่าเราเกิดมาในชาตินี้ อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่เราควรจะได้ทรัพย์สมบัติ  หรือเกียรติยศชื่อเสียงหรือ ไม่ใช่ทั้งนั้น สิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ก็คือ สิ่งที่ท่านจะค้นพบได้จากพระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นสัจธรรมที่พระองค์ได้ทรงค้นพบและทดลองปฎิบัตมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความจริงอย่างยิ่งเป็นความจริงอันประเสริฐ โดยให้ผลไม่จำกัดเวลา อันผู้ปฎิบัติพึงรู้ได้เฉพาะตน สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ศึกษาและปฎิบัติอย่างสม่ำเสมอ ไม่วางธุระย่อมจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน การทีคนเราเกิดมาในโลกนี้ ก็เหมือนมาเยือนโลกชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้นไม่ช้าก็ต้องตายจากไปแล้ว ท่านมาคนเดียว ท่านก็ต้องไปคนเดียวและเมื่อท่านมาตัวเปล่า ท่านก็ต้องกลับไปตัวเปล่า จะนำอะไรติดตัวไปไม่ได้เลย ฉะนั้น ขอให้เราจงมีสติอย่าได้หลงผิด มัวแต่ขวนขวายกับการหาเงินหาทอง อย่างไม่รู้จักพอ เพราะความสุขที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่เงินอย่างเดียว แต่อยู่ที่ความสงบแห่งจิตใจต่างหาก คนเราถ้าจิตใจไม่มีความสงบแล้ว ถึงจะมีทรัพย์สินเงินทองมากมายสักเพียงไร ก็หาความสุขไม่ได้  บางคนเข้าใจผิดคิดว่าฉันนี้มีความสุขแล้ว เพราะเพียบพร้อมด้วย เดช ศรี บริวาร อย่างมากมาย แต่นั่นมันสุขทุกข์ต่างหากล่ะท่าน มันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงหรอก เพราะมันไม่ถาวร ไม่เที่ยงแท้แน่นอน การที่ข้าพเจ้าพูดอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า เงินนั้นไม่สำคัญก็หามิได้ เงินเป็นสิ่งสำคัญและเป็นของจำเป็นเพราะใช้และเปลี่ยนปัจจัยสี่สำหรับเลี้ยงชีวิตได้ แต่นั่่นแหละ ถ้าหากเราไม่รู้จักพอ ชีวิตก็จะไม่มีวันได้พักผ่อนอย่างแน่นอน เพราะยิ่งขวนขวายก็ยิ่งหาทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีก ชั่วชีวิตหนึ่งแบกแต่ความทุกข์เอาไว้ จะหาความสุขได้ที่ไหน เพราะชีวิตจิตใจของเรามันหนักอยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งตาย คนส่วนมากมันจะระลึกได้เอาเมื่อตนป่วยหนัก หรือใกล้จะตาย ว่าทรัพย์สินเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนการขวนขวายหาเงินอย่างไม่ว่างเว้นนั้น แท้จริงไม่ได้ช่วยให้จิตวิญญาณของตนดีขึ้นเลย แม้แต่สังขารที่แสนจะหวงแหนนี้ก็เอาไว้ไม่อยู่ วันหนึ่งๆ มีแต่จะสร้างปัญหาทับถมให้หนักขึ้น หนักขึ้น จนกระทั่งสิ้นลมปราณ

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรบคนเรา จะมีอะไรยิ่งไปกว่า สิ่งที่เราทำแล้วมีความสงบ เบาสบาย อย่างแท้จริงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ท่านจะได้พบเมื่อยึดเอาพระธรรมมาเป็นหลักใจและพยายามปฎิบัติตาม ขอให้ท่านรีบตัดสินใจลงมือเริ่มศึกษาและปฎิบัติเถิด  เริ่มตั้งแต่การสร้างแต่กรรมดี หรือกุศกรรม ละเว้นสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว หรืออกุศลทั้งปวง เราจะต้องหลีกเลี่ยงงดเว้นสิ่งที่เป็นบาปอกุศลทั้งหลาย มิฉะนั้นบุญกุศลที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็มีแต่่จะลดน้อยถอยลงไปอีกเนื่องจากบุญเก่่าได้ถูกใช้หมดไปเรื่อยๆ บุญใหม่ก็ไม่ได้สร้าง ฉะนั้น เราจึงต้องพยายามสร้างกรรมดีให้มาก เพื่อเป็นการเพิ่มบุญบารมีให้กับตนเอง

กรรมดี หรือกุศลกรรม คือ การกระทำในสิ่งที่ดีทั้งหลายทั้งปวงด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ การทำความดีนั้นมีมากมายหลายสิ่ง หลายอย่าง ตั้งแต่หยาบจนถึงขั้นละเอียด การให้ทานก็เป็นการสร้างกรรมดีอย่างหนึ่งเราควรจะทำจนเป็นนิสัย เคยมีคนเฒ่าคนแก่สอนให้ลูกหลานพยายามสร้างความดีโดยการให้ทานว่า เมื่อเรามีโอกาสเกิดมาในโลกมนุษย์นี้แล้ว ก็จงรีบเร่งทำบุญทำทานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเมื่อเราตายไปแล้ว  อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำบุญให้ทานอีกก็ได้

การทำบุญให้ทาน ช่วยเหลือสงเคาะห์ผู้อื่นในทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและทำด้วยความตั้งใจ มีเจตนาอันบริสุทธิ์  ย่อมเป็นการปูพื้นฐานความดีเบื้องต้นให้กับชีวิต เมื่อได้ทำจนเป็นนิสัยแล้วย่อมจะยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น บุคคลที่ทำบุญให้ทานด้วยความตั้งใจมีเจตนาบริสุทธิ์แล้ว ศีลก็จะติดตามมาเอง เพราะการให้ทานซึ่งถือว่าเป็นบุญกุศลชั้นต้นๆ ก็ทำให้เกิดปีติปราโมทย์ได้ ทำให้จิตใจผ่องใส ชุ่มชื่น มีความอิ่มใจและเป็นที่แน่นอนที่สุดจิตนั้นย่อมเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศลแล้ว ไม่ว่าท่านจะพูดอะไรทำอะไรก็ล้วนแล้วแต่เป็นทางที่ดีที่ชอบทั้งนั้น ไม่ประพฤติผิดทั้งทางกาย ทางวาจา ทำให้เกิดมีความสำรวม การที่คนเรามีความสำรวม นั่นก็แสดงว่าตนนั้นมีศีลเกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว บุคคลใดมีศีล ย่อมจะทำให้จิตใจเป็นปกติ เกิดความสงบสุขแก่ตนเองและหมู฿่คณะอีกด้วย

ศีล ในทางปฎิบัติหมายเอาการสำรวมทางกาย ทางวาจา ให้มีความเรียบร้อยเป็นปกติ ไม่ประพฤติผิดในทางที่เป็นบาปอกุศลทั้งปวงโดยเด็ดขาด

พุทธศาสนา  ได้บัญญัติสิ่งซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ ๓ กล่าวโดยย่อมีดังนี้
๑. ทานมัน บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัน บุญสำเร็จด้วยการเจิรญภาวนา

คนเราเมื่อมีศีล จิตใจย่อมเป็นปกติ เมื่อจิตใจเป็นปกติไม่ฟุ้งซ่าน สมาธิย่อมเกิดได้ง่าย เพราะศีลนั้นเสมือนหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดสมาธิได้เร็วขึ้นและง่ายขึ้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ ปัญญาย่อมเกิดตามมาเอง ศีล สมาธิ ปัญญานี้  ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่า บทฝึกสามประการ หรือหลักแห่งการปฎิบัติสามอย่างคือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา

ศีลสิกขา คือ การปฎิบัติอบรมตนให้มีความประพฤติดี ประพฤติชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรมะ มีความสำรวมทั้งทางกาย วาจาและใจ ไม่ทำตนเอง หรือผู้อื่นเดือดร้อน เรื่องของศีลนี้ ยังสามารถจำแนกออกเป็นศีลสามัญธรรมดาและอธิศีล คือศีลอันยิ่ง หรือศีลที่สูงและละเอียดยิ่งขึ้นไป เช่นศีล ๕ ศีล ศีล ๘ ศีล  ๑๐ ศีล ๒๒๗ บุคคลใดสามารถปฎิบัติศีลได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเพียงใด ก็จะทำให้มีความสงบสุขยิ่งขึ้นเพียงนั้น

กล่าวเฉพาะชีวิตของฆราวาสนั้นผู้ที่ปฎิบัติรักษาศีลได้ แม้เพียงศีลสามัญชั้นต้นๆ เท่านั้น ก็ยังเป็นผู้ที่น่ารักเคารพแก่บุคคลทั่วไป ถ้าหากสามารถปฎิบัติให้ละเอียดสูงขึ้นไปอีกก็ยิ่งจะทำให้น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น ในชีวิตของบุคคลที่ได้รับความสำเร็จในกิจการงานนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีระเบียบวินัยในตนเอง สำหรับผู้ที่มีศีลนั้น นอกจากจะเป็นผู้มีระเบียบวินัยแล้ว ยังเป็นผู้ที่อยู่ในความไม่ประมาท มีความละเอียดประณีต จะทำสิ่งใดจะพูดอะไรก็คิดพิจารณาก่อนเสมอ เพราะมีความสำรวมทางกาย วาจา อยู่แล้ว บุคคลใดมีศีลย่อมจะทำให้ชีวิตของเขาเกิดความสะอาด สว่าง สงบ ฉะนั้นสิกขาบทที่ ๑ คือ   ศีล จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลทุกคนจะต้องฝึกอบรมและปฎิบัติให้ได้ ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าจะทำให้ชีวิตมีแต่ความสุข ความเจริญ เป็นที่รักที่เคราพของคนทั่งไปชีวิตจะไม่มีวันตกต่ำอย่างแน่นอน

สมาธิสิกขา  คือ การฝึกหรือข้อปฎิบัติให้จิตมีความแน่วแน่ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ให้อารมณ์อื่นแทรกแซงเข้ามาได้ ทำให้จิตใจมีความสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน พร้อมที่จะปฎิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม สมาธิที่ถูกต้องนั้น ต้องเป็นสมาธิพร้อมจะปฎิบัติงานได้ เป็นสมาธิที่ทำให้เกิดปัญญา ไม่ใช่สมาธิชนิดที่นั่งทำตัวให้แน่นิ่งแข็งทื่ออยู่เฉยๆ การทำกิจการงานที่ยากๆ   หรือการค้นคว่าสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น  ล้วนต้องการสมาธิทั้งนั้น แม้การศึกษาเล่าเรียนจะสำเร็จได้ด้วยดี ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นมีตั้งแต่สมาธิระดับอ่อน หรือสมาธิขั้นต้นๆ ไปจนถึงสมาธิชั้นสูง  เช่น แบ่งเป็นโลกิยสมาธิและโลกุตตรสมาธิ  หรือแบ่งเป็นอุปจารสมาธิ คือ สมาธิขั้นพื้นฐานและอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิขั้นแน่วแน่ดังนี้เป็นต้น ถ้าหากจะแบ่งอย่างเข้าใจง่ายๆ ก็มีสมาธิอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด การฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้นเป็นการฝึกที่สูงกว่าสมาธิขั้นสามัญธรรมดา ตามที่เป็นอยู่ สำหรับผู้ที่ใช้ทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียนทั่วไป  การฝึกสมาธิในทางพระพุทธศาสนานั้น เป็นการฝึกให้เกิดดวงปัญญา เพื่อพิจารณาให้รู้แจ้งในสัจธรรม คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมชาติอันลี้ลับลึกซึ้งอย่างยิ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบมาแล้วด้วยพระองค์เองหลักของพระพุทธศาสนานั้น มุ่งไปทางพ้นทุกข์เป็นสำคัญ ผู้ที่ฝึกสมาธิได้สำเร็จ จึงเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะพิเศษผิดกว่าบุคคลธรรมดา เป็นผู้มีพลังจิตสูง มีความสามารถมาก มีสมรรถภาพ   ในการทำงานดีเยี่ยม เสมือนหนีึ่งเป็นผู้มีพรสวรรค์โดยแท้  ดังนั้น เรื่องพรสวรรค์นี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนจะสร้างให้เกิดขึ้นได้      โดยการฝึกฝนตนเองตามหลักของพระพุทธศาสนา  ผู้ที่ทำการฝึกสมาธิตามหลักของพระพุทธศาสนา จึงต้องใช้ความอดทนศึกษาอบรมและปฎิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดสมาธิที่สูงขึ้นไปกว่าสมาธิ ตามธรรมชาติที่มีอยู่ ขั้นตอนของการทำสมาธินั้น ถ้าพูดในทางภาคหลักวิชา หรือทฤษฎีก็มีอยู่มากมายละเอียดประณีตมากทีเดียว   ส่วนทางภาคปฎิบัตินั้นสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาทางภาคทฤษฎีก่อน ส่วนทางภาคปฎิบัตินั้นสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาทางภาคทฤษฎีก่อน แต่ต้องการจะลงมือปฎิบัติทันทีนั้นก็ทำได้ โดยเรียนรู้หลักในการทำสมาธิเบื้องต้นให้เข้าใจ พอเป็นแนวทางสำหรับปฎิบัติก็ลงมือทำได้ แต่ถ้าหากมีเวลาศึกษาค้นคว้าทางภาคหลักวิชา หรือภาคทฤษฎีเพื่อประกอบในการปฎิบัติได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยคลี่คลายความสงสัยได้ในเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

ปัญญาสิกขา คือ การศึกษาอบรให้เกิดปัญญา รู้แจ้งถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริง การที่จะทำให้เกิดปัญญาในขั้นสูงเพื่อที่จะใช้ในการพิจารณาสภาพตามธรรมตามความเป็นจริงนั้น จำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนอบรมตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นศีล คือ การชำระ กาย วาจา ใจ ให้มีความสำรวม มีความบริสุทธิ์  แล้วจึงฝึกอบรมในเรื่องสมาธิต่อไป

สำหรับสมาธิกับปัญญานั้นแยกกันไม่ค่อยออก ทั้งสองอย่างจะสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพราะปัญญาจะเกิดได้ต้องอาศัยสมาธิ เราจะเห็นได้ว่า ขณะที่จิตวุ่นคิดอะไรไม่ค่อยออก ถึงคิดออกก็ไม่ค่อยถูกต้องสมบูรณ์ เวลามีปัญหาหนักๆ  หากคิดไม่ออกแก้ไม่ได้ท่านลองนำมาคิดพิจารณาใหม่ในเวลาเช้ามืด หลังจากที่ท่านได้นอนหลับพักผ่อนมาแล้วท่านก็จะคิดได้และสามารถแก้ได้ เพราะจิตในขณะนั้นมีสมาธิ หรือมีความสงบนั่นเอง เมื่อจิตสงบปัญญาก็เกิด จึงสามารถแก้ปัญหาที่ติดค้างอยู่ได้

การฝึกอบรมให้เกิดปัญญาในทางพระพุทธศาสนานั้น มุ่งที่จะจำกัดกิเลสที่่มีอยู่ให้หมดไป กิเลส แปลว่าความเคร้าหมอง หรือ สิ่งที่ทำให้จิตเคร้าหมอง เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น กิเลส ก็คือ ธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นทั่วทุกตัวคน ถ้าใครมีมากสะสมไว้มากก็จะก่อให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนมาก ใครมีน้อยก็เป็นทุกข์น้อย ฉะนั้น พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมให้สัตว์โลกรู้ว่า อะไรหรือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือความดับทุกข์ อะไรคือทางแห่งความดับทุกข์

เมื่อทราบว่าธรรมทั้งหลายที่มีอยู่รอบๆ ตัวเรานี้อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศลแล้ว เราก็จะหาทางปฎิบัติได้ถูกต้อง  โดยไม่ให้ธรรมที่เป็นฝ่ายอกุศล เข้ามาพอกพูนตัวเราให้มากขึ้นไปอีกและขณะเดียวกันเราจะต้องหาทางเจริญธรรม ฝ่ายที่เป็นกุศลมากขึ้น แต่อย่าลืมว่ากิเลสอันเป็นธรรมฝ่ายอกุศลนั้น เราได้สะสมกันมาแล้วไม่รู้กี่กัปกี่กัปป์ภพชาติ มันได้นอนเนื่องอยู่ในกมลสันดานอย่างหนาแน่นลึกซึ้งเพียงไรก็ลองคิดดู บางครั้งเรานึกว่า  กิเลสของเราคงจะเบาบางลงไปได้บ้างแล้ว แต่ที่ไหนได้พอมีใครมาขัดใจเข้าเท่านั้น เกิดอารมณ์ขุ่นมัวขึ้นมาทันที ถ้าขัดใจมากหน่อยก็ถึงขนาดแสดงความโกรธออกมาให้เห็นที่เดียว นั่นแสดงว่าท่านยังไม่ได้ก้าวหน้าไปได้แค่ไหนเลย กิเลสในตัวของท่านยังคงหนาแน่นอยู่เช่นเดิม หรืออาจจะเพิ่มมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องเจริญปัญญา ให้สูงขึ้นและสูงขึ้นเพื่อใช้ในการประหาร หรือละทิ้ง กิเลส อันเป็นบาป อกุศลทั้งปวง ในทางพระพุทธศาสนาสอนให้เจริญกุศล ด้วยการบำเพ็ญทาน ศีลและภาวนา ภาวนนั้นเป็นการเจริญกุศลในชั้นสูง เพราะปัญญาจะเกิดได้ด้วยการ เจริญภาวนา

ภาวนา แปลว่า เจริญก็ได้ การทำให้มีขึ้นก็ได้ การทำให้เกิดขึ้นก็ได้ การฝึกอบรมก็ได้ การเจริญภาวนาตามหลักพระพุทธศาสนา จึงหมายถึงการอบรมจิตด้วยกัมมัฏฐานสองอย่าง  คือสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

สมถกัมมัฏฐาน คือวิธีการทำให้จิตสงบ หรืออุบายอบรมจิตให้เกิดสัมมาสมาธิ
 วิปัสสนากัมมัฏฐาน คือวิธีการที่ทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คืออุบายอบรมจิตใจเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

การที่เราอบรมจิตด้วยกัมมัฏฐานสอบอย่างตามที่ได้กล่าวมาก็มุ่งหมายที่จะขจัดกิเลสให้หมดไป หรือให้เบาบางลง เช่นเพื่อขจัด โลภะ โทสะ โทหะ เป็นต้น

กิเลสในตัวเรานั้นต่างสะสมมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติจนนับไม่ถ้วน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องใช้เวลาและความขยันหมั่นเพียรอดทนไม่ย่อท้อในการฝึกฝนอบรม เพื่อขัดเกลาลดละกิเลสให้น้อยลงไปเรื่อยๆ จะต้องพยายามทำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วัน เพราะเราไม่รู้ว่าการเจริญปัญญาของเรา วันหนึ่งๆ นั้น ปัญญาได้เกิดขึ้นเท่าใด คนส่วนมากไม่เพียงแต่ไม่ได้อบรมจิตให้เกิดปัญญาเท่านั้น หากแต่ยังประกอบกรรมอันเป็นฝ่ายอกุศลอีกด้วยไม่ว่าทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ทั้งนี้ก็เนื่องจากผู้นั้น ไม่ได้ผ่านการศึกษาอบรมจิตของตนให้เกิดปัญญารู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า อะไรเป็นอกุศล สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรมมาดีแล้วนั้น ก่อนจะทำอะไรลงไป ย่อมจะใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนและมีสติตามทันเสมอ อะไรเป็นอกุศลก็ย่อมจะระลึกได้ไม่กระทำลงไป เมื่อทำได้เช่นนี้ ชีวิตก็จะมีความสงบเบาสบายขึ้นเรื่อยๆ เพราะกิเลสทั้งหลายได้เบาบางลงไป

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์โลกให้พ้นจากความหลงผิดและทรงชี้แนะทาง เจริญกุศลภาวนาเพื่อความรู้แจ้งในสัจธรรม พระองค์ได้ทรงชี้ทางให้ดำเนินตามทางสายกลางคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมทิฏฐิ สัมาสังกัปปะ สัมมวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ  คือ เห็นอริยสัจจ์ ๔ ได้แก่เห็นทุกข์ ๑ เห็นเหตุให้ทุกข์เกิด ๑ เห็นความดับทุกข์ ๑ เห็นทางให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ๑
๒.สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑ ดำริในอันไม่พยาบาท ๑ ดำริในอันเบียดเบียน ๑
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ   เว้นจากวจีทุจริต ๔ ได้แก่เว้นจากการพูดเท็จ ๑ เว้นจากการพูดส่อเสียด ๑ เว้นจากการพูดคำหยาย ๑ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓ ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ เว้นจากการลักทรัพย์ ๑ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากการเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ  คือ สร้างฉันทพยายามปรารภความเพียร ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น ๑ เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๑ เพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดบังเกิดขึ้น  ๑ เพื่อความตั้งอยู่ไม่เลือนหาย เจริญยิ่ง ไพบูลย์ มีขึ้น เต็มเปี่ยม แห่งกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว ๑
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ได้แก่ การพิจารณาเนื่องๆ ซึ่งกายในกายภายใน กายในกายภายนอก กายในกายทั้งภายในภายนอก ๑ เวทนาในเวทนาภายใน เวทนาในเวทนาภายนอก เวทนาในเวทนาทั้งภายในภายนอก ๑ จิตในจิตภายใน จิตในจิตภายนอก จิตในจิตทั้งภายในภานนอก ๑ ธรรมในธรรมภายใน ธรรมในธรรมภายนอก ธรรมในธรรมทั้งภายในภายนอก ๑

๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ ได้แก่ การอบรมจิตให้เกิดรูปฌานสมาบัติ ๔ คือ
ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตา
ปฐมฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ทติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ประกอบ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
ตติฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ประกอบ ๒ คือ เอกัคคตา อุบกขา

การเจริญสมาธินั้น เมื่อถึงขั้นอัปปนาสมาธิ คือ สมาธิขั้นแน่วแน่ ที่เรียกว่าฌานแล้ว องค์ธรรมต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของจิตก็จะยิ่งลดน้อยลง จะเห็นได้ว่า ฌานที่ ๒ ละวิตก วิจาร ไปได้ ฌานที่ ๓  ละวิตก วิจาร ปีติ  ฌานที่ ๔ ละวิต วิจาร ปีติ สุข คงเหลือแต่เอกัคคตา จิตเป็นอุเบกขาบริสุทธิ์

ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั้น เห็นชอบ ดำริชอบ สงเคราะห์เข้าในปัญญาสิกขา วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สงเคราะห์เข้าในศีลสิกขา เพียรชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจไว้ชอบ สงเคราะห์เข้าในจิตตสิกขา

มรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ ขอให้ท่านผู้อ่านพยายามศึกษาพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นว่ามีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมบริบูรณฺ์อยู่ในนั้น ถ้าบุคคลใดสามารถปฎิบัติได้ไม่ว่าเป็นบรรพชิต หรือฆราวาส ก็จะทำให้ชีวิตมีแต่ความราบรื่นเบาสบาย เพราะมรรคมีองค์ ๘ นี้ เป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงทำให้ผู้ปฎิิบัติเห็นแจ้งในสัจจธรรม เป็นองค์ธรรมที่จะทำให้ตรัสรู้ได้

เมื่อได้กล่าวถึงมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นองค์ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ให้บรรลุมรรค ผล  นิพพาน มาแล้ว ข้าพเจ้าจึงใครขอน้อมนำองค์ธรรมในหมวดที่่เหลืออยู่มากกล่าวไว้ในที่นี้ให้ครบถ้วนด้วย เพื่อท่านที่ยังไม่รู้จะได้รู้ไว้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาค้นคว้าต่อไป

องค์ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ บรรลุมรรค ผลนิพพาน นั้น มีชื่อเรียกว่า "โพธิปักขิยธรรม" มีอยู่ ๗ หมวดรวมเป็น ๓๗ ประการด้วยกัน ได้แก่
๑. สติปัฏฐาน ๔
๒. สัมมัปปธราน ๔
๓. อิทธิบท ๔
๔. อินทรีย์ ๕
๕. พละ ๕
๖. โพชฌงค์ ๗
๗. มรรคมีองค์ ๘

(๑)  สติปัฏฐาน  ๔    มี กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตนุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติพิจารณาเห็นกายในกายภายใน กายในกายภายนอกและกายในกายทั้งภายในภายนอก
 เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายใน เวทนาในเวทนาภายนอกและเวทนาในเวทนาทั้งภายในภายนอก
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ให้มีสติพิจารณาเห็นจิตในจิตภายใน จิตในจิตภายนอกและจิตใจจิตทั้งภายในภายนอก

(๒) สัมมัปปธาน ๔ คือ คือความเพียรชอบใน ๔ สถานได้แก่
เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น ๑
เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ๑
เพียรสร้างบุญกุศลที่ยังไม่เกิดขึ้น ๑
เพียรรักษาบุญกูศลที่เกิดขึ้นแล้วมิให้เสื่อมไป ๑

(๓)  อิทธิบาท  ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
ฉันทะ คือ มีความพอใจศึกษาและปฎิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์
วิริยะ คือ ความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาและปฎิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพาน
จิตตะ คือ เอาใจฝักใฝ่ในการศึกษาและปฎิบัติธรรม อย่างสม่ำเสมอไม่วางธุระ
มังสา   คือ หมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลในกรปฎิบัติเพื่อให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

(๔) อินทรีย์ ๕ ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ  ปัญญา
สัทธา คือ ความเชื่อในศาสนธรรมะอย่างมั่งคงไม่หวั่งไหว เชื่อในธรรมปฎิบัติว่าสามารถจะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง
วิริยะ คือ ความเพียรพยายามในการปฎิบัติธรรมอย่างสม่่ำเสมอไม่วางธุระ
สติ  คือ ความรู้สึกทั่วพร้อม ซึ่ง กาย เวทนา จิต    ธรรม ทั้งภายในภายนอก
สมาธิ คือ การเจริญฌานทั้ง ๔ ได้แก่ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานและจตุตถฌาน
ปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเจริญภาวนาเพื่อเห็นแจ้งในสัจธรรมะ

(๕) พละ ๕ ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา องค์ธรรมในหมวดนี้ มีชื่อเหมือนกันกับหมวดธรรมที่เป็นอินทรีย์ ๕ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ว่าทำหน้าที่ต่างกัน
พละ ๕ หมายความว่า ธรรมที่เป็นกำลัง ๕ ประการซึ่งทำหน้าที่ต่างกันกับ อินทรีย์ ๕
อินทรีย์ แปลว่า เป็นใหญ่ เป็นประธาน ส่วน พละนั้น หมายถึงกำลังที่จะทำการต่อสู้ หรือต้านทานได้
สัทธา ในหมวด อินทรีย์ จึงหมายถึงการที่มีความเชื่ออยางมั่งคงแน่วแฟ้นไม่หวั่นไหว เนื่องจากได้เห็นแจ้งด้วยตนเองจากการปฎิบัติ โดยปราศจากความสงสัย อันเป็นทางนำไปสู่ความสำเร็จ มรรค ผล นิพพาน  ส่วนสัทธา ในหมวด พละ นั้น หมายถึงการที่มีกำลังต่อสู้ต้านทานกับสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งสัทธาเรียกว่า สัทธาพละ
วิริยพละ หมายถึง กำลังที่ทำการต่อสู้ต้านทานความเกียจคร้าน
สติพละ หมายถึง กำลังที่ทำการต่อสู้ต้านทานความประมาท
สมาธิพละ หมายถึง กำลังที่ทำการต่อสู้ต้านทาน  อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน
ปัญญาพละ หมายถึง กำลังที่ทำการต่อสู้ต้านทาน อวิชชา คือ ความไม่รู้ เช่น ไม่รู้อริยสัจ ๔

(๖) โพชฌงค์ ๗ ได้แก่ สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ   ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา เรียกตามประเภทว่า สติสัมโพชฌงค์  ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
สติสัมโพชฌงค์  คือ มีความรู้สึกตัว ระลึกรู้อยู่เสมอซึ่ง กาย เวทนา จิต ธรรม ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน สติมีบทบาทสำคัญมาก เพราะต้องใช้อยู่ทุกกรณีและทุกโอกาสในเวลาปฎิบัติ สติสัมโพชฌงค์ยังทำหน้าที่กำหนดรู้ธรรมขัอใดข้อหนึ่ง เช่น รู้ว่าขณะนั้นๆ จิตมีอาการหดหู่ อ่อนกำลังลง จำเป็นจะต้องแก้ด้วยธรรมข้อไหนจึงจะหาย อย่างนี้เป็นต้น

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือการเลือกเฟ้นธรรมะ ทำการสอดส่องแยกแยะเพื่อเลือกเอาธรรมข้อใดข้อหนึ่งมาใช้  เช่นกรณีที่มีจิตใจหดหู่ อ่อนกำลังลง ยอ่มต้องมีเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้นจึงต้องสอดส่องให้พบสาเหตุ แล้วเลือกเฟ้นธรรมที่ถูกกับเรื่องมาแก้ เป็นต้น

วิริยะสัมโพชฌงค์ คือ ความพากเพียรที่ประกอบด้วยความเข้าแข็งอดทน  มีความอาจหาญร่าเริง ไม่ท้อถอย เพราะเห็นโทษภัยในวัฏฐสงสาร จึงเพียรพยายามเพื่อจะได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

ปิติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มใจและพอใจต่อการปฎิบัติเนื่องจากเห็นผลจากการกระทำของตน จึงเป็นการช่วยสนับสนุนวิริยะสัมโพชฌงค์โดยตรง

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือความสงบรำงับทั้งทางกายและใจ ทำให้เกิดความสงบลงจากความฟุ้งซ่าน ความกลัว ความกระวนกระวาย ความอยาก  ความกระหาย เป็นต้น

สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ จิตใจมีความสงบรำงับจากนิวรณ์ธรรม ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ  ความวางเฉย เป็นความวางเฉยที่เกิดจากปัญญา มีจิตตั้งม่ั่นในองค์ธรรมที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้นั้น ความวางเฉยในอุเบกขาสัมโพชฌงค์นี้ ยังเป็นการสนับสนุนสมาธิโดยตรงอีกด้วย

ในโพชฌงค์ ๗ นี้เมื่อพิจารณาให้ละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ  สามประการนี้มีคุณสมบัติเพิ่มกำลังให้แก่จิต ฉะนั้น ผู้ปฎิบัติธรรมจะต้องใข้โพชฌงค์ทั้งสามนี้เป็นอุบายเครื่องประคองจิตให้สูงขึ้น ในเมื่อจิตมีอาการหดหู่  อ่อนกำลังลง
ส่วน ปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขานั้น มีคุณสมบัติลดกำลังของจิตที่มีมากเกินไป หรือข่มจิตที่ฟุ้งซ่าน สำหรับมรรคมีองค์ ๘ นั้น ข้าพเจ้าได้นำมากล่าวไว้แต่ตอนต้นแล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าวซ้ำในที่นี้อีก การที่่ข้าพเจ้าเอามรรคมีองค์ ๘ ไปไว้ข้างหน้านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินเรื่องนั่นเอง จึงใครขอชี้แจงไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ตามที่ข้าพเจ้านำเรื่อง "โพธิปักขิยธรรม" มากล่าวนี้เป็นเพียงนำหัวขัอธรรมะมาอธิบายอย่างย่อๆ เท่านั้น เพราะการที่่จะบรรยายเรื่อง "โพธิปักขิยธรรม" ให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งเข้าถึงความหมายอันแท้จริงขององค์ธรรมได้อย่างเด่นชัดนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากผู้บรรยายจะต้องรู้ทางภาคหลักวิชา หรือปริยัติดีพอสมควรแล้ว ยังจะต้องมีประสบการณ์จากการปฎิบัติอีกด้วย จึงจะสามารถบรรยายได้ดีมีความถูกต้องสมบูรณ์

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้ศึกษาจะต้องทำความเข้าใจในภาคหลักวิชา หรือทางปริยัติให้ถูกต้องและแจ่มแจ้งเป็นอย่างดี แล้วลงมือปฎิบัติอย่างจริงจังด้วยการเจริญภาวนาให้ถูกต้องตามขั้นตอนจึงจะเข้าตัวจริงแห่งองค์ธรรมนั้นๆ อย่างแท้้จริงได้ หากศักษาแต่เฉพาะทางภาคหลักวิชา หรือทางปริยัติแล้ว ก็ไม่สามารถรู้ถึงสภาพความเป็นจริงได้ ทางภาคหลักวิชานั้น เปรียบเหมือนแผนที่ๆ ชี้ทางดำเนินเท่านั้น ถ้าท่านไม่เดินคือปฎิิบัติ ท่านก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางและไม่เห็นของจริงอย่างแน่นอน เพราะการที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรมะได้นั้น เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฎิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเองเท่านั้น ดังบทสวดสรรเสริญพระธรรมว่า

สวากขาโต ภควตา ธัมโม พระธรรม คือ ศาสนาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้แล้ว สันทิฏฐโก เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฎิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง อกาลิโก เป็นสิ่งที่ปฎิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล เอหิปัสสิโก เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามาปฎิบัติตาม ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ  เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

ท่านผู้อ่านที่เคราพ ชั่วชีวิตหนึ่งของคนเรา มีเวลาไม่มากเลย ฉะนั้น หากท่านยังไม่ได้เลือกทางเดินให้เป็นไปโดยถูกต้อง ควรจะคิดพิจารณาให้ดี แล้วรีบตัดสินใจเดินให้ถูกทางเสียแต่บัดนี้เถิด เพราะชีวิตของคนเรานั้นไม่แน่นอน บางคนอาจจะเดินไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตั้งใจ แต่บางคนอาจจะเดินไปได้เพียงกึ่งทางก็หมดเวลาเสียแล้วในชาตินี้ ทุกคนจึงควรไม่ประมาท เพื่อจะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลัง