เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๒
--------------------------------------------------------------------

อสาเร สารมติโน                            สาเร จาสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ                          มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา.

ผู้เข้าใจสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
เขามีความดำริผิดเป็นโคจร จึงไม่ประสบสิ่งที่เป็นสาระ

พุทธพจน์ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า การประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ทั้งนี้
เพราะเหตุว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากที่ปุถุชนทั่วไปจะเข้าถึง ในเรื่อง
นี้ขอให้พวกเราจงสังเกตให้ดีว่า สิ่งง่ายๆ ที่เราแลเห็นในขั้นกามาวจรกุศลขั้นต้น ซึ่งพวกเราทุกคนได้กระทำกันมาตั้งแต่
เล็กแต่น้อย ตกทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่ของเราทุกคนได้ทำกันมา ในขั้นต้นซึ่งเราเรียกกันว่าทานนี่แหละ
ทำกันมาเช่นนั้นความประณีต จำนวนทานที่จะให้ บุญกุศลที่จะหวัง แต่เราไม่ทราบไม่รู้เลยว่าบุญกิริยาวัตถุ ๑0 หรือ
กามาวจรกุศลประเภททานในพระพุทธศาสนานั้น ทิฏฐุชุกรรมในการทำทาน หรือเป้าหมายอันถูกต้องนั้นมีประการใด
ในเรื่องนี้อย่าว่าแต่เราเป็นคฤหัสถ์ แม้แต่พระผู้จรรโลงศาสนาก็ไม่ได้แจ้งให้เรารู้ว่า เจตนาในการทำนั้นมีเป็นประการใด
ส่วนใหญ่เห็นพูดกันแต่อานิสงส์ของทานเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เท่ากับเราหลับหูหลับตาประพฤติปฏิบัติธรรม
แม้แต่เพียงรากฐานข้างต้นเราก็เดินไม่ถูกเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะก้าวไปไกลให้วัฏฏะได้ลดน้อยลงประการใด
เพราะธรรมในขั้นโลกุตตรธรรมนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งกว่าโลกียธรรมมากมายหลายประการนัก ดังนั้นการที่พวกเรา
แต่ละคนจะประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมแต่ละเรื่องแต่ละราวแล้ว ขอให้ดำเนินการตามรอยพระพุทธศาสนาซึ่งสมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสั่งสอนเอาไว้ สิ่งนั้นก็คือเราจะต้องก้าวไปแต่ละขั้นแต่ละตอน เริ่มด้วยการศึกษา
หาเหตุผลอันถูกต้องเสียก่อน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่ให้
เชื่อด้วยความงมงาย แม้แต่พระองค์เอง พระองค์ก็ไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่พระองค์ตรัสธรรมะสิ่งใด แล้วให้นำไปพิจารณา
ให้ถ่องแท้เสียก่อนว่าจริงไหมเช่นนั้น เมื่อจริงแล้วจึงค่อยประพฤติปฏิบัติ สิ่งนี้เราจะเห็นได้จากพระสูตรซึ่งมีอัครมหา
เสนาบดีของพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ฟังธรรมแล้วจะขอเข้านับถือพระพุทธศาสนา ปวารณาตัวเป็นอุบาสกในพระพุทธ
ศาสนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้าม ทั้งนี้เพราะเหตุไร เพราะเสนาบดีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนี่เป็นมหาราช
มีอำนาจใหญ่เหลือเกิน ฉะนั้นคนใหญ่คนโตจะมาหลงงมงายอย่างนี้ไม่ได้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าไปพิจารณา
ดูอย่ามาเชื่อพระองค์ท่าน เช่นนี้ ไปพิจารณาดู ตรัสเช่นนี้ถึง ๓ หน ฉะนั้นอัครเสนาบดีนั้นจึงได้บอกว่าไม่มีศาสนาใด
เหมือนพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ยอมรับให้ใครเชื่อโดยง่ายๆ ต้องเชื่อกันด้วยเหตุด้วยผล อันนี้แหละจึงบอกว่าเป็นเรื่อง
ที่ยาก ฉะนั้นธรรมะนั้นถ้าใครบอกว่าง่าย ก็คงจะเป็นอริยบุคคล ถ้าไม่ใช่อริยบุคคลก็คือไม่ใช่มนุษย์ ที่เขาใช้ไถนา อะไรก็ไม่รู้
นี่ ฉะนั้นพวกเราแต่ละคน ไหนๆ เราจะเข้ามาแล้วเราอย่าไปนั่งเกรงอกเกรงใจกันในเรื่องของธรรมะ
วานนี้ผมพูดเรื่องแม้แต่พระอริยบุคคลก็หนีกรรมไม่พ้น พูดในเรื่องของพระจักขุปาลเถระ ซึ่งอนาถบิณฑิกะเศรษฐี
ซึ่งเป็นตัวอุปถัมภ์เป็นตัวอุปัฏฐากในพระพุทธศาสนา เป็นอุปัฏฐากนี่ไม่เคยจะถามสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เลยในเรื่องปัญหาธรรมะ เพราะเกรงใจพระพุทธเจ้า กลัวพระพุทธเจ้าจะเหนื่อยมั่งอะไรมั่ง พระองค์ก็รู้ที่เขาคิดเช่นนี้
พระองค์จึงตำหนิว่าไม่ควรจะถนอมพระองค์เช่นนี้ เพราะพระองค์ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพื่อจะ
โปรดสัตว์ ทำไมมาถึงได้ยับยั้งเช่นนี้ เหตุนั้นแหละสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ยกเอาเรื่องพระจักขุปาลเถระ ซึ่ง
ผมเล่าให้ให้พวกเราฟังวานนี้ขึ้นมาบรรยายให้ฟังเพื่ออะไร ก็เพื่อจะเห็นธรรมบ้าง เมื่อไม่ถามตัวธรรมะจริงๆ ก็เล่า
เรื่องให้ฟังเถอะ เรื่องที่เกี่ยวข้องนั้นมันเป็นอย่างไร นี่ความหวังดีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงแค่นี้ ฉะนั้นพวก
เราทุกคน ไหนๆ เราก็เสียเวลามานั่งสนทนาวิสาสะกัน เมื่อเราสนทนาวิสาสะก็สนทนาวิสาสะให้มันเป็นประโยชน์ทั้ง
ในปัจจุบันและในอนาคต อย่าให้เราต้องเสียเวลาผ่านไป เพราะไม่มีเข็มนาฬิกาที่ไหนในโลกนี้มันจะหมุนเข็มกลับมา
หรือพระอาทิตย์จากตะวันตกจะย้อนกลับมาทางตะวันออกนั้นเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นเราอย่าตั้งอยู่ในความประมาท นี่เป็น
เจตนาที่นำพุทธพจน์นี้มากล่าวให้ท่านฟัง
วันนี้เราก็จะได้พูดกันต่อไปถึงเรื่องทำความรู้จักกับเจตสิกตอนที่ ๒ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นเราได้พูดกันมาแล้วถึงเวทนาเจตสิก
วันนี้เราจะได้พูดกันถึงเรื่อง สัญญาเจตสิก เวทนาเจตสิกนั้นเป็นขันธ์ตัวหนึ่งเรียกว่าเวทนาขันธ์ซึ่งเป็นนามธรรม
สัญญาเจตสิกนี้เป็นสัญญาขันธ์ซึ่งเป็นนามธรรมเหมือนกัน การที่เราจะเข้าถึงธรรมะในขั้นโลกุตตรธรรมนั้น ถ้าเราไม่มี
พื้นในเรื่องปรมัตถธรรม ๔ นั่นหมายถึง รูป ๑ จิต ๑ เจตสิก ๑ นิพพาน ๑ ทั้ง ๔ ตัวแล้ว เราจะไม่มีโอกาสเข้าถึงธรรมะ
ที่แท้จริงได้ แต่สำหรับนิพพานนั้นเป็นผล เราอย่าไปสนใจเลย เพราะว่ายังอยู่อีกไกลนัก เราได้ตกลงกันไว้แล้วนี่ว่า สมเด็จ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าเราทำเหตุให้ดีแล้ว ผลมันก็ต้องดีขึ้นมาเอง เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน เราได้พิสูจน์เห็นแล้ว
ว่าถ้าเราทำเหตุดีแล้ว ผลดีมันย่อมจะออกมาเป็นของปกติ นั่นคือเหตุ การที่เราจะเข้าถึงโลกุตตรธรรมนั้น มันไม่มีอะไร
หรอก มันมีรูปตัวหนึ่งกับนามตัวหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่เราผ่านมาในชีวิตประจำวันนั่นซิ เราไม่รู้นี่ว่าอะไรมันเป็นรูป
อะไรเป็นนาม ถ้าเราไม่ศึกษาในเรื่องรูป ๒๘ ให้เข้าใจ ซึ่งเรื่องรูปนั่นเราศึกษาผ่านกันมาแล้ว ถ้าเราไม่ศึกษาเจตสิก ๕๒
ให้รู้ว่าตัวไหนมันเป็นอะไรเช่นนี้แล้ว เราจะรู้จักนามธรรมได้อย่างไร ไหนๆ เราจะรู้เราก็ต้องรู้กันอย่างจริงๆ อย่าไปรู้งูๆ
ปลาๆ เดามั่ง อะไรมั่ง เช่นนี้ มันไม่ได้ผลในการประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ทำไมเราถึงได้ทำเช่นนี้ ที่อื่นทำไมเขาไม่ทำ
อย่างเรา ทั้งนี้เพราะว่า ผมถือว่าเราเป็นศิษย์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเข้าถึงธรรมของสมเด็จพระสัมมา
สัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้น เข้ามาทีละขั้นละตอน นั่นหมายถึงเริ่มต้นด้วยปริยัติ นั่นคือ ได้แก่การฟัง ได้แก่การไต่ถาม
ได้แก่การจดจำเป็นเบื้องต้น เมื่อปริยัติผ่านไปแล้ว เข้าใจดีแล้ว เราก็นำปริยัตินี้ไปปฏิบัติ ซึ่งเรื่องนี้พวกเราทุกคนประจักษ์
ความจริงกันมาแล้วในเรื่องของสมาธิ เราได้พูดหลักการให้รู้เสียก่อนว่าหลักของสมาธิมันเป็นอย่างไรๆ แล้วเรานำไป
ประพฤติปฏิบัติกัน ขั้นตอนขั้นที่ ๓ นั่นคือ ปฏิเวธ คือผลของการปฏิบัติมันจึงได้เกิดขึ้น ดังที่พวกเราทุกคนได้รับแล้ว
ดังนั้นการที่เราจะก้าวเข้ามาถึงโลกุตตรกุศลนี้ เราก็จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้อันเป็นรากฐานที่สำคัญๆ เสียก่อน
ที่เราจะต้องรู้ นั่นคือ รูป ๒๘ จิต ๘๙ และเจตสิก ๕๒ เราต้องรู้ แต่สำหรับเรื่องของจิตนั้นเราอาจจะพูดกันเพียงย่อๆ
เพราะว่าเราเอาแต่หลักการสำคัญว่า หน้าที่ของมันเป็นอย่างไร ผมเข้าใจว่าคงจะพอเพียง แต่เจตสิกทำเช่นนั้นไม่ได้
เพราะแต่ละตัวๆ นี่มันผิดแผกแตกต่างกัน และก็มันจะทำให้เรามีการเคลือบคลุมสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันมีทั้งพวก
ค้างคาวน่ะ นกมีหูหนูมีปีกก็มี ซึ่งเรากำลังพูดกันอยู่ในขณะนี้ เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิกนี่ มันพวกนกมีหูหนูมีปีก
ดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เข้าได้ทั้งนั้น ฉะนั้นเราต้องรู้จักมันให้ดี ไหนๆ เราจะนำเอามันมาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้ว นอกจากนั้นแล้ว
ยังมีพวกฝ่ายซ้ายซึ่งเราเรียกว่าอกุศลเจตสิก และพวกฝ่ายขวาซึ่งเราเรียกว่ากุศลเจตสิกอีก สิ่งเหล่านี้เราจำเป็นจะต้องรู้
พอเรารู้แล้วนี่ เพลาเราฝึกสติให้มันเกิดขึ้น แล้วก็สิ่งใดมันเกิดขึ้น เราก็รู้ทันที ว่าอะไรมันเป็นรูปเป็นนาม นี่ ผมถึงได้บอก
ว่าเราลำบากเสียตั้งแต่ต้นนี่นะ อย่าไปนึกไปฝันเลย อ้ายผลอย่างที่ใครเขาจะได้ เขาว่าเขาได้ยังงั้นได้มรรคยังงั้น ได้ผล
ยังงั้น เราชั่งมันเถอะ เรายังเป็นบุคคลที่หนาๆ อยู่ เราก็ค่อยๆ ก้าวเข้าไป แล้วผลที่พวกที่เขาได้มรรคได้ผลนั่นแหละ
เขาก็คงจะหล่นตุ๊บลงนรกไปเอง เราไม่ต้องไปตกใจหรอก เราค่อยๆ ก้าวไปแล้วมันไม่ตกหรอก
วันนี้ในเรื่องสัญญาเจตสิกนั้น คำว่าสัญญาอันนี้หมายถึง ความจำหมายอารมณ์ ความจำหมายอารมณ์นี่ มัน
ไม่ใช่จำหมายเฉพาะในขณะนี้เท่านั้น คำว่าจำหมายอันนี้ คำว่าสัญญานี้ ถ้าจะพูดจริงๆ น่ะมันกว้างในวัฏฏะที่เราเวียน
ว่ายตายเกิดมานี้ สิ่งใดที่เราจะเห็นได้ว่าพวกที่บอกว่าได้ทิพพจักขุ เห็นโน่น เห็นนี่ ความจริงไม่ใช่เห็นเรื่องจริงๆ เพราะ
เหตุไร เพียงแต่จิตสงบพับ อ้ายสัญญาเจตสิกมันก็ไหลออกมา มันเห็นจากความจำ เพราะเจตสิกนี่มันเป็นเครื่องปรุง
แต่งจิตนี่ การเห็นนั่นมันเห็นด้วยจิตอันนี้ไม่ใช่ความจริง การเห็นจากความจริงนั้นเป็นของที่แลเห็นกันได้ยากแล้ว
แต่ขั้นตอนของการประพฤติการปฏิบัติสูงต่ำในฌานจิตแค่ไหนและเราได้ฝึกในเรื่องนั้นมากน้อยประการใด ฉะนั้นเราจะ
ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนในเรื่องสัญญานี้ บางทีเราจะคงจะได้ยินจากหนังสือพิมพ์ก็ดี การเล่าก็ดีว่า เอ๊ะเด็กคนนั้น
ระลึกชาติได้ว่าจะเป็นยังงั้น ความจริงไม่ใช่เป็นการระลึกชาติได้เลย สัญญาอันนี้มันเกิดขึ้น ทำไมมันเกิดขึ้นอย่างนั้น
เพราะเรารู้แล้วนี่ว่าสัตว์ใน ๓๑ ภพภูมินี่ จุติพับมันก็ต้องปฏิสนธิทันที คือหมายความเขาตายจากความเป็นมนุษย์
เขาเกิดมาเป็นมนุษย์ทันที อ้ายความจำมันอยู่ ไม่หาย แต่พวกเราที่ไม่มีความจำนั้น เพราะเหตุไร เพราะตายพับอาจ
จะไปเกิดเป็นเทวดาก็ได้ อาจจะไปเกิดในนรกก็ได้ เป็นเปรตก็ได้ เป็นอสุรกายก็ได้ ฉะนั้นความจำในฐานะที่ยังเกิดมาเป็น
มนุษย์นี่มันจึงห่างไป เพราะว่าถ้าเราเกิดไปเป็นเทวดานี่ มันไม่ใช่อายุแค่มนุษย์นี่ เทวดามีอายุมากกว่ามนุษย์มากมาย
นัก ฉะนั้นความจำอันนั้นมันก็เลือนลางหายไป แต่อย่าลืมนะ สัญญาเจตสิกมันยังจำอยู่ จำยังไง จำเมื่อเราเข้าถึงสมาธิ
แยกเอาสัญญาออกมาได้แล้ว นั่นแหละความจำจะปรากฏขึ้น อันนี้พวกเราจะพิสูจน์ได้ จากที่เราได้สมาธิในทางสมถะ
มาแล้ว สัญญาจะปรากฏขึ้น ฉะนั้นในการที่เราจะเจริญตัวโลกุตตรธรรมนี่ เราจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าอะไรเป็นอะไร บางคน
นี่ไม่เข้าใจว่าสัญญา แต่เข้าใจว่าเป็นปัญญา ไม่ใช่ ปัญญาไม่ใช่เกิดขึ้นง่ายๆ
ฉะนั้นสัญญาเจตสิกนี้ นอกจากความจำหมายอารมณ์แล้ว มันก็มีรายละเอียดอย่างนี้คือ มีความจำเป็นลักษณะ
มีการหมายไว้และจำได้เป็นกิจหรือหน้าที่ มีความจำได้ในสิ่งที่หมายไว้เป็นผล มีอารมณ์ที่ปรากฏเป็นเหตุใกล้ ที่พระ
อภิธรรมกำหนดไว้เช่นนี้ เราลองดูในชีวิตของพวกเราทุกคน จากเสียง เราจะจำกันได้ว่าเสียงเพราะกับเสียงไม่เพราะ
ยกตัวอย่างเสียงเพราะนี่ ถ้าเราได้ยินขึ้นแล้วเราจำได้ เราเกิดมีความพอใจเกิดขึ้น นั่นเพราะเหตุอะไร เพราะว่าลักษณะ
ของสัญญามันปรากฏ และหน้าที่มีการจำหมายไว้ เราจำได้ เป็นหน้าที่ และมีความจำได้ในสิ่งที่หมายไว้เป็นผล เมื่อเราได้
ยินเสียงดี เราก็มีความพอใจ นั่นอะไร อารมณ์คือเสียงที่ปรากฏแล้วทำให้เราปิติยินดีเช่นนั้นปรากฏขึ้น ท่านถึงจึงได้บอก
ว่าอารมณ์ นี่เป็นเหตุใกล้ ทีนี้เราไม่เอา เรากลับกันใหม่ เสียงนั้นแทนที่จะเป็นเสียงที่มีความยินดี เสียงนั้นกลับเป็นด่า
พ่อล่อแม่เรา มันก็อ้ายเสียงตัวเดียวกัน คือสัททารมณ์หรือรูปเสียงน่ะ อันเดียวกัน แต่กล่าวเป็นเสียงด่าพ่อล่อแม่ เพราะว่า
อ้ายสัญญานี่แหละมันจำเอาไว้ อ้ออ้ายนี่เป็นเสียงด่า ถ้าไม่สัญญาแล้วจำไม่ได้ อย่างถ้าเขาด่าเราเป็นภาษาต่างประเทศที่
เราไม่รู้จัก ฟังไม่รู้เรื่องเพราะไม่เคยเรียนไม่เคยให้สัญญามันจำไว้ เราก็คงไม่โกรธ เพราะเพียงแต่รู้ว่าสัททารมณ์
หรือรูปเสียงเท่านั้นเอง นี่ สัญญาตัวนี้แหละที่มันทำให้อารมณ์ไม่พอใจเกิดขึ้น ท่านจึงบอกว่าอารมณ์ที่ปรากฏนั้นเป็น
เหตุใกล้ เห็นไหม เห็นไหม ทีนี้ในพระธรรมคำสอนในขั้นสูงๆ ในการที่เราจะเจริญโลกุตตรธรรมนั้น บางครั้ง
ท่านถึงได้ให้พิจารณาอนิจจลักษณ์สัญญา คือความจำได้นั้นเป็นของไม่เที่ยง ทำไม ก็เพื่อจะให้เราดับความยินดี
ยินร้ายเสียนั่นเอง เพราะว่าเราจำได้นี่ว่า เสียงนั้นน่ะเสียงเขายกยอปอปั้นเรา เสียงนั้นเป็นเสียงที่ด่าพ่อล่อแม่เรา
ท่านจึงบอกว่าสัญญานั่นเป็นของไม่เที่ยง ก็เพียงแต่รู้อย่างเดียวว่ามันเป็นสัททารมณ์หรือรูปเสียงเท่านั้น คือความจริง
ที่ปรากฏขึ้นทางหูเท่านั้น นี่ เหตุที่จี้ให้เรารู้ในลักษณะของสัญญานั้นก็ด้วยเหตุนี้
ทีนี้ตัวต่อไป เจตสิกตัวต่อไปก็คือ เจตนาเจตสิก เจตนาเจตสิกนี่ หมายถึง การแสวงหาหรือขวนขวายที่จะให้
เป็นไปในอารมณ์ หรือ ความตั้งใจ หรือความสำเร็จนั้นๆ
เพียงที่ผมพูดมาแค่นี้พวกเราอาจจะไม่เห็นประโยชน์
ของเจตนาเจตสิกว่ามีเป็นประการใด อย่าลืม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้วในเรื่องของกรรมว่า เจตนา
นั่นแหละคือ กรรม
เห็นไหม ถ้าเราพิจารณาหลักของกรรมซึ่งประกอบด้วยเจตนานั้น มาเปรียบเทียบกับหลักของ
กฏหมายอาญาแล้ว เราจะเห็นได้ว่ากฏของกรรมตามพระพุทธศาสนากับหลักการของกฏหมายอาญาเหมือนกันผมรับรอง
ไม่มีผิด เราจะเห็นผู้ทำผิดกฏหมาย ถ้าขาดเจตนาไม่มีโทษหรือโทษอาจจะบางเบานิดเดียวเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่คนนั้นต้อง
ถูกฆ่าตายไป มันก็เช่นเดียวกับปาณาติบาต ถ้าขาดองค์ไม่ครบองค์แห่งปาณาติบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนาแล้ว ศีล
ไม่ขาดนะ ผมจะบอกให้พวกคุณรู้ ไม่ขาดนะ ฉะนั้นหลักของกฏหมายกับหลักของพุทธศาสนาเหมือนกัน ไม่ผิดเพี้ยน
แตกต่างอะไรกันเลย นี่เป็นความหมายของเจตนา ฉะนั้นเจตนาจึงมีการชักชวนเป็นลักษณะ คำว่าชักชวนนี้ อย่าเข้าใจว่า
ใครเขามาชักชวนเรานะ ภายนอกก็ได้ภายในก็ได้ แล้วเราศึกษาต่อไปเถอะว่า อ้ายคำว่าชักชวนในที่นี้ อาจจะเป็นอกุศล
เจตสิกก็ได้หรือกุศลเจตสิกก็ได้เป็นตัวชักชวน ถ้าฝ่ายกุศลเจตสิกเป็นตัวชักชวน มันก็เป็นเรื่องของบุญเรื่องของกุศล
แต่ถ้าเป็นฝ่ายอกุศลเจตสิกเป็นตัวชักชวน มันก็เป็นเรื่องของความบาปความกรรม เป็นอกุศลนั่นเอง ฉะนั้นหลักของ
กรรมนั้น ถ้าขาดเจตนาแล้วนี่ กรรมมีไม่ได้ จำไว้
นอกจากนั้นแล้ว มีการขวนขวายเป็นกิจหรือหน้าที่ ของเจตนา ประการที่ ๓ มีการจัดแจงเป็นผล ต้องมีการจัด
แจงการเตรียมกันซึ่งประกอบเจตนา เพราะว่าเจตนามันเกิดขึ้นแล้วนี่ มันก็ต้องมีการกระทำ ทางกาย ทางวาจา และใจ
เกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วประการที่ ๔ มีนามขันธ์ที่เหลือเป็นเหตุใกล้ คำว่านามขันธ์ที่เหลือนี่ หมายถึง เวทนาขันธ์ ๑
 ซึ่งเราได้รู้กันมาแล้ว สัญญาขันธ์ ๑ อันนี้ ๒ ตัวนี่เป็นเจตสิกนะ และวิญญาณขันธ์ ๑ ตัวนี้เป็นตัวจิต ๘๙ นั่นแหละ
แต่เราเรียกว่าวิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ ถ้ามันขาดเหตุใกล้แล้ว เจตนามันก็เกิดขึ้นไม่ได้
ทีนี้ตัวต่อไปคือ เอกัคคตาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิกนี่ผมเข้าใจว่าพวกเราทุกคนจะรู้จักมันดีว่ามันเป็นยังไง
หมายถึง การตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ตัวนี้แหละ เอกัคคตาเจตสิกตัวนี้แหละที่เรานำเอามา เอกัคคตาเจตสิกนี่
เป็นตัวที่เรานำมันมาทำจิตให้สงบ ซึ่งเราเรียกว่า สมาธิ แต่พวกเราอย่าลืมว่าอ้ายเอกัคคตาเจตสิกนี่มันเป็นค้าง
คาวนะ หมายความว่าเข้าข้างนกมันก็บอกว่ามันมีปีก เข้าข้างหนูมันก็บอกว่ามันมีหู มันเข้าได้ทั้งนั้น เพระาเหตุว่า
มันเป็นค้างคาวหรือนกมีหูหนูมีปีกนี่แหละ มันก็ปรากฏขึ้นทั้งสัมมาสมาธิในหลักการของพระพุทธศาสนา และมิจฉาสมาธิ
ที่เพื่อประโยชน์ในทางไสยศาสตร์เกิดขึ้น ตัวนี้ เห็นไหม ดังนั้นการทำสมาธิของผู้ที่ไม่รู้ เราอาจจะไปทำมิจฉาสมาธิ
เข้าโดยไม่รู้ตัว เห็นไหม ดังนั้นสัมมาสมาธิในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะกสิณ ๑0 ก็ดี อนุสติ ๑0 ก็ดี อสุภะ ๑0 ก็ดี หรือ
เป็นอรูป กสิณ หรือพรหมวิหาร และอื่นๆ ทั้ง ๔0 วิธีนี้ จะต้องมีสติเจตสิกเข้ามาประกอบด้วย สมาธิใดที่ไม่มีสติเจตสิก
ประกอบแล้ว ไม่ใช่เป็นสัมมาสมาธิในสมถกัมมัฏฐาน ๔0 ซึ่งเป็นหลักของความสงบ มันอาจจะเป็นมิจฉาสมาธิในลัทธิอื่น
ซึ่งเราเห็นกันโดยทั่วๆ ไป แม้แต่ภิกษุสงฆ์บางรูปก็ได้กระทำเช่นนั้น ได้แก่ หลักการของไสยศาสตร์นั่นเอง ใช้เอกัคคตา
ตัวนี้แหละเป็นตัวประกอบ เพราะบอกแล้วนี่มันเป็นฝ่ายดีก็ได้ฝ่ายชั่วก็ได้ ฉะนั้นพวกเราที่ทำสมาธินั้น จงพิจารณากลั่น
กรองว่าที่ผมพูดนี่เป็นจริงหรือไม่ แต่มันบังเอิญเหลือเกินที่ว่า มิจฉาสมาธิเหล่านั้น มันมีขั้นตอนไม่สูงเหมือนสัมมาสมาธิ
ในพระพุทธศาสนา เพราะเหตุนี้แหละผู้ที่ได้สมาธิจิตหรือสัมมาสมาธิในสมถกัมมัฏฐาน ๔0 ซึ่งเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา
แล้ว ไสยศาสตร์จึงเข้าไม่ได้ เว้นแต่เราจะเผลอสติปล่อยให้เขาเล่นงานเท่านั้น ถ้าเราอยู่ในสมาธิแล้วไม่สามารถจะเข้าได้
ทีนี้เมื่อเราได้รู้หลักความเป็นค้างคาวของอ้ายเจตสิกตัวนี้แล้ว เราก็ควรจะได้รู้รายละเอียดของมันต่อไปว่ามันมี
อย่างไร คือมีการไม่ฟุ้งซ่านเป็นลักษณะ มีการรวบรวมสหชาตธรรมเป็นกิจ มีความสงบเป็นผล มีสุขเวทนาเป็นเหตุใกล้
เราจงสังเกตให้ดี เอกัคคตาเจตสิกตัวนี้ในการทำสมาธินั้น มันจะเริ่มเกิดขึ้นนิดๆ หน่อยๆ เกิดแล้/วก็หายไป ซึ่งเราเรียก
กันว่าขณิกสมาธิ แล้วมันจะมามั่นคงขึ้นอีกนิดนึง แต่มันก็ยังหายไปอีกล่ะเมื่อเป็นอุปจารสมาธิ และเมื่อมันเข้าถึงอัปปนา
สมาธิ
หรือ ปฐมฌาน ขึ้นไปแล้ว ความมั่นคงของมันก็จะมีมาก เพราะอะไร เพราะฌานจิต คือ องค์ฌานทั้ง ๕ นั้นมัน
เป็นตัวทำลายนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ไปหมด เมื่อมันเป็นตัวทำลายนิวรณ์ธรรมทั้ง ๕ ไปหมดแล้วเช่นนี้ องค์ฌานมันก็มั่นคง
เมื่อองค์ฌานมันมั่นคงแล้ว ความสงบมันก็เกิดขึ้นอย่างที่พวกเราได้รับตามข้อเท็จจริงนั้น ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าคนบาง
คนเขาทำสมาธิด้วยความเป็นมิจฉาสมาธิ แต่เขาไม่รู้ตัว ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสารยิ่ง เหตุที่ไม่รู้ตัวนั่น เพราะอะไร เพราะ
เขาขาดสติ แต่เขากลับนำเอาจำพวกโมหะมาเป็นองค์ประกอบบ้าง โลภะเป็นองค์ประกอบบ้าง มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิ
ซึ่งใช้กันในทางไสยศาสตร์โดยทั่วๆ ไป
นอกจากเอกัคคตาเจตสิกเราจะได้รู้จักกันแล้ว ต่อไปเราก็ควรจะได้ทำความรู้จักกับ ชีวิตินทรียเจตสิก อีกตัวหนึ่ง
ตัวนี้พวกเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินนัก ตัวนี้ถ้าพวกเรานึกให้ดีเมื่อเราศึกษากันในเรื่องรูป ๒๘ มันจะมีชีวิตรูปตัวหนึ่ง
และขณะนี้เรามารู้จักชีวิตินทรียเจตสิกอีกตัวหนึ่ง อย่าลืมนะว่าชีวิตรูปนั้นมันทำหน้าที่รักษาสหชาตธรรมที่เกิดขึ้น
พร้อมมัน ซึ่งเรียกว่ากัมมชรูปให้คงอยู่ เราสังเกตดู คนที่ตายไปแล้วและขึ้นเน่าพองนั้นน่ะ เพราะชีวิตรูปมันดับ ทีนี้
ชีวิตินทรีย์ นี่ก็คือ การรักษาธรรมที่เกิดร่วมด้วยกับชีวิตินทรียเจตสิกให้ตั้งอยู่ตามอายุของชีวิตินทรียเจตสิก เห็นไหมหมายความว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่นั้น มันก็จะรักษาทั้งความดี ความเลว ความเป็นกลางๆ หมายถึง
เจตสิกทั้ง ๕๒ รวมทั้งตัวมันด้วยให้คงอยู่ พอจะเข้าใจไหม หมายความว่าเมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ความโกรธเราก็ยังมี ความ
หลงเราก็ยังมี ความรักเราก็ยังมี ศรัทธาเราก็มีได้ สติเราก็มีได้ นี่เป็นหน้าที่ของชีวิตินทรียเจตสิกมันรักษา คือหมายความ
ว่าเจตสิก ๕๒ ยังอยู่ยังไม่หมดไป ถ้าเราหมดชีวิตไปแล้ว ชีวิตินทรีย์มันก็หมดไป ความโกรธ ความโลภ ความหลงมัน
ก็หมดไป ไปเกิดใหม่ ชีวิตินทรีย์ใหม่มันก็ตามไปรักษานามธรรมใหม่ที่เกิดในภพใหม่อีก แต่ขอให้ทำความเข้าใจกันว่า
ชีวิตตินทรีย์เจตสิกกับชีวิตรูปนี่มันควบคุมคนละพวก ชีวิตรูปนั้นควบคุมเฉพาะรูปธรรมให้คงอยู่ แต่ชีวิตินทรีย์เจตสิกนี่
เพียงควบคุมนามธรรมให้คงอยู่ ฟังดูให้ดี อ้ายเรื่องนี้ถ้าไม่เข้าใจแล้วก็ถามกันเมื่อเวลาเราจบกันแล้ว ฉะนั้นถ้าเราจะสังเกต
เห็นได้ว่าถ้าชีวิตินทรีย์มันแยกออกจากรูปแล้ว เวทนาทั้งหลายจะดับ เพราะรูปนั้นตามพระอภิธรรมบอกไว้ว่ามันเป็น
อพยากตธรรม คือมันเป็นตัวไม่รับรู้ ไม่เอาไหน เราจะเห็นได้ว่า คนตายทำไมเขาเอาไปเผาไฟได้ ทำไมไม่ดิ้นร้อนรน
ออกมา นั่นเพราะชีวิตินทรีย์เจตสิกมันดับไปแล้ว และถ้าคนตายซัก ๒-๓ วัน น้ำเหลืองก็จะไหล ร่างกายก็จะพองขึ้น
นั่นเพราะชีวิตรูปมันดับไปแล้ว
นอกจากนั้นแล้ว มีการเลี้ยงรักษาสหชาตธรรมเป็นลักษณะ ของชีวิตินทรีย์เจตสิก มีความตั้งอยู่และเป็นไปได้
เป็นกิจและหน้าที่ มีการทรงอยู่ได้ซึ่งสหชาตธรรมเป็นผล มีนามขันธ์ทั้ง ๓ ได้แก่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์
เป็นเหตุใกล้ นี่ เป็นเรื่องของชีวิตินทรีย์เจตสิก
นอกจากชีวิตินทรีย์เจตสิกแล้ว ก็มีอีกตัวหนึ่งคือ มนสิการเจตสิก ตัวนี้ขอให้พวกเราทุกคนสนใจให้มาก เพราะว่า
มันต้องนำมาใช้ทั้งทางสมถะและวิปัสสนา มนสิการเจตสิกหมายถึง การกระทำอารมณ์ให้แก่จิต หรือความใส่ใจใน
อารมณ์
มีการทำให้สัมปยุตตธรรมใส่ใจในอารมณ์เป็นลักษณะ มีการทำให้สัมปยุตตธรรมประกอบในอารมณ์เป็นกิจ
มีการทำให้สัมปยุตตธรรมให้มีหน้าที่เฉพาะอารมณ์เป็นผล และมีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ ดังนั้นมนสิการเจตสิกก็คือความ
ใส่ใจในอารมณ์นี้ ถ้ามีความใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์หรือใส่ใจในอารมณ์ด้วยอุบายอันแยบคาย คือใส่ใจให้ถูกต้องตรงตาม
สภาวะแห่งความเป็นจริงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดจิตที่ดีงามให้เกิดขึ้นในการใส่ใจนั้น ซึ่งเราเรียกกันว่า โยนิโสมนสิการ ตัวนี้
สำคัญยิ่งตัวนี้แหละสำคัญยิ่ง ไม่ว่าในการที่เราจะทำสมาธิให้เกิดขึ้นก็ดี ในการเพ่งกสิณก็ดี ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการแล้วทำ
ไม่ได้ผล ในทางตรงกันข้ามถ้าไม่มีความใส่ใจเป็นอันดีต่ออารมณ์ หรือ ใส่ใจในอารมณ์ด้วยอุบายอันไม่แยบคาย ย่อมก่อ
ให้เกิดจิตไม่ดีคือ อกุศลจิต คือจิตที่ชั่วที่บาป ความที่ใส่ใจใน่ไม่ดี อันนี้เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ เห็นไหมล่ะ เห็นไหมล่ะ
จากในมสิการเจตสิกนี่ ถ้าเรามีโยนิโสมนสิการ เราก็สร้างสัมมสมาธิให้เกิดขึ้นได้ โดยประกอบกับเอกัคคตาเจตสิกพร้อม
กับสติ ถ้าเราไม่รู้จักทำใจให้แยบคาย โดยไปทำเสียเป็นอโยนิโสมนสิการ มันก็กลายเป็นมิจฉาสมาธิ เห็นไหม ฉะนั้น
เราจำเป็นต้องสังเกตและทำความเข้าใจให้ดี เพราะว่าการฝึกจิตนั้นไม่ว่าในทางสมถะหรือวิปัสสนา มันเป็นเรื่องรู้เฉพาะ
ด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่มีใครที่จะไปรู้ได้ ถ้าเราจะเป็นผู้ฝึก ถ้าเราไม่ศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้เสียก่อนแล้ว มันก็เป็น
การยากที่จะบรรลุธรรมขั้นนั้นไปได้ เพราะเราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ จะได้ตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง มีพระพุทธเจ้า
องค์เดียวเท่านั้น ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชน เราจะเข้าถึงธรรมเราก็ทำปริยัติ ขณะนี้เรากำลังทำปริยัติกันอยู่
ทีนี้เมื่อเราได้รู้จักมนสิการเจตสิกเช่นนี้แล้ว เรารู้ความหมายโยนิโสมนสิการเจตสิกและอโยนิโสมนิสการเจตสิก
ว่าอันไหนดี อันไหนเลวแล้ว เราก็ควรจะได้รู้ต่อไปว่า อ้ายสาเหตุที่มันเกิดโยนิโสมนสิการนี้แหละมันเกิดขึ้นอย่างไร
ตามพระอภิธรรมท่านกล่าวไว้ว่า
ประการที่ ๑ สาเหตุที่จะเกิดโยนิโสมนสิการก็เพราะว่า เคยทำบุญไว้ในปางก่อน อันหนึ่งล่ะ
ประการที่ ๒ อยู่ในประเทศที่สมควร คือประเทศที่มีสัตบุรุษน่ะ เราจะทำความแยบคายในใจของเราในทางธรรมะ
ในปัจจุบันนี้เราจะไปหาสัตบุรุษได้ที่ไหน สัตบุรุษที่เชื่อถือได้แน่นอน เวลานี้คือ พระไตรปิฎก เพราะเป็นที่รวบรวม
พระพุทธพจน์ เชื่อถือได้แน่นอนไม่หลอกลวง
ประการที่ ๓ การสังคมกับสัตบุรุษ ( ในปัจจุบันนี้คือ ศึกษาพระไตรปิฎก )
ประการที่ ๔ มีการฟังธรรมของสัตบุรุษ ( ในปัจจุบันนี้คือ ศึกษาพระไตรปิฎก )
ประการที่ ๕ คือตั้งตนไว้ชอบ
นี่ เหตุที่จะทำให้เกิดโยนิโสมนสิการได้ เกิดขึ้นอย่างนี้ และในทำนองเดียวกัน การที่อโยนิโสมนสิการจะเกิดขึ้นได้นั้น
ก็เพราะทำตรงกันข้ามกับเหตุ ๕ ที่ผมบอกไว้เมื่อกี้ นั่นคือ
๑. ไม่เคยสร้างสมบุญไว้แต่ปางก่อน
๒. อยู่ในประเทศที่ไม่สมควร
๓. ไม่คบหาสมาคมกับสัตบุรุษ
๔. ไม่ฟังธรรมของสัตบุรุษ
๕. ตั้งตนไว้ผิด
นี่ สิ่งที่ผมนำมาพูดนี้เป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ตัว ( ผัสสะ, เวทนา, สัญญา, เจตนา, เอกัคคตา,
ชีวิตินทรีย์, มนสิการ
) ที่นำมาพูดให้พวกเราฟังนี้ หมายถึงว่ามันเป็นทั้งนกและหนูได้หมด เพราะเหตุไร
เพราะสัพพจิตตสาธารณเจตสิกตัวนี้ มันเข้ากับจิตที่เป็นได้ทั้งกุศลและอกุศลทั้งหมด ๘๙ ดวง เข้าได้หมด ฉะนั้นขอให้
พวกเราอย่าไว้วางใจมันระวังมัน มันไปในทางที่ผิดได้โดยง่าย และถ้าผิดแล้วยากแก่การแก้ไข
ทีนี้นอกจากนั้นแล้วเราก็ล่วงเข้ามาใน ปกิณณกเจตสิก คือ เจตสิกเบ็ดเตล็ดที่ไม่ประกอบกับจิตทั่วๆ ไป แต่
ประกอบเข้ากับจิตบางดวงเท่านั้น
คือ หมายความว่าจิตบางดวงที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ แต่เข้าได้เฉพาะบางดวงนะ
ไม่เข้าทั้งหมดทั้ง ๘๙ ดวง ปกิณณกเจตสิกนี่มีด้วยกัน ๖ ดวงคือ
ตัวที่ ๑ ได้แก่ วิตกเจตสิก วิตกเจตสิกนี่ถ้าเราจะมาพูดกันตามลักษณะของขันธ์แล้ว มันอยู่ในประเภทสังขารขันธ์
ซึ่งหมายถึง การยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ นี่พูดตามภาษาธรรมะ ถ้าจะพูดกันตามภาษชาวบ้านก็คือ การคิด การนึกตรึก
ถึงอารมณ์ 
นั่นเอง ซึ่งพวกเราทุกคนถ้าจะทำความรู้จักกับวิตกเจตสิกตัวนี้ เราก็ลองเข้าปฐมฌานดู เพราะว่าตัวนี้เป็น
องค์ของปฐมฌานตัวหนึ่ง โดยมันมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นลักษณะ มีการกระทำให้จิตกระทบอารมณ์บ่อยๆ เป็นกิจ
หรือหน้าที่ เรื่องนี้เราทดลองได้โดยเข้าปฐมฌานดู จะรู้ว่ามันมีหน้าที่และลักษณะเป็นอย่างไร มีจิตที่ทรงอยู่ในอารมณ์
เป็นผล โดยมีนามขันธ์ที่เหลือทั้ง ๓ ได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์เป็นเหตุใกล้
อนึ่งใคร่จะให้ท่านสังเกตว่าวิตกเจตสิก ซึ่งหมายถึงคือมีการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์เป็นลักษณะนี้ มันมีความหมายใกล้
เคียงกับเจตนาเจตสิก ที่ผมได้พูดมาแล้วเมื่อกี้นี้ คือความตั้งใจในอารมณ์ ฉะนั้นจำไว้ให้ดี วิตกตัวหนึ่ง เจตนาตัวหนึ่ง
มนสิการตัวหนึ่ง มันใกล้เคียงกันเหลือเกิน ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจให้ดีแล้ว มันจะปะปนกัน มันจะยุ่ง ถ้าเราจะเปรียบ
เทียบ เจตนาเจตสิกก็อุปมาเหมือนคนพายหัวเรือ ที่จะต้องคว้าธงเอาให้ได้ในการแข่งขัน อันหมายถึงความสำเร็จ
หรือชัยชนะในการกระทำกรรมนั้นๆ ซึ่งปกติก็ได้แก่ สมาธินั่นเอง ส่วนมนสิการเจตสิกนั้น อุปมาดังคนถือท้ายต้องคอย
คัดวาดเรือให้ตรงไปยังธงหรือหลักชัยอยู่เสมอ ส่วนวิตกเจตสิกนั้น อุปมาคนพายกลางลำมุ่งหน้าจ้ำพายไปแต่อย่างเดียว
ฉะนั้นจากการทำสมาธิของเราแต่ละคนนั้น ถ้าเราไม่หลับหูหลับตาทำเสียแล้ว เราพิจารณาให้ถ่องแท้เถอะ การที่เราทำ
สมาธิได้แต่ละตัวๆ นั้น มันจะต้องมีอุปกรณ์มากมายหลายประการมาประกอบกันขึ้นเป็นสมาธิแต่ละขั้นแต่ละตอน
การที่เราจะต้องรู้รายละเอียดขนาดนี้แหละ เราเรียกว่า เราเข้าให้ถึงธรรม เข้าด้วยความรอบรู้ เข้าด้วยปัญญา เราอย่า
ไปเข้าด้วยความงมงาย ครูบาอาจารย์เขาบอกให้ทำอย่างไรเราก็ทำอย่างนั้น เราไม่รู้นี่ เราอาจจะไปคบกับผู้ร้ายก็ได้
เพราะว่าอ้ายในตัวของเรานี้มันสารพัด มหาโจรก็มี สุภาพบุรุษที่เรียบร้อยก็มี ชนชั้นกลางก็มี เราไม่รู้ ฉะนั้นเราจะต้องทำ
ความรู้จักหน้าตามันซะก่อน ก่อนที่เราจะคบหาสมาคมกับมันนั้น นี่แหละ ถ้าพวกเราสนใจสังเกตซักหน่อย ทำไมพวกเรา
ถึงได้ทำสมาธิกันได้ เพราะเรารู้จักหน้าค่าตาอ้ายแต่ละตัว แต่ละตัว นี่เรารู้ แต่ทำไมที่อื่นเขาทำกันไม่ได้ เพราะ
เขาไม่รู้จัก เขาไปรวมกลุ่มรวมก้อนเข้าไป ไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นอะไร สับสนปนเปอย่างนั้น อะไรจะเกิดขึ้นล่ะ ก็คือความ
ไม่สำเร็จผลนั่นเอง นี่เป็นข้อเท็จจริง ฉะนั้นพวกเรานี่ การที่เราต้องศึกษากันนี่ อย่าไปเสียดายว่าเวลาเราผ่านไปโดย
เปล่าประโยชน์ ไม่ได้ประพฤติไม่ได้ปฏิบัติเลย ข้อนี้ขอเสียทีเถอะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการที่เราจะปฏิบัติธรรมในขั้น
สูงนั้นน่ะ ถ้าเราไม่รอบรู้จริงๆ แล้ว เราทำไม่ได้ ฉะนั้นผมก็ขอยุติเรื่องทำความรู้จักกับนามธรรม ตอนที่ ๒ ไว้เพียง
แค่นี้


เรื่องทำความรู้จักกับนามธรรมตอนที่ ๒ จบ